โคทม อารียา : เราต้องการการความเห็นพ้องต้องกัน

โคทม อารียา : เราต้องการการความเห็นพ้องต้องกัน

ผมมีความเชื่อว่าเราอยู่ในวิกฤติหลายด้านรวมทั้งด้านการเมือง การออกจากวิกฤติไม่อาจทำได้ถ้ายังคิดในลักษณะ ชนะ – แพ้ หรือ winner takes all หากควรคิดแบบ ชนะ – ชนะ หรือควรก้าวไปด้วยกันมากกว่า เพื่อการนี้ เราควรพยายามสร้างความเห็นพ้อง แต่หลายคนคิดว่าเรื่องนี้เป็นไปไม่ได้ แค่คิดก็เป็นการเพ้อฝันแล้ว ในทางการเมือง ผู้ชนะเท่านั้นคือผู้ตัดสินใจ ถ้าต่างฝ่ายต่างคิดว่าเราต้องเป็นผู้ชนะ สุดท้ายประเทศอาจเป็นผู้แพ้ก็เป็นได้

ผมคิดว่าเราไม่มีทางเลือกมากนัก เราต้องช่วยกันสร้างรากฐานทางการเมืองที่เป็นประชาธิปไตยที่ยั่งยืน อันที่จริง เรามีรัฐธรรมนูญมาแล้ว 20 ฉบับ แต่มีคนจำนวนมากเรียกร้องให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ถ้าฉบับที่ 21 ยังไม่ใช่ฉบับแห่งความเห็นพ้องและยั่งยืน จะเป็นการเสียเปล่าอีกครั้งหนึ่งมิใช่หรือ

รัฐธรรมนูญคือกติกาการปกครองของรัฐ ผมเคยเชื่อว่ารัฐธรรมนูญปี 2540 มาจากความเห็นพ้องต้องกันและแฟร์พอสมควร แต่คนจำนวนหนึ่งอาจคิดว่ารัฐธรรมนูญปี 2540 เป็นเสรีประชาธิปไตยมากไป อีกทั้งเอื้อต่อพรรคการเมืองขนาดใหญ่ที่อาจใช้อำนาจทางรัฐสภาและทางคณะรัฐมนตรีได้ตามอำเภอใจ ในปี 2548-49 มีคนออกมาชุมนุมประท้วงรัฐบาล โดยที่การชุมนุมใหญ่เช่นนี้หากเป็นไปโดยสงบและปราศจากอาวุธย่อมได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ อย่างไรก็ดี คนอีกจำนวนหนึ่งยกเหตุของการชุมนุมมาอ้างเพื่อกระทำรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 เหตุเกิดเมื่อ 15 ปีที่แล้ว

หลังการรัฐประหารดังกล่าว มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญใหม่ในปี 2550 ตามด้วยรัฐประหารซ้ำในปี 2557 และมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญปัจจุบันในปี 2560 ซึ่งเป็นฉบับที่ 20 แห่งราชอาณาจักรไทย

Advertisement

ผมได้รับหนังสือเล่มหนึ่งชื่อ “ปรับสร้างประเทศไทยใหม่” หนังสือเล่มนี้เขียนโดยสุนัย เศรษฐบุญสร้าง สุนัยเสนอแนวคิดหนึ่งที่อาจใช้ในการสร้างความเห็นพ้องในทางการเมือง เราจะเห็นด้วยกับสุนัยหรือไม่ก็ตาม แต่อย่างน้อยก็ควรเคารพความตั้งใจเสนอของเขาและควรรับฟังเพื่อนำมาคิดต่อไป

หนังสือเล่มนี้เริ่มด้วยการเสนอภาพของสังคมการเมืองไทย ที่ดูเหมือนจะเคลื่อนไปข้างหน้า แต่แล้วก็หวนกลับมาเป็นวิกฤติซ้ำซาก จึงควรวิเคราะห์ให้ชัดถึงสาเหตุ เมื่อรู้ตรงกันถึงเหตุปัจจัย ก็อาจร่วมมือกันแก้ไขที่เหตุ แทนที่จะทะเลาะกันเรื่อยไป ทั้งนี้ เพื่อจะได้แปลงเปลี่ยนผลซึ่งก็คือวิกฤติให้เป็นโอกาสของการสร้างระบบการเมืองที่มีเสถียรภาพ ข้อค้นพบของสุนัยคือ การสร้างระบบเช่นนี้ต้องการการประนอม ดุลภาพและคุณภาพ ผู้ออกแบบระบบไม่ควรเป็นคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งที่มุ่งประโยชน์ของกลุ่มตนโดยเฉพาะ ที่สำคัญคือ ก่อนที่จะออกแบบระบบ เราควรร่วมกันคิดและร่วมกันทำความเข้าใจ ถึงโครงสร้างของอำนาจและอิทธิพลเชิงสังคมวิทยาที่มีอยู่ในสังคมการเมืองไทย โดยเฉพาะรากเหง้าทางวัฒนธรรมที่มีความขัดแย้งกับวัฒนธรรมการเมืองแบบประชาธิปไตย

