การเมืองบัตร2ใบ หลังแก้รัฐธรรมนูญ

หมายเหตุ ความเห็นนักวิชาการกรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ทูลเกล้าฯร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 83 และมาตรา 91 ไปแล้วตั้งแต่วันที่ 4 ตุลาคม โดยระบบเลือกตั้งแบ่งเป็น ส.ส.แบบแบ่งเขต 400 คน และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 100 คน ให้ใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ และการคำนวณสัดส่วน ส.ส.บัญชีรายชื่อของแต่ละพรรค ให้นำคะแนนที่แต่ละพรรคได้รับการเลือกตั้งมารวมกันทั้งประเทศ แล้วคำนวณเพื่อแบ่งจำนวนผู้ที่จะได้รับเลือกของแต่ละพรรคนั้น

โอฬาร ถิ่นบางเตียว
คณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ ม.บูรพา

แน่นอนว่า “บัตร 2 ใบ” พรรคใหญ่ได้เปรียบแน่ สำหรับผมตอนนี้คือ พรรคเพื่อไทยได้เปรียบสุด เพราะว่า 1.เป็นพรรคขนาดใหญ่ 2.มี ส.ส.ประจำเขตที่มีความใกล้ชิดกับประชาชนค่อนข้างสูง 3.ภาวะความตกต่ำของรัฐบาลในการแก้ปัญหาโควิด ไปจนถึงภาพลักษณ์ของรัฐบาลและความขัดแย้งของ พล.อ.ประยุทธ์ กับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เหล่านี้ยิ่งทำให้ฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลมีคะแนนนิยม

Advertisement

ประการสุดท้าย 4.การสื่อสารทางการเมืองของคนแดนไกล อย่าง “โทนี่” ทำให้พรรคใหญ่โดยเฉพาะพรรคเพื่อไทยมีความได้เปรียบสูงสุด และหากดูจากที่มาที่ไปตั้งแต่ต้น พรรคเพื่อไทยก็เห็นด้วยกับบัตร 2 ใบมาตลอด ถึงขนาดมีการประกาศอย่างชัดเจนว่า ผลการเลือกตั้งอาจจะ “แลนด์สไลด์” และก่อนหน้านี้พรรคที่ได้เปรียบลำดับถัดมา คือพรรคพลังประชารัฐ ช่วงที่ยังมีเอกภาพกันอยู่ ซึ่งผมคิดว่าพรรคพลังประชารัฐเผชิญปัญหาการต่อรองผลประโยชน์ของพรรคเล็กพรรคน้อยในรัฐบาลชุดนี้ จึงต้องการจัดการปัญหาเพื่อให้เกิดพรรคใหญ่ 2 พรรค แต่ปรากฏว่าสถานการณ์ของพลังประชารัฐ ณ เวลานี้ ไม่เหมือนเดิมอีกแล้ว จึงจำเป็นที่ พล.อ.ประวิตรต้องประคับประคองพรรคให้กลับมาเป็นเหมือนเดิมให้ได้มากที่สุด เพราะบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ มีความจำเป็นที่จะต้องได้ ส.ส.เขตกับ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ ดังนั้น จากภาพลักษณ์แบบนี้ ผมคิดว่าเป็นรองพรรคเพื่อไทยแน่นอน

ส่วนพรรคที่จะเสียโอกาสจากบัตร 2 ใบ ก็คือบรรดาพรรคขนาดกลาง อย่างภูมิใจไทย หรือประชาธิปัตย์ จึงไม่แปลกที่ประชาธิปัตย์ในตอนนี้จำเป็นต้องระดมทรัพยากร ส.ส.หน้าใหม่ ลงพื้นที่ให้ได้มากที่สุด เพื่อหวังจะใช้โอกาสนี้ยกระดับพรรคขึ้นมา หากอยู่เช่นเดิมพรรคอาจสูญเสียคะแนนนิยม กลายเป็นพรรคเล็กไป หรือลดบทบาททางการเมืองไปมากกว่านี้

