การประชุม COP26

ระหว่างวันที่ 31 ตุลาคม ถึง 12 พฤศจิกายน 2564 จะมีการประชุม COP26 ที่เมืองกลาสโก ประเทศอังกฤษ ชื่อการประชุมฟังดูแปลก คำว่า COP ย่อมาจากอะไร คำตอบคือ COP ย่อจาก Conference of the Parties หรือการประชุมภาคียังไงเล่า แล้วเขาประชุมเรื่องอะไรกัน คำตอบจะอยู่ที่ว่าผู้เข้าประชุมเป็นภาคีของอะไร คำตอบคือเป็นภาคึของ UNFCCC หรือ United Nations Framework Convention on Climate Change หรือกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ปัจจุบันมีกี่ประเทศที่เป็นภาคี คำตอบคือทุกประเทศที่เป็นสมาชิกของสหประชาชาตินั่นแหละ รวมแล้ว 197 ประเทศ COP มีการประชุมกันทุกปี ครั้งนี้เป็นครั้งที่ 26 การประชุมครั้งนี้เป็นการประชุมสุดยอดเสียด้วย ประชุมกันขนาดนี้จะช่วยยับยั้งภาวะโลกร้อนได้บ้างไหม? คำถามที่ยากเช่นนี้มีสำนวนของฝรั่งที่ตอบว่า “นี่เป็นคำถามที่ดี” คือยังไม่รู้ว่าจะตอบว่าอย่างไร ข้อวิจารณ์ในทางลบมาจาก Greta Thunberg ผู้นำเยาวชนชาวสวีเด็นที่เคยนั่งประท้วงอยู่คนเดียวเพื่อเรียกร้องให้ผู้มีอำนาจตัดสินใจรีบทำอะไรอย่างจริงจังเสียที แทนที่จะพูด จะพูด จะพูด สุดท้ายแล้วไม่ทำอะไร เธอวิจารณ์ COP26 ว่า คงจะเอาแต่พูดเหมือนเดิมนั่นแหละ คราวนี้ COP 26 จัดที่อังกฤษ มีเสียงแว่วๆ จากองค์พระประมุขทำนองว่า “อย่าเอาแต่พูดนะ”

การประชุม COP ใช่ว่าดีแต่พูด เพราะเขาตกลงกันได้ระดับหนึ่ง ในการประชุม COP21 เมื่อหกปีก่อน ที่กรุงปารีส มีการลงนามในข้อตกลงซึ่งได้สมญานามว่า “ข้อตกลงปารีส” รัฐบาลทั้งหลายตกลงว่าจะลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (ที่สำคัญคือก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ก๊าซมีเทนและก๊าซไนโตรเจนออกไซด์) ลง จนปริมาณสุทธิ (ที่ปล่อยออกสู่บรรยากาศและที่เอาคืนกลับมา เช่น โดยการปลูกต้นไม้) เป็นศูนย์ในปี ค.ศ. 2060 หรือในอีก 39 ปีข้างหน้า โดยมีความคาดหวังว่าอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกจะเพิ่มขึ้นไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียสเมื่อเทียบกับอุณหภูมิก่อนการปฎิวัติอุตสาหกรรม อย่างไรก็ดี การเพิ่มจะต้องไม่เกิน 2 องศาเซลเซียส เพื่อว่าโลกจะได้ไม่เผชิญกับภัยพิบัติธรรมชาติและการสูญเสียทางเศรษฐกิจที่ร้ายแรงยิ่ง

การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ต่อประชากรโลกหนึ่งคนอยู่ที่ประมาณ 5 ตันต่อปี ส่วนปริมาณก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดที่ประชากรโลกหนึ่งคนปล่อยสู่บรรยากาศเท่ากับประมาณ 6.5 ตันต่อปี ดูแนวโน้มแล้ว ถ้ายังไม่ทำอะไรมากนัก อัตราการปล่อยก๊าซจะเพิ่มขึ้นหรืออย่างดีก็คงตัว สมมุติว่าเรารักษาระดับปัจจุบันไว้ได้ มีผู้คำนวณว่าอุณหภูมิของโลกจะเพิ่มขึ้น 1.5 องศาเซลเซียสในปี ค.ศ. 2030 นี้เอง

ในข้อตกลงปารีส ประเทศภาคีสัญญาว่าทุก 5 ปี จะมารายงานว่าสามารถลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้มากน้อยเพียงใด อันที่จริง การรายงานเช่นนี้ควรมีขึ้นเมื่อปีที่แล้ว แต่เนื่องจากเกิดการระบาดของโควิด-19 จึงเลื่อนมาเป็นปีนี้ จะขอยกตัวเลขการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศเพียง 3 ประเทศมาเป็นตัวอย่างพอสังเขปดังนี้

