พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ : เปิดประเทศกับวิถี (ผิด) ปกติใหม่

ต้นสัปดาห์ที่แล้ว คนไทยฝันค้างกันทั่วประเทศเพราะนึกว่านายกรัฐมนตรีมีข่าวด่วนจะประกาศลาออกให้สมกับนโยบายไทยชนะ เราชนะ หมอชนะ ประชาชนชนะ

ที่ไหนได้เป็นการประกาศดังๆ เฉยๆ ว่าฉันจะทำตามสัญญา เพราะจะมีการเปิดประเทศในไม่กี่วันแล้วนะจ๊ะ

ถ้าไม่นับดราม่าว่าเอาเวลาไพรม์ไทม์ของประชาชนมาประกาศเรื่องที่ประกาศอีกวันหนึ่งในที่ประชุม ครม.ก่อนก็ได้ หรือจะประกาศเป็นปกติในวันสองวันก็ยังมีเรื่องที่ต้องตั้งคำถามและช่วยกันคิดอีกมากมาย

เรื่องแรกก็คือ ไม่ผิดหรอกครับที่จะออกมาชี้แจงว่าในการพิจารณาเรื่องเปิดหรือปิดประเทศนั้น เรื่องที่สำคัญก็คือการหาจุดลงตัวระหว่างการปิดประเทศโดยเน้นเหตุผลทางสาธารณสุข และการเปิดประเทศด้วยเงื่อนไขทางเศรษฐกิจ

Advertisement

แต่การโยงเรื่องเศรษฐกิจเข้ากับเรื่องของการท่องเที่ยว โดยยังไม่ได้เน้นเรื่องการเปิดเศรษฐกิจภายในประเทศให้ครบทุกภาคส่วนก่อน และการเปิดประเทศโดยยังไม่ได้ชี้แจงว่าจะจัดการความเป็นไปได้ที่จะมีการติดโควิดอีกระลอกก็เป็นเรื่องที่จะต้องมาคิดกันให้ชัดเจน

และต้องให้คนอื่นมาร่วมคิดด้วย ไม่ใช่มองว่าคนอื่นเป็นศัตรูไปเสียทั้งหมด

แน่นอนว่าการท่องเที่ยวโดยเฉพาะนักท่องเที่ยวต่างชาตินั้นสำคัญ แต่การยังไม่เปิดให้เกิดการท่องเที่ยวภายในเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนภายในอย่างเป็นระบบก็ต้องว่ามาให้ชัดเจน (เดี๋ยวคอยดูว่าจะแจ้งทีหลังว่าจะทำอะไร)

Advertisement

อย่างน้อยในเรื่องของจำนวนการฉีดวัคซีนในประเทศ ไล่เรียงไปตามจังหวัด โดยต้องเปิดเผยตัวเลขจังหวัดและอำเภอให้ชัดเจนด้วย

และจะต้องดึงตัวเลขการฉีดวัคซีนในประเทศให้ได้เกณฑ์ของภูมิต้านทานหมู่ ไม่ว่าทฤษฎีภูมิต้านทานหมู่จะใช้ได้มากน้อยแค่ไหนก็ตาม แต่มันเหมือนกับจะมีเกณฑ์มาตรฐานโลกด้านวัคซีนอยู่ ทั้งตัวประเภทของวัคซีน และจำนวนผู้ที่ฉีดวัคซีนสองเข็มแล้ว

รวมกระทั่งจำนวนของผู้ที่ฉีดเข็มสามแล้ว เพราะตอนนี้ในโลกเขาไปถึงเข็มสามแล้ว แม้กระทั่งประเทศที่ฉีด MRNA