พรรคต่อมาคือ ก้าวไกล คิดว่า ส.ส.เขตอาจจะเสียเปรียบมาก แม้รัฐธรรมนูญปี 2560 ทำให้ ส.ส.พรรคก้าวไกลเคยได้ผลประโยชน์มาก การเปลี่ยนบัตร 2 ใบ ส.ส.เขตของก้าวไกลอาจจะได้น้อยลง แต่ในส่วนปาร์ตี้ลิสต์ ไม่แน่ เพราะอย่าลืมว่ามีชนชั้นกลาง มีเยาวชนคนรุ่นใหม่อีกหลาย 10 ล้านคน ที่อาจจะเลือกปาร์ตี้ลิสต์ของพรรคก้าวไกล เนื่องจากว่าเป็นฐานคะแนนมาตั้งแต่ต้น นโยบาย ทิศทาง อุดมการณ์สอดคล้องกับคนรุ่นใหม่ จึงน่าจะมี ส.ส.ส่วนหนึ่งที่มาจากปาร์ตี้ลิสต์

Advertisement

ทั้งนี้ ในส่วนของกฎหมายลูกทั่วไป โดยหลักการที่ต้องแก้คือ วิธีการเลือก วิธีการนับคะแนน รวมถึง ส.ส.เขต หากเทียบกับรัฐธรรมนูญปี 2540 จะใช้ “ประเทศ” เป็น “เขต” แล้วนับสัดส่วนคะแนนไม่เหมือนกับบัตรเลือกตั้งใบเดียว ที่มีเรื่อง ส.ส.พึงมี ซึ่งคราวนี้แยกออกจากกัน ใครชนะในเขตก็ได้เป็น ส.ส. (one man one vote)

แต่ถ้าบัตร 2 ใบ คือมีปาร์ตี้ลิสต์ที่เอาไปคำนวณ ส.ส. ซึ่งจะง่าย เพียงแต่ทำค่ากลางให้ชัดว่าจะต้องได้คะแนนเสียงเท่าไหร่ จึงจะได้ปาร์ตี้ลิสต์

อย่างไรก็ดี ข้อขัดแย้งทางการเมืองต่อจากนี้ คือ 1.ปัญหาพรรคเล็กที่อาจจะสูญพันธุ์ไป หรือ 2.พรรคเล็กมาซบพรรคใหญ่แทน อย่างท่าทีของพรรคพลังท้องถิ่นไทก็เริ่มที่จะมารวมกับพลังประชารัฐ เพราะรู้แล้วว่าเขาไปต่อไม่ได้ ด้วยบัตร 2 ใบให้โอกาสสำหรับ ส.ส.ประจำเขตหลัก และพรรคที่มีชื่อเสียง เป็นที่ยอมรับในระดับสากล กล่าวคือ เป็นการแก้ไขเพื่อต้องการสร้างระบบพรรคการเมืองที่เข้มแข็ง 2 พรรค หรือให้เป็นพรรคการเมืองขนาดใหญ่ ถ้าเป็นรัฐธรรมนูญ 60 มีหลักคิดคือ ต้องการให้ทุกกลุ่มก้อนของสังคมมีพื้นที่ทางการเมือง จึงทำให้พรรคเล็กเกิดขึ้นได้

นอกจากนี้ ยังมีปัญหาเรื่อง 3.การช่วงชิงพื้นที่กันมากขึ้น เพราะว่าจะกลายเป็น 2 พรรคใหญ่ ที่ต้องแข่งขันในพื้นที่เขตเลือกตั้งกันมากขึ้น เนื่องจากรอบนี้กำหนด ส.ส.เขต 400 คน ส่วน ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ 100 คน ที่แย่งชิงกันในตอนนี้ คือ พลังประชารัฐกับเพื่อไทย แต่ประชาธิปัตย์ช่วงชิงเฉพาะพื้นที่ภาคใต้ ซึ่งผมคิดว่าตอนนี้พลังประชารัฐ เมื่อเห็นบรรดา ส.ส.ของตนที่มีอยู่ในภาคใต้ ประมาณ 15 คน ก็คงเริ่มเห็นความหวัง ในขณะที่ประชาธิปัตย์ก็เริ่มรู้สึกว่าจะต้อง “ปรับตัวครั้งใหญ่” เพราะความจริงในภาคใต้ไม่ใช่แค่ประชาธิปัตย์และพลังประชารัฐ ยังมีตัวแปรแทรกซ้อนคือ “ภูมิใจไทย” ด้วย ที่เริ่มมี ส.ส.เกิดขึ้น เริ่มตีพื้นที่

