อำนาจพิเศษ…กฎหมายกับความเป็นธรรม โดย สมหมาย ปาริจฉัตต์

แฟ้มภาพ

ดร.วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมายกำลังชื่นชมร่างกฎหมายปราบโกงฉบับใหม่ คือ ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดอันเกิดจากประโยชน์ส่วนตนขัดกับประโยชน์ส่วนรวม หรือกฎหมาย 4 ชั่วโคตร ที่อยู่ระหว่างการผลักดันออกมาใช้บังคับไม่ทันจบ

เกิดกรณีนางผ่องพรรณ จันทร์โอชา น้องสะใภ้นายกรัฐมนตรี ภริยา พล.อ.ปรีชา จันทร์โอชา ปลัดกระทรวงกลาโหม ถูกวิพากษ์วิจารณ์ใช้งบหลวงสร้างฝายที่เชียงใหม่ ตั้งชื่อว่า ฝายแม่ผ่องพรรณพัฒนา และใช้เครื่องบินหลวงไปร่วมพิธีเปิดฝาย

ติดตามมาด้วยกรณีบริษัทของนายปฐมพล จันทร์โอชา บุตรชายคนโตของ พล.อ.ปรีชา ได้รับงานก่อสร้างในกองทัพภาค 3 ส่วนหน้า 7 โครงการ มูลค่า 97 ล้านบาท

คำถามของสื่อเลยถาโถมเข้าใส่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ทันทีที่กลับจากการประชุมสหประชาชาติ พร้อมกับคำถามที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวขอให้นายกรัฐมนตรีใช้หลักคิดและให้ความเป็นธรรมในการดำเนินคดีต่างๆ เหมือนกับที่ให้ความเป็นธรรมกับน้องชายของตัว

Advertisement

ครับ งานนี้เป็นหนังม้วนยาว คงไม่จบง่ายๆ แน่ เพราะพรรคเพื่อไทยออกแถลงการณ์คัดค้านการใช้อำนาจตามมาตรา 44 รวม 6 ประเด็น

1 ในนั้น เป็นประเด็นเกี่ยวกับอายุความ การเรียกร้องค่าเสียหายตาม พ.ร.บ.ความผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ ซึ่งคำแถลงระหว่าง พล.อ.ประยุทธ์กับแถลงการณ์ของพรรคเพื่อไทย ขัดกันอย่างสิ้นเชิง

พล.อ.ประยุทธ์บอกว่า ไม่ได้แกล้งใคร ไม่ได้เลือกปฏิบัติอะไร ถ้าไม่ทำรัฐบาลก็จะถูกดำเนินการตามมาตรา 157 ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ จึงต้องทำให้ทันอายุความที่จะสิ้นสุดภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2560

Advertisement

“ไม่ได้ไปเร่งรัดอะไร กฎหมายเขาเขียนไว้อย่างนั้น รู้จักกฎหมายกันไหม” พล.อ.ประยุทธ์ย้ำ

ส่วนแถลงการณ์ของพรรคเพื่อไทย ข้อ 4 ในประเด็นนี้ระบุว่า การอ้างว่าหากไม่เร่งดำเนินการคดีอาจขาดอายุความ ไม่เป็นความจริง เพราะเมื่อเรื่องดังกล่าวยังไม่ชัดเจนว่าผู้ถูกกล่าวหาได้กระทำความผิดหรือไม่ จึงเท่ากับยังไม่รู้ตัวผู้ต้องรับผิด อายุความจึงยังไม่เริ่มต้น

“การยกข้ออ้างดังกล่าวก็เพื่อเร่งรัดให้เรียกค่าเสียหายให้จบทันอายุของรัฐบาลนี้ อันเป็นเจตนาทางการเมืองและเป็นการชี้นำกระบวนการยุติธรรม” แถลงการณ์ระบุ

จากข้อเท็จจริงที่ลำดับมานี้จะพบว่า เกิดความเห็นต่าง ขัดแย้งกันอย่างชัดเจนระหว่างสองฝ่าย นี่เฉพาะแค่ประเด็นข้อกฎหมายว่าด้วยอายุความ เรื่องเดียว

