มาตรการยึดและอายัดทรัพย์ผู้กระทำผิดคดีภาษี : ผลกระทบต่อผู้สุจริต โดย ศ.พิเศษ กิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์

เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2559 ที่ผ่านมา กระทรวงการคลังได้เสนอร่างกฎหมายแก้ไขประมวลรัษฎากรเข้าสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพื่อเพิ่มมาตรา 37 ตรี ให้ความผิดฐานหลีกเลี่ยงภาษีและฉ้อโกงภาษีให้อยู่ในกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ซึ่งเป็นไปตามข้อเสนอของ Financial Action Task Force (FATF) ที่เกี่ยวกับอาชญากรรมภาษีได้ทั้งทางตรงและทางอ้อม เป็นความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน เพื่อปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินของประเทศไทยให้มีประสิทธิภาพนั้น

เรื่องนี้สำคัญอย่างยิ่ง หากแต่ไม่ได้มีการพูดถึงในวงธุรกิจ ซึ่งผมเห็นว่า การเพิ่มมาตรา 37 ตรีนี้ จะเป็นการสร้างความเดือดร้อนให้กับผู้สุจริตในการเสียภาษีอย่างยิ่ง ซึ่งผมในฐานะที่เป็นประธานคณะกรรมการภาษีและกฎระเบียบของสภาหอการค้าไทย จึงมีความเห็นว่าก่อนที่ สนช.จะพิจารณาผ่านร่างกฎหมายฉบับนี้ ขอให้พิจารณาชะลอหรือปรับปรุงกฎหมายให้ชัดเจนโดยลดอำนาจการใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่

หลักการของร่างกฎหมายมาตรา 37 ตรี

1.หลักการเกี่ยวกับลักษณะความผิด

Advertisement

(1) กำหนดให้ความผิดเกี่ยวกับการหลีกเลี่ยง หรือพยายามหลีกเลี่ยงภาษีอากร หรือฉ้อโกงภาษีอากร เช่น มาตรา 37 มาตรา 37 ทวิ และมาตรา 90/4 ซึ่งเป็นความผิดอาญาตามประมวลรัษฎากรอยู่แล้ว ให้เป็นมูลฐานความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินด้วย

(2) กำหนดให้อธิบดีกรมสรรพากรมีอำนาจ ออกคำสั่งให้ยึดหรืออายัดทรัพย์สินได้เป็นการชั่วคราว เมื่อมีหลักฐานอันควรเชื่อว่า บุคคลนั้นกระทำความผิดฐานหลีกเลี่ยง หรือพยายามหลีกเลี่ยงภาษี ภาษีมูลค่าเพิ่ม การขอคืนภาษีอากรอันเป็นเท็จ โดยวิธีการยึดหรืออายัดทรัพย์สินเป็นการชั่วคราว ให้เป็นไปตามระเบียบที่กรมสรรพากรกำหนดโดยอนุมัติของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

(3) ห้ามผู้ใดทำลาย ย้าย ซ่อนเร้น หรือโอนทรัพย์สินไปให้คนอื่น สำหรับทรัพย์ที่ถูกยึดหรืออายัด กำหนดให้เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจประเมินภาษี เบี้ยปรับ เงินเพิ่ม เมื่อมีหลักฐานอันควรเชื่อว่า ผู้ใดหลีกเลี่ยงการเสียภาษี รวมทั้งมีอำนาจออกคำสั่งเรียกให้คืนภาษีอากรที่ได้รับคืนไป เมื่อมีหลักฐานอันควรเชื่อว่า ผู้ใดขอคืนภาษีอากรอันเป็นเท็จ

Advertisement

(4) ให้กรมสรรพากรรวบรวมและส่งข้อมูลที่เกี่ยวข้องไปยังสำนักงาน ปปง. และให้สำนักงาน ปปง.ส่งข้อมูลที่ได้จากกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินให้แก่กรมสรรพากร

2.การกระทำความผิดที่เข้าข่ายถูกยึดทรัพย์นั้น กรมสรรพากรพิจารณาจากด้านรายได้ของรัฐที่เสียหายเป็นหลัก ซึ่งมีทั้งหมด 3 ด้านด้วยกัน คือ

