โคทม อารียา : กลุ่มทะลุแก๊ซ (หรือทะลุแก๊สหรือ PRA)

โคทม อารียา : กลุ่มทะลุแก๊ซ (หรือทะลุแก๊สหรือ PRA) 

ทันทีที่ทำรัฐประหารสำเร็จ คสช. ได้กำหนดแผนที่เดินทาง (Road Map) ของการบริหารประเทศในระยะที่ 1 คือ “จะต้องเร่งดำเนินการในเรื่องความปรองดองสมานฉันท์ให้เร็วที่สุด ในกรอบระยะเวลา 2-3 เดือน เริ่มต้นด้วยการจัดตั้งศูนย์ปรองดองสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูป ทั้งในส่วนกลางและระดับพื้นที่ เพื่อลดความขัดแย้งในสังคม ตั้งแต่ครอบครัว ชุมชน หมู่บ้าน ตำบล อำเภอ จังหวัด โดยจัดให้ผู้มีความคิดเห็นแตกต่างกันได้พบปะพูดคุย เพื่อหาแนวทางร่วมกันโดยปราศจากความขัดแย้ง” นับได้ว่าการสร้างความปรองดองเป็นความตั้งใจและเป็นแนวนโยบายแรก ๆ ที่รัฐบาลหลังการเข้าควบคุมอำนาจการปกครองได้ประกาศให้สาธารณชนทราบ

เจ็ดปีกับอีกห้าเดือนเศษผ่านไป ความปรองดองที่ประกาศไว้อยู่ที่ไหน ทำไม่ได้หรือไม่ค่อยได้ทำ การประกาศเป็นการแสดงเจตนารมณ์อย่างจริงใจ หรือว่าเป็นหนึ่งในบรรดา tricks ทั้งหลาย เพื่อการอยู่ในอำนาจนาน ๆ trick ที่ใช้ในปัจจุบันคือคำกล่าวที่ว่า ต้องอยู่ในอำนาจเพื่อรักษาเสถียรภาพทางการเมือง แต่ลืมบอกไปว่าเป็นเสถียรภาพของใคร หรือเพื่อใครกันแน่

อีกเรื่องหนึ่งคือการปฏิรูปที่สัญญาไว้ แต่การปฏิรูปที่ผ่านมามักทำเพื่อให้ราชการคล่องตัวขึ้นเท่านั้น ตัวอย่างที่ขึงขังมากคือการปฏิรูปตำรวจ เรื่องนี้เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญ มาตรา 258 มาตรา 260 ซึ่งบัญญัติให้มีคณะกรรมการที่คณะรัฐมนตรีแต่งตั้ง มีหน้าที่แก้ไขปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับหน้าที่ อำนาจ และภารกิจของตำรวจให้เหมาะสม และแก้ไขปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลของตำรวจให้เกิดประสิทธิภาพ ฯลฯ โดยดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งปีนับตั้งแต่วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญ แต่นี่ก็เนิ่นนานเต็มที เลยเวลาที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญมานานแล้ว กฎหมายดังกล่าวยังร่างกันอยู่ใช่ไหม

ในเรื่องการปฏิรูปการศึกษาก็เช่นกัน รัฐธรรมนูญมาตรา 261 บัญญัติให้คณะรัฐมนตรีแต่งตั้งคณะกรรมการที่มีความเป็นอิสระคณะหนึ่ง เพื่อดำเนินการศึกษา และจัดทำข้อเสนอแนะและร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้แล้วเสร็จภายในสองปีนับแต่วันที่ได้รับแต่งตั้ง ยังดีหน่อยที่คณะกรรมการชุดนี้ได้มีข้อเสนอแนะออกมา โดยเฉพาะการแยกการอุดมศึกษาออกมาจากกระทรวงศึกษาธิการ ทำให้เรามีกระทรวงใหม่คือ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) ที่ก่อตั้งในเดือนพฤษภาคม 2562 และมีข่าวฮือฮาว่าจะส่งจรวดไปดวงจันทร์ภายใน 7 ปี