ฝ่ายหนึ่งยืนยันในประเด็นให้ยึดกฎหมายเป็นหลัก อีกฝ่ายหนึ่งยืนยันให้ใช้กฎหมายอย่างเป็นธรรม ไม่เลือกปฏิบัติ

กรณีนายกรัฐมนตรีปัจจุบันกับอดีตนายกรัฐมนตรีจึงเป็นความเห็นต่างในประเด็นสาระสำคัญ ระหว่างกฎหมายกับ ความเป็นธรรมในการใช้กฎหมาย

เมื่อต่างฝ่ายต่างยืนยันในความเห็นของฝ่ายตน สังคมจะได้ข้อยุติในเรื่องนี้อย่างไร ใครจะเป็นผู้ตัดสิน เพื่อให้เกิดบรรทัดฐานการปฏิบัติที่เป็นธรรม

จึงถึงเวลาที่จะทบทวนการใช้อำนาจพิเศษ กับการใช้อำนาจทางศาลปกติตามกระบวนการยุติธรรมทางอาญา อย่างจริงจังอีกครั้งโดยเร็ว

ทั้งในประเด็นของมาตรฐานทางกฎหมาย และมาตรฐานทางคุณธรรม จริยธรรม ความถูกต้อง ความเหมาะสม

ดังที่เกิดกรณีฝายแม่ผ่องพรรณและประมูลงานกองทัพภาค 3 ขณะที่กฎหมายปราบโกง 4 ชั่วโคตรยังไม่ออกมาใช้บังคับก็จริง แต่ผู้มีอำนาจประกาศให้ทุกฝ่ายยอมรับและส่งเสริมให้ออกมาใช้บังคับโดยเร็ว

เมื่อเกิดกรณีเช่นนี้ขึ้น ควรใช้มาตรฐานทางกฎหมาย หรือ มาตรฐานทางคุณธรรม จริยธรรม มาเป็นเกณฑ์การตัดสินความถูกผิด นั่นประการหนึ่ง

อีกประการหนึ่ง หากยึดกฎหมายเป็นหลัก ก็มีข้อแย้งอีกว่าจะยึดกฎหมายปกติหรือกฎหมายพิเศษ

ถ้ายึดตามกฎหมายปกติ เมื่อมีผู้ร้องต่อองค์กรอิสระทำการตรวจสอบคือ คณะกรรมการ ป.ป.ช.ก็ให้ ป.ป.ช.ดำเนินการไป

หากใช้หลักความเป็นธรรม เป็นบรรทัดฐานเดียวกับคดีที่อดีตนายกรัฐมนตรีร้องขอ ก็ใช้อำนาจตามกฎหมายพิเศษ มาตรา 44 ทำให้เกิดความกระจ่าง ชี้ถูกชี้ผิดออกมาให้ชัดเจนได้หรือไม่

อย่างน้อยที่สุดทำให้สังคม ลดความสงสัย คลางแคลง ซึ่งเป็นเรื่องของประโยชน์ส่วนรวม งบประมาณจากภาษีอากรของพี่น้องประชาชน

เป็นต้นว่า สมาคมแม่บ้านกลาโหมเป็นส่วนหนึ่งของส่วนราชการของสำนักปลัดกระทรวงกลาโหม ตามโครงสร้างหน่วยงานระบุไว้หรือไม่

การประมูลงานของกองทัพภาค 3 แต่ละโครงการราคากล่างเป็นอย่างไร มีบริษัทผู้เข้าร่วมเสนอราคากี่ราย มีคุณสมบัติอย่างไร แต่ละรายเสนอราคาเท่าไหร่ เกณฑ์การตัดสินของคณะกรรมการเป็นอย่างไร ฯลฯ

การใช้กระบวนการชำระสะสางตามกฎหมายปกติ สามารถทำให้ประเด็นเหล่านี้เกิดความกระจ่างขึ้นมาเมื่อไหร่ เมื่อนั้นแหละการเรียกร้องมาตรฐานความเป็นธรรม ไม่เลือกปฏิบัติอาจจะแผ่วเบาลง

แต่ถ้าไม่ การถามหาการใช้มาตรา 44 แบบไม่เลือกที่รัก มักที่ชัง ก็ยังดังต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image