พลังประชารัฐยึดหัวหาดที่ภาคใต้ตะวันออก เช่น จ.นครศรีธรรมราช สังเกตได้จากการลงพื้นที่ของนายกฯ เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม ขณะเดียวกัน ภูมิใจไทยลงไปพื้นที่ฝั่งอันดามัน ทั้งระนอง กระบี่ สตูล ซึ่งอาจจะยึดพังงาด้วย แสดงว่าตอนนี้พรรคร่วมรัฐบาลก็แย่งชิงความได้เปรียบในพื้นที่ภาคใต้กันเองด้วย ในขณะที่ภาพรวมหลักยังคงเป็น เพื่อไทยกับพลังประชารัฐ แต่ภูมิใจไทยหากใครชนะ ก็มีโอกาสเปลี่ยนไปตามสภาพทางการเมือง

ลำบากที่ประชาธิปัตย์ ต้องต่อสู้กับเพื่อไทยแล้ว ยังต้องสู้กับพลังประชารัฐ และภูมิใจไทยด้วย หนักที่สุด

พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต
นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ คณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม
สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์

การแก้ไขระบบการเลือกตั้ง ส.ส.ในรัฐธรรมนูญเพียง 2 มาตรา มีการกำหนด ส.ส.เขต 400 คน ส.ส.บัญชีรายชื่อ 100 คน ใช้บัตร 2 ใบในการเลือกตั้ง ที่น่ากังวลอาจเป็นปัญหาจากการเชื่อมโยงกับมาตราอื่น และควรแก้ไขตามเจตนารมณ์ของผู้เสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ต้องการให้คำนวณคะแนนแยกกันระหว่าง ส.ส.เขตกับบัญชีรายชื่อ ก็หมายถึงจะต้องยกเลิก ส.ส. พึงมีที่คำนวณ ส.ส.จากการเลือกตั้งด้วยบัตรใบเดียว

สิ่งที่น่าสนใจกรณีการแก้ไข ส.ส.พึงมี ที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญมาตราอื่นที่เชื่อมโยงกับระบบเลือกตั้ง หากมีการนำเอาคำว่า ส.ส.พึงมีออกไป รวมทั้งเปลี่ยนระบบการคำนวณ จะกลายเป็นปัญหาขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญเดิมอีกหรือไม่ หากไม่มีข้อยุติในการทำกฎหมายลูก ก็อาจจะต้องยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความว่า พ.ร.ป.เลือกตั้งจะขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญหรือไม่

แต่ปัจจุบันในระหว่างที่ต้องรอการแก้ไขรัฐธรรมนูญจากบัตรเลือกตั้ง 2 ใบตามไทม์ไลน์ หากมีการยุบสภาก่อน ก็ต้องกลับไปใช้รัฐธรรมนูญเดิม ใช้บัตรใบเดียวแบบสัดส่วนในการเลือกตั้ง ส่วนจะยุบสภาก่อนหรือไม่อย่างไร พล.อ.ประยุทธ์และพรรคพลังประชารัฐจะต้องประเมินสถานการณ์ให้รอบคอบ

กรณีใช้ระบบการเลือกตั้งใหม่ อาจจะเพลี่ยงพล้ำให้พรรคเพื่อไทยอย่างขาดลอย ก็มีความเป็นไปได้ว่าจะมีการยุบสภาก่อน เพราะการใช้ระบบเลือกตั้งเดิม หากแพ้ก็ยังไม่ขาดลอย หรือมีลักษณะคล้ายกับหลังการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 การเลือกตั้งระบบเดิมพรรคเพื่อไทยจะไม่ได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อ แต่พลังประชารัฐจะได้ทั้ง 2 รูปแบบ เพราะพละกำลังในการที่จะได้จำนวน ส.ส.เขตยังอ่อนด้อยกว่าพรรคเพื่อไทย

ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ หรือ พล.อ.ประวิตรที่ผ่านมา ยังไม่เคยให้ความเห็นหรือชี้นำในเรื่องของการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทำให้ปลายทางของการเมืองในเร็วๆ นี้อาจมีการยุบสภาก่อนที่การแก้ไขรัฐธรรมนูญจะเสร็จสมบูรณ์ โดยผู้มีอำนาจมีความประสงค์จะใช้ระบบการเลือกตั้งแบบเก่า เพราะยังเป็นประโยชน์กับพรรคขนาดเล็กที่ได้ ส.ส.ปัดเศษในระดับที่ไม่ต่างจากของเดิม

