ฝันคนละทางในโลกคนละใบ! สังคมไทยในกระแสความเปลี่ยนแปลง : สุรชาติ บำรุงสุข

แม้สังคมไทยจะอยู่ภายใต้กระแสอนุรักษนิยมอย่างเข้มแข็งเพียงใดก็ตาม แต่บทเรียนจากประวัติศาสตร์โลกชี้ให้เห็นเสมอว่าในท้ายที่สุดแล้ว กระแสความเปลี่ยนแปลงย่อมก่อตัวขึ้นภายในสังคมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และการตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของสังคมอนุรักษนิยมอย่างมากนั้น สิ่งนี้อาจกลายเป็นปัจจัยด้านกลับที่ทำให้เกิดอาการ “สวนกระแส” ได้ไม่ยาก เมื่อคนอีกรุ่นหนึ่งเริ่ม “ตั้งคำถาม” กับสังคม

ข้อสรุปเช่นนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ในทางรัฐศาสตร์ เพราะหลายสังคมในเวทีโลกที่เคยอยู่ภายใต้ความเป็นอนุรักษนิยมอย่างยิ่งยวดนั้น ล้วนต้องเผชิญกับความท้าทายจากกระแสเสรีนิยมไม่แตกต่างกัน แต่ชนชั้นนำและกลุ่มที่มีอำนาจในสังคมมักเชื่อเสมอว่า พวกเขาสามารถควบคุมกระแสความเปลี่ยนแปลงได้ ขณะเดียวกันฝ่ายอนุรักษนิยมก็มองกระแสความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในสังคมด้วยความ “หวาดระแวง” และ “หวาดกลัว” เพราะกระแสที่เกิดขึ้นเป็นเสมือนกับ “การเขย่า” โลกเก่าของพวกเขาโดยตรง

อย่างไรก็ตามปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ความเปลี่ยนแปลงมักจะเป็นผลจากการขยายตัวของ “กระแสเสรีนิยม” ที่ไหลบ่าเป็นกระแสโลก และก็ไหลแรงเป็นกระแสสังคมนั้น เป็นสิ่งที่ชนชั้นนำและกลุ่มอำนาจเก่าไม่อาจควบคุมได้ ฉะนั้น ผลของความหวาดกลัวที่เกิดขึ้นอาจนำไปสู่การก่อตัวของกระแส “อนุรักษนิยมสุดขั้ว” ได้ไม่ยาก โดยมีความเชื่อว่า พวกเขาจะอุทิศตนเพื่อทำหน้าที่เป็นผู้ปกป้อง “โลกเก่า” ที่มี “คุณค่าเก่า” เป็นองค์ประกอบสำคัญ

ดังนั้น โลกของฝ่ายอนุรักษนิยมจึงเป็น “จักรวาลที่ไม่เปลี่ยนแปลง” ยิ่งเมื่อมองด้วย “แว่นอนุรักษนิยมสุดขั้ว” แล้ว ความเปลี่ยนแปลงคือภัยคุกคามที่น่ากลัวที่สุด และไม่มีอะไรที่น่ากลัวไปกว่าความเปลี่ยนแปลงที่มากับกระแสเสรีนิยม อีกทั้ง จากบริบทของประวัติศาสตร์นั้น สองกระแสนี้คือ “คู่กัด” ที่สำคัญในกระแสโลกมาอย่างยาวนาน จนอาจกล่าวได้ว่า ไม่มียุคไหนที่ไม่มีการต่อสู้ของสองกระแสนี้ และทุกสังคม ล้วนต้องเผชิญกับผลของการต่อสู้ดังกล่าวในฐานะของการเป็นปัจจัยต่อการกำหนดอนาคตของประเทศ

Advertisement

นอกจากนี้โลกในยุคศตวรรษที่ 21 จะเห็นถึงโลกาภิวัฒน์ที่พัดพากระแสเสรีนิยมไปทุกมุมโลก และกระแสเช่นนี้สอดรับกับการเติบโตของคนรุ่นใหม่อย่างยิ่ง จนพวกเขากลายเป็นพลังขับเคลื่อนที่สำคัญของการต่อสู้ทางการเมือง ไม่เว้นแม้ในโลกอนุรักษนิยมอย่างตะวันออกกลาง อันนำไปสู่ชัยชนะต่อระบอบอำนาจนิยมครั้งสำคัญใน “อาหรับสปริง” มาแล้ว แม้ในโลกอนุรักษนิยมของสังคมนิยมเช่นในจีน พรรคคอมมิวนิสต์จีนก็หนีไม่พ้นที่วันหนึ่งจะพบกับกระแสเสรีนิยมของคนรุ่นใหม่ และจบลงด้วยการปราบปรามที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน และวันนี้พรรคจีนยังคงต่อสู้กับกระแสคนรุ่นใหม่อีกครั้งในฮ่องกง

