ดาบไม่คืนฝัก สะท้านข้าราชการ สะเทือนคสช.?

27 กันยายน 2559

ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่คําสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 59/2559

เรื่อง ประกาศรายชื่อเจ้าหน้าที่ของรัฐที่อยู่ระหว่างการถูกตรวจสอบเพิ่มเติม ครั้งที่ 8 และการปรับปรุงการบริหารงานบุคคลในบางหน่วยงานของรัฐ

ตามที่มีคําสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 16/2558 เรื่อง มาตรการแก้ปัญหาเจ้าหน้าที่ของรัฐที่อยู่ระหว่างการถูกตรวจสอบและการกําหนดกรอบอัตรากําลังชั่วคราว ลงวันที่ 15 พฤษภาคม พุทธศักราช 2558

Advertisement

และคําสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 19/2558 เรื่อง แต่งตั้งและให้เจ้าหน้าที่ของรัฐดํารงตําแหน่งและปฏิบัติหน้าที่อื่น ลงวันที่ 25 มิถุนายน 2558 นั้น

โดยข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐที่อยู่ในข่ายโยกย้ายครั้งนี้