(1) การคืนเงินภาษีที่ไม่ถูกต้องที่มีมูลค่าเกินกว่า 1 ล้านบาท

(2) การหลีกเลี่ยงภาษีอากร เช่น รายงานรายได้ไม่ครบ หรือหักรายจ่ายเป็นเท็จ มูลค่าเกินกว่า 10 ล้าน และ

(3) การโกงภาษีมูลค่าเพิ่มที่เกินกว่า 15 ล้านบาท เช่น การซื้อและขายใบกำกับภาษีปลอม

ถ้าพิจารณาจากข้อเสนอ และเหตุผลของร่างกฎหมายฉบับนี้ ดูเพียงผิวเผินไม่น่าจะมีอะไร เพราะเป็นเรื่องของมาตรการที่จะเล่นงานผู้ทุจริตฉ้อโกงภาษี เช่น ขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มหรือใช้ใบกำกับภาษีปลอมที่เกิดขึ้น โดยใช้มาตรการของกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามฟอกเงินซึ่งมีความรุนแรงและรวดเร็วหากเป็นอาชญากรรมทางภาษี แต่ในเบื้องลึกของการแก้ไขกฎหมายฉบับนี้ มีสิ่งที่ผมคิดว่าจะมีผลกระทบต่อผู้ประกอบการที่สุจริตได้ และเป็นการให้เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจอย่างกว้างขวาง

ผมไม่อยากจะนึกว่านี่เป็นวาระซ่อนเร้นครับ เพราะการที่จะยึดหรืออายัดทรัพย์ในความผิดฐานหลีกเลี่ยงภาษีอากรตามมาตรานี้นั้น ตีความได้กว้างขวางมาก และที่สำคัญคือ ไม่ได้ใช้หลักเกณฑ์สำคัญของกฎหมายอาญาซึ่งถือเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานประการหนึ่งที่ต้องสันนิษฐานเอาไว้ก่อนว่า ทุกคนเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าจะพิสูจน์ได้จนสิ้นสงสัยว่ากระทำผิดจริง ซึ่งเรื่องการพิสูจน์คดีอาญาต่อศาลนั้น โดยทั่วไปโจทก์มีภาระการพิสูจน์ความผิดของจำเลยจนกว่าศาลจะเชื่อโดยปราศจากข้อสงสัยว่า จำเลยได้กระทำความผิดจริง หากโจทก์ไม่สามารถพิสูจน์ได้ ศาลก็ต้องพิพากษายกฟ้อง

หลักการพิจารณาความรับผิดทางอาญาเกิดขึ้นเมื่อผู้กระทำได้กระทำครบ “องค์ประกอบ” ที่กฎหมายบัญญัติ กล่าวคือ ครบองค์ประกอบภายนอก คือ มีการกระทำที่ก่อให้เกิดภาระภาษีขาดไป และครบองค์ประกอบภายใน คือ มี “เจตนา” ในการกระทำความผิดนั้น

การพิจารณาองค์ประกอบความผิดตามมาตรา 37 นั้น ควรพิจารณาทั้งองค์ประกอบภายนอก เช่น มีการแจ้งข้อความเท็จ ให้ถ้อยคำเท็จ ตอบคำถามเป็นเท็จ หรือนำพยานหลักฐานเท็จมาแสดง และองค์ประกอบภายใน คือ มีเจตนาหลีกเลี่ยงภาษี หาใช่การพิจารณาจากเพียงการมีหลักฐานอันควรเชื่อว่ามีความพยายามหลีกเลี่ยงภาษีอากรแล้ว เจ้าพนักงานประเมินก็จะมีอำนาจยึด อายัด หรือประเมินภาษีได้ทันที

ทั้งนี้ ร่างมาตรา 37 ตรีที่มีการเสนอ (โดยข้อความในวงเล็บเป็นโทษตามกฎหมายที่ผมสรุปให้ดู) มีข้อความดังนี้