การเอาเงื่อนไขของการท่องเที่ยวมานำในทุกๆ เรื่องด้วยข้ออ้างทางเศรษฐกิจไม่ได้ตอบคำถามถึงความเท่าเทียมกันในทางเศรษฐกิจ และการกระจายความมั่งคั่งระหว่างพื้นที่ ซึ่งในความจริงแล้ว การไหลไปมาของประชากรในประเทศนี้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมาโดยตลอด เพราะระบบสำมะโนประชากรของไทยไม่ได้เป็นระบบที่เคร่งครัด และสร้างแรงจูงใจให้กับผู้คนในการรายงานกับทางราชการ ซึ่งในหลายประเทศที่มีระบบสำมะโนประชากรที่เป็นระบบ การคำนวณจำนวนประชากรในแต่ละพื้นที่มีความสำคัญในจัดสรรบริการ และการกระจายความมั่งคั่งได้อย่างทรงประสิทธิภาพ และทำให้รู้ว่าจะต้องพัฒนาพื้นที่ตรงไหนบ้าง

จากตัวเลขที่มีอยู่ในปัจจุบัน ลำพังแต่การจัดสรรวัคซีนลงไปในแต่ละพื้นที่ก็ยังมีความเหลื่อมล้ำอยู่อย่างชัดเจน ดังนั้นการจะเน้นย้ำการเปิดประเทศเพื่อให้รับนักท่องเที่ยวจากต่างชาติก็จะยิ่งต้องตั้งคำถามมากขึ้นถึงความไม่เท่าเทียมกัน และความไม่เป็นธรรมในการ
กระจายทรัพยากรในพื้นที่เหล่านั้น

ลองมาดูตัวเลขล่าสุดในส่วนนี้ดูในแง่ของการกระจายวัคซีน ข้อมูลของประชาชาติธุรกิจ (13 ตุลาคม 2564) ชี้ว่า ยอดฉีดวัคซีนสะสมตั้งแต่วันที่ 28 กุมภาพันธ์-10 ตุลาคม 2564 ของประเทศจะมีประมาณ 60.23 ล้านโดส แต่เมื่อพิจารณาในรายละเอียดจะพบว่าแบ่งเป็นจำนวนผู้ที่ได้รับเข็ม 1 จำนวน 35.09 ล้านคน หรือ 48.7% จากจำนวนประชากร 72.03 ล้านคน ขณะที่ผู้ที่ได้รับการฉีดเข็ม 2 มีจำนวน 23.40 ล้านคน หรือ 32.5% ซึ่งชี้ว่าการฉีดวัคซีนครบ 2 เข็ม ยังมีเปอร์เซ็นต์ไม่มากนัก โดยตัวเลข 32.5% ยังไม่มากพอและห่างไกลกับการจะเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ (herd immunity) ได้ (ในกรณีที่แนวคิดเรื่องภูมิคุ้มกันหมู่ยังใช้กับเชื้อเดลต้าได้ ซึ่งหลายที่ไม่ยอมรับทฤษฎีนี้อีกต่อไป)

ประชาชาติธุรกิจยังระบุว่า หากเทียบกับหลายๆ ประเทศที่ได้ทยอยประกาศเปิดประเทศไปก่อนหน้านี้ ตัวเลขการฉีดวัคซีนครบ 2 เข็ม ก็ยังห่างไกลประเทศอื่นๆ มาก โดยเฉพาะสิงคโปร์ ที่มีอัตราการฉีดวัคซีนครบ 2 เข็มแล้วมากถึง 81% ขณะที่แคนาดา 72% อังกฤษ 68% ฝรั่งเศส 66% หรือแม้กระทั่งออสเตรเลีย ที่เตรียมจะเปิดประเทศในช่วงเดือนพฤศจิกายนนี้ ได้ตั้งเป้าจะฉีดวัคซีนเข็ม 2 ให้ได้ 55% ภายในกลางเดือนตุลาคมนี้ จากตอนนี้ที่ทำได้มากกว่า 50%

