ลลิตา หาญวงษ์ : อาเซียนเกม…เล่นลุ้นตาย

คอลัมน์ไทยพบพม่า : อาเซียนเกม…เล่นลุ้นตาย โดย ลลิตา หาญวงษ์ 

ช่วงนี้หลายคนคงคุ้นกับ Squid Game หรือ “สควิดเกม เล่นลุ้นตาย” ซีรีส์เกาหลีฟอร์มยักษ์ ที่มีแก่นหลักอยู่ที่ความเหลื่อมล้ำ และที่สำคัญคือการเอาตัวรอดในสถานการณ์คับขัน เพราะหากไม่หาทางเอาตัวรอดให้ได้ ไม่ว่าจะใช้กลโกงหรือเล่ห์เหลี่ยมใด ผู้ที่เข้าร่วม “สควิดเกม” มีเป้าหมายเดียวกันคือต้องมีชีวิตรอด เพราะหากเล่นเกมใดเกมหนึ่งแพ้ ก็จะไม่มีโอกาสได้แก้ตัวอีก เพราะมีเพียงความตายเท่านั้นที่รอคอยผู้แพ้อยู่ จริงอยู่ว่าซีรีส์หรือภาพยนตร์ที่มีแก่นเรื่องอยู่ที่การมีชีวิตรอด หรือแนว survival นี้ไม่ได้เป็นของใหม่ แต่สิ่งที่ซีรีส์เรื่องนี้บอกเราคือท้ายที่สุดผู้ที่จะอยู่รอดไม่ใช่ผู้ที่มีไหวพริบปฏิภาณดีที่สุดเท่านั้น แต่ต้องเป็นพวกที่มีมุ่งมั่นจะมีชีวิตรอด และมีเป้าหมายชัดเจนด้วย ผู้เขียนนั่งดูและคิดถึงซีรีส์เรื่องนี้อยู่นาน แน่นอนว่าอดนำสถานการณ์ในพม่าไปเปรียบเทียบไม่ได้

ถ้าเราลองสมมุติให้ผู้เล่นในเรื่องเป็นประเทศในอาเซียน หากมีเพียงประเทศเดียวที่จะอยู่รอด ผู้อ่านคิดว่าประเทศใดจะอยู่รอด? อย่าลืมนะคะว่าเกณฑ์การอยู่รอดในเกมนี้ไม่ได้อยู่ที่ทรัพยากร ไม่ได้อยู่ที่เงิน (เพราะทุกคนไม่มีเงินและสมบัติติดตัวตลอดเกมนี้) แต่ใครจะอยู่ใครจะไปถ้าไม่ได้วัดกันที่ดวง ก็วัดกันที่ไหวพริบปฏิภาณ และที่กล่าวไปข้างต้น คือความมุ่งมั่นที่จะมีชีวิตรอด ผู้เขียนคิดว่าถ้าให้คนพม่าไปลงแข่งขัน อย่างน้อยที่สุดก็ต้องได้เข้าไปถึงรอบลึกๆ หรือเผลอๆ ได้เป็นผู้ชนะเลยทีเดียว

พลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย กับเอราวาน ยูซุฟ ผู้นำคณะผู้แทนพิเศษจากอาเซียน, 5 มิถุนายน 2021 (ภาพจาก Eleven Myanmar)