“มาตรา 37 ตรี ความผิดตามมาตรา 37 (1) ซึ่งเป็นความผิดฐานให้ข้อความเท็จเพื่อหลีกเลี่ยงภาษีอากรหรือขอคืนภาษีอากร มาตรา 37 ทวิ (ซึ่งเป็นเรื่องการไม่ยื่นรายการแสดงบัญชีภาษี) หรือมาตรา 90/4 (เรื่องการใช้ใบกำกับภาษีปลอมหรือหลีกเลี่ยงภาษีมูลค่าเพิ่ม) ที่ผู้กระทำความผิดเป็นผู้มีหน้าที่เสียภาษีอากรหรือนำส่งภาษีอากรและเป็นความผิดที่เกี่ยวกับเงินได้พึงประเมิน หรือรายได้ตั้งแต่สิบล้านบาทต่อปีภาษีขึ้นไป หรือมูลค่าฐานภาษีตั้งแต่สิบห้าล้านบาทต่อปีภาษีขึ้นไป หรือจำนวนภาษีที่ขอคืนตั้งแต่หนึ่งล้านบาทขึ้นไป

หากปรากฏหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่ามีการปกปิด ซ่อนเร้น หรือโอนทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดทั้งหมดหรือบางส่วน ให้ถือว่าความผิดดังกล่าวเป็นความผิดมูลฐานตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินด้วย และให้เจ้าพนักงานประเมินส่งข้อมูลที่เกี่ยวข้องไปยังสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินดำเนินการต่อไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่อธิบดีกำหนด”

คำถามว่าการใช้ดุลพินิจในเรื่องนี้ของกรมสรรพากร จะให้อำนาจกรมสรรพากรจับกุมผู้กระทำความผิดและยึดทรัพย์ได้ทันทีจริงหรือไม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ท่านอธิบดีกรมสรรพากรแจ้งว่า เพื่อป้องกันและปราบปรามผู้ทุจริตในกระบวนการการขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งเรื่องนี้ต้องยอมรับว่าเรื่องการคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม หากเจ้าหน้าที่กรมสรรพากรไม่ให้ความร่วมมือ ผู้ทุจริตหลีกเลี่ยงภาษีย่อมไม่สามารถได้รับคืนภาษีได้

ผมเห็นด้วยว่าการปราบปรามขบวนการทุจริตภาษีมูลค่าเพิ่มหรืออาชญากรรมทางภาษีจะเป็นเรื่องที่สมควรกระทำ แต่บทบัญญัติในมาตรา 37 ตรีที่เสนอนี้ มีความหมายครอบคลุมในทุกเรื่อง มิใช่เฉพาะเรื่องภาษีมูลค่าเพิ่มเท่านั้น โดยในข้อเสนอให้รวมถึงการหลีกเลี่ยงภาษีที่ทำให้รายได้น้อยกว่าปกติและการคืนภาษีอากร

อาทิ หากปรากฏว่าผู้ประกอบการหักรายจ่ายไม่ถูกต้องเกิน 10 ล้านบาท หรือการขอคืนภาษีบุคคลธรรมดาเกิน 1 ล้านบาท แม้อาจเจตนาด้วยความเข้าใจในการตีความกฎหมายที่แตกต่างกัน เช่น เรื่องการหักรายได้ รายได้กรมสรรพากรก็มีอำนาจประเมินภาษีได้อยู่แล้ว แต่หากกฎหมายนี้มีผลบังคับ ผู้เสียภาษีก็อาจเข้าข่ายโดนยึดทรัพย์ตามมาตรา 37 ตรีนี้ได้แล้ว เพราะกรมสรรพากรอ้างได้ว่าการหักรายจ่ายขัดกับกฎหมาย ซึ่งในความเป็นจริงการกระทำดังกล่าวอาจเกิดขึ้นได้ง่าย โดยไม่มีเจตนาทุจริตโกงภาษีเข้ามาเกี่ยวข้องแต่อย่างใด

