เหตุไฉน ‘ถนอม’ ยึดทรัพย์ สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ผ่าน ‘มาตรา 17’

คําสั่งตามมาตรา 17 ของธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ.2502 ซึ่งลงนามโดยจอมพลถนอม กิตติขจร เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2507

รุนแรง และมีผลสะเทือน

รุนแรง เพราะเป็นคำสั่งยึดทรัพย์สินในกองมรดกของ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ และทรัพย์สินของ ท่านผู้หญิงวิจิตรา ธนะรัชต์

ให้ตกเป็นของ “รัฐ”

Advertisement

เป็นคำสั่งออกมา 2 ฉบับด้วยกัน ฉบับที่ 1 ลงวันที่ 20 พฤศจิกายน ฉบับที่ 2 ลงวันที่ 2 ธันวาคม โดย จอมพลถนอม กิตติขจร นายกรัฐมนตรี

มีผลสะเทือนเพราะ “คำสั่ง” อ้างว่า

โดยปรากฏแจ้งชัดปราศจากข้อสงสัยว่า จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ขณะยังมีชีวิตอยู่ได้ใช้อำนาจหน้าที่ในราชการมิชอบกระทำการเบียดบังและยักยอกทรัพย์สินของรัฐไปหลายครั้งหลายหน

Advertisement

มีจำนวนมากมายถึง 604,551,276 บาท 62 สตางค์

และโดยที่ ท่านผู้หญิงวิจิตรา ธนะรัชต์ เป็นภรรยาของ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้ร่วมรับผลประโยชน์ในการนี้ด้วย

การกระทำดังกล่าวนี้มีผลเป็นการบ่อนทำลายความมั่นคงของราชอาณาจักร

ผลสะเทือนนี้มิได้ตกกระทบเฉพาะแต่กับ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เท่านั้น หากแต่ยังเป็นผลสะเทือนต่อบรรดา “นายทหาร” ที่เข้ามามีบทบาททาง “การเมือง” อย่างถ้วนหน้า

รวมถึง จอมพลถนอม กิตติขจร เองด้วย

คำถามอันตามมาก็คือ เหตุปัจจัยอะไรทำให้ จอมพลถนอม กิตติขจร และรัฐบาล ตัดสินใจใช้อำนาจพิเศษจากมาตรา 17 ของธรรมนูญแห่งราชอาณาจักร พ.ศ.2502 เช่นนั้น

เพราะมาตรา 17 เคยเป็น “อาวุธ” ของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์

เพราะเส้นทางจาก “การทหาร” ไปสู่ “การเมือง” ทั้ง จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์

กับ จอมพลถนอม กิตติขจร ตีคู่มาด้วยกันโดยตลอด

ตั้งแต่รัฐประหารเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2490

และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง รัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2500 ที่โค่นล้มอำนาจของจอมพล ป.พิบูลสงคราม อย่างฉับพลันทันใด

“อำนาจ” ที่ จอมพลถนอม กิตติขจร ได้ล้วนมาจาก จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์

จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ไว้วางใจ จอมพลถนอม กิตติขจร ตั้งแต่ให้รับทอดตำแหน่ง ผบ.พล.1 รอ. ตำแหน่งแม่ทัพภาคที่ 1 อันเป็นตำแหน่งทางการทหาร และตั้งแต่นายกรัฐมนตรีอันเป็นตำแหน่งทางการเมือง

แล้วทำไม จอมพลถนอม กิตติขจร จึงต้อง “เชือด” จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์

คําตอบไม่ว่าจะประมวลมาจากที่ใด หรือดำเนินไปอย่างไร สามารถสรุปได้ผ่านถ้อยคำอันรวบรัดเป็นอย่างยิ่งว่า

“การเมือง”

เพราะว่าเรื่องราวภายหลังอสัญกรรมของ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2506 นั้น เรียกได้ว่าถึงขั้น

“อื้อฉาว”

เป็นความอื้อฉาวจากกรณีแย่งชิงมรดกมหาศาลระหว่าง “ท่านผู้หญิง” กับ “บุตร” ของ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์

เป็นความอื้อฉาวจากกรณี “วิมานสีชมพู” หลังกองพล 1 รอ.

เป็นความอื้อฉาวภายในกระบวนการจับจ่ายใช้สอยเงินทองต่างๆ ของ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ กับงบประมาณของแผ่นดินกับกิจส่วนตัวอย่างมากด้วยเงื่อนงำ

เป็นความอื้อฉาวที่มีโอกาส “ไหม้ลาม”

และหากไม่สามารถบริหารจัดการอย่างเรียบร้อยราบรื่นก็จะไหม้ลามไปถึงตัว จอมพลถนอม กิตติขจร และรัฐบาล

จำเป็นต้อง “ตัดไฟ” แต่ “ต้นลม”

จำเป็นต้องตัด จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ออกไปจากความผูกพันและความรับผิดชอบของรัฐบาลและโดยเฉพาะ จอมพลถนอม กิตติขจร

เป็นการตัด จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เพื่อรักษา “ชีวิต” รักษา “รัฐบาล”

คําสั่งมาตรา 17 ของธรรมนูญการปกครองแห่งราชอาณาจักร พ.ศ.2502 จึงเป็น “เส้นแบ่ง” อันทรงความหมาย

แบ่งและผลัก จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ซึ่งเป็น “คนขี้โกง” เบียดบังเงินของแผ่นดินให้ห่างออกไปและกลายเป็นอื่น ที่สำคัญก็คือ เป็นอื่นจาก จอมพลถนอม กิตติขจร

สร้างความเข้มแข็ง เกรียงไกร ให้กับจอมพลถนอม กิตติขจร และรัฐบาล “ใหม่”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image