พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ : นับถอยหลังเลือกตั้งอบต.2564

ประเทศไทยในปลายปี 2564 กำลังมีการเลือกตั้งท้องถิ่นที่สำคัญอีกหนึ่งครั้งนั่นก็คือ การเลือกตั้งองค์การบริหารส่วนตำบล หรือที่เรียกกันง่ายๆ ว่า “อบต.” นั่นเอง

อบต.เป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีความสำคัญมาก แต่เป็นองค์กรที่ไม่เป็นที่รู้จักของคนกรุงเทพฯ และเทียบเคียงอะไรกับประสบการณ์ของคนกรุงเทพฯไม่ได้เลยแม้แต่นิดเดียว เพราะคนกรุงเทพฯไม่มีรูปแบบการปกครองระดับย่อยที่มีการเลือกตั้งผู้บริหารต่ำไปกว่าผู้ว่าฯกทม. ด้วยว่าผู้อำนวยการเขตมาจากการแต่งตั้ง และสมาชิกสภาเขตแม้จะมาจากการเลือกตั้งก็มีบทบาทเพียงแค่ให้คำปรึกษากับผู้อำนวยการเขต ซ้ำยังถูกยุบไปแล้วด้วยคำสั่งมาตรา 44 ของ คสช.ด้วย

มิพักต้องกล่าวถึงว่า อบต.นั้นก็เป็นองค์กรที่ถูกทำให้แคระแกร็นจากกระทรวงมหาดไทยและรัฐรวมศูนย์อำนาจมาโดยตลอด และก็มักจะถูกนำเสนอในแง่ลบเสียมาก ในแง่ของการใช้เงินใช้ทองที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐานของคนกรุงเทพฯ ที่หมายหัวว่าพวกนี้มักทุจริต

อบต.นั้นเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เกิดใหม่ มีการต่อสู้กันมาอย่างยาวนานที่จะทำให้เป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีทั้งศักยภาพ ประสิทธิภาพ และความใกล้ชิดกับประชาชน

Advertisement

ผมเสนอว่า การปกครองท้องถิ่นในประเทศเราควรจะถูกเข้าใจว่ามีอยู่สองแบบใหญ่ๆ คือ องค์กรปกครองท้องที่ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

องค์กรปกครองท้องที่นั้นคือแขนขาของกระทรวงมหาดไทย มีมาตั้งแต่การปรับปรุงประเทศสมัยรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ พ.ร.บ.หลักที่ใช้อยู่จนถึงปัจจุบันคือ พ.ร.บ.ลักษณะการปกครองท้องที่ 2457 ในสมัยรัชกาลที่ 6 ซึ่งพัฒนามาจากฉบับแรกคือ 2440 ในสมัยรัชกาลที่ 5 โดยมีการวางรากฐานของการจัดตั้ง “หมู่บ้าน” และ “ตำบล” ในฐานะหน่วยการปกครองที่ขึ้นตรงกับส่วนกลาง เชื่อมผ่านโครงสร้างอำเภอ จังหวัด (และมณฑล จนกระทั่งมณฑลถูกยกเลิกไปตั้งแต่ปี 2475) หรือจะพูดอีกอย่างก็คือ องค์กรปกครองท้องที่นั้นเป็นส่วนสนับสนุน/ส่วนขยายขององค์กรการปกครองส่วนภูมิภาค ที่ส่วนกลางส่งคนลงไปปกครองในพื้นที่ (ข้าหลวงมณฑลเทศาภิบาล ผู้ว่าราชการจังหวัด และนายอำเภอ/ปลัดอำเภอ)

ในระบบการปกครองท้องที่นั้น หมู่บ้านคือหน่วยการปกครองที่เล็กที่สุดของรัฐไทย มีระบบการ “เลือก” ผู้ใหญ่บ้านขึ้นมาดูแลที่ไม่ได้หมายถึง “เลือกตั้ง”

Advertisement

ทั้งนี้ การเลือกอาจมีได้หลายแบบ และแม้ว่าในปัจจุบันจะใช้คำว่าการเลือกผู้ใหญ่บ้านต้องเป็นไปโดยสุจริตเที่ยงธรรม และให้กระทำโดยวิธีลับ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กระทรวงมหาดไทยกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา แต่ก็ไม่ได้จะต้องหมายถึงระบบการเลือกตั้งที่ กกต.ดูแล