ยกตัวอย่างเช่น บริษัทใหญ่ๆ อาจมีรายจ่ายจำนวนเกิน 10 ล้านบาทได้เป็นปกติ ซึ่งหากลงรายการผิดพลาดรายการนี้เพียงรายการเดียวก็อาจเข้าข่ายมาตรานี้แล้ว หรืออาจเป็นกรณีที่เกิดจากการตีความกฎหมายเรื่องการหักรายจ่ายของกิจการส่งเสริมการลงทุน ดังเช่นกรณีคดีภาษีส่งเสริมการลงทุนมินิแบที่มียอดภาษีชำระเกิน 10 ล้านบาท คดีเช่นว่านั้นก็จะตกอยู่ภายใต้บทบัญญัตินี้ ทำให้เจ้าหน้าที่กรมสรรพากรมีอำนาจยึด อายัด และประเมินภาษีได้ทันที ทั้งที่หลักกฎหมายเรื่องการทุจริตภาษีอากรหรือการหนีภาษีนั้น ต้องเป็นการกระทำความผิดโดยเจตนาหรือมีหลักฐานชัดเจนตามมาตรา 37 ในปัจจุบัน หรือแม้แต่ในข้อแนะนำของ FATF ก็เพียงแต่ระบุประเภทความผิดมูลฐานที่ FATF แนะนำให้แต่ละประเทศควรนำไปพิจารณาประกอบการกำหนด “ความผิดมูลฐาน” ตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน

ในส่วนที่เกี่ยวกับภาษีนั้น FATF ใช้คำว่า “tax crimes (related to direct taxes and indirect taxes)” ซึ่งผมเห็นว่าไม่ควรจะรวมถึงการหลบหลีกภาษี (Tax Avoidance) (ซึ่งต่างกับการหนีภาษี (Tax Evasion)) ยกตัวอย่างเช่น การตั้งโอนราคา (Transfer Pricing) ไม่ควรถือเป็น tax crime นอกจากนี้การที่ให้คดีภาษีเป็นความผิดมูลฐานภายใต้กฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินนั้น ก็ต้องเป็นกรณีที่ผู้ทุจริตมีความผิดโดยเจตนาเสียก่อน เพราะต้องเป็นอาชญากรรม แม้จะบอกว่าทั้งนี้ให้เป็นไปตามระเบียบที่อธิบดีกำหนด ก็เป็นการให้อำนาจอย่างกว้างขวางโดยไม่มีการถ่วงดุล

การกำหนดให้กรมสรรพากรสามารถสั่งยึดหรืออายัดทรัพย์สินชั่วคราวได้ในทันที เป็นการให้อำนาจและดุลพินิจแก่กรมสรรพากรอย่างกว้างขวาง ผมเห็นว่าการยึดและอายัดทรัพย์สินชั่วคราวนั้นกระทบต่อสิทธิของประชาชนอย่างยิ่ง

กรณีความผิดเกี่ยวกับภาษีนั้นโดยปกติแล้วควรเปิดโอกาสให้ผู้เสียภาษีชี้แจง (เพราะมีลักษณะต่างจากความผิดโดยชัดแจ้ง เช่น ความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด การค้ามนุษย์ การฉ้อโกงประชาชน การก่อการร้าย) ดังนั้นจึงควรต้องกำหนดหลักเกณฑ์อย่างระมัดระวังและชัดเจน ต้องมีการเปิดโอกาสให้ผู้ซึ่งถูกสั่งยึดหรืออายัดทรัพย์สินสามารถแสดงหลักฐานเพื่อให้มีคำสั่งเพิกถอนการยึดหรืออายัดได้

อีกทั้งยังต้องมีมาตรการเยียวยาคุ้มครองผู้สุจริตในท้ายสุดอีกด้วย และต้องมีการตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจการมีคำสั่งยึดหรืออายัดทรัพย์สินเพื่อความเป็นธรรมต่อผู้เสียภาษี