Advertisement

สังเกตได้ว่า จีนปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุด ชาวอเมริกันหนึ่งคนปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากกว่าใครเพื่อน ส่วนไทยมีสัดส่วนการปล่อยก๊าซในระดับปานกลางจึงสามารถลดปริมาณการปล่อยลงได้บ้างแม้จะไม่มีนัยสำคํญในระดับโลก เพราะชะตากรรมของโลกขึ้นอยู่กับชาวจีนและชาวอเมริกัน (รวมทั้งชาวอินเดีย ชาวรัสเซีย ฯลฯ ที่มีอยู่จำนวนมาก) เป็นสำคัญ ว่าจะยอมลดการบริโภคพลังงานและการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้น้อยลง เหลือประมาณเท่ากับค่าเฉลี่ยของโลก (6.5 ตันต่อคนต่อปี) โดยไม่กระทบต่อคุณภาพชีวิตมากนักได้อย่างไร

การปล่อยก๊าซเรือนกระจกมาจากกิจกรรมใดของมนุษย์ คำตอบโดยประมาณคือ อุตสาหกรรมปล่อยก๊าซ 32 %, การเกษตรที่ใช้ประโยชน์จากดิน 24 %, การใช้พลังงานในอาคาร 19 %, การขนส่ง 14 %, และการใช้พลังงามในกิจกรรมอื่น ๆ 11 % การปล่อยก๊าซในภาคเศรษฐกิจเหล่านี้ 75 % เป็นการปล่อยก๊าซโดยตรง อีก 25 % เป็นการปล่อยก๊าซโดยอ้อม ผ่านการผลิตพลังงานไฟฟ้าเพื่อมาใช้ในภาคเศรษฐกิจ โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมและในอาคาร ทุกภาคส่วนของภาคเศรษฐกิจจึงควรหาทางลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในส่วนของตน

Advertisement

นอกจากจะมีรายงานการใช้พลังงานและการปล่อยก๊าซเรือนกระจกแล้ว มีความคาดหวังว่า COP26 จะประกาศเรื่องที่สำคัญต่อชีวิตประจำวันของเราด้วย เช่น การเปลี่ยนรถยนต์จากที่ใช้น้ำมันมาเป็นใช้ไฟฟ้าหรือเชื้อเพลิงไฮโดรเจน การลดการตัดไม้ทำลายป่า การป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งซึ่งส่วนหนึ่งมาจากการเพิ่มสูงขึ้นของระดับน้ำทะเล การลดการใช้ถ่านหินเป็นพลังงาน เป็นต้น

มีประเด็นเผือกร้อนที่ค้างมาจากการประชุม COP ครั้งก่อน ๆ ที่น่าจะพิจารณาอย่างจริงจังในการประชุมครั้งนี้ ประเทศรวยจะช่วยประเทศที่ยากจน (โดยเฉพาะประเทศที่กำลังได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพบรรยากาศ) ให้สามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลงได้ดีขึ้นได้อย่างไร ทั้งนี้ ประเทศรวยที่เคยรับปากว่าจะบริจาคเงินเพื่อการนี้ในจำนวนเท่ากับหนึ่งแสนล้านดอลลาร์ต่อปี ภายในปี 2020 หรือปีที่แล้วนั้น จะทำได้จริงไหม อีกประการหนึ่ง จีนกับสหรัฐซึ่งมีความตึงเครียดระหว่างกันในทางเศรษฐกิจและการเมือง จะมีแผนความร่วมมือในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้หรือไม่

ก่อนจะมีข้อตกลงปารีส เคยมีพิธีสารเกียวโต ที่มีการลงนามในปี ค.ศ. 1997 และเป็นผลพวงของกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC) พิธีสารเกียวโตมีผลบังคับใช้ในระหว่างปี ค.ศ. 2005 ถึง 2020 ต่อประเทศที่เป็นภาคี และถูกแทนที่ด้วยข้อตกลงปารีส อันที่จริง ไม่ต้องสงสัยว่าทำไมจึงมีการประชุม COP มาแล้วถึง 25 ครั้ง เพราะ COP หมายถึงการประชุมของภาคีของ UNFCCC การประชุม COP ครั้งแรกได้มีขึ้นในปี ค.ศ. 1995 ภายใต้ UNFCCC เมื่อพิธีสารเกียวโตมีผลบังคับใช้ COP ก็ทำหน้าที่เป็นที่ประชุมภาคีของพิธีสารดังกล่าวไปในตัว ทั้งหมดเป็นเรื่องขององค์การสหประชาชาติในการต่อสู้กับภาวะโลกร้อนนั่นเอง