Advertisement

น่าเสียดายว่าการปฏิรูปต่าง ๆ ที่รัฐธรรมนูญ มาตรา 257 บัญญัติเป้าหมายไว้ว่า “เพื่อให้สังคมมีความสงบสุข เป็นธรรม และมีโอกาสอันทัดเทียมกันเพื่อขจัดความเหลื่อมล้ำ … ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี และมีส่วนร่วมในการปกครองในระบอบประชาธิปไตย” และมาตรา 258 บัญญัติให้ดำเนินการปฏิรูปใน 6 ด้านหลัก และด้านอื่น ๆ อีก 5 ด้าน ถ้ามีการปฏิรูปจริงอย่างที่ตั้งใจหรือที่บัญญัติไว้ เราคงไม่ติดอยู่ในกับดักความไม่ปรองดอง คนรุ่นใหม่และประชาชนคงไม่ออกมาประท้วง และตำรวจคงไม่ต้องปราบปรามการชุมนุมดังที่ดำเนินเรื่อยมาจนทุกวันนี้

ถ้าจะต่อว่ารัฐบาล คสช. และรัฐบาลที่สืบเนื่องจาก คสช. เรามีหลายสิบประการที่ต่อว่าได้ ซึ่งล้วนแล้วแต่การไม่ได้ทำตามสัญญา แต่ก็เท่านั้น เขาเฉไฉหรือทำทองไม่รู้ร้อนตลอดมา แต่ก็มีคนจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ ที่รู้เท่าทัน และมีจำนวนหนึ่งที่อดรนทนไม่ไหว กลุ่มแรกที่ออกมาชุมนุมประท้วงคือกลุ่มเยาวชน คนหนุ่มสาวที่ส่วนใหญ่มาจากครอบครัวคนชั้นกลาง เขาเห็นว่าต้องปฏิรูปการศึกษา เรื่องนี้ใกล้ตัวและเป็นอนาคตของพวกเขา รัฐบาลไม่ได้แสดงว่าเข้าใจและไม่มีแววว่าจะสามารถบริหารประเทศเพื่ออนาคตที่ดีกว่าได้ รัฐบาลเพียงแต่พึ่งระบบราชการและฝ่ายอนุรักษ์นิยม เพื่อรักษาสถานะเดิม และธำรงจารีตประเพณีการเมืองที่ไม่สร้างศรัทธาไว้ให้ได้

ข้อเรียกร้องของคนรุ่นใหม่ได้ตกผลึกเป็นสามข้อคือ

Advertisement

1) นายกรัฐมนตรีลาออก

2) แก้ไขรัฐธรรมนูญมิให้มีคราบไคลของรัฐประหาร

3) ปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ให้อยู่ในกรอบของรัฐธรรมนูญอย่างจริงแท้ (authentical constitutional monarchy)

ต่อมามีประชาชนบางส่วนเห็นว่า ข้อเรียกร้องข้อสามเป็นเรื่องระยะยาว ควรรณรงค์ในข้อหนึ่งและข้อสองเพื่อให้เกิดผลก่อน ขณะเดียวกันก็เปิดพื้นที่พูดคุยในข้อสามอย่างระมัดระวังมิให้เกินขอบเขตจนเกิดความระแวงได้ เราจึงเห็นปรากฏการณ์ของชนชั้นกลางที่จัดชุมนุมในหลายรูปแบบ รวมทั้งคาร์ม็อบ เป็นต้น