ตำบลคือ หน่วยการปกครองในระดับที่สูงกว่าหมู่บ้าน หมู่บ้านไม่เกิน 20 หมู่บ้านถือเป็นหนึ่งตำบล มีกำนันเป็นหัวหน้าของตำบลที่ได้รับเลือกมาจากผู้ใหญ่บ้านทั้งหมดของตำบล

โดยโครงสร้างของหมู่บ้านที่มีผู้ใหญ่บ้านเป็นหัวหน้า และตำบลที่มีกำนันเป็นหัวหน้า แม้จะมีทีมผู้ช่วย แต่ทั้งหมดนี้ไม่เข้าหลักของการปกครองท้องถิ่นสมัยใหม่ที่มาจากคำว่า local self-government ไม่ใช่แค่ local government ที่อาจแปลง่ายๆ ว่าการปกครองในท้องถิ่นเหมือนกัน

local self-government หมายถึงว่า เรามี self-government หมายถึงรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งและดูแลประชาชนของพื้นที่ ซึ่งการดูแลพื้นที่ไม่ใช่แค่เป็นหูเป็นตาให้กับรัฐ กระจายข่าวสารของรัฐ ดูแลความปลอดภัยให้กับประชาชน แต่ต้องหมายถึงความสามารถในการจัดเก็บภาษี และบริหารงบประมาณเหล่านั้นด้วยการจัดทำและตัดสินใจด้วยตัวเอง ซึ่งการให้บริการสาธารณะในหลายๆ ด้านตามความต้องการของประชาชนและตรวจสอบระหว่างฝ่ายบริหารกับฝ่ายนิติบัญญัติได้ รวมทั้งยังหมายถึงการได้รับการสนับสนุนจากรัฐส่วนกลางทั้งจากภาษีที่รัฐบาลกลางจัดเก็บแล้วส่งมาให้ท้องถิ่นจัดการ

องค์การบริหารส่วนตำบลจึงเข้าหลักของการปกครองท้องถิ่นด้วยตัวเองมากกว่าตำบลและหมู่บ้าน และมีระบบตรวจสอบกันเองระหว่างตัวนายกองค์การบริหารส่วนตำบลที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของตำบล และสภาองค์กรบริหารส่วนตำบลที่เลือกตั้งมาจากแต่ละหมู่บ้าน โดยเฉพาะบทบาทสำคัญคือการจัดทำงบประมาณและอนุมัติงบประมาณ รวมถึงการออกกฎระเบียบในพื้นที่ของตัวเอง และแม้ว่านายก อบต.และสภา อบต.มีวาระที่ชัดเจน อาจจะถูกปลดได้โดยผู้ว่าฯหากฝ่าฝืนกฎ หรือมีการเข้าชื่อร้องเรียนโดยประชาชน แต่กระบวนการต่างๆ ก็ไม่ได้ทำได้ตามอำเภอใจ มีขั้นตอนที่ยุ่งยากพอสมควร มีการตรวจสอบกันหลายขั้นตอน เพราะพวกเขาเป็นผู้ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน

สิ่งที่ซับซ้อนมากขึ้นของ อบต.ที่ต่างจากตำบลเฉยๆ ก็คือ อบต.กับตำบลอาจไม่ได้มีพื้นที่เท่ากัน เพราะ อบต.คือพื้นที่ของตำบลที่ไม่ได้เป็นพื้นที่เทศบาล ซึ่งมีตั้งแต่เทศบาลตำบล เทศบาลเมือง และเทศบาลนคร

นั้นหมายความว่า ในบางตำบล ทั้งหมดของตำบลอาจจะเป็นเทศบาล ซึ่งก็หมายความว่าเป็นเขตที่มีจำนวนประชากรมาก (และหนาแน่น) และมีรายได้ที่พอเลี้ยงตัวเองได้ (ซึ่งก็ย่อมไม่แปลกใจว่าทำไม อบต.ถึงเลี้ยงตัวเองไม่ค่อยจะได้) หรือพื้นที่เมืองนั่นเอง เรียกว่าเป็นตำบลที่อยู่ในพื้นที่เมือง หรือมีความเป็นเมือง

