สุจิตต์ วงษ์เทศ : โขน ทุกวันนี้เป็นการแสดงมหรสพเพื่อความบันเทิงที่ฝ่ายอนุรักษ์เรียกร้องให้มีคนดู แต่คนยุคใหม่ไม่อยากดูแบบนั้น

ทศกัณฐ์หยอดขนมครก ในมิวสิควิดีโอเพลง “เที่ยวไทยมีเฮ” (ภาพจากhttps://www.youtube.com/watch?v=8VO9PzDDX-M)

โขน ได้รับการบริหารจัดการ เพื่อความบันเทิงทั้งรูปแบบราชการและแบบเอกชน (เช่น ศาลาเฉลิมกรุง) แต่ไปไม่รอด ยิ่งไม่ควรใช้อำนาจจัดการความขัดแย้ง

ความคิดต่างเรื่องทศกัณฐ์และโขน เป็นปัญหาทางสังคมวัฒนธรรมที่ไม่ควรตัดสินด้วยอำนาจนิยม แต่ควรสนับสนุนให้แบ่งปันแลกเปลี่ยนเรียนรู้อย่างเสรีด้วยข้อมูลข่าวสารที่มีพยานหลักฐานร่องรอยรอบด้าน

ขณะเดียวกันไม่ควรกำหนดให้ผู้ทำงานสร้างสรรค์ต้องปรึกษาผู้รู้ทางการ ซึ่งเท่ากับสถาปนาอำนาจของรัฐราชการขึ้นมาควบคุมงานวัฒนธรรม แสดงความไม่เสมอภาค โดยมีลำดับชั้นของคนเป็นผู้ใหญ่-ผู้น้อย อย่างเดียวกับระบบโซตัสในมหาวิทยาลัย ที่สะท้อนความอับเฉาทางสติปัญญาของคนในโลกไม่เหมือนเดิม

โขนศักดิ์สิทธิ์ เมื่อพันปีมาแล้ว เฉพาะอยู่ในพิธีกรรม

Advertisement

กลุ่มผู้พิทักษ์ทศกัณฐ์ อ้างว่าโขนเป็นของศักดิ์สิทธิ์ เท่ากับมองโขนหยุดนิ่ง ถูกแช่แข็งไว้เหมือนยุคขอมนครวัด เมื่อเกือบพันปีมาแล้ว หรือมิฉะนั้นก็มองโขนหยุดนิ่งตายตัวตามที่ตนดูและรู้จากราชการกระทรวงวัฒนธรรม

โขนเป็นการละเล่นใส่หน้ากากเข้าทรงในพิธีกรรมทางศาสนาพราหมณ์ เพื่อสมโภชกษัตริย์ขอมเป็นเทวราชเสมือนอวตารของพระวิษณุ (หรือพระนารายณ์) มีหลักฐานเก่าสุดเป็นภาพสลักบนปราสาทนครวัด ราว พ.ศ. 1650 (ยังไม่มีคนไทย) และที่อื่นๆ ในกัมพูชา

ถ้าไม่มีพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ดังกล่าว ก็ไม่มีการละเล่นโขน

Advertisement

แต่ความจริงโขนไม่ได้หยุดนิ่ง เพราะมีพัฒนาการจากการละเล่นศักดิ์สิทธิ์ แล้วลดความศักดิ์สิทธิ์ลงเป็นการแสดงมหรสพสนุกสนาน เพื่อต้อนรับราชทูตจากราชสำนักฝรั่งเศส ตั้งแต่ยุคสมเด็จพระนารายณ์โน่นแล้ว

[นี่เป็นหลักฐานสำคัญแสดงว่าโขนมีก่อนสมัยสมเด็จพระนารายณ์นานมาก (ตั้งแต่ก่อนยุคอยุธยา) โดยรับจากขอมนครวัด พอถึงสมัยสมเด็จพระนารายณ์ถูกปรับเปลี่ยนให้ปนพุทธศาสนาผสมผี จึงเป็นการแสดงสนุกสนานรับแขกบ้านแขกเมือง เท่ากับลดความศักดิ์สิทธิ์ลงจากเดิม]

หลังจากนั้นก็เปลี่ยนแปลงมาทุกยุคทุกสมัยหลายครั้งหลายหนนับไม่ถ้วน จนยืนยันไม่ได้ว่าโขนที่แสดงทุกวันนี้เหมือนยุคสมเด็จพระนารายณ์หรือไม่? ถ้าเหมือน เหมือนแค่ไหน? อย่างไร? โขนดั้งเดิมแรกสุดยุคอยุธยามีหน้าตาท่าทางอย่างไร? ก็ไม่พบหลักฐาน จึงไม่มีใครบอกได้ตรงๆ

ส่วนที่เขียนและพูดกันต่อๆ มาก็ล้วนเดาหรือมโนขึ้นตามความเข้าใจและประสบการณ์มากน้อยของใครของมัน

โขนกรมศิลป์  เป็นการแสดงเพื่อความบันเทิง

โขนทุกวันนี้เรียกอีกชื่อว่า โขนกรมศิลป์ เพราะมีขึ้นจากการสืบทอดและศึกษาค้นคว้าของครูโขนละครในสังกัดกรมศิลปากร เป็นการแสดงเพื่อความบันทิง เครื่องประดับสำหรับพระนคร ซึ่งผ่านการปรับเปลี่ยนไม่น้อยกว่า 3 ครั้งใหญ่ๆ ดังนี้

 

  1. หลังปฏิวัติอุตสาหกรรมในยุโรป ราวปลายยุคอยุธยาต่อเนื่องถึงยุคธนบุรี หลัง พ.ศ. 2300

