วิปัสสนาวงศ์ในไทย มอญและพม่า (4)

การที่อังกฤษยึดกรุงมัณฑะเลย์ได้โดยง่ายเพราะพระเจ้าสีป่อมีพระราชโองการให้ทหารวางอาวุธก่อน การขจัดกษัตริย์รวมถึงตำแหน่งพระสังฆราชซึ่งเชื่อมกษัตริย์กับสงฆ์กลับทำให้การปกครองระส่ำระสาย พม่ากลายเป็นดินแดนพุทธที่เต็มไปด้วยสงครามและการระดมมวลชน

ในปี พ.ศ.2428-2438 มีเจ้านายหลายพระองค์ทำการสู้รบกับอังกฤษนำโดยเจ้าชายมยินไซง์ในพระเจ้ามินดง เจ้าเทิดตินมัตและเจ้าเทิดตินเตินโอรสของเจ้ากะนองและเจ้าซอยานไนง์ และเจ้าซอยานไปง์โอรสของเจ้าชายมโยตู้เป็นต้น (เจ้าชายมโยตู้เป็นพระโอรสในพระเจ้ามินดงที่ถูกสกัดการครองราชย์) ทว่าเหลือรอดเพียงเจ้าซอยานไปง์ สายนี้เป็นสายที่จงรักภักดีต่อพระเจ้ามินดง

จิตรกรรมฝาผนังพระวิหารวัดถ้ำตะโก
พระพุทธเจ้า 4 พระองค์ที่พระเจดีย์ชเวดากอง เนินเขาสิงขุดร ใกล้ย่างกุ้ง
หลวงพ่อเภา พุทธสโรไปนมัสการเมื่อปี พ.ศ.2445 ปีต่อมาท่านบำเพ็ญเพียรที่ถ้ำตะโก
หลวงปู่มั่น ภูริทัตโตไปนมัสการในปี พ.ศ.2454
จำพรรษาที่เมาะละแหม่งและบำเพ็ญเพียรที่ถ้ำสาริกาในปีต่อมา

ในพม่าตอนล่างมีการต่อต้านอังกฤษกันหลายกลุ่ม ซึ่งมีทั้งชาวมอญและชาวพม่า พระมะยานช่าวสยาดอเป็นผู้นำการเคลื่อนไหวแต่ถูกจับแขวนคอในปี พ.ศ.2429 พระภิกษุอีกรูปที่รวบรวมชาวบ้านขึ้นต่อสู้คือพระอูสุริยะ ท่านถูกทางการจับกุมส่งให้อังกฤษ

การรวมตัวของพระสงฆ์มีมากขึ้นๆ มีการจัดตั้งสมาคมยุวพุทธเพื่อสอนธรรมแก่ประชาชน ซึ่งต่อมาได้มีพระภิกษุหนุ่มก่อตั้งสภาสังฆสามัคคีขึ้น ก่อนหน้าการก่อตั้งสภาสังฆสามัคคี ฆราวาสได้ก่อตั้งสภาสมาคมชาวพม่าโดยมีชิตไลง์ชาวมอญเมาะละแหม่ง และอูปาเพชาวพม่าสราวดีเป็นผู้ริเริ่ม ช่วงนั้นมีพระธรรมโลกะชาวไอริชต่อต้านมิชชันนารีและลัทธิล่าอาณานิคม ท่านต้องออกจากพม่าและคาดว่ามรณภาพครั้งพำนักที่วัดดอนบ้านทวายหรือวัดดอนยานนาวา

Advertisement

พระสงฆ์และขบวนการชาตินิยมของชนชั้นกลางเริ่มมีทิศทางที่ใกล้ชิดกัน พระอูอุตตมะและพระอูวิจาระซึ่งไปศึกษาที่อินเดียได้ริเริ่มการเคลื่อนไหวแบบคานธี พระอูอุตตมะเป็นชาวยะไข่ที่ใกล้ชิดมหาตมะคานธี คานธีและชิตไลง์สนับสนุนให้พระสงฆ์เป็นผู้นำทางการเมือง ส่วนอูปาเพคัดค้านและไม่ต้องการให้ฝ่ายอินเดียครอบงำการกู้เอกราช

ช่วงปี พ.ศ.2473-75 เกิดกบฏชนชั้นล่างและชาวนาที่ทนการขูดรีดภาษีไม่ได้โดยมีอูยาจอว์หรือซายาซาน (อาจารย์ต้นแบบ) เป็นผู้นำ เจ้าอาวาสที่ริเริ่มการลุกขึ้นสู้ในชนบทคือพระอาจารย์อาสภะที่ฮิ่นตาดะและพระอาจารย์ตอตะโลกะที่ยะแมสิน