เรามาลองพิจารณาถึงแนวคำพิพากษาฎีกาที่ผ่านมา ในการพิจารณาโทษทางอาญาของการหนีภาษีอากรตามมาตรา 37 เช่น คำพิพากษาฎีกาที่ 487/2506 “การที่จำเลยจะมีความผิดตามมาตรา 37 (2) นี้ ต้องปรากฏว่า จำเลยได้หลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากร โดยมีการกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งดังที่บัญญัติไว้คือ กระทำโดยความเท็จ โดยฉ้อโกง หรืออุบาย หรือกระทำโดยวิธีการอื่นใดทำนองเดียวกับที่กล่าวมาแล้ว แต่กรณีของจำเลยเป็นเรื่องไม่กระทำ คือ ไม่ออกใบรับ จึงไม่ต้องด้วยมาตรา 37 (2) ทั้งการไม่กระทำ คือ ไม่ออกใบรับเช่นนี้ ก็ได้มีบทบัญญัติเป็นความผิดและกำหนดโทษไว้โดยเฉพาะแล้ว จำเลยจึงไม่มีความผิดตามมาตรา 37 (2) ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 16) พ.ศ.2505” หรือหากเทียบเคียงกับคำพิพากษาฎีกาที่ 581/2481 “ความผิดต่อพระราชบัญญัติศุลกากรนั้น โจทก์ต้องนำสืบว่า จำเลยมีเจตนาทุจริตจึงจะลงโทษจำเลยได้” และคำพิพากษาฎีกาที่ 612-613/2511 “สั่งสินค้าจากต่างประเทศก่อนมีประกาศควบคุม และเมื่อมีประกาศแล้วก็ได้ขอและได้รับอนุญาตถูกต้องตามกฎหมาย โดยไม่มีเจตนาหลีกเลี่ยงไม่เสียภาษี ย่อมไม่มีความผิดการกระทำผิดตามพระราชบัญญัติศุลกากรนั้น แม้พระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ 9) พ.ศ.2482 มาตรา 16 จะบัญญัติเป็นความผิดโดยมิต้องคำนึงว่าผู้กระทำมีเจตนาหรือไม่ก็ตาม แต่ก็ต้องมีเจตนาฉ้อภาษีอยู่ด้วยจึงจะเป็นความผิด”

จะเห็นได้ว่า เมื่อศาลจะพิจารณาพิพากษาการกระทำความผิดเกี่ยวกับภาษีอากร โดยเฉพาะอย่างยิ่งความผิดฐานหนีภาษีนั้น ศาลต้องพิจารณาภาษีขาดอันเป็นองค์ประกอบภายนอก และที่สำคัญต้องพิจารณาเจตนาซึ่งเป็นองค์ประกอบภายในเป็นหลัก รวมทั้งพฤติการณ์ประกอบอันจะเป็นเครื่องชี้เจตนาอีกด้วย ซึ่งในตัวบทบัญญัติมาตรา 37 (1) แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 41) พ.ศ.2559 นั้นก็ได้กำหนดให้การกระทำที่ถือว่ามีความผิดคือต้องมีเจตนา

เมื่อเทียบกับมาตรา 37 ตรีที่เสนอใหม่นี้ ซึ่งได้กำหนดมาตรการโทษทางอาญา เช่น การยึดอายัดทรัพย์สินชั่วคราว หากแต่มีเงื่อนไขที่ขัดต่อหลักการของกฎหมายอาญาโดยสิ้นเชิง ที่เพียงมีหลักฐานอันควรเชื่อก็เข้าข่ายแล้ว โดยไม่ต้องพิสูจน์ถึงเจตนา องค์ประกอบภายนอก องค์ประกอบภายในของการกระทำความผิด ซึ่งนับว่าเป็นอันตรายกับผู้ประกอบธุรกิจที่สุจริตอย่างยิ่ง กฎหมายฉบับนี้ได้ให้อำนาจเจ้าพนักงานประเมินและอธิบดีกรมสรรพากรอย่างกว้างขวางและเป็นการใช้ดุลพินิจที่อาจเป็นเครื่องมือกลั่นแกล้งผู้ประกอบการที่ประกอบการโดยสุจริตให้ได้รับความเดือดร้อน โดยการใช้ดุลพินิจที่ไม่มีการตรวจสอบหรือถ่วงดุลแต่อย่างใด ต้องจัดให้มีการศึกษาให้ถ่องแท้โดยสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ

ผมไม่ได้คัดค้านหลักการที่จะใช้กฎหมายฉบับนี้เพื่อดำเนินการกับผู้ทุจริตที่เป็นอาชญากรรมในคดีภาษี ไม่ว่าจะเป็นภาษีมูลค่าเพิ่มหรือการหนีภาษีกรณีอื่นๆ และเห็นด้วยว่าการยึดอายัดทรัพย์ผู้ทุจริตที่หนีภาษีควรที่จะดำเนินการได้อย่างรวดเร็ว แต่ไม่ใช่ด้วยวิธีการปล่อยให้มีการใช้ดุลพินิจอย่างกว้างขวางแบบนี้ โดยเฉพาะการหลีกเลี่ยงภาษีอากรเพียงแค่ว่ามีหลักฐานอันควรเชื่อ ก็จะใช้สิทธิยึดอายัดทรัพย์แล้ว

