ลลิตา หาญวงษ์ : อาเซียนกับพม่าในเวทีอาเซียนซัมมิท… รักไม่ได้แต่ก็เกลียดไม่ลง

พลเอกอาวุโส มิน อ่อง ลาย ระหว่างไปร่วมประชุมสุดยอดอาเซียน ณ กรุงจาการ์ตา, 24 เมษายน 2021 (ภาพจาก Frontier Myanmar/ AFP)

ลลิตา หาญวงษ์ : อาเซียนกับพม่าในเวทีอาเซียนซัมมิท… รักไม่ได้แต่ก็เกลียดไม่ลง

ข่าวใหญ่ประจำสัปดาห์นี้หนีไม่พ้นท่าทีของอาเซียนที่ตัดสินใจไม่เชิญให้นายพลอาวุโส มิน อ่อง ลาย ผู้นำคณะรัฐประหารพม่า เข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียนที่กำลังจะจัดขึ้นในปลายเดือนตุลาคม การตอบโต้คณะรัฐประหารพม่าในครั้งนี้ดูจะรุนแรงและเด็ดขาดมากที่สุดตั้งแต่เกิดรัฐประหารในพม่ามา อาเซียนออกแถลงการณ์หลังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของชาติในอาเซียนนัดประชุมด่วนเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาเพื่อหารือเรื่องการจัดประชุมสุดยอดอาเซียน แต่จุดใหญ่ของการหารือแท้จริงแล้วอยู่ที่การหารือเรื่องท่าทีของอาเซียนต่อพม่า การหารือเริ่มจากการประเมินรายงานคณะทูตพิเศษจากอาเซียนที่เดินทางเข้าไปในพม่า แต่ก็ต้องผิดหวังออกมาเพราะคณะไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าพบอดีตผู้นำรัฐบาล โดยเฉพาะด่อ ออง ซาน ซูจี และประธานาธิบดี วิน มยิ้น ที่ยังถูกควบคุมตัว และสมาชิกคนสำคัญในพรรค NLD อื่นๆ ที่ถูกควบคุมตัวอยู่เช่นกัน

เป็นที่ทราบกันว่าอาเซียนหมายมั่นปั้นมือให้คณะทำงานชุดดังกล่าว ที่นำโดยนายเอรีวัน ยูซอฟ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศบรูไน เป็นเครื่องมือช่วยเจรจาและสร้างสันติภาพในพม่า เมื่อพลเอกอาวุโส มิน อ่อง ลาย เดินทางไปร่วมประชุมสุดยอดอาเซียนที่จาการ์ตาเมื่อปลายเดือนเมษายน ฝั่งพม่าให้คำมั่นสัญญากับอาเซียนอย่างดิบดีว่าจะอำนวยความสะดวกให้คณะทำงานที่จะเข้าไปพูดคุยและหาทางออกให้วิกฤตการณ์ทางการเมืองในพม่า แต่จนแล้วจนรอด นอกจากฝ่ายพม่าจะไม่ได้ช่วยเหลือคณะทำงานแล้ว ยังจงใจขัดขวางไม่ให้คณะทำงานจากอาเซียนพูดคุยกับฝ่ายที่ต่อต้านกองทัพ ไม่ว่าจะเป็นฝั่งของพรรค NLD เอง หรือภาคประชาชนที่ยังประท้วงต่อต้านรัฐประหารอย่างต่อเนื่อง

