คนตกสีที่อยู่อีกฝั่งหนึ่ง : บอลประเพณี โดย กล้า สมุทวณิช

คนตกสีที่อยู่อีกฝั่งหนึ่ง : บอลประเพณี โดย กล้า สมุทวณิช

หากถอดชื่อนามลงเหลือแต่รูปเรื่องแล้วก็จะเห็นได้ว่า เรื่องมันไม่น่าจะมีอะไรควรตื่นเต้น หรือเป็นประเด็นร้อนต้องมาวิพากษ์วิจารณ์อะไรเลย ก็แค่นักศึกษาในมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง ตัดสินใจเปลี่ยนแปลงขั้นตอนเล็กๆ ขั้นตอนหนึ่งในกีฬาประจำปีกระชับความสัมพันธ์

แต่เพราะมันคือเรื่องของ “กระบวนพิธี” หนึ่งใน “ฟุตบอลประจำปี” ของมหาวิทยาลัยเก่าแก่อันดับหนึ่งและอันดับสองของประเทศไทยที่จัดกันมายาวนานถึง 87 ปี เกือบเท่าอายุของการเปลี่ยนแปลงการปกครอง แม้จะไม่ต่อเนื่อง หรือต้องมีช่วงที่ต้องเว้นว่างเว้นวรรคบ้างก็ตาม (ซึ่งก็เหมือน “ประชาธิปไตย” ไทยอีกนั่นแหละ)

ส่วนสำคัญที่สุดคือ มันถูกเอาไปผูกโยงกับ “ตราพระเกี้ยว” อันเป็นสัญลักษณ์ประจำมหาวิทยาลัย และประกอบกับแถลงการณ์อันดุดันห้าวหาญขององค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (อบจ.) อันมีความตอนหนึ่งว่า

“…โดยรูปแบบของขบวนอัญเชิญพระเกี้ยวนั้นจำลองกระบวนแห่อย่างราชสำนัก ในกิจกรรมดังกล่าวจะมี “ผู้อัญเชิญพระเกี้ยว” ถือ “พระเกี้ยว” ที่เป็นสัญลักษณ์สูงสุดของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นั่งบนเสลี่ยงซึ่งถูกแบกโดยนิสิตกว่า 50 คน … ทว่า กิจกรรมขบวนอัญเชิญพระเกี้ยวสนับสนุนและสะท้อนถึงระบอบอำนาจนิยม รวมถึงค้ำยันความเชื่อว่าคนไม่เท่ากัน รูปแบบกิจกรรมขบวนอัญเชิญพระเกี้ยวยังเป็นภาพแทนของวัฒนธรรมแบบศักดินาที่ยกกลุ่มคนหนึ่งสูงกว่าอีกกลุ่มหนึ่งพร้อมสัญลักษณ์ของศักดินาคือ “พระเกี้ยว” บนเสลี่ยง ในส่วนของกระบวนการคัดเลือกผู้อัญเชิญฯ ยังเป็นที่กังขาถึงความโปร่งใส…”

Advertisement

ก่อนจะแจ้งผลการลงมติว่า “คณะกรรมการบริหารสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงเห็นว่ากิจกรรมดังกล่าวเป็นกิจกรรมที่ล้าหลังอันขัดต่อคุณค่าสากลอย่างประชาธิปไตย ความเท่าเทียม และสิทธิมนุษยชน… คณะกรรมการบริหารฯ มีมติ 29:0 เสียง เห็นควรให้มีการยกเลิกกิจกรรมการคัดเลือกผู้อัญเชิญพระเกี้ยวในงานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ เพื่อยุติการผลิตซ้ำธรรมเนียมปฏิบัติที่สะท้อนถึงความไม่เท่าเทียมมิให้คงอยู่ในสถาบันการศึกษาอีกต่อไป”

พร้อมปิดท้ายคำแถลงการณ์ด้วยประโยค “ให้คนเท่ากัน”

แถลงการณ์นี้จึงเท่ากับเป็นการโยนประเด็นอภิปรายลงให้สังคมพิจารณาถกเถียงกัน โดยไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นผู้ศึกษาอยู่ เคยศึกษา หรือเป็นบุคลากรของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หรือมีประสบการณ์ร่วมกับกิจกรรมฟุตบอลประเพณีนี้อย่างไรหรือไม่

Advertisement

กระนั้นในแถลงการณ์ฉบับนี้ มีประเด็นที่ผสมปะปนกันที่อาจควรแยกกันพิจารณาก่อนเป็นเรื่องๆ แล้วค่อยนำมาชั่งน้ำหนักรวมเพื่อการวินิจฉัย