ส่วนพรรคก้าวไกลก็ได้คะแนนเสียงจากระบบบัญชีรายชื่อ โดยนิด้าโพลสำรวจว่าจะได้คะแนนบัญชีรายชื่อเป็นอันดับ 2 ส่วน ส.ส.เขตจะลดลงเพราะคราวที่แล้วบางพรรคการเมืองถูกยุบ แต่เลือกตั้งครั้งต่อไปเสียงของพรรคนั้นจะเป็นของพรรคเพื่อไทย

ส่วนตัวเชื่อว่าหากมีการเลือกตั้งใหม่ อาจจะใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบแต่ยังคง ส.ส.พึงมีเอาไว้เหมือนระบบของเยอรมัน จากนั้นจะต้องแก้ไขสัดส่วน ส.ส.บัญชีรายชื่อ อย่างน้อยต้องมีเท่ากับจำนวนที่เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญ 2560 หรือมีมากกว่าและลด ส.ส.เขต รวมทั้งการกำหนดเกณฑ์คะแนนขั้นต่ำ อาจจะใช้เกณฑ์เฉลี่ยของคะแนนเสียงที่นำจำนวน ส.ส.ที่ลงเลือกตั้งหารด้วยคะแนนทั้งหมด และหากใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ แต่มี ส.ส.พึงมี ก็ไม่ควรกำหนดจำนวน ส.ส.ตายตัว ควรมีความยืดหยุ่นแบบเยอรมัน

เชื่อว่าน่าจะเป็นระบบที่ตอบโจทย์ความซับซ้อนของสังคมมากกว่าระบบที่กำลังจะใช้ในปัจจุบัน ส่วนการเลือกตั้งด้วยบัตรใบเดียวในปี 2562 ก็ยังมีข้อบกพร่อง ดังนั้นจึงต้องมีบัตรเลือกตั้ง 2 ใบแต่ยังมี ส.ส.พึงมีโดยเอาบัตรเลือกตั้งที่เลือกพรรคมาใช้เป็นฐานในการคำนวณ จากนั้นจึงจะจัดสรรไปตามสัดส่วน

สมชัย ศรีสุทธิยากร
อดีตกรรมการการเลือกตั้ง ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยการเมือง
และการเลือกตั้ง มหาวิทยาลัยรังสิต

หากร่างแก้ไขมีการประกาศในราชกิจจานุเบกษา มีการเลือกด้วยบัตร 2 ใบ หลักการสำคัญที่แก้ไข คือ ส.ส.เขต จะมี 400 คน บัญชีรายชื่อ 100 คน มีบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ ส่วนรัฐธรรมนูญเดิมระบุว่าจะต้องส่ง ส.ส.เขตก่อน จึงจะมีสิทธิส่ง ส.ส.บัญชีรายชื่อ ก็เป็นกติกาใหม่ให้พรรคการเมืองต้องส่ง ส.ส.อย่างน้อย 1 เขต จึงจะมีชื่อพรรคในบัตร ส.ส.บัญชีรายชื่อ

ส่วนวิธีการนับคะแนน แนวโน้มว่ากฎหมายลูกน่าจะเป็นการนับคะแนนแบบคู่ขนาน แยกนับระหว่าง ส.ส.เขต บัตรบัญชีรายชื่อก็แยกนับ เพื่อคำนวณ ส.ส. 100 คน พรรคการเมืองได้สัดส่วนคะแนนเท่าไหร่จาก 100% ก็ได้จำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อเท่านั้น แต่ยกเว้นว่าจะมีการเขียนกฎหมายลูกออกมาในแนวจัดสรรปันส่วนผสม ก็จะต้องคำนวณ ส.ส.ที่พึงมีก่อน แล้วคำนวณจำนวน ส.ส.ทึ่พึงได้รับ ก็มีโอกาสเป็นไปได้