ส่วนบางตำบลอาจจะมีบางหมู่บ้านที่อยู่ในเขตเทศบาล และก็เลยมีหมู่บ้านที่เหลือในตำบลนั้นอยู่ใน อบต. หมายความง่ายๆ ว่า อบต.เล็กกว่าตำบลจริง หรือเรียกอีกอย่างว่าพื้นที่ตำบลมีความเป็นกึ่งเมืองกึ่งชนบท คือหนึ่งตำบลมีทั้งส่วนที่อยู่ใน อบต.และอยู่ในเทศบาล (มักเป็นระดับเทศบาลตำบล)

ขณะบางตำบลนั้นเขตพื้นที่ตำบลกับ อบต.ซ้อนทับกันพอดี ย่อมหมายความว่าตำบลนั้นเป็นพื้นที่ชนบท

กล่าวโดยสรุปแล้ว อบต.เป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในที่ชนบท อยู่ในระนาบเดียวกับเทศบาล ที่ดูแลพื้นที่เมืองโดยมีองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) เป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่อยู่อีกระดับหนึ่งในความหมายของการดูแลพื้นที่ทั้งจังหวัด

เรื่องราวจะไม่งงเอาเสียเลย ถ้าเราเข้าใจพัฒนาการในเบื้องต้นของการกระจายอำนาจซึ่งเป็นกระแสการเปลี่ยนแปลงเมื่อช่วงปลายทศวรรษที่ 2530 ก่อนจะมีระบบการกระจายอำนาจที่รองรับโดยรัฐธรรมนูญ 2540 และ พ.ร.บ.แผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้กับส่วนท้องถิ่นในปี 2542

ระบบการปกครองท้องถิ่นสองชั้นคือ มี อบจ.ในชั้นบนคลุมทั้งจังหวัด และในระบบชั้นล่าง คือเทศบาล และ อบต.ในพื้นที่อำเภอ แยกย่อยไปตามส่วนที่เป็นเมือง และชนบท โดยทาบซ้อนกับตำบลนั้นแม้ว่าจะเคยมีอยู่บ้าง แต่ไม่สมบูรณ์แบบ ส่วนใหญ่มีในระยะสั้น มีการแต่งตั้งแทนการเลือกตั้ง และถูกยกเลิกไปบ้าง เช่น องค์การบริหารส่วนจังหวัด และเทศบาล สุดท้ายก็ถูกจัดให้เป็นระบบโดยสมบูรณ์ เป็นขั้นเป็นตอน เป็นระบบเดียวกัน หลังจากรัฐธรรมนูญ 2540

ในส่วนของ อบต.มีการยกระดับขึ้นมาจากสภาตำบลที่มีขึ้นก่อนหน้านั้น โดยเริ่มจาก พ.ร.บ.สภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ.2537 ในช่วงแรกยกฐานะของสภาตำบลที่มีรายได้ไม่รวมเงินอุดหนุนติดต่อกันสามปี เฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 150.000 บาท และให้ทั้งสององค์กรมีสถานะเป็นนิติบุคคล คือทำสัญญาต่างๆ ได้ กล่าวโดยสรุปเป้าหมายสำคัญของการยกระดับหน่วยการปกครองส่วนท้องถิ่น คืออันไหนที่ไปได้ดีมีรายได้มากก็อาจจะกลายเป็นเทศบาลตำบล ส่วนอันไหนที่พอไปได้ก็กลายเป็นองค์การบริหารส่วนตำบล กล่าวได้ว่าไม่กี่ปีหลังจากนั้นสภาตำบลก็ปิดตัวลง คงเหลือแต่หน่วยการปกครองท้องถิ่นแบบใหม่คือ อบต.แต่โครงสร้างตำบลและหมู่บ้านไม่ได้
สิ้นสุดลง

ในช่วงรอยต่อในช่วงแรกนั้น องค์การบริหารส่วนตำบลมีกำนันเป็นประธานองค์การบริหารส่วนตำบล (ตำแหน่งเดิมก่อนที่จะมีตำแหน่งนายกองค์การบริหารส่วนตำบลในกาลต่อมา) แล้วในหนึ่งตำบลนั้นสภา อบต.จะประกอบด้วยตัวแทนที่มาจากหมู่บ้านสองคน คนหนึ่งคือผู้ใหญ่บ้านโดยตำแหน่ง และอีกหนึ่งก็มาจากการเลือกตั้ง ในแง่นี้ยุคแรกของการก่อตัวของสภา อบต.จึงมีความพยายามที่จะสร้างบูรณาการขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั้งสองรูปแบบที่ผมได้กล่าวถึงไปข้างต้น