ประเด็นแรก โดยความเห็นของผม คือ การอัญเชิญพระเกี้ยว ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยนั้นไม่ใช่กิจกรรมที่แย่ หรือขัดต่อคุณค่าอันเป็นอารยะใด และแม้กระทั่ง “ขบวนอัญเชิญพระเกี้ยว” (หรืออะไรก็ตามแต่) ที่ใช้แรงงานคนเป็นผู้แบกหาม นั้นไม่ใช่กิจกรรม หรือพิธีการที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน หรือลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ในตัวเอง

เพราะกิจกรรมในรูปแบบที่ให้คนหาม หรือแบกประคองอะไรสักอย่างหนึ่งมีอยู่ในหลายประเพณีวัฒนธรรม เช่นในงานวัด (Matsuri) ของญี่ปุ่น ก็มีพิธีการหามเกี้ยวหรือศาลเจ้าเล็ก (Mikoshi) ที่ต้องหามด้วย
ชายฉกรรจ์เป็นส่วนหนึ่ง หรือพิธีการแบกโลงศพเต้นซึ่งเป็นประเพณีร่วมของกานา และประเทศอื่นในทวีปแอฟริกา

ตราบใดที่กิจกรรมเช่นว่านั้นเกิดจากเสรีภาพเต็มที่ของผู้เข้าร่วม คือ ฝ่ายผู้ที่ต้องภาระเป็นผู้แบกหามนั้น ไม่ว่าจะโดยเต็มใจทำให้เปล่า หรือมีอามิสสินจ้างก็ดี

หากแต่การหามเสลี่ยงอัญเชิญพระเกี้ยว (และตัวแทนผู้อัญเชิญชายหญิง) นั้น มีการเปิดเผยเรื่องการละเมิดสิทธิที่น่าตกใจว่า ผู้ที่มาแบกนั้นมาจากการบีบบังคับกลายๆ จากถ้อยคำในแถลงการณ์ส่วนหนึ่งที่ว่า
“…ยังพบว่ามีการใช้อำนาจในการบังคับให้คนต้องมาแบกเสลี่ยง ดังที่เห็นจากกระบวนการหานิสิตหอในเพื่อมาแบกเสลี่ยงเข้าสนามนั้นมีการบังคับผ่านการอ้างว่าจะมีผลต่อคะแนนการคัดเลือกให้มีสิทธิอยู่ในหอพัก…”

ข้อกล่าวหาข้างต้นนี้ นอกจากยังไม่มีใครออกมาปฏิเสธอย่างเต็มปากในขณะนี้แล้ว ยังปรากฏว่ามีอดีตนิสิตเก่าที่มาจากต่างจังหวัดผู้มีความจำเป็นต้องอาศัยในหอพักของมหาวิทยาลัยหลายคนออกมาโพสต์ยืนยันตรงกันมากกว่าสองคนแล้วว่า ข้อกล่าวหานี้เป็นเรื่องจริง บางคนบอกเล่าถึงประสบการณ์ที่เลวร้ายเจ็บปวดเพิ่มเติมจากนั้นว่าที่มาของภาพลักษณ์อันสวยงามของพิธีการอันพร้อมเพรียงของมหาวิทยาลัยที่ถ่ายรูปออกมาสวยงามนั้น มีการเบื้องหลังของการกดขี่นิสิตผู้ไม่มีทางเลือก ที่ต้องหวังสิทธิในการอยู่อาศัยในหอพักของมหาวิทยาลัยซ่อนอยู่ทั้งสิ้น

เมื่อสอบทานข้อมูลจากมิตรสหายในยุคที่ผู้เขียนยังเรียนหนังสือปริญญาตรีอยู่ (ราวกลางยุค 2530 ถึงต้น 2540) ในสมัยนั้น การแบกเสลี่ยงอัญเชิญพระเกี้ยวเป็นเรื่องของความสมัครใจและมีผู้รับอาสา แม้ว่าจะเป็นการใช้แรงงานที่เหนื่อยยากหนักหนาที่สุดในกิจกรรมทั้งหมดของงานฟุตบอลประเพณีก็ตาม หากแต่ระยะหลังหาผู้สมัครใจมาแบกหามเสลี่ยงให้โดยสมัครใจได้ยากเต็มที จนต้องมีกระบวนการกึ่งบังคับด้วยเงื่อนไขการมีสิทธิพักในหอพักดังที่มีการเปิดเผยออกมาเช่นนั้นจริง

เรื่องนี้หากจะต่อยอดขยายผล สมควรมีการดำเนินการสอบสวนอย่างจริงจังว่าผู้ที่รับผิดชอบในเรื่องการพิจารณาสิทธิในการเข้าพัก และได้อยู่อาศัยต่อในหอพักว่าอยู่ในความรับผิดชอบ หรืออำนาจตัดสินใจของผู้ใด หรือหน่วยงานองค์กรใด เพราะมันคือการละเมิดบังคับใช้แรงงานกับผู้ที่มีทางเลือกน้อย คือ นิสิตจากต่างจังหวัดอย่างไม่อาจยอมรับได้ และเป็นการใช้เกณฑ์การพิจารณาที่ไม่เกี่ยวข้องกับสาระแห่งบริการหอพักนักศึกษานั้น