ปรากฏการณ์ล่าสุดตั้งแต่ต้นเดือนสิงหาคม 2564 คือการประท้วงของกลุ่มทะลุแก๊ซที่สามเหลี่ยมดินแดง ที่หลายคนฉงนฉงาย หลายคนได้ตัดสินและประณามไปแล้ว ด้วยเห็นว่าเป็นการใช้ความรุนแรง แต่อันที่จริงควรศึกษาและทำความเข้าใจความต้องการของพวกเขาให้มากขึ้น ว่าทำไมพวกเขาจึงมีลีลาและบุคลิกที่ผู้ประท้วงอื่นไม่มีมาก่อน อันที่จริง จะว่าเป็นการประท้วงโดยไม่มีเป้าหมายก็ไม่ใช่ เป้าหมายแรกคือเอาคืนจากตำรวจ ด้วยคติว่า “กูไม่กลัวมึง” แพ้ก็ไม่เป็นไร ส่วนข้อเรียกร้องทางการเมืองก็ชัดเจน กลั่นกรองลงมาเหลือข้อแรกข้อเดียวคือ “ประยุทธ์ออกไป” ผมเองจัดอยู่ในกลุ่มฉงนฉงาย แต่ก็อยากแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันเกี่ยวกับกลุ่มทะลุแก๊ซ โดยอาศัยข้อมูลทุติยภูมิที่หาอ่านได้ตามสื่อต่าง ๆ

ก่อนอื่น ขอคุยและทำความเข้าใจเรื่องชื่อ พอเข้าใจได้ว่าทะลุแก๊ซหมายถึงต้องการทะลุด่านตำรวจที่ใช้ก๊าซน้ำตา คำว่าก๊าซ (gaz) เป็นคำเดิม หมายถึงวัตถุเคมีที่อยู่ในสถานะของก๊าซ (ไม่ใช่ของแข็งหรือของเหลว) เช่น ก๊าซออกซิเจนที่มีสถานะต่างจากออกซิเจนเหลว ต่อมาชาวอเมริกันใช้คำคำนี้เพื่อเรียกเชื้อเพลิง เช่น เรียกน้ำมันเบ็นซินว่า gasoline หรือเรียกก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) ว่าแก๊สหุงต้ม ในที่สุด ราชบัณฑิตยสภาคงตัดความรำคาญ ตกลงว่าใครจะใช้คำว่าก๊าซหรือแก๊สก็ตามใจ แต่แล้วก็มีการสะกดใหม่เป็น “แก๊ซ” ขึ้นมาอีกคำ เป็นการสะกดที่กลุ่มทะลุแก๊ซใช้ อาจจะด้วยความสับสนหรือจงใจก็ไม่รู้ แต่พอมีคำอธิบายว่า “พวกเราใช้ ซ โซ่ ใช้คำว่าแก๊ซและรู้สึก แซ่บ ดี” เอาเป็นว่าช่วยปฏิรูปให้ราชบัณฑิตยสภา “พอเอามัน” ล่าสุด เยาวชนทะลุแก๊ซกลุ่มหนึ่ง ขอเปลี่ยนชื่อเป็น “ภาคีปฏิวัติประชาชนไท” ซึ่งความหมายไม่ชัดเจนเท่าชื่อภาษาอังกฤษว่า “People’s Revolutionary Alliance PAR” ที่สื่อถึงการกอบกู้กลุ่มชาติพันธุ์เช่น ชาวอีสาน ชาวล้านนา ชาวปาตานี เป็นต้น เป็นการตีความคำว่า “ประชาชนไท” ไปอีกแบบ ร้อนถึงผู้นำกองทัพที่ออกมาปรามว่า เพียงแต่คิดและแสดงความเห็นก็ไม่เป็นไร แต่ถ้าทำอะไรที่เป็นการปฏิวัติ กระทบกระเทือนเอกราชและอธิปไตย โดยที่ตำรวจเอาไม่อยู่ ทหารก็ต้องออกมาทำหน้าที่ อย่างไรก็ดี กลุ่มที่ยังใช้ชื่อว่า “ทะลุแก๊ซ” ออกมาปฏิเสธ บอกว่ากลุ่มยังอยู่ มิได้เปลี่ยนชื่อแต่ประการใด