เราคงต้องยอมรับในทางความคิดว่า “จักรวาลของคนรุ่นใหม่” เป็นโลกเสรีนิยม และอาจต้องยอมรับอีกว่า สำหรับในศตวรรษปัจจุบันแล้ว พวกเขาบางส่วนอาจมีความเป็นเสรีนิยมแบบ “ไฮเพอร์” (hyper liberalism) ดังนั้นจึงแน่นอนว่า โลกของพวกเขาเป็นอีกแบบ ทั้งบริบทของ “คุณค่าและค่านิยม” หรืออาจกล่าวได้ว่า จักรวาลของพวกเขาเป็นคนละชุดกับของคนรุ่นก่อน

ปัญหาความต่างของ “โลกทัศน์” เช่นนี้ ในทางสังคมวิทยา อาจหมายถึงปัญหา “ช่องว่างระหว่างวัย” แต่หากปรับใช้กับสถานการณ์การเมืองไทยแล้ว ความต่างเช่นนี้คือ “สงครามระหว่างเจน” ที่มีองค์ประกอบของการต่อสู้ทางความคิด ความเชื่อ และการกำหนดค่านิยม ตลอดรวมถึงการให้คุณค่ากับสิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิต และการเคารพในคุณค่าของสิ่งที่เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์อีกด้วย อีกทั้ง คนรุ่นใหม่อาจจะมีท่าทีในแบบ “เย้อหยัน” และ “เยาะเย้ย” กับสิ่งที่เป็นคุณค่าเก่า-วัฒนธรรมเก่า ซึ่งท่าทีดังกล่าวมักจะกลายเป็นประเด็นที่คนรุ่นก่อนรับไม่ได้ เพราะมองว่าคนรุ่นใหม่ที่เป็นเสรีนิยมกำลัง “ทำลาย” ทุกอย่างที่เป็นของดั้งเดิม

ปัญหาจากภาวะเช่นนี้เป็นเสมือนคน “ต่างวัย-ต่างความคิด” อยู่กันใน “โลกคนละใบ” ดังนั้น จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่คนรุ่นใหม่จะ “ฝันคนละทาง” กับคนในอีกรุ่นหนึ่ง จนอาจเปรียบได้ว่า “สงครามความคิด” ได้เกิดขึ้นแล้วในสังคมไทย และอาจเป็นข้อเตือนใจให้สังคมคิดถึงความต่างเช่นนี้ด้วยการโต้แย้งอย่างมีเหตุผล เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นเช่นนี้คือ บททดสอบวุฒิภาวะของสังคมไทยโดยตรง

ปรากฎการณ์สงครามความคิดในปัจจุบันจึงเห็นได้จาก กรณีการลงเสียงขององค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยให้ยกเลิกกิจกรรมขบวนอัญเชิญพระเกี้ยวในงานฟุตบอลประเพณี และได้กลายเป็นข้อถกเถียงใหญ่ในสังคมอย่างหนีไม่พ้น เพราะปัญหาถูกนำไปเกี่ยวโยงกับการตีความถึงโลกทัศน์ทางการเมืองของคนรุ่นใหม่อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งไม่ว่าพวกเราส่วนหนึ่งที่มีอายุอานามมากขึ้นในสังคมไทย จะคิดและมีความเห็นต่อเรื่องนี้อย่างไรก็ตาม แต่คงต้องยอมรับว่า คนรุ่นใหม่คิดอีกแบบ และถ้าเราชอบกล่าวว่า อยากเห็นคนรุ่นใหม่คิดได้… วันนี้พวกเขาคิดแล้ว ซึ่งแน่นอนว่า อาจจะไม่ตอบรับกับกระแสหลักที่เป็นแบบอนุรักษนิยม