ดังนั้นเฉพาะเหตุผลว่า การหาคนมาหามเสลี่ยงอัญเชิญพระเกี้ยวมาจากกระบวนการที่ไม่ชอบธรรมและเผลอๆ จะเป็นการกระทำอันไม่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว ก็เป็นเหตุผลเดียวอันเพียงพอแล้วที่จะยกเลิกกิจกรรมนี้ไปได้

ประเด็นต่อมาคือ ถ้าสมมุติในที่สุดไม่ว่าโดยทางใด สามารถหาผู้มาแบกหามเสลี่ยงที่ว่านั้นได้โดยความสมัครใจโดยสมบูรณ์แล้ว เช่นนี้สมควรจะให้มีกิจกรรมนี้ต่อไปได้หรือไม่

เรื่องนี้ก็ต้องไปพิจารณาเหตุผลประการสำคัญของคณะกรรมการนิสิตฯ ที่ว่ารูปแบบกิจกรรมที่ว่านั้น เป็นภาพแทนของวัฒนธรรมแบบศักดินาที่ยกกลุ่มคนหนึ่งสูงกว่าอีกกลุ่มหนึ่งอันเป็นกิจกรรมที่ล้าหลังอันขัดต่อคุณค่าสากลอย่างประชาธิปไตย ความเท่าเทียม และสิทธิมนุษยชน ฯลฯ ดังนั้น ปัญหาของกิจกรรมดังกล่าวจึงยังมีอยู่ แม้ว่าจะตัดปัญหาเรื่องการบังคับคนมาแบกเสลี่ยงลงได้แล้วก็ตาม

ในเมื่อผู้ที่เป็นตัวแทนของนิสิตทั้งหลาย ที่ผ่านการเลือกตั้งมาโดยชอบจากนิสิตคณะต่างๆ ลงมติอย่าง
“เป็นเอกฉันท์” (ยี่สิบเก้าต่อศูนย์) ว่าการให้มี หรือยินยอมให้มีกิจกรรมนี้อยู่ต่อไป เท่ากับเป็นการยอมรับในคุณค่าที่เป็นปฏิปักษ์ต่อคุณค่าแห่งประชาธิปไตยที่พวกเขาไม่ยอมรับอีกต่อไปแล้ว การให้เลิก หรืองดสนับสนุนกิจกรรมดังกล่าว คือ การแสดงซึ่งความไม่ยอมรับนั้น

คำถามต่อมาคือ นิสิตปัจจุบันมีอำนาจ หรือมีศักดิ์มีสิทธิอะไร หรือที่จะไปยกเลิก “ประเพณี” หรือ “กิจกรรม” ของคนรุ่นก่อนเก่ามา

เรื่องนี้อาจจะต้องทิ้งคำถามไว้ว่า “ประเพณี” นั้นเป็นของใครกันแน่ ระหว่างผู้ที่สร้างสมมันมา หรือผู้ที่ต้องรับไปปฏิบัติต่อไป หากเรื่องที่ไม่ต้องสงสัย คือ ภาระแห่งประเพณีนั้น ตกลงแก่ไหล่บ่าของผู้ที่จะต้องรับไปปฏิบัติต่อไปแน่ๆ

ในเมื่อเขาเห็นว่ามันเป็นสิ่งอันควรละทิ้งเสียแล้ว อาจต้องย้อนกลับถามว่า แล้วท่านเล่า มีอำนาจอันใดไปบังคับให้พวกเขาทำในสิ่งที่เขาไม่เชื่อ ?

มีคติของชนพื้นเมืองอเมริกันกลุ่มหนึ่ง เขาเชื่อว่า แท้แล้วบรรพบุรุษ รวมถึงเราทั้งหลายนั้น ได้ยืมโลกนี้จากเด็กๆ ของเรามาใช้ก่อน เราจึงมีหน้าที่ส่งมอบโลกใบนี้คืนให้เขาในสภาพดีที่สุด

เราก็อาจจะมองประเพณีในแง่นี้ก็ได้ ว่าเรามีหน้าที่เพียงส่งมอบประเพณี หรือวัฒนธรรมบางอย่างที่เราสร้างขึ้นโดยพลการไม่ถามเขา คืนให้เขาเอาไปตัดสินใจว่า จะรับไว้ ปล่อยทิ้ง หรือปรับปรุงแก้ไขอย่างไรกับประเพณีที่ได้รับมาจากผู้ใหญ่นี้