เราคงทราบว่าเยาวชนกลุ่มทะลุแก๊ซมาจากครอบครัวยากจน ส่วนหนึ่งเป็นชาวสลัม มีคนหนึ่งแสดงความรู้สึกว่า “คนรวยมองลงมาจากคอนโด เห็นแต่ตึกรามบ้านช่อง เห็นหลังคาชุมชนแออัดว่าเป็นวิว แต่มองไม่เห็นคนในชุมชนนั้น เหมือนอยู่กันคนละโลก” หลายคนต้องออกจากระบบการศึกษาด้วยขาดปัจจัย ด้วยความรู้สึกว่า “ไม่ใช่” ไม่เห็นอนาคต อยากเป็นนักดนตรี นักกีฬา นักปรุงอาหาร มัคคุเทศก์ หรือมีอาชีพที่ถูกกับความถนัดของตน แต่มองไม่เห็นทางที่จะทำความฝันให้เป็นจริง ระบบการศึกษาเสนอทางเลือกให้น้อย บางทีไม่มีเงินพอที่จะเลือกฝึกอาชีพในเรื่องที่อยากทำ เป็นที่ทราบกันว่า เยาวชนที่อายุไม่ถึง 25 ปี ที่อยู่นอกระบบการศึกษา อยู่นอกระบบการศึกษานอกโรงเรียน (กศน.) ด้วยซ้ำ มีจำนวนหลายล้านคน ซึ่งกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กำลังหาทางช่วยอยู่

มีบางคนบอกว่าการชุมนุมที่ดินแดงไม่มีแกนนำ จะควบคุมความรุนแรงหรือพูดคุยกับผู้มาชุมนุมเพื่อลดความรุนแรงก็ยาก ก็จริงที่พวกเขาไม่มีแกนนำแบบรวมศูนย์ หากแต่มาเป็นกลุ่ม ๆ แต่ละกลุ่มย่อยก็รู้จักกันและคอยช่วยเหลือกัน สื่อได้เข้าไปสัมภาษณ์หรือนักวิจัยเชิงสังคมวิทยาได้ก็เข้าไปพูดคุยกับ “แกนนำ” กลุ่มย่อยหลาย ๆ คน พอที่จะถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกและความปรารถนาของพวกเขาได้

มีคนหนึ่งบอกว่า “ผมไม่ถนัดการไปชุมนุมเพียงเพื่อฟังการปราศรัย จึงต้องสู้” เขาบอกว่า “ไม่สู้ก็ตาย” อีกคนบอกว่า “ตายเพื่อให้สังคมรอดก็ยอม” ยังดีที่เราไม่ไปถึงจุดนั้น ยังเป็นการต่อสู้ที่เคารพชีวิต จึงขอตีความวลี “ไม่สู้ก็ตาย” ว่าเป็นการ “ตาย” ด้วยเหตุความไม่เป็นธรรมในสังคม บางคนบอกว่า “ไม่มีตำรวจ ไม่มีความรุนแรง” “เราไม่ต้องการทำร้ายใคร ไม่ก่อจลาจล ไม่ทำลายทรัพย์สินของเอกชน ที่เผาป้อมตำรวจบ้างเพราะต้องการตอบโต้ที่ทำกับเรา” บางคนเชื่อว่าถ้าประยุทธ์ออกไป ทุกอย่างจะดีขึ้น แต่บางคนบอกว่าพวกเขาก็จะหาคนมาแทนจนได้ เราคงต้องสู้อีกนาน แม้สู้ไม่ได้ก็ต้องสู้