เพราะอะไรนั่นหรือ…

เรื่องนี้ตอบแบบนักวิชาการคงไม่ได้คำตอบ แต่ถ้าตอบแบบคนที่เข้าๆ ออกๆ ประเทศนี้มานาน มีเพื่อนสนิทมิตรสหายเป็นคนพม่าและที่มาจากกลุ่มชาติพันธุ์มากมาย ผู้เขียนเชื่ออยู่อย่างหนึ่งว่าคนพม่ามีนิสัยมุทะลุไม่แพ้ใคร เจ้าอาณานิคมอย่างอังกฤษเคยบันทึกไว้ว่าคนพม่านั้นเป็นพวกที่ยั่วยุได้ง่าย ชื่นชอบการแข่งขัน การตีรันฟันแทง หากเกิดข้อพิพาทขึ้นแล้ว ยากที่จะจบลงด้วยการเจรจา แต่มักจะจบลงที่การตีรันฟันแทง เรียกว่าต้องตายกันไปข้าง ยอมหักแต่ไม่ยอมงอ และยังมีทิฐิมานะสูงมาก โดยเฉพาะคน “พม่าแท้” หรือ Burman เอาล่ะ…แล้วลักษณะนิสัยเหล่านี้เกี่ยวกับอาเซียนที่ผู้เขียนจั่วหัวไว้อย่างไร? จำได้ไหมคะว่าตั้งแต่มีรัฐประหารตั้งแต่ต้นเดือนกุมภาพันธ์มา อาเซียนพยายามเข้าไปไกล่เกลี่ยข้อพิพาท ประเทศอย่างสิงคโปร์และมาเลเซียยกประเด็นว่าอาเซียนต้องทำหน้าที่เพื่อสร้างสันติภาพภายในภูมิภาค เพราะการปราบปรามประชาชนอย่างรุนแรงของฝ่ายกองทัพพม่าเป็นเหมือนบาดแผลที่ทำให้อาเซียนด่างพร้อย จริงอยู่ อาเซียนมีนโยบายไม่ก้าวก่ายกิจการภายในซึ่งกัน และวิกฤตทางการเมืองและการละเมิดสิทธิมนุษยชนในครั้งนี้ก็ยิ่งใหญ่เกินกว่าอาเซียนจะมองข้ามไป ความจริงอาเซียนจะเลือกปล่อยเรื่องนี้ผ่านไปก็ได้ แต่ในที่สุดอาเซียนก็แสดงความมุ่งมั่นเป็นตัวกลางเพื่อยุติความรุนแรงในพม่า

Advertisement

อาเซียนแสดงออกมาว่าเอาจริงเอาจังกับเรื่องนี้และต้องการแก้วิกฤตการณ์ในพม่าอย่างจริงจัง และได้เชิญพลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย ผู้นำรัฐประหารไปหารือในการประชุมผู้นำอาเซียน เมื่อเดือนเมษายน เป็นที่ทราบกันดีว่าผู้นำกองทัพพม่านั้นออกงานในลักษณะนี้น้อยมาก เมื่อไปร่วมงานประชุมอาเซียน ก็ย่อมมีคำถามเรื่องการจัดการความขัดแย้งในพม่า การสร้างสันติภาพ และย่อมมีผู้นำชาติในอาเซียน หรือนักข่าวที่ถามถึงด่อ ออง ซาน ซูจี ผู้นำรัฐบาลชุดก่อน ที่เพิ่งถูกรัฐประหารไป ลักษณะสำคัญของผู้นำพม่า ไม่ว่าจะเป็นผู้นำทหาร หรือผู้นำพลเรือนคือไม่ต้องการนำเรื่องภายในประเทศตนออกไปให้คนภายนอกรับรู้ และนี่รวมถึงการที่นักการเมืองและนายพลในกองทัพพม่าจะไม่มีวันแพร่งพรายเรื่องภายในของพรรคหรือกองทัพออกไปให้นักข่าวหรือคนทั่วๆ ไปได้รับรู้