ดังนั้น จึงน่าสนใจในมิติทางความคิด เมื่อคนรุ่นใหม่เป็น “เจน” ที่เติบโตมากับยุคโลกาภิวัฒน์ของศตวรรษที่ 21 ซึ่งมีกระแสเสรีนิยมเป็นพลังขับเคลื่อน พวกเขาจึงไม่จำเป็นต้องคิดในแบบที่คนในยุคก่อนคิด และมองโลกในอีกมุมหนึ่งที่ต่างออกไป ซึ่งอาจจะต้องถือเป็นหลักการว่า ความต่างของโลกทัศน์ไม่ใช่อาชญากรรม มิฉะนั้นแล้ว สังคมไทยจะมีคนรุ่นใหม่เป็น “อาชญากรทางความคิด” เต็มไปหมด

โลกทัศน์ที่แตกต่างเช่นนี้จึงเป็นประเด็นที่เห็นชัดเจน เมื่อเกิดการปะทะระหว่างกระแสเสรีนิยมและกระแสอนุรักษนิยมในสังคมไทย ดังได้กล่าวมาแล้วว่า สังคมไทยอยู่ภายใต้กระแสหลักที่เป็นอนุรักษนิยมมาอย่างยาวนาน อันส่งผลให้การไหล่บ่าของกระแสเสรีนิยมในหมู่คนรุ่นใหม่ในศตวรรษที่ 21 กลายเป็นความท้าทายอย่างยิ่ง เพราะที่ผ่านๆ มา ความท้าทายดังกล่าวอาจจะเคยเกิดขึ้นบ้าง แต่ไม่เคยมีภาวะของความท้าทายได้อย่างมากเช่นในปัจจุบัน โดยเฉพาะการท้าทายต่อ “ความเชื่อและความศรัทธา” ที่ดำรงอยู่ในสังคม

ภาวะเช่นนี้ด้านหนึ่ง ชี้ให้เห็นทิศทางทางการเมืองของคนรุ่นใหม่ และในอีกด้านหนึ่งคือ การบอกให้สังคมรับรู้ว่า นิสิตในมหาวิทยาลัยซึ่งวันหนึ่งพวกเขาจะเติบโตขึ้นมาเป็นผู้กุมทิศทางของประเทศนั้น พวกเขามองโลกของสังคมไทยอย่างไร และต้องการเห็นอะไรในอนาคต บางทีเราคงต้องยอมรับความจริงอีกประการว่า ความเปลี่ยนแปลงที่ขับเคลื่อนโดยคนรุ่นใหม่ได้ก่อตัวขึ้นเป็นกระแสจริงๆ และเป็นกระแสที่สังคมไทยหลีกหนีไม่ได้ ซึ่งไม่ว่าเราจะชอบกับสิ่งที่พวกเขาคิดหรือไม่ก็ตาม แต่พวกเขาคิดเช่นนั้น… บางทีอดคิดเล่นๆ ไม่ได้ว่า แล้ววันหนึ่งในอนาคต เมื่อคนรุ่นใหม่เหล่านี้กลายเป็นคนรุ่นเก่า พวกเขาอาจเผชิญกับความท้าทายเช่นนี้ไม่แตกต่างกัน เพราะในอดีตพวกเราที่เป็นคนรุ่นเก่าหลายคนในปัจจุบัน ก็เคยตั้งคำถามและท้าทายกับ “โลกเก่า” มาแล้ว

ดังนั้น สังคมไทยควรมองกระแสเสรีนิยมที่มากับคนรุ่นใหม่ชุดนี้ด้วยความใคร่ครวญ มากกว่าจะเห็นว่าสิ่งเหล่านี้คือ “อาชญากรรม” ที่ต้องจัดการอย่างเข้มงวด อีกทั้ง สังคมที่ก้าวไม่พ้นปัญหาสงครามความคิด จะไม่สามารถพาตัวเองให้ก้าวไปสู่อนาคตได้ แต่จะติดกับดักความขัดแย้งเช่นนี้ไปไม่จบ เพราะผู้เห็นต่างกลายเป็นคนรุ่นใหม่ที่เป็นอนาคตของสังคมนั้นเอง ฉะนั้น อาจจะถึงเวลาแล้วที่สังคมไทยจะต้องเรียนรู้กับการจัดการปัญหาความเห็นต่างภายในบ้านอย่างจริงจัง!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image