โขนลดความศักดิ์สิทธิ์จากการละเล่นเป็นการแสดงสนุกๆ ดังกลอนพระราชนิพนธ์ ร.1 ท้ายเล่มรามเกียรติ์ ดังนี้

“ใช่จะเป็นแก่นสารสิ่งใด” เพราะ “ทรงเพียรตามเรื่องนิยายไสย” ฉะนั้น “ใครฟังอย่าได้ใหลหลง จงปลงอนิจจังสังขาร์”

ส่งผลมีสิ่งใหม่เพื่อให้เป็นบันเทิงมากขึ้นในสมัย ร.2 เช่น หัวโขน แทนหน้ากากโขน, บทพากย์ พรรณนาอารมณ์เป็นปัจเจกมากขึ้น, เพลงดนตรีปี่พาทย์มีไม้แข็งประโคมรับร้องเสียงดังซับซ้อนขึ้น ฯลฯ

 

  1. หลังปฏิรูปการปกครองตามแบบยุโรป สมัย ร.5 หลัง พ.ศ. 2400

โขน เป็นการแสดงมหรสพอย่างหนึ่งเหมือนละคร (ไม่เหลือความศักดิ์สิทธิ์เข้มข้นเหมือนแต่ก่อน แต่อาจมีอยู่ในส่วนตัวผู้แสดงแต่ละคน) เพราะโขนต้องโน้มเข้าผสมกับละครด้วยความจำเป็น เพื่อเอาใจคนดูที่เป็นคนชั้นสูง

ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช อธิบายว่าพอถึง ร.5 เจ้าพระยาเทเวศร์วงศ์วิวัฒน์ (ม.ร.ว. หลาน กุญชร) ได้เข้าบัญชาการกรมมหรสพ และฟื้นฟูโขนหลวงขึ้น

ช่วงเวลานั้นครูโขนหลวงที่เป็นผู้ชายต่างแก่เฒ่าร่วงโรยไปหมดแล้ว คงเหลือแต่ผู้หญิงที่เป็นครูละครใน ซึ่งเชี่ยวชาญการแสดงละครในเรื่องรามเกียรติ์ อันเป็นพระราชนิพนธ์ของ ร.2 และการแสดงละครในก็มีการฝึกท่ายักษ์ท่าลิงและใช้หน้าพาทย์ต่างๆ เช่นเดียวกับแสดงโขน

เจ้าพระยาเทเวศร์ฯ จึงได้หาครูละครในเป็นผู้หญิง ซึ่งยังเหลืออยู่นั้นมาหัดโขนซึ่งเป็นผู้ชาย แต่ครูละครในเหล่านั้นนอกจากจะมาหัดท่ารำหน้าพาทย์และท่ารำอื่นๆ ให้โขนหลวงแล้ว ก็ยังได้นำอิทธิพลของละครในมาสู่โขนเป็นอย่างมากด้วย

ที่สำคัญคือให้ตัวพระตัวนางหรือเทวดาเปิดหน้าโขนออก แล้วผัดหน้าเหมือนละคร การแสดงโขนตั้งแต่นั้นมาก็มีแบบแผนและวิธีการของละครใน

ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ชี้ว่า “การแสดงโขนในปัจจุบันนั้น มีส่วนเป็นการแสดงละครในอยู่มากกว่าการแสดงโขนอย่างแท้จริง เพราะการดำเนินเรื่องรามเกียรติ์นั้นใช้ร้องโดยต้นเสียงและมีตัวรำโดยตลอด จะคงมีพากย์หรือเจรจาบ้างก็เป็นครั้งคราวเพื่อรักษาเอกลักษณ์ไว้ให้รู้ว่าเป็นโขนเท่านั้น” (สรุปจากหนังสือนาฏศิลป์ไทย ธนาคารกรุงเทพ พิมพ์เมื่อ พ.ศ. 2526)

แต่ถึงกระนั้นสามัญชนก็ไม่นิยมดูโขนละครของคนชั้นสูง

 

  1. หลังปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครอง สมัย ร.7 พ.ศ. 2475

โขนเป็นเครื่องประดับสำหรับพระนคร เมื่อหลังปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 โขนละครหลวงกรมมหรสพ ย้ายไปสังกัดกรมศิลปากรที่รัฐบาลตั้งขึ้นใหม่เมื่อ พ.ศ. 2477

นับแต่นี้ไปจะมีละครปลุกใจรักชาติ โดยหลวงวิจิตรวาทการ เช่น เลือดสุพรรณ (พ.ศ. 2479)

ครั้นหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 โขนละครตามประเพณีก็ทรุดโทรม เพราะมีมหรสพทันสมัยอย่างใหม่ๆ จากตะวันตกมาทดแทน แต่โขนละครปรับตัวไม่ทันตามความเปลี่ยนแปลงทางสังคมวัฒนธรรม

หลัง พ.ศ. 2500 จนปัจจุบัน โขนละครมีไว้เป็นเครื่องประดับสำหรับพระนครของคนชั้นสูงเท่านั้น เพราะสามัญชนคนทั่วไปเห็นว่าพ้นสมัย ไม่ชอบดู ถึงดูก็ไม่รู้เรื่อง

ทางราชการพยายามโน้มน้าวชักชวนให้คนทั่วไปดูโขนละคร แต่คนส่วนมากก็ไม่ดูอยู่นั่นเอง เพราะพ้นสมัยแล้ว ต้องบริหารจัดการเป็นอย่างอื่นที่ทันสมัย เช่น มิวสิควิดีโอเพลง “เที่ยวไทยมีเฮ”

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image