ซายาซานเป็นอดีตพระภิกษุชาวชเวโปที่บวชตั้งแต่เล็ก เคยพบกับบุตรของเจ้าซอยานไปง์ซึ่งฝังตัวอยู่ที่ย่างกุ้งและสภาสังฆสามัคคีก็ให้ความสนับสนุน ซายาซานประกาศปราบดาในนามสุพรรณนาคครุฑราชาที่ย่างกุ้งและมีศูนย์กลางบนเขาที่สราวดี กองทัพครุฑของกบฏเติบโตรวดเร็วมากแม้อาศัยแค่หอกดาบและเครื่องรางของขลัง อังกฤษต้องใช้กองทัพเข้าปราบ พระสงฆ์และชาวนาจำนวนมากถูกสังหารและจับกุม พระสงฆ์ที่เหลือรอดต้องลดบทบาทลง

Advertisement
จิตรกรรมฝาผนังพระวิหารวัดถ้ำตะโก เขาสมอคอน ลพบุรี ราว พ.ศ.2460
ปฐมสังคายนา
พระมหากัสสปะ พระอุบาลีและพระอานนท์กล่าวปุจฉาวิสัชนา
และมีพระอรหันตสาวกรวม 500 รูปเข้าร่วม

การต่อต้านอังกฤษจึงมี 2 ขั้ว ขั้วหนึ่งต้องการปลดปล่อยพม่าโดยเร็วและอีกขั้วต้องการทำงานร่วมกับฝ่ายอินเดีย การสลายกบฏซายาซานทำให้ชนชั้นล่างขาดการนำ ชิตไลง์ก็มีความนิยมลดลงเพราะไม่ยอมรับการต่อสู้ของซายาซานและชาวชนบท ซึ่งขาดความรู้และการศึกษา ชนชั้นกลางจึงเห็นผู้นำรุ่นใหม่ในสมาคม (ของ) เราชาวพม่า ดร.ปะมอและอูซอมีชื่อเสียงจากการเป็นทนายความให้ซายาซาน อองซานมาทางสังคมนิยมและได้ก่อตั้งกลุ่มสามสิบสหาย
ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 ญี่ปุ่นเข้ายึดครองพม่าโดยร่วมมือกับฝ่ายกู้ชาติซึ่งส่วนหนึ่งเคลื่อนไหวอยู่ภายในประเทศและอีกส่วนหนึ่งคือกลุ่มสามสิบสหายซึ่งญี่ปุ่นฝึกการทหารให้ รัฐพม่าของญี่ปุ่นมีปะมอเป็นนายกรัฐมนตรี อองซานเป็นรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีกลาโหม อูนุเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศและสหายเนวินบัญชาการกองทัพ

ญี่ปุ่นสนับสนุนกษัตริย์และตั้งแต่ต้นเคยมองไปที่เจ้าชายปยินมะยาในพระเจ้ามินดง (ชายาเป็นพระธิดาในพระเจ้ามินดงกับพระนางสุสิริกัลยาซึ่งสืบตระกูลมาจากเจ้าชายกรุงศรีอยุธยา) ผู้นำพม่าเพียงน้อยนิดที่เห็นด้วยกับการมีพระประมุข จำนวนมากต้องการให้รัฐสภาเป็นใหญ่ ปะมอและอูนุต้องการรัฐบาลที่เข้มแข็งและต่างคัดค้านการมีกษัตริย์ อองซานไม่แสดงท่าที ก่อนแพ้สงครามญี่ปุ่นเคยตัดสินใจให้โอรสของเจ้าหญิงมยัตพญากะเลในพระเจ้าสีป่อเป็นประมุขแต่ไม่ทันการณ์

ภายหลังสงครามโลกพรรคแรงงานขึ้นครองอำนาจในอังกฤษและมีนโยบายที่เปลี่ยนแปลงไป การที่อองซานเคยจับมืออย่างลับๆ กับอังกฤษก่อนสิ้นสงครามและประนีประนอมกันเรื่องการเจรจาเอกราชกับรัฐชนส่วนน้อยทำให้เกิดสหภาพที่ใหญ่แต่ยุ่งเหยิงขึ้น เกิดรัฐบาลประชาธิปไตยที่มีอูนุเป็นผู้นำ เนวินคุมกองทัพและเจ้าส่วยไตก์แห่งยองห้วยเป็นประธานาธิบดี

การจัดตั้งสหภาพพม่านี้กะเหรี่ยงไม่ยอมรับการเจรจาตั้งแต่ต้น ส่วนมอญก็ต่อต้าน ผู้นำมอญที่ต่อต้านมีไนโพโชและไนอองทุน เป็นต้น โพโชเป็นครูภาษาอังกฤษของอองซานและเนวินและเคลื่อนไหวโดยมีพระสงฆ์เป็นที่ปรึกษา ชิตไลง์ไม่นานก็ถอนตัวจากการสนับสนุนอูนุ