ในกรณีจังหวัดที่มีการประกาศนำร่องการท่องเที่ยว 14 จังหวัด แม้จะมีอัตราการฉีดวัคซีนสูงกว่าเกณฑ์มาตรฐานเข็มที่สองอยู่เป็นส่วนใหญ่ แต่ก็ไม่มากนัก บางจังหวัดก็ยังไม่ถึงเกณฑ์ด้วยซ้ำ ได้แก่ กทม. (61%) ชลบุรี (49.6%) พังงา (48%) ระนอง (46.6%) เพชรบุรี (39.5%) ประจวบคีรีขันธ์ (37.5%) บุรีรัมย์ (34.8%) ระยอง (34.3%) ภูเก็ตและสุราษฎร์ธานี (33.9%) กระบี่ (30.8%) เชียงใหม่และตราด (30.7%) เลย (22.5%) และที่อธิบายมานี้ก็ยังเอาแน่เอานอนไม่ได้ เพราะว่าการเคลื่อนย้ายของผู้คนในแต่ละจังหวัดเองโดยไม่ได้แจ้งบันทึกไปยังทางการก็ไม่ใช่เรื่องยากในประเทศแห่งนี้

ในประการต่อมา ถ้าลองดูแบบแผนของการกระจายโรคในช่วงนี้ ก็มีเรื่องที่ต้องพิจารณาอยู่หลายเรื่อง ตั้งแต่จำนวนการติดที่ลดลง แต่เป็นการลดลงจากช่วงที่สูงสุด และสิ่งที่เราพึงพิจารณาก็มีอยู่หลายประเด็นไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่ว่าเราเคยตกอกตกใจกับตัวเลขในระดับหมื่นที่กลายเป็นมาตรฐานในช่วงนี้มาก่อน ถึงกับปิดบ้านปิดเมืองมาแล้วไม่ใช่หรือ แล้วทำไมตอนนี้ถึงมองว่ามันเป็นปกติ?

ลองมาดูตัวเลขในส่วนของการติดเชื้อในวันที่นายกรัฐมนตรีประกาศจะเปิดประเทศกัน คือ 11 ต.ค.64 ที่แจ้งว่าจะมีการเปิดประเทศ เปิดให้นักท่องเที่ยวสามารถเข้าประเทศไทยได้โดยไม่ต้องกักตัวตั้งแต่ พ.ย.2564 เป็นต้นไป และจะมีการเปิดให้มีการดื่มแอลกอฮอล์ที่ร้านค้า เปิดสถานบันเทิง โดยตัวเลขในวันนั้น มีผู้ติดเชื้อในประเทศเพิ่มขึ้น 10,035 ราย และมีผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 60 ราย

ลองย้อนกลับไปดูตัวเลขจะพบว่าวันแรกที่มีผู้ติดเชื้อในไทยทะลุหนึ่งหมื่นราย ก็คือวันที่ 17 ก.ค.64 ที่มีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น 10,082 ราย และมีผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 141 ราย ซึ่งเป็นการทำสถิติสูงสุดของจำนวนผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตในขณะนั้น

และสิ่งที่เกิดขึ้นตามมาจากการติดเชื้อที่ทะลุหนึ่งหมื่นรายได้แก่การวางแผนในการยกระดับมาตรการควบคุมที่เข้มข้นกว่าเดิม มีการปิดสถานที่/กิจการ 33 กิจการใน กทม. โดยมีสถานบันเทิงรวมอยู่ด้วย

ต่อมาในวันที่ 18 ก.ค.64 ได้มีการออก พ.ร.ก.ฉุกเฉินที่เป็นการขยายมาตรการควบคุมเพิ่มเติมจากเดิมที่เคยมีอยู่ และยกระดับการควบคุมให้เข้มข้นมากขึ้นใน 13 จังหวัด

ซึ่งตั้งแต่วันที่ 17 ก.ค.-11 ต.ค. จำนวนผู้ติดเชื้อใหม่รายวันส่วนใหญ่อยู่ในระดับหมื่นขึ้นไปจนไปถึงสองหมื่นคนต่อวันมาโดยตลอด มีเพียง 3-4 วันที่จำนวนผู้ติดเชื้อลดลงมาอยู่ต่ำกว่า 9,500 รายต่อวัน เช่นเดียวกันกับจำนวนผู้เสียชีวิตที่ส่วนใหญ่อยู่ในระดับที่มากกว่า 100 รายต่อวันมาโดยตลอด

และในวันที่ 4 ส.ค.64 จำนวนผู้ติดเชื้อก็ทะลุไปถึง 20,200 ราย ซึ่งถือว่าสูงที่สุดเท่าที่ผ่านมา