เมื่ออาเซียนแสดงออกว่าอยากจะแต่งตั้งคณะผู้แทนพิเศษเข้าไปในพม่าเพื่อสืบสวนข้อเท็จจริง อันเป็นหนึ่งในข้อเสนอ 5 ข้อที่ได้จากการประชุมผู้นำอาเซียนในเดือนเมษายน เราจินตนาการได้เลยว่าพม่าจะพยายามประวิงเวลา และทำทุกอย่างเพื่อไม่ให้คณะผู้แทนพิเศษเข้าไปในพม่าได้ กระบวนการเจรจากับพม่าเพื่อนำคณะผู้แทนพิเศษ ที่นำโดย เอรีวัน ยูซุฟ (Erywan Yusof) นักการทูตคนสำคัญของบรูไน ถูกเลื่อนแล้วเลื่อนอีก จนทำให้อาเซียนเริ่มระแวงว่าพม่าจะไม่ยอมให้คณะผู้แทนพิเศษเข้าไป จริงอยู่ว่าในการประชุมผู้นำอาเซียน พม่าไม่ได้มีทีท่าต่อต้านข้อเสนอ 5 ข้อเพื่อไกล่เกลี่ยข้อพิพาททางการเมืองในพม่าแต่อย่างใด ถ้าจะให้เดา (แบบไม่เป็นวิชาการ) คือพลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย ออกจะเกรงใจอาเซียนอยู่ในขณะนั้น คนพม่ามีลักษณะนิสัยขี้เกรงใจ ที่เรียกว่า “อานามุ่” แบบที่แม้แต่คนไทยเองก็ยากจะเข้าใจ เมื่อแสดงความเกรงใจไปแล้ว ผู้นำกองทัพพม่าคงคิดว่าไม่จำเป็นต้องแสดงความเกรงใจอีก ดังนั้นกว่าคณะผู้แทนพิเศษจะฝ่าด่านอรหันต์เข้าไปในพม่าได้ก็ใช้เวลาหลายเดือน และเมื่อเข้าไปแล้วก็ต้องกุมขมับ เพราะมีอุปสรรคขัดขวางการทำงานในทุกๆ ทาง โดยเฉพาะการห้ามไม่ให้คณะผู้แทนเข้าพบอดีตแกนนำพรรค NLD และอดีตรัฐมนตรีในรัฐบาลของด่อ ออง ซาน ซูจีได้ กองทัพพม่ายื่นข้อเสนอให้คณะผู้แทนจากอาเซียนเข้าพบเฉพาะอดีตรองประธานาธิบดี เฮนรี่ วาน เถียว (Henry Van Thio) และที คุน มยัต
(T Khun Myat) อดีตโฆษกรัฐสภา ซึ่งไม่ใช่แกนนำพรรค NLD และไม่สามารถให้ข้อมูลที่เกี่ยวกับการประท้วงและขบวนการต่อต้านรัฐประหารที่กำลังเกิดขึ้นได้

การสัมภาษณ์เพียงบุคคลทั้งสองนี้จะยิ่งทำให้ชื่อเสียงของยูซุฟและคณะทำงานจากอาเซียนย่ำแย่ อุปสรรคทั้งหมดนี้ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างคณะทำงานกับคณะรัฐประหารย่ำแย่อย่างมาก ถึงขนาดที่ตัวแทนอาเซียนต้องออกมาแสดงความผิดหวังและยังกล่าวด้วยว่าอาเซียนควรแบนพม่าไม่ให้เข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน (ASEAN Summit) ในปลายเดือนนี้ อาเซียนมองว่าการเจรจากับพม่านับแต่นี้จะไม่ใช่การเจรจาทั่วๆ ไปที่เต็มไปด้วยความหวังและความปรารถนาดีอีกต่อไป แต่อาเซียนต้องมีท่าทีกับพม่าที่ต่างออกไป และทำให้พม่าเห็นว่าอาเซียนไม่พอใจรัฐบาลคณะรัฐประหารพม่าอย่างมาก

Advertisement

ในท้ายที่สุด ไม่ต้องสงสัยเลยว่าอาเซียนจะเป็นผู้แพ้ในเกมนี้ กองทัพพม่าเก่งกาจเรื่องประวิงเวลา และยิ่งเก่งในเรื่องการหาพันธมิตรที่ตนมองแล้วว่าจะให้คุณมากกว่าโทษ และที่สำคัญคือจะไม่กดดันให้กองทัพพม่าคืนอำนาจกลับไปให้พรรค NLD อีก สิ่งเดียวที่อาเซียนจะเรียกความเชื่อมั่นกลับคืนมาได้คือต้องแสดงให้เห็นว่าอาเซียนพร้อมจะบอยคอตพม่าในทุกๆ ทางจริงๆ และเลือกไปสานสัมพันธ์กับรัฐบาลคู่ขนาน NUG ที่ได้รับการสนับสนุนจากประชาชนส่วนใหญ่ในพม่ามากกว่า แต่ท้ายที่สุดแล้วอาเซียนรู้ดีว่าไม่สามารถตัดพม่าออกไปได้แบบ 100% แต่สำหรับผู้นำรัฐบาลพม่าชุดปัจจุบัน พวกเขามีเพียงเป้าหมายหนึ่งเดียวคือเข้าเส้นชัย และรักษาความศักดิ์สิทธิ์ของกองทัพเอาไว้ แม้ว่าในระหว่างนี้จะมีความสูญเสียมากเพียงใด เพราะในท้ายที่สุด คนที่รอดเท่านั้นคือผู้ชนะ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image