ต่อมาจะด้วยเหตุประการใดก็ไม่มีการสืบค้นอย่างชัดแจ้ง กระทรวงมหาดไทยกลับยังคงตำแหน่งกำนันผู้ใหญ่บ้านเอาไว้ โดยเปลี่ยนให้มีการเลือกทุกห้าปี (กำนันก็เลือกตรง) และเปิดให้มีตำแหน่งนายกองค์การบริหารส่วนตำบล และสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลหมู่บ้านละสองคนเหมือนเดิม ดังนั้น ระบบคู่ขนานของกำนัน ผู้ใหญ่บ้านที่เป็นองค์กรสนับสนุนส่วนภูมิภาคก็ดำรงต่อมาเรื่อยๆ ขณะที่ อบต.ก็ลงหลักปักฐานของตนต่อไป

เท่านั้นยังไม่พอ กำนันผู้ใหญ่บ้านยังถูกเสริมสร้างให้แข็งแกร่งขึ้นอีกครั้งจากการเปลี่ยนนโยบายของกระทรวงมหาดไทยอีกรอบหนึ่ง โดยให้ตำแหน่งกำนัน ผู้ใหญ่บ้านมีวาระจนเกษียณอายุ และกำนันมาจากการเลือกของผู้ใหญ่บ้านท่ามกลางข้อสงสัยว่าการไม่เปิดให้มีการหมุนเวียนเปลี่ยนกำนันผู้ใหญ่บ้านตามวาระจะเป็นไปได้ไหมว่ามหาดไทยอยากได้คนที่ขึ้นตรงต่อส่วนภูมิภาคมากกว่าคนที่ขึ้นตรงต่อชาวบ้านทุกสี่ถึงห้าปี ซึ่งมีแล้วในกรณีของ อบต.

ภาพที่ได้พยายามชี้ให้เห็นก็คือ กำนันผู้ใหญ่บ้านขึ้นตรงกับกระทรวงมหาดไทยมากกว่า อบต. ที่สำคัญในช่วงความผันผวนทางการเมืองในสิบกว่าปีหลังที่มีการยึดอำนาจถึงสองครั้ง กำนันผู้ใหญ่บ้านนั้นจะทำงานได้ดีกับรัฐราชการเป็นอย่างยิ่งในการระดมความร่วมมือและการสนับสนุนจากประชาชนในการอยู่ภายใต้การปกครองของระบอบรัฐประหาร และทำตามนโยบายที่ระบอบรัฐประหารต้องการ

ในขณะที่ อบต.ก็เหมือนกับเทศบาล และ อบจ. คือมีที่มาจากประชาชนผ่านการเลือกตั้งอย่างเป็นระบบ มีการสลับหมุนเวียนขั้วอำนาจ และเมื่อมีการทำรัฐประหารในปี พ.ศ.2557 ในช่วงต้นระบอบรัฐประหารเลือกที่จะยุติการทำงานของผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเหล่านั้น และแต่งตั้งข้าราชการมาดำรงตำแหน่งแทน และไม่กำหนดให้มีการเลือกตั้งท้องถิ่น จนกระทั่งสุดท้ายระบอบรัฐประหารก็ตัดสินใจปล่อยให้ผู้ที่ดำรงตำแหน่งในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกลับเข้ารับตำแหน่ง และครองอำนาจยาวนานเสมือนดังเป็นพันธมิตรทางอำนาจของระบอบรัฐประหาร จนกระทั่งเริ่มมีการทยอยปลดล็อกให้มีการเลือกตั้ง ตั้งแต่ อบจ. เทศบาล จนกระทั่ง อบต.ที่กำลังจะมาถึง ในขณะที่ กทม.นั้นยังไม่มีหวังจะมีการเลือกตั้งทั้งสิ้น