เราอาจเรียกวัฒนธรรมในอดีตว่าจารีตนิยม จารีตนิยมในทางการเมืองให้ความหมายแก่ “ชาติ – ศาสน์ – กษัตริย์” ในความหมายหนึ่ง แต่เมื่อกระแสโลกาภิวัตน์ล่วงล้ำเข้ามาในสังคมไทย ความหมายย่อมเปลี่ยนไป ชาติมิได้มีความหมายเชิงนามธรรมอย่างเดียว หากหมายถึง “คน” ที่อยู่ร่วมกัน ยิ่งแต่ละคนเป็นเอกเทศ เป็นอิสระต่อกัน ไม่ต้องพึ่งพากันมากนัก ชาติอาจหมายถึงปัจเจกชนกลุ่มหนึ่งที่ยอมรับกติกาการอยู่ร่วมกันในความหลากหลายทางวัฒนธรรมและความเชื่อ กติกาดังกล่าวอาจเรียกชื่อว่าสัญญาประชาคมระหว่างพลเมืองกับรัฐที่ต่างฝ่ายต่างมีหน้าที่ต่อกัน มิใช่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นใหญ่อยู่ฝ่ายเดียว

Advertisement

กษัตริย์ที่เคยหมายถึงผู้ปกครองสูงสุดได้ลดบทบาทมาเป็น “ผู้ครองแผ่นดินโดยธรรม” ส่วนการปกครองไปอยู่ที่ รัฐสภา – คณะรัฐมนตรี – และศาล ซึ่งในระบอบประชาธิปไตยย่อมมีที่มาจากประชาชนตามกติกาการอยู่ร่วมกันดังกล่าว ศาสนาอาจมีความหมายถึงวัตรปฏิบัติที่ดีต่อกันในหมู่ผู้คน และเป็นพลังทางวัฒนธรรมที่ยึดเหนี่ยวจิตใจผู้คนให้อยู่ร่วมกัน มีทุกข์/สุขร่วมกัน และมีความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน โดยมีผู้นำศาสนาเป็นแบบอย่างและคอยชี้นำ แต่ในกระแสโลกาภิวัตน์ ข้อมูลและความรู้ รวมทั้งการชี้นำ มีอยู่ในอินเตอร์เน็ต คนจำนวนมากถือลัทธิบริโภคนิยม และมีห้างสรรพสินค้าเป็นเหมือนวัดวาอาราม สุนัยจึงเสนอให้มาช่วยกันคิดในเรื่อง “ศาสนาแห่งพลเมือง” ซึ่งเป็นธรรมวิทยาที่จะยึดเหนี่ยวจิตใจและความรู้สึกนึกคิดทางการเมืองของคนไทยส่วนใหญ่ในปัจจุบันไว้ด้วยกัน

ข้อเสนอของสุนัยคือ ประเทศไทยมีนักปราชญ์ที่เป็นผู้ประกาศ “ศาสนาแห่งพลเมือง” ของประเทศไทยอยู่แล้ว ได้แก่พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร หรือที่เรียกขานในพระนาม “ในหลวงรัชกาลที่ 9” พระองค์ทรงเป็นธรรมราชาผู้มีประชาธิปไตยอยู่ในหฤทัย และเราจึงควรนำพระราชดำรัสของพระองค์ในเรื่องบ้านเมืองมาศึกษาและถกแถลงกันจนได้เป็นความเห็นพ้อง หรือเป็นข้อธรรมะในธรรมวิทยาอันเป็นที่ยอมรับร่วมกัน ทั้งนี้ โดยการเปิดพื้นที่การถกแถลงที่กว้างที่สุดเท่าที่จะทำได้ และผู้เห็นต่างมีพื้นที่ปลอดภัยในการแสดงออก

สุนัยมีความเห็นว่าควรนำพระราชดำรัสเรื่อง “ความรู้ – ความรัก – ความสามัคคี” ที่ทรงให้ไว้เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2549 มาเป็นสรณะทางการเมือง โดยมีอรรถาธิบายเป็นคุณธรรม 4 ประการ ดังนี้

1) ทุกคนคิด พูด ทำ ด้วยความเมตตา มุ่งดีมุ่งเจริญต่อกัน (ตรงกับหลัก เมตตามโนกรรม เมตตาวจีกรรม เมตตากายกรรม ของสาราณียธรรม 6 ข้อ 1 ถึง 3)

2) แต่ละคนต่างช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ประสานงานประสานประโยชน์กัน ให้งานที่ทำสำเร็จผล ทั้งแก่ตน แก่ผู้อื่น และแก่ประเทศชาติ (ตรงกับหลักสาธารณโภคี ของสาราณียธรรม 6 ข้อ 4)

3) ทุกคนประพฤติปฏิบัติตนอยู่ในความสุจริต ในกฎกติกา และในระเบียบแบบแผนโดยเท่าเทียมเสมอกัน (ตรงกับหลักสีลสามัญญตา ของสาราณียธรรม 6 ข้อ 5)