การกระทำของพม่าไม่ใช่เรื่องที่น่าประหลาดใจแต่อย่างใด ท่าที “ตีมึน” เป็นสิ่งที่คณะทำงานน่าจะคาดการณ์ไว้อยู่แล้ว แต่การออกแถลงการณ์อย่างเป็นทางการครั้งนี้เท่ากับเป็นการส่งสัญญาณเตือนพม่าว่าที่ผ่านมาพม่าเสียมารยาทและทำตามใจตัวเองมากเกินไปแล้ว วิกฤตการณ์เมืองของพม่าไม่ได้เป็นปัญหาภายในของพม่าเท่านั้น แต่อาเซียนมองว่าเป็นปัญหาด้านความมั่นคงของภูมิภาค และยังมีผลกระทบกับความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของชาติสมาชิกในอาเซียน และความน่าเชื่อถือขององค์กร แถลงการณ์ของอาเซียนชี้ให้เห็นชัดเจนว่าปัญหาที่สำคัญที่สุดในกรณีนี้อยู่ที่คณะรัฐประหารพม่าไม่ได้มีความจริงใจที่จะแก้ไขปัญหาใดๆ (เพราะไม่ได้มองว่ารัฐประหารหรือการกระทำของตนทุกอย่างคือปัญหา-ผู้เขียน) การจงใจไม่ให้คณะทำงานจากอาเซียนเข้าพบด่อ ออง ซาน ซูจี เท่ากับพม่าได้ตบหน้าอาเซียนอย่างแรง ทั่วโลกที่กำลังจับตามองความก้าวหน้าของการจัดการความขัดแย้งในพม่าก็จะมองอาเซียนว่าไร้น้ำยา และไม่มีความสามารถแม้แต่เข้าไปพบด่อ ออง ซาน ซูจีได้

ประเด็นที่เกี่ยวกับการเข้าพบด่อ ออง ซาน ซูจีนี่แหละทีเป็นเหมือนฟางเส้นสุดท้าย ทำให้ยูซอฟถึงกับฟิวส์ขาด จนนำไปสู่มติของอาเซียนที่ห้ามไม่ให้พลเอกอาวุโส มิน อ่อง ลาย ไปเข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียนในที่สุด โดยสรุป พม่าทำให้อาเซียนเสียหน้าแบบไม่เคยเป็นมาก่อน ไม่มีครั้งไหนที่คณะทำงานที่ทำโดยนักการทูตระดับไฮโปรไฟล์จากอาเซียนจะกลับมามือเปล่า การหารือในงานประชุมสุดยอดอาเซียนที่กำลังจะถึงนี้ แน่นอนว่าประเด็นใหญ่ที่ชาติสมาชิกในอาเซียนจะร่วมหารือกันย่อมเกี่ยวกับพม่า และในอนาคตอาเซียนก็กดดันพม่ามากขึ้นเพื่อให้พม่ายอมข้อเสนอบางอย่างของอาเซียน อินโดนีเซียเสนอให้อาเซียนกันพม่าออกจากการประชุมสุดยอดอาเซียนในอนาคต ตราบใดก็ตามที่คณะรัฐประหารยังยึดอำนาจอยู่

Advertisement

ในส่วนของไทยเอง ที่ผ่านมาไทยเอาใจช่วยพม่ามาตลอด และเป็นเพียงไม่กี่ประเทศที่ยังเต็มใจคบค้ากับพม่าต่อไป ทั้งด้วยเหตุผลทางการเมือง ความมั่นคง และความสัมพันธ์ส่วนบุคคลระหว่างผู้นำในรัฐบาลไทยกับคณะรัฐประหารพม่า แต่เมื่ออาเซียนกำลังจะมีมติคว่ำบาตรพม่าจากการประชุมสุดยอดอาเซียน ไทยคงไม่สามารถอยู่เฉยและก้มหน้าก้มตาเชียร์คณะรัฐประหารพม่าต่อไปได้ แต่ครั้นจะให้ไทยตัดขาดจากพม่าเลยก็ย่อมเป็นไปไม่ได้