องค์กรภาคประชาสังคมสามารถเข้าเป็นผู้สังเกตการณ์ภายใต้กรอบของ UNFCCC ได้ องค์กรเหล่านี้รวมตัวกันเป็นกลุ่มหลวม ๆ เช่น กลุ่มธุรกิจและอุตสาหกรรม กลุ่มสิ่งแวดล้อม กลุ่มองค์กรบริหารส่วนท้องถิ่น กลุ่มชนพื้นเมือง กลุ่มวิชาการ กลุ่มสหภาพแรงงาน กลุ่มสตรี กลุ่มเยาวชน กลุ่มเกษตรกร เป็นต้น กลุ่มเหล่านี้เมื่อรวมกันจะเป็นประมาณ 90 % ขององค์กรสังเกตการณ์ทั้งหมด และมีการประสานงานกันระหว่างกลุ่มเพื่อเพิ่มน้ำหนักในการต่อรองและร่วมมือกับภาครัฐ ผู้สังเกตการณ์ที่เหลือเป็นองค์กรฝ่ายศาสนาและองค์กรของสมาชิกรัฐสภา

ภาวะโลกร้อนเป็นวาระที่สำคัญมาก ถ้าดูข่าวต่างประเทศ จะเห็นการเคลื่อนไหว การเดินขบวน การจัดกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ ฯลฯ เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลมีนโยบายที่ชัดเจนและมีการดำเนินการที่จริงจังสักที โดยเฉพาะในเรื่องแผนการลดการใช้เชื้อเพลิงที่เป็นซากพืชซากสัตว์ (fossil fuel) รวมทั้งการผลิตพลังงานหมุนเวียนมาทดแทน ยิ่งไปกว่านั้น มีความจำเป็นที่จะต้องตรึงคาร์บอนในสภาพของแข็ง เช่น โครงการปลูกป่าขนานใหญ่ และมีความจำเป็นที่จะลดการปล่อยก๊าซมีเทนจากการเกษตร โดยมีเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิให้เป็นศูนย์ ภายในปี ค.ศ. 2060 อย่างไรก็ดี ไม่ควรหวังพึ่งการซื้อขาย carbon credit ให้มากนัก เพราะนั่นเป็นเพียงการโอนย้ายปัญหาจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่ง เข้าใจว่าตัวแทนรัฐบาลไทยจะไปนำเสนอแผนงานและประกาศยืนยันเป้าหมายนี้ต่อประชาคมโลกในที่ประชุม COP26

เพื่อการบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิให้เป็นศูนย์ ลำพังคำสัญญาของภาครัฐคงไม่เพียงพอ ยังต้องการการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคม โดยเฉพาะกลุ่มต่าง ๆ ในภาคประชาสังคมตามที่มีการรวมตัวกันในกรอบของ UNFCCC อีกด้วย ภาคธุรกิจต้องมีบทบาทเชิงริเริ่มให้มากขึ้น ส่วนบทบาทการสร้างการตระหนักรู้อาจเป็นขององค์กรพัฒนาเอกชนเป็นหลัก ทราบมาว่าในประเทศไทย มีองค์กรที่เคลื่อนไหวในประเด็นนี้อยู่แล้ว เช่น Climate Change Thailand และ เครือข่าย Climate Justice for All และมีองค์กรสื่อ เช่น ชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม แต่คงต้องเพิ่มความพยายามในการรณรงค์เพื่อให้เข้าถึงคนไทยจำนวนมากขึ้น น่าจะมีการนำแบบจำลองมาแสดงให้เห็นว่า ถ้าอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกเพิ่มขึ้น 1.5 องศา หรือ 2 องศาเซลเซียส ระดับน้ำทะเลจะสูงขึ้นเท่าไร และเมืองที่อยู่ในที่ต่ำหรือติดทะเล รวมทั้งกรุงเทพฯ จะถูกท่วมและได้รับความเสียหายเพียงใด ทั้งนี้ เพื่อให้คนไทยเห็นปัญหาอย่างชัด ๆ และให้ตระหนักว่าปัญหาจะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน ยิ่งเราทำเฉยหรือไม่คิดหาทางแก้ไขก็จะยิ่งไปกันใหญ่

COP26 ดูเหมือนจะเป็นความหวังเกือบสุดท้ายแล้วที่ทุกประเทศจะได้มาช่วยกันกอบกู้ระบบของโลกพิภพใบนี้ ชาวโลกจะนิ่งดูดายไม่ได้แล้ว เราทุกคนที่เป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศของโลก จึงต้องร่วมกันรับผิดชอบ ไม่ใช่คิดว่าเป็นธุระของคนอื่น เพราะอันที่จริงเป็นธุระของเรา เพื่อลูกหลานของเราอย่างแน่นอน

โคทม อารียา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image