อย่างไรก็ดี มีการตั้งข้อสังเกตว่า การเลือกตั้ง อบต.ในรอบนี้มีความแตกต่างไปจากเดิมอย่างมีนัยสำคัญ กล่าวคือ ในการเลือกตั้งในรอบนี้จำนวนสมาชิกสภา อบต.ลดลงไปครึ่งหนึ่ง คือกลายเป็นหมู่บ้านละคนแทน ส่วนหนึ่งของข้อสันนิษฐานมาจากการมีสมาชิกสภาเป็นจำนวนมาก คือหมู่บ้านละสองคน ทำให้ อบต.ต้องเสียงบประมาณจำนวนมากไปกับค่าจ้าง แต่เสียงโต้แย้งก็คือบางหมู่บ้านที่มีจำนวนประชากรมาก และยังไม่ได้แตกเป็นหมู่บ้านเพิ่มก็ควรจะมีสมาชิกมากกว่าหนึ่งคน

อีกด้านหนึ่งที่มีความสำคัญก็คือ อบต.เองก็ไม่มีแรงจูงใจที่จะยกระดับตนเองขึ้นไปเป็นเทศบาลตำบล เพราะเมื่อขึ้นไปเป็นเทศบาลตำบลจะมีจำนวนสมาชิกสภาเทศบาลลดลง อยู่ที่ 12 คนเท่านั้น อีกทั้งรูปแบบการบริหาร อบต.ในปัจจุบันที่มีตำแหน่งมากมายนี้ไม่เอื้อให้เกิดความร่วมมือระหว่าง อบต.ในการที่จะควบรวม อบต.เข้าด้วยกันให้เป็นหน่วยการปกครองเดียว หรือยกระดับเป็นเทศบาล เพราะนายก อบต.แต่ละแห่งย่อมไม่อยากจะเสียอำนาจของตัวเองไป

สิ่งที่ต้องการจะย้ำเพิ่มเติมก็คือ อบต.นั้นโดยหลักการก็คือการปกครองท้องถิ่นในระดับชนบท แต่ในวันนี้ชนบทมีความหลากหลาย เราคงต้องมีตัวแบบมากมายเพื่อคอยสนับสนุนให้ อบต.มีจินตนาการและเป้าหมายในการทำงานรองรับความต้องการของประชาชนที่หลากหลาย ดังที่ได้เรียนไปแล้ว อบต.บางแห่งอยู่ในพื้นที่เมืองไปแล้ว หรือบางแห่งอยู่ในพื้นที่กึ่งเมืองกึ่งชนบท และบางแห่งอยู่ในพื้นที่ชนบท ดังนั้น แบบแผนการใช้จ่ายจึงไม่เหมือนกัน ความพร้อมในการควบคุม รับมือ และชี้นำการพัฒนาในพื้นที่ก็ไม่เหมือนกัน

เราก็จะเห็นว่า อบต.บางแห่งถึงกับมีการใช้เงินสร้างโครงการบางอย่าง เช่น เสาไฟฟ้าที่คนนอก (และอาจมีคนในด้วย) รู้สึกไม่คุ้มค่า หรือโครงการมากมายที่เป็นที่เคลือบแคลงสงสัย แต่ อบต.เหล่านั้นก็มักจะเป็น อบต.ลาภลอยที่อยู่ติดพื้นที่เมือง ที่ได้อานิสงส์จากรายได้ของการเปลี่ยนมือที่ดิน และอาจจะมีส่วนขยายจากเมืองมาถึงพื้นที่ดังที่เป็นข่าว หลายที่อยู่ใกล้นิคมอุตสาหกรรม หรือแม้กระทั่งสนามบิน ดังที่มีการพบว่าองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีรายได้ระดับเกินร้อยล้านถึงสามร้อยล้านมักจะอยู่ในพื้นที่รอบกรุงเทพมหานคร คือเขตปริมณฑล (นนทบุรี ปทุมธานี และสมุทรปราการ เว้นแต่ที่ระยองที่ใกล้นิคมอุตสาหกรรม)

มาลองดูตัวเลขรายได้ของ อบต.เปรียบเทียบกับหน่วยการปกครองอื่นๆ ดูบ้าง

จะพบว่า อบต.นั้นเป็นหน่วยการปกครองท้องถิ่นที่มีรายได้มากที่สุด แต่ต้องไม่ลืมว่า อบต.นั้นมีจำนวนมากที่สุด คือ 5,300 แห่ง โดย อบต.สามอันดับแรกที่มีรายได้และเงินคงคลังมากที่สุดคือ อบต.บางพลีใหญ่ อบต.ราชาเทวะ ทั้งสองแห่งนี้อยู่ในอำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ และอันดับสามคือ อบต.คลองสาม อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี (ผู้จัดการออนไลน์ 11 ต.ค.2564)