4) ต่างคนต่างพยายามทำความคิดความเห็นของตนให้ถูกต้องเที่ยงตรงและมั่นคงอยู่ในเหตุในผล (ตรงกับหลักทิฏฐิสามัญญตา ของสาราณียธรรม 6 ข้อ 6)

เมื่อนำหลักธรรมทางพุทธศาสนาสำหรับเสริมสร้างความสามัคคีและความเป็นปึกแผ่นให้เกิดขึ้นในสังคม (ซึ่งได้แก่หลักสาราณียธรรม 6) มาประยุกต์เป็นธรรมวิทยาทางการเมือง โดยมีในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงเป็นองค์ประกาศกแล้ว สุนัยเชื่อว่าคุณธรรม 4 ประการคือจุดเริ่มต้นของการสร้างความหมาย “ความเป็นไทยร่วมกัน” อันจะเป็นทางออกจากกับดัก (บางคนเรียกว่าวังวน) ทางการเมือง สุนัยเสนอให้จัดทำรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่ โดยมีหลัก 4 ข้อในการจัดทำดังนี้

1) สร้างพื้นที่ให้คนไทยทุกฝ่ายได้พูดคุยเพื่อหาข้อยุติ

2) อาศัยรัฐธรรมนูญสร้างจุดรวมความคิดคนไทย

3) ใช้กฎกติกาของรัฐธรรมนูญเป็นเครื่องยุติความขัดแย้ง

4) ตั้งองค์กรอิสระมาประเมินผลการทำงานของทุกฝ่ายที่เป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญ

สุนัยอ้างหนังสือเรื่อง “Why Nations Fail” ของ Daron Acemoglu และ James Robinson ที่ชี้ว่า การพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมจะสำเร็จหรือล้มเหลว ขึ้นอยู่กับการพัฒนา “สถาบัน” ทั้งทางด้านการเมืองและเศรษฐกิจที่เปิดกว้าง ทั้งนี้ เพื่อปลดปล่อยศักยภาพของผู้คนและทรัพยากรในชาติสู่การผลิตที่มีประสิทธิผลสูงสุด

สุนัยตีความว่า “สถาบัน” ในที่นี้หมายถึง “ระบบเศรษฐกิจแบบกลไกตลาดที่เป็นธรรม การเมืองในระบอบประชาธิปไตยที่มีคุณภาพ และสังคมสมานฉันท์บนรากฐานความเป็นไทย” และการ “เปิดกว้าง” หมายรวมถึงการเปิดประตูสู่หมู่บ้าน (ในชนบท) และสู่ชุมชน (ในเมือง) ที่มีอยู่ประมาณ 1 แสนแห่งทั่วประเทศ โดยรัฐส่งเสริมให้มีการถกแถลง/ปรึกษาหารือ (deliberation) ในรูปของที่ประชุมหมู่บ้าน/ชุมชน เป็นประจำ และรัฐให้ความสนับสนุนด้านงบประมาณในรูปของเงินอุดหนุนแก่หมู่บ้าน/ชุมชนเพื่อแก้ไขปัญหาอย่างตรงจุด ข้อเสนอที่ชวนคิดคือ ควรบัญญัติเรื่องประชาธิปไตยฐานรากระดับหมู่บ้าน/ชุมชนไว้ในหมวดแนวนโยบายแห่งรัฐของรัฐธรรมนูญหรือไม่

สุนัยสรุปข้อเสนอไว้ในหนังสือ “ปรับสร้างประเทศไทยใหม่” ดังนี้

1) หมู่บ้านและชุมชนได้รับการพัฒนาให้เป็น “สถาบัน” ที่เป็น “โครงสร้างพื้นฐานทางสังคม”

2) พรรคการเมืองและวุฒิสมาชิกร่วมกันสนับสนุนการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญปี 2560 ให้มีหมวดการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ โดยในเบื้องต้น คณะรัฐมนตรีเป็นผู้เปิดทางให้มีการลงประชามติเพื่อสถาปนาอำนาจการจัดทำรัฐธรรมนูญโดยสภาร่างรัฐธรรมนูญซึ่งสมาชิก (สสร.) มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน โดยมีคุณธรรม 4 ประการ ที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงให้ไว้ เป็นหลักนำ

3) การดำเนินการตามข้อ 1) และ 2) มีเป้าหมายเพื่อปรับสร้างให้เกิด “การเมืองภายใต้ระบอบประชาธิปไตยที่มีคุณภาพ ระบบเศรษฐกิจแบบกลไกตลาดที่เป็นธรรม และสังคมสมานฉันท์บนรากฐานความเป็นไทย”

สุนัยได้เปิดประเด็นทางความคิดในเรื่องการสร้างความเป็นปึกแผ่นในสังคมการเมือง หวังว่าความคิดใดแม้ไม่ถูกใจคนทุกคน แต่หากยอมปรับเข้าหากัน โดยถือประโยชน์สุขของคนส่วนใหญ่ โดยเฉพาะผู้ที่เรียกกันว่า “คนตัวเล็กตัวน้อย” เป็นสำคัญ เราจะบรรลุเป้าหมายของประชาธิปไตยที่พอสมควรและยั่งยืน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image