สิ่งที่ต้องถามก็คือ เกิดอะไรขึ้นในประเทศนี้ที่ในยุคที่ตัวเลขแตะหมื่นก็จะเป็นจะตาย แต่ในวันนี้ตัวเลขแตะหมื่นและฉีดวัคซีนไปแค่ร้อยละสามสิบก็ตื่นเต้นจะเปิดประเทศ? รัฐบาลจะต้องมีคำตอบ และมีทั้งมาตรการที่สร้างความเชื่อมั่น และปกป้องประชาชนในประเทศที่น่าเชื่อถือ

อย่างไรก็ตาม ในส่วนตัวเลขในภาพรวมที่ลดลงนั้น โดยเฉพาะในกรุงเทพมหานคร เรากลับพบตัวเลขที่น่าสนใจก็คือ การกระจายตัวของตัวเลขผู้ติดเชื้อในต่างจังหวัด โดยเฉพาะในจังหวัดที่เป็นเมืองใหญ่ และตัวเลขเหล่านี้ก็เป็นตัวเลขที่มีทีท่าที่จะไม่ลดลงง่ายๆ

ลองดูผู้ติดเชื้อ10 จังหวัดสูงสุด ของวันที่ 17 ก.ค.64 ซึ่งเป็นวันแตะหมื่นวันแรก เทียบกับ วันที่นายกรัฐมนตรีประกาศจะเปิดประเทศ 11 ต.ค. 64 (ตัวเลข ศบค.)

ตัวเลขบางจังหวัดเพิ่มขึ้นอย่างน่าตกใจ และโดนรวมแล้วตัวเลขลำดับรองจาก กทม. นั้นไม่ได้ลดลงมากนัก และ เมื่อเทียบกับสัดส่วนการได้รับวัคซีนแล้ว จะพบว่าการได้รับวัคซีนมีผลต่อการติดเชื้อที่ลดลงจริง

การพยายามนำเอาเรื่องนี้มาพูดไม่ได้หมายถึงการเผยแพร่ข้อมูลเพื่อให้เกิดความหวาดกลัว และไม่เชื่อมั่นต่อรัฐบาล ซึ่งในความเห็นของผมนั้นเรามีสิทธิที่จะไม่เชื่อมั่นในรัฐบาล (อยู่ดี) แต่เราควรจะมีความเข้าใจที่ถูกต้องต่อความแข็งแกร่งของระบบสาธารณสุขของประเทศไทย ซึ่งเป็นระบบที่มีมาตรฐานและได้รับการยอมรับจากนานาชาติ

ในแง่นี้ แม้ว่าเราอาจจะไม่ทราบตัวเลขของการติดเชื้อที่แท้จริง เพราะอาจจะมีคนที่ไม่เข้ามาตรวจยังศูนย์ตรวจ หรือยังเข้าไม่ถึงชุดตรวจในรูปแบบต่างๆ แต่อย่างน้อยในการประกาศเรื่องของการเปิดประเทศ และ การเปิดพื้นที่นั้น สิ่งที่ควรจะพิจารณาก็คือ สมรรถนะและความพร้อมในการรับมือกับการติดเชื้อจากวันนี้ถึงรอบหน้า ด้วยการรายงานต่อสาธารณะถึงจำนวนเตียง และ บริการต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการรับมือกับการติดเชื้อและแพร่ระบาดในส่วนของโควิด

อีกส่วนหนึ่งที่สำคัญก็คือการให้ความสำคัญกับเรื่องของคนที่เป็นแรงงาน หรือเข้ามาให้บริการด้านเศรษฐกิจในระบบเศรษฐกิจซึ่งโดยทั่วไปแล้วพวกเขามีชีวิตความเป็นอยู่ที่ไม่ดีนัก และอาจไม่ได้มาตรฐานในเรื่องของการเว้นระยะห่างทางสังคม และการปฏิบัติตามหลักการอยู่บ้านหยุดเชื้อเพื่อชาติ ดังนั้นรัฐจึงควรมีมาตรการที่ชัดเจนและเป็นรูปธรรมในการจัดการกับสถานการณ์ของผู้คนจำนวนมากที่เข้ามาเป็นกลไกในการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจ

