สุจิตต์ วงษ์เทศ : น้ำท่วม เป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติ อยู่เหนือการควบคุมของมนุษย์ รัฐล้าหลังทางเทคโนโลยี ต้องมีนาฏกรรมแห่งรัฐให้น้ำลด

น้ำท่วมเจดีย์และพระพุทธรูปที่ลานหน้าวัดบุญกันนาวาส ต. ไทรน้อย อ. บางบาล จ. พระนครศรีอยุธยา (ภาพจาก มติชนออนไลน์ เผยแพร่เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2559)

น้ำท่วมเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติ อยู่เหนือการควบคุมของมนุษย์ คนแต่ก่อนยกให้เป็นการกระทำของอำนาจเหนือธรรมชาติ

ถ้าถือเป็นความผิด ไม่เอาผิดที่มนุษย์ ต้องเอาผิดที่ผี เช่น พญานาค, พญาคันคาก, พญาแถน ฯลฯ

ไล่เรือ, ไล่น้ำ, ฟันน้ำ

น้ำท่วมข้าวระยะสั้นๆ ไม่กี่วัน ไม่เป็นไร ถ้านานมากกว่านั้นข้าวจะเน่าตายใต้น้ำท่วม ทำให้ชาวนาเดือดร้อนหนักมาก บ้านเมืองเกิดข้าวยากหมากแพง

Advertisement

พระเจ้าแผ่นดินในรัฐจารีตไม่เป็นสุข ต้องหาหนทางผ่อนปรนแก้ไขด้วยนาฏกรรมแห่งรัฐ คือ ต้องทำพิธีไล่น้ำ

หากกระทำบำเรอพลีกรรมด้วยความอ่อนน้อมจนถึงที่สุดแล้ว ถ้ายังไม่บังเกิดผลดีตามที่มุ่งหมายและคาดหวังเอาไว้ ก็ต้องใช้ไม้แข็ง คือวิธีการที่แข็งกร้าว เรียกพิธีกรรมนี้ว่า ไล่เรือ, ไล่น้ำ, ฟันน้ำ เพื่อให้น้ำลดลงเร็วที่สุด

กฎมณเฑียรบาลเรียกไล่เรือ ส่วนโคลงทวาทศมาสเรียก “ไล่ชล” ที่หมายถึงไล่น้ำ ระบุตำบลย่านที่ทำพิธีไล่น้ำชื่อบางขดาน มีเอกสารระบุว่าอยู่ใต้ขนอนหลวงวัดโปรดสัตว์

Advertisement

เห่เรือ เมื่อไล่น้ำที่บางขดาน

เห่เรือ ถ้าจะมีก็มีในพิธีไล่น้ำที่บางขดาน เพราะบริเวณนี้เป็น “ดินสะดือ” หมายถึงมีน้ำวนเป็นเกลียวลึกลงไป ถือเป็นเขตศักดิ์สิทธิ์ของแม่น้ำ เป็นทางลงบาดาลของนาค ต้องทำพิธีเห่กล่อมวิงวอนร้องขอต่อ “ผี” หรืออำนาจเหนือธรรมชาติ คือนาคที่บันดาลให้เกิดน้ำ

นี่เองเป็นที่มาของ “เห่เรือ” เพื่อไล่น้ำ หรือวิงวอนร้องขอให้น้ำลดลงเร็วๆ

เห่กล่อมขณะเรือจอดอยู่กลางน้ำ ตรงบริเวณที่เรียก “ดินสะดือ” ไม่ใช่พายเรือแล้วเห่เรือ ถ้าทำอย่างนั้นคนร้องเห่เหนื่อยมาก และไม่มีใครฟัง

ฟันน้ำ ถ้าไล่แล้วน้ำไม่ลด

แต่บันทึกของนิโคลาส แชร์แวส ระบุว่า สมเด็จพระนารายณ์ “เสด็จไปประกอบพระราชพิธีฟันน้ำเพื่อมิให้น้ำท่วมมากขึ้น”