มีนักวิชาการคนหนึ่งวิเคราะห์ว่า

1) วัยรุ่นเหล่านี้เติบโตมาท่ามกลางความรุนแรง ทั้งทางตรง ทางโครงสร้าง ทางวัฒนธรรม

2) รัฐใช้ความรุนแรงต่อคนรุ่นใหม่ พวกเขาจึงรู้สึกว่ามีความชอบธรรมในการตอบโต้

3) ม็อบสันติวิธีเป็นของชนชั้นกลาง ม็อบดินแดงใช้ความรุนแรงในขอบเขตหนึ่งในการแสดงออก เพราะพวกเขาคุ้นเคยกับความรุนแรง ตามคำกล่าวที่ว่า “พวกเราเป็นเด็กสลัมที่มึงดูถูกว่าเลว เราจึงทำอะไรที่สะใจ”

มีความเชื่อในหมู่ชนชั้นกลางว่า มิรู้จะหาทางออกอย่างไร ไม่รู้จะคุยกับใคร กรณีศึกษาที่น่าสนใจกรณีหนึ่งคือการประท้วงของชาวเสื้อกั๊กเหลือง (gilets jaunes) ในประเทศฝรั่งเศส ซึ่งเริ่มประท้วงในเฟสแรกเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2561 และซาไปในเดือนมีนาคม 2563 เนื่องจากการระบาดระลอกแรกของโควิด – 19 และเริ่มประท้วงกันใหม่ในเฟสที่สองเมื่อโควิด – 19 ซาลงในเดือนกันยายน 2563 แล้วก็เลิกกันไปเมื่อโควิด – 19 กลับมาระบาดระลอกใหม่ในเดือนเมษายน 2564 นี่เอง ในการประท้วงมีการใช้ความรุนแรงบ่อยครั้ง ข้อเรียกร้องมีทั้งหมด 42 ข้อ ส่วนใหญ่เกี่ยวกับมาตรฐานการครองชีพที่ต่ำลง การประท้วงมีแกนนำแบบไม่รวมศูนย์ แต่ก็สามารถเปิดการพูดคุยกับรัฐบาลได้ โดยรัฐบาลยอมตอบสนองข้อเรียกร้องในบางข้อ เช่น การลดภาษีน้ำมัน การลดภาษีรายได้จากการทำงานนอกเวลาและจากเงินโบนัสปลายปี การตรึงราคาค่าไฟฟ้า และการเพิ่มเงินเดือน เป็นต้น

ในกรณีของกลุ่มทะลุแก๊ซ มีการพูดคุยกันในเบื้องต้น เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2564 วงสนทนานอกจากจะมีเยาวชนกลุ่มทะลุแก๊ซบางคนแล้ว ยังมีตัวแทนภาคประชาสังคม ได้แก่โทรทัศน์ไทยพีบีเอส มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ชุมชนแฟลตดินแดง กลุ่ม Child in mob ส่วนหน่วยงานของรัฐ มีตัวแทนจากคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กรมกิจการเด็กและเยาวชน และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีเยาวชนคนหนึ่งพูดว่า “อีก 18 ปี ลูกเราโตมาจะเป็นอย่างไร มืดเลยพี่” อีกคนหนึ่งบอกว่า “เราสู้ด้วยกำลัง เท่าที่เราทำได้ สู้ไม่ได้ก็ถอย เด็กถูกเตะบ้าง เดินผ่านมาก็ถูกยิง เขาบอกว่า “นายสั่งมา” ผมมีมือมีเท้าเหมือนกัน … ทำไมไม่ตั้งโต๊ะ มีตัวแทนมาคุยกัน”

ในการคุยกัน เราได้รับฟังความเดือดเนื้อร้อนใจของชาวแฟลตดินแดน และรับทราบความคิดเห็นของฝ่ายรัฐด้วย จึงคิดว่าควรมีการริเริ่มเช่นนี้ให้มากขึ้น เราอาจพูดถึงปัญหาที่อาจเยียวยาแก้ไขได้ในลำดับก่อน แล้วลงมือการแก้ไขปัญหาปัจจุบันในบางเรื่อง ซึ่งจะช่วยให้เกิดความเป็นไปได้ในการแก้ไขปัญหาระยะกลางและระยะยาวต่อไป

โคทม อารียา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image