ในประการที่สาม เรื่องราวที่สำคัญอีกประการหนึ่งซึ่งผมเคยนำเรียนมาในบทความครั้งก่อนๆก็คือการทำความเข้าใจในเรื่องของพื้นที่และเวลาซึ่งสัมพันธ์กัน โดยเฉพาะพื้นที่กลางคืน ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ที่ควรจะมีการหารือกันในการบริหารจัดการที่มีความซับซ้อนและยืดหยุ่นกว่าเรื่องของการเปิดปิด ลดเพิ่มเวลาเคอร์ฟิว และมองว่ากลางคืนเป็นพื้นที่ของอันตราย

ในประการที่สี่ อำนาจการต่อรองระหว่างประเทศก็เป็นเรื่องที่สำคัญ การพยายามเอาอกเอาใจนักท่องเที่ยวจากประเทศเราเชื่อมั่นว่าฉีดวัคซีนครบแล้ว ก็ยังเป็นการตอกย้ำอำนาจที่ไม่เท่าเทียมของเราต่อประเทศเหล่านั้น ไม่ต่างจากเรื่องของวีซ่าเข้าประเทศเหล่านั้น เพราะประเทศเหล่านั้นยังไม่ได้ต้อนรับคนจากประเทศไทยในทำนองเดียวกับที่เราจะต้อนรับพวกเขา

ที่สำคัญยิ่งในประเด็นนี้อีกเรื่องหนึ่งก็คือการเจรจาต่อรองกับจีน ประเทศที่เราพึ่งพาวัคซีนของเขา แต่เขาขายในราคาแพงกว่าวัคซีนที่คนเชื่อถือมากกว่า และยังไม่มีทีท่าว่าจะเปิดประเทศให้นักท่องเที่ยวของเขาซึ่งเป็นนักท่องเที่ยวกลุ่มใหญ่ที่สุดในประเทศไทยกลับเข้ามาในไทย เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ต้องพิสูจน์ฝีมือของรัฐบาลไทยว่าจะสามารถทำอะไรได้บ้าง ไม่ใช่การพิสูจน์แค่การซื้อวัคซีนไม่อั้นมาจากจีนจนคนเขาโวยวายทั้งประเทศ และสุดท้ายต้องออกมาประกาศว่าจะไม่ซื้ออีก (แต่เผลอก็อาจมีมาเรื่อยๆ)

ในประการสุดท้าย เรื่องของ “ลองโควิด (Long Covid)” ก็เป็นเรื่องที่สำคัญและยังไม่มีการพูดถึงมากนัก อาจจะพอแปลแบบง่ายๆ ไปก่อนว่าหมายถึงเรื่องของผลข้างเคียงภายหลังจากการติดเชื้อโควิด หรืออาการเรื้อรังภายหลังการติดเชื้อ ซึ่งมีหลายอาการ และในบ้านเรายังไม่มีการพูดถึงเรื่องนี้อย่างจริงจัง

แต่ที่แน่ๆ อาการลองโควิดเป็นตัวบ่งชี้สำคัญว่า โควิดไม่ใช่ไข้หวัดธรรมดาที่เป็นแล้วหายไม่มีผลอะไรเกิดขึ้น หรือมีภูมิต้านทานได้ทันที บางคนเป็นในเชิงอาการโรคภัยไข้เจ็บที่ซับซ้อนขึ้น ขณะที่บางคนเป็นถึงขั้นอาการทางจิตด้วย

ทั้งหมดที่กล่าวมาไม่ได้ต้องการชี้ว่าไม่ควรเปิดประเทศ แต่ต้องการชี้ว่าถ้าจะต้องเปิดประเทศควรจะพิจารณาเรื่องราวมากๆ และควรเปิดให้เกิดการถกเถียงและหารือกันให้ตกผลึก ไม่ใช่ใช้ระบบที่คนไม่กี่คนรู้ดีไปเสียทุกเรื่องครับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image