ทั้งนี้ เพราะการวางแผนภาษี (Tax Planning) หรือการหลบหลีกภาษี (Tax Avoidance) นั้น ต่างกับการหนีภาษี (Tax Evasion) ยกตัวอย่างเช่น ผู้ประกอบการสามารถหักรายจ่ายได้ 2 เท่า หรือการตั้งโอนราคา (Transfer Pricing) ของบริษัท กรมสรรพากรก็สามารถใช้มาตรการทางกฎหมายประเมินภาษีไป ไม่ว่าจะเป็นมาตรการที่เรียกว่า Anti Avoidance ที่กรมสรรพากรดำเนินการอยู่แล้ว หรือจะแก้ไขกฎหมายเพื่ออุดช่องว่างการหลบหลีกภาษีเพราะการหลบหลีกภาษี ไม่ใช่อาชญากรรมแต่อาจเป็นธุรกรรมที่กรมสรรพากรไม่ยอมรับ

อย่างไรก็ตาม ในเอกสารกรมสรรพากรที่ได้ส่งไปยัง สนช. ถือว่าการตั้งราคาโอน (Transfer Pricing) เป็นการหนีภาษี (Tax Evasion) ซึ่งผมไม่เห็นด้วยครับ เนื่องจากการตั้งราคาโอนนั้นองค์การความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organization for Economic Co-operation and Development หรือ OECD) ซึ่งเป็นองค์กรระหว่างประเทศที่วางแนวคิดเกี่ยวกับภาษีระหว่างประเทศได้กำหนดแนวทางเรื่องการตั้งราคาโอนไว้ว่าเป็นการกำหนดราคาค่าตอบแทนสำหรับธุรกรรมที่ทำขึ้นระหว่างคู่สัญญาที่มีความสัมพันธ์กันโดยมีหลักการ “Arm’s length” อันเป็นหลักการที่กำหนดให้กิจการที่เกี่ยวข้องกันดำเนินการทำธุรกรรมอย่างเป็นอิสระต่อกัน เพื่อให้เกิดการจัดสรรประโยชน์อย่างยุติธรรม

ซึ่งภายใต้ประมวลรัษฎากรไทยก็มีมาตรการป้องกันการหลีกเลี่ยงภาษีกำหนดไว้ในมาตรา 65 ทวิ (4) ในการกำหนดให้เจ้าพนักงานประเมินภาษีมีอำนาจพิจารณาการกำหนดราคาตลาด ดังนี้หากจะกล่าวว่าการตั้งราคาโอน (Transfer Pricing) เป็นการหนีภาษี (Tax Evasion) ก็ควรพิจารณาก่อนว่าการกำหนดราคาโอนนั้นถูกกำหนดขึ้นมาอย่างไร

อีกทั้งกฎหมายก็ควรมีมาตรการประเมินภาษีหรือแก้ไขกฎหมายแล้วแต่กรณีต่อไป การเลือกใช้สิทธิภาษีอากรก็ย่อมจะมีความแตกต่างในการตีความของเจ้าพนักงานกับผู้ประกอบการได้ แต่ก็ควรเป็นเรื่องที่ควรประเมินให้เป็นรายจ่ายต้องห้าม ซึ่งก็เป็นการไม่ใช่จะไปใช้ดุลพินิจเอาโทษทางอาญามาข่มขู่ผู้ประกอบการ ซึ่งจะเป็นอันตรายต่อผู้ประกอบการที่สุจริตอย่างยิ่ง

ผมจึงขอเรียกร้องให้สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติแปรญัตติให้ชัดเจน และกำหนดกฎเกณฑ์เพื่อลดการใช้ดุลพินิจให้น้อยลง หากร่างกฎหมายฉบับนี้ไม่มีการแก้ไขจะมีผลมาทำให้ผู้ประกอบธุรกิจที่สุจริตเดือดร้อนในอนาคตอย่างแน่นอน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image