พิธีฟันน้ำในบันทึกฝรั่งเศสมีคำบอกเล่าในลักษณะตำนานและนิทานจดเป็นลายลักษณ์อักษรว่า พระนารายณ์ทรงมีบุญญาภินิหารและอิทธิฤทธิ์มาก “วันหนึ่งเสด็จทรงเรือพระที่นั่งเอกชัยในเวลาน้ำขึ้น รับสั่งว่าให้น้ำลดแล้วทรงพระแสงฟันลงไป น้ำก็ลดลงตามพระราชประสงค์” (คำให้การขุนหลวงหาวัด)

พิธีกรรมฟันน้ำก็คือพระเจ้าแผ่นดินเสด็จลงประทับเรือพระที่นั่งไปกลางน้ำแล้วทรงใช้พระแสงฟันลงไปในน้ำเพื่อให้น้ำลดโดยเร็ว

พิธีกรรมนี้มิได้แสดงความอ่อนน้อมอ้อนวอนร้องขอแต่เพียงด้านเดียวเท่านั้น แต่ยังแฝงไว้ด้วยลักษณะ “แกมบังคับ” หรือ “บงการ” อย่างแข็งกร้าว

น้ำท่วมกรุงเทพ5402

 

น้ำท่วมกรุงเทพฯ ปลายเดือนตุลาคม พ.ศ. 2554 มวลน้ำได้ไหลเข้าท่วมสนามบินดอนเมือง ท่วมโดยเฉลี่ยสูงประมาณ 1 เมตร (ภาพจากห้องสมุดภาพมติชน)
น้ำท่วมกรุงเทพฯ ปลายเดือนตุลาคม พ.ศ.2554 มวลน้ำได้ไหลเข้าท่วมสนามบินดอนเมือง ท่วมโดยเฉลี่ยสูงประมาณ 1 เมตร (ภาพจากห้องสมุดภาพมติชน)

 

นาฏกรรมแห่งรัฐ

ความแข็งกร้าวของพิธีกรรมไล่เรือ ไล่น้ำ และฟันน้ำ จะได้ผลหรือไม่? น้ำจะลดจริงหรือไม่จริง? นั่นไม่ใช่ประเด็นสำคัญ

เพราะสาระที่สำคัญกว่าอย่างอื่นอยู่ที่เป็นนาฏกรรมเพื่อผ่อนคลาย เมื่อผ่านพิธีกรรมอันเชื่อว่าศักดิ์สิทธิ์ก็สบายใจแล้ว

ถ้าน้ำลดจริงๆ (เพราะถึงเวลาที่น้ำจะต้องลดไปเองตามธรรมชาติ) ก็ถือว่าเป็นบุญกุศลของบ้านเมือง เป็นอิทธิฤทธิ์ของพระนารายณ์

แต่ถ้าน้ำไม่ลด (เพราะยังไม่ถึงเวลาที่ธรรมชาติจะอำนวยให้ลด เช่น น้ำทะเลยังหนุนอยู่ หรือน้ำเหนือยังมากอยู่ เป็นต้น) ก็ถือเสียว่าเป็นเวรเป็นกรรม

พิธีไล่เรือ ไล่น้ำ ฟันน้ำ ไม่มีกำหนดเวลาแน่นอน ขึ้นอยู่กับปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ ถ้าปีไหนน้ำไม่ท่วมก็ไม่ต้องทำพิธี ต่อปีไหนมีน้ำมากเกินไปจึงทำ เรียกพิธีจร เพราะไม่ทำประจำ

พิธีประจำคือ แข่งเรือและชักโคม แขวนโคม ลอยโคม ที่เรียกกันภายหลังว่าลอยกระทง ขอขมาผีน้ำผีดิน เพื่อความอุดมสมบูรณ์ในพืชพันธุ์ธัญญาหารให้เกิดแก่ชุมชนบ้านเมืองและอาณาจักร

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image