เมื่ออาเซียนมีมติไม่ให้ตัวแทนจากรัฐบาลคณะรัฐประหารพม่าเข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียนแล้ว คำถามที่จะเกิดขึ้นต่อไปคืออาเซียนจะไปเชิญให้รัฐบาลคู่ขนาน ในนามรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (National Unity Government) หรือ NUG มาร่วมการประชุมแทนหรือไม่ แม้ว่าประชาชนในพม่าจะมอบใจให้ NUG และเชียร์ให้อาเซียนเชิญคณะรัฐมนตรีเงาของ NUG ไปประชุมแทน แต่อาเซียนยังสงวนท่าทีและตัดสินใจไม่เชิญตัวแทนฝ่ายใดจากพม่าเข้าร่วมการประชุม แม้ชาติในยุโรปเริ่มให้การรับรอง NUG บ้างแล้ว แต่ในระดับอาเซียน ผู้เขียนคิดว่าการรับรอง NUG คงเกิดขึ้นยาก ไม่ว่าอาเซียนจะไม่พอใจคณะรัฐประหารพม่าแค่ไหนก็ตาม เพราะการเข้าหา NUG เท่ากับเป็นการประกาศสงครามกับรัฐบาลคณะรัฐประหารโดยตรง และในความเป็นจริง NUG เป็นเพียงรัฐบาลเงาที่ดำเนินงานอยู่ภายนอกประเทศ ไม่มีอำนาจตัดสินใจในทางกฎหมาย

แถลงการณ์ของอาเซียนยังกล่าวว่าอาเซียนจะเชิญบุคคลที่ไม่ได้อยู่ในแวดวงการเมืองจากพม่าเพื่อเข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียนแทน แต่ก็ยังถกเถียงกันอยู่ว่า “บุคคลที่ไม่ได้อยู่ในแวดวงการเมือง” นี้หมายความว่าอย่างไรกันแน่ อาเซียนหมายถึงบุคคลที่มีความเป็นกลางทางการเมือง หรือหมายถึงบุคคลที่มาจากภาคอื่นๆ เช่น ภาคธุรกิจ แต่ไม่ว่าการตีความจะเป็นอย่างไร ต้องบอกก่อนว่าความเป็นกลางทางการเมืองในพม่านั้นไม่มีอยู่จริง มีเพียงคนที่ไร้ลมหายใจแล้วถึงพอจะเป็นกลางทางการเมืองได้บ้าง เป็นที่ทราบกันอยู่แล้วว่าภาคธุรกิจพม่าขึ้นชื่อว่ามีความสัมพันธ์ที่ดีมากกับกองทัพ เพราะกองทัพเป็นพี่เบิ้มในแวดวงธุรกิจ เป็นเจ้าของสัมปทาน และยังเป็นผู้คุ้มครองบรรดาโครนี่ทั้งหลาย จึงไม่มีนักธุรกิจพม่าคนใดที่ “ไม่การเมือง” อาเซียนคงจะเชิญตัวแทนจากพม่าไปร่วมประชุมในฐานะผู้สังเกตการณ์ เพื่อกันไม่ให้เกิดข้อครหา และเพื่อให้พม่ามีตัวแทนเข้าร่วมการประชุมแบบพอเป็นพิธี

Advertisement

ในอนาคต ท่าทีของอาเซียนต่อคณะรัฐประหารพม่ายังจะปั้นปึ่งกันแบบนี้ต่อไป เพราะต่างคนต่างไม่ยอมลดราวาศอก โดยเฉพาะในฝั่งพม่า ที่ไม่ว่าจะให้ผู้แทนระดับสูงเพียงใดมาหว่านล้อม ผู้นำระดับสูงในกองทัพพม่ากลุ่มนี้ก็จะไม่มีวันปรับตัว หรือลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลง เพราะเขาถือว่ารัฐประหารครั้งนี้มีราคาที่กองทัพต้องจ่ายสูงมาก ดังนั้นรัฐประหารต้องไม่เสียเปล่า และคุ้มค่าเพียงพอให้กองทัพรักษาอำนาจได้ต่อไป และควบคุมพรรคการเมืองคู่แข่งไม่ให้ลืมตาอ้าปากได้ในอนาคต สิ่งที่อาเซียนควรจะทำคือมีมาตรการกดดันพม่าต่อไป แต่ส่วนตัวผู้เขียนมองว่าแม้จะกดดันมากแค่ไหน แต่ก็จะไม่เกิดประโยชน์มากนัก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image