ภายใต้เงื่อนไขการเปลี่ยนแปลง จะทำให้พรรคการเมืองขนาดใหญ่ที่มีโอกาสได้ ส.ส.เขตจำนวนมากอยู่แล้ว ก็จะได้สัดส่วน ส.ส.บัญชีรายชื่อจำนวนมากเช่นกัน 2 พรรคใหญ่ที่ชนะเลือกตั้งในระดับเขตจะได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อมากถึง 50% ของ ส.ส.บัญชีรายชื่อทั้งหมด ส่วนที่เหลือก็แบ่งกันระหว่างพรรคขนาดกลางและพรรคขนาดเล็ก พรรคที่เคยได้ 1 เสียงจากการปัดเศษ ก็คาดว่าจะไม่ได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อแม้แต่รายเดียว

การใช้ระบบใหม่ประเมินว่าเพื่อไทยมีความได้เปรียบสูงกว่า การเลือกตั้งในอนาคตอาจส่งครบทั้ง 400 เขต สำหรับพลังประชารัฐเป็นพรรคอันดับ 2 สำหรับประชาธิปัตย์ ภูมิใจไทย พรรคก้าวไกล เป็นพรรคขนาดกลาง โดยก้าวไกลจะส่ง ส.ส.เขตมากขึ้น เพื่อสร้างคะแนนนิยมในการชิงพื้นที่ ส่วนภูมิใจไทยจะอยู่ในระดับเดิมหรือต่ำกว่าเดิมเล็กน้อย เนื่องจาก ส.ส.บัญชีรายชื่ออาจจะลดลง

ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์เป็นพรรคขนาดกลางที่น่าห่วงที่สุด จากการที่อยู่ร่วมกับรัฐบาล ไม่ชัดเจนในจุดยืนทางการเมืองจะไปทิศทางใด จะทำให้ประชาชนไม่ตัดสินใจสนับสนุนอย่างเต็มที่ ดังนั้นในพรรคต้องเร่งสร้างคะแนนนิยม

หากเลือกตั้งครั้งหน้าจากบัตร 2 ใบ จะเหลือพรรคการเมืองในสภาไม่ถึง 10 พรรค การจับขั้วรัฐบาลทำได้ง่าย ไม่ต้องอาศัยพรรคขนาดกลาง พรรคเล็ก แต่ถ้าหากครบ 90 วันหลังทูลเกล้าฯช่วงต้นเดือนมกราคม 2565 แล้วไม่โปรดเกล้าฯพระราชทานคืนลงมา สภาสามารถยืนยันจากการใช้เสียงในสภา ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้

สำหรับแนวทางระหว่างรอพระราชทานแล้วมีการยุบสภาเกิดขึ้น ก็มีโอกาสเป็นไปได้ การยุบสภาก็อาจจะมาจากสาเหตุที่รัฐบาลไม่สามารถคุมเสียงในสภาได้ นอกจากนั้นการยุบสภาอาจเกิดจากผู้มีอำนาจประเมินแล้วว่าถ้าเดินหน้าด้วยการเลือกตั้งแบบบัตร 2 ใบ พรรคของตัวเองจะเสียเปรียบ จึงอาศัยเหตุของความวุ่นวาย มีการต่อรองในสภาเพื่อประกาศยุบสภา

ถ้ามีการชิงยุบสภาก็ต้องกลับไปเลือกตั้งภายใต้กติกาเดิมด้วยบัตรใบเดียว ขณะที่นายวิษณุ เครืองาม มีความกังวลว่าหากยุบสภาแล้ว เตรียมเลือกตั้งแบบบัตรใบเดียว แต่ถ้าเวลาต่อมาทรงโปรดเกล้าฯพระราชทานร่างแก้ไขลงมากลางคัน อาจจะต้องตีความว่าจะต้องไปเลือกตั้งจากบัตร 2 ใบหรือไม่

เชื่อว่านายวิษณุคงมีคำตอบไว้แล้วในใจ เพื่อไม่ให้เป็นปัญหา เพราะสามารถทำได้โดยการชะลอการประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาออกไป และอาจประกาศหลังมีการเลือกตั้งใหม่เรียบร้อยแล้ว รัฐบาลสามารถทำได้ เพื่อไม่เกิดความวุ่นวาย ขอย้ำว่าถ้ามีการยุบสภาก่อนพระราชทานร่างลงมาก็ต้องกลับไปใช้บัตรใบเดียว เพื่อไม่ให้เกิดปัญหา หาก กกต.พิมพ์บัตรเลือกตั้งใบเดียวรอไว้แล้ว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image