และจากประสบการณ์ส่วนตัวในการซ่อมแซม หรือปรับปรุงของบางอย่าง หากมันเกิดความผิดพลาดซ้อนทับสับสนต่อเนื่องกันมาหลายขั้นตอน หรือเป็นเวลานานเกินไปแล้ว การรื้อมันออกทั้งหมดแล้วค่อยๆ ไล่หยิบชิ้นส่วนที่ยังพอใช้ได้ขึ้นมาพิจารณาเป็นรายชิ้นก่อนประกอบขึ้นมาใหม่ เป็นการปรับปรุงที่สะดวกและมีสิทธิภาพที่สุด

บางครั้งพิธีกรรมการเชิญตราสัญลักษณ์แห่งมหาวิทยาลัยที่ไม่ใช่เรื่องแย่ในตัวของมันเองก็เช่นกัน การยกทิ้งไปก่อน แล้วค่อยกลับมาทบทวนใหม่ว่าแก่นสารสาระมันคืออะไร ก็อาจจะเป็นวิธีการที่น่าสนใจ

สำหรับจินตนาการและอารมณ์ขันอันล้ำเหลือของเด็กๆ เยาวรุ่นที่ได้เห็น ไม่แน่ว่า ต่อไปการอัญเชิญพระเกี้ยวและตราธรรมจักรอาจจะมีอยู่ แต่อาจจะเป็นการแสดงซึ่งความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและจินตนาการของแต่ละมหาวิทยาลัยก็ได้ เช่น อาจจะเชิญเข้ามาด้วยเสลี่ยงที่หามมาโดยหุ่นดรอย หรือพาบินมากับโดรน หรืออะไรที่ฮือฮากว่านั้นในทุกปีๆ ไป

ข้อสุดท้ายที่ติดค้างไว้ คือ คำท้วงติงที่มีน้ำหนักที่สุดที่ว่า อันที่จริง องค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาฯ ไม่มีอำนาจใดในการกำหนดรูปแบบของกระบวนแห่ในงานฟุตบอลประเพณี เพราะเรื่องนี้เป็นหน้าที่ของสมาคมศิษย์เก่าของแต่ละมหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นผู้จัดงานนี้ต่างหาก

ซึ่งเรื่องนี้ก็น่าจะตามนั้น เพราะหากพิจารณาจากแถลงการณ์ของ อบจ.เอง ก็จะพบว่า สิ่งที่ทาง อบจ.จะได้ดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องนี้ คือ “ยกเลิกกิจกรรมการคัดเลือกผู้อัญเชิญพระเกี้ยว” เพียงเท่านั้น ไม่เกี่ยวกับเรื่องการแห่ตราสัญลักษณ์ หรือการใช้พระเกี้ยวเป็นสัญลักษณ์อะไรแต่อย่างใด

นั่นคือ ถ้าฝ่ายผู้จัด จะให้มีขบวนแห่ หรืออัญเชิญพระเกี้ยวใดๆ ก็ได้ เป็นเรื่องของผู้จัด แต่ทางฝ่ายนิสิต จะไม่ส่งผู้อัญเชิญพระเกี้ยวไป ซึ่งเรื่องนี้น่าจะรวมถึงการจัดหานิสิตไป “ใช้แรงงาน” ในกิจกรรมที่เกี่ยวข้องด้วย

ดังนั้นถ้าบรรดานิสิตเก่าอยากให้มีประเพณีนี้กันต่อไป จะหาคนมาอัญเชิญพระเกี้ยว หรือแบกหามเสลี่ยงเอง โดยทางเทคนิคก็ย่อมได้ แต่ในทางปฏิบัติก็น่าสงสัย อย่างผู้แบกเสลี่ยงอาจจะพอไปจ้างไปหามาได้
แต่ตัวผู้อัญเชิญพระเกี้ยวนั้นเล่า ถ้าเป็นศิษย์ปัจจุบัน จะมีใครยอมเปลืองตัวมารับหน้าที่อันที่สวนทางกับค่านิยมของเหล่านิสิตมิตรสหายอันเป็นคนส่วนใหญ่ในมหาวิทยาลัยได้จริงหรือ

หรือถ้าไม่ได้อย่างนั้น บรรดาศิษย์เก่าจะคัดเลือกกันมาเป็นผู้อัญเชิญเองภายใต้คอนเซ็ปต์สาวใหญ่ยังได้อยู่อะไรแบบนี้ก็ได้ หรือจะหาอาสาสมัครวัยลุงมาช่วยกันแห่หามเสลี่ยงกันก็คงไม่มีใครขัดศรัทธากระมัง

แค่อย่าไปเป็นลมเป็นแล้งกันกลางขบวนให้พวกลูกหลานที่ท่านชังน้ำหน้าเขาหามออกมาปฐมพยาบาลก็พอ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image