กลุ่มสามสิบสหายและอูนุมีที่มาจากผู้นำนักศึกษาและสมาคมยุวพุทธ อองซานเลื่อมใสพระโลกนาถ อูนุศรัทธาพระซนลนสยาดอและพระมหาสีสยาดอ เนวินไม่ศรัทธาคณะสงฆ์และต้องการให้ออกจากการเมืองแต่ต่อมาใกล้ชิดกับพระชินอัคคธะซึ่งตีความธรรมไปทางพุทธสากล เจ้าส่วยไตก์เป็นศิษย์ของพระหงสาวดีสยาดอและอาจารย์อูบาขิ่น

ในปี พ.ศ.2492 นายกรัฐมนตรีอูนุได้นิมนต์พระอาจารย์มหาสีสยาดอมาที่ย่างกุ้ง รัฐบาลอูนุต้องการฟื้นรัฐพุทธผสมสังคมนิยมและได้จัดให้มีการสังคายนาพระไตรปิฎก มีการกำหนดให้วิธีปฏิบัติของวัดมหาสีหรือสำนักสาสนยิตตาเป็นกรรมฐานแห่งสหภาพพม่า

พระอาจารย์มหาสีสยาดอเป็นศิษย์ของพระอาจารย์มิงกุนสยาดอ ท่านแนะนำสติปัฏฐานหมวดอิริยาบถและสัมปชัญญะโดยปรับปรุงการเจริญสติให้กำหนดที่ตำแหน่งหน้าท้องและมีการเดินจงกรมอย่างช้าๆ เพื่อฝึกสติให้ละเอียด จึงมีแนวทางเดียวกับสายพระอาจารย์มิงกุนสยาดอ กล่าวคือให้เห็นรูปนามและพิจารณารูปนามจนเป็นไตรลักษณ์ก่อนเข้าสู่อริยมรรค

พระเถระสำคัญที่เป็นศิษย์พระมหาสี ได้แก่ พระเชมเยสยาดอ พระอูบัณฑิตาและพระชิตะกูสยาดอ ทั้งสามท่านเป็นพระอาจารย์ของนางออง ซาน ซูจี ส่วนนายพลมีนอองไลง์ใกล้ชิดกับพระวสีปิดสยาดอ โกวิทะที่เชียงตุง

การปฏิบัติสายวัดมหาสีเริ่มเผยแผ่ในประเทศไทยปี พ.ศ.2496 และมีเจ้าคุณโชดก ญาณสิทธิแห่งวัดมหาธาตุและพระอาจารย์ภัททันตะอาสภเถระแห่งวิเวกอาศรมเป็นวิปัสสนาจารย์ ได้เกิดโครงการปฏิบัติธรรมมากมาย มีการบรรจุเป็นวิชาบังคับที่มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย และมีการเชิญพระอาจารย์ฝ่ายกรรมฐานเข้ามาจากพม่าอย่างต่อเนื่องด้วย

ในพม่ายุคหลังนับว่ามีอาจารย์ทางสมถวิปัสสนาน้อยมาก ท่านที่สำคัญมากคือพระอาจารย์ตองปู๋ลู่สยาดอ ท่านเป็นชาวมัณฑเลย์และเคยศึกษาจากพระมิงกุนสยาดอที่สะเทิม 2 ปี และจากสายพระป่าที่หมู่บ้านใกล้เมาะละแหม่งอีก 2 ปี แล้วออกเจริญธุดงควัตร การปฏิบัติปกติแนะนำอาการ 32

อีกท่านคือ พระอาจารย์อโลตอปีย์สยาดอ ภัททันตะอริยวังสะ ท่านเป็นพระภิกษุชาวยะไข่ที่พุกามและเป็นที่ศรัทธาของพลเอกขิ่นยุ้นต์ผู้นำรัฐบาลสล็อคสายนายพลเนวินซึ่งสิ้นอำนาจไปแล้ว ท่านเริ่มศึกษาจากพระมิงกุนสยาดอ แต่ต่อมามีประสบการณ์หลายสายเช่น สายพระโมกกสยาดอ พระเวบูสยาดอและพระตองปู๋ลู่สยาดอ เป็นต้น

โดยภาพรวมฝ่ายวิปัสสนาของอมรปุรวงศ์อาศัยการปฏิบัติตามมหาสติปัฏฐานสูตรและห่างจากสมถวิปัสสนามากภายหลังเสียเอกราชให้อังกฤษ การปฏิบัติเน้นการเจริญสติและค่อยๆ มีสมาธิเท่าที่เพียงพออย่างพระสุกขวิปัสสโก

สัมมาปฏิปทาจึงไม่มุ่งที่การเห็นธรรมอย่างมีขณะในฌานนั่นเอง

ตีรณ พงศ์มฆพัฒน์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image