ตัวเลขอื่นที่น่าสนใจก็คือ จังหวัดที่มีจำนวน อบต.มากที่สุดสิบอันดับแรก คือ

นครราชสีมา          243
ศรีสะเกษ               179
อุบลราชธานี          179
บุรีรัมย์                   146
สุรินทร์                   144
ขอนแก่น                140
นครศรีธรรมราช    130
ร้อยเอ็ด                  129
มหาสารคาม          123
นครสวรรค์             121
พระนครศรีอยุธยา  121

ซึ่งหมายถึงว่า จำนวน อบต.ที่มากที่สุดนั้นอยู่ในภาคอีสานถึงแปดจังหวัดจากสิบจังหวัด นัยสำคัญก็คือมีจำนวนประชากรมาก พื้นที่มาก แต่ยังมีความเป็นชนบทอยู่มากด้วย

อีกประเด็นที่น่าสนใจในสิบจังหวัดที่มี อบต.มากที่สุดคือพระนคร ศรีอยุธยา ซึ่งรั้งอันดับสิบ และเป็นจังหวัดหนึ่งในสองจังหวัดของภาคกลางคู่กับนครสวรรค์ แต่พระนครศรีอยุธยานั้นอยู่ในพื้นที่ที่ไม่ห่างจากกรุงเทพมหานครมากนัก

มาดูตัวเลขสิบจังหวัดที่มีจำนวน อบต.น้อยที่สุด

ภูเก็ต                  6
ลำพูน                17
ระนอง               18
ชัยนาท              20
สมุทรสาคร         23
พัทลุง                 24
นนทบุรี               25
สมุทรสงคราม     26
สมุทรปราการ      27
ตราด                   29
มุกดาหาร            29

บางจังหวัดอาจเข้าใจได้ว่าเป็นจังหวัดที่เล็กทั้งพื้นที่และประชากร แต่บางจังหวัดอาจจะเป็นเรื่องของการที่มีพื้นที่เมืองมาก เช่น กรณีของสมุทรปราการ นนทบุรี สมุทรสาคร ซึ่งพื้นที่ส่วนใหญ่อยู่ในเขตเทศบาล และส่วนมากเป็น อบต.ที่มีรายได้สูง

ประการสุดท้าย การทำความเข้าใจการเลือกตั้ง อบต.ที่กำลังจะเกิดขึ้นยังต้องพิจารณาความเชื่อมโยงของการเลือกตั้งท้องถิ่นกับการเลือกตั้งระดับชาติด้วย เพราะการเลือกตั้งในท้องถิ่นและระดับชาติมีความเชื่อมโยงในเรื่องของกลไกการเลือกตั้งตั้งแต่ระบบจักรกลการเมืองในพื้นที่ถึงระดับชาติ ระบบอุปถัมภ์ และระบบพรรคการเมือง แม้ว่าในการเลือกตั้งท้องถิ่นจะไม่ค่อยมีการลงสมัครในนามของพรรคการเมืองมากนัก แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะไม่มีการเชื่อมโยงกับทั้งตระกูลท้องถิ่นที่ใหญ่กว่าพื้นที่ชนบทมาสู่พื้นที่เมือง (เทศบาล และศูนย์กลางในระดับจังหวัดคือ อบจ.) รวมทั้งการเชื่อมโยงกับกลไกพรรคการเมืองระดับชาติ

สิ่งหนึ่งที่น่าจับตาก็คือเรื่องของพลวัตในการรณรงค์หาเสียง การแข่งขันทางการเมือง การตัดสินใจของผู้เลือกตั้ง และการต่อรองทางการเมืองในระดับท้องถิ่น รวมทั้งการเชื่อมโยงกับกลไกการเมืองระดับเมือง ระดับจังหวัด และระดับชาติ

เรื่องทั้งหมดที่กล่าวถึงนี้เป็นเรื่องที่ยังมีประเด็นที่น่าติดตามอย่างยิ่งยวดก่อนที่จะถึงวันเลือกตั้ง อบต.ทั่วประเทศในวันที่ 28 พ.ย. 2564 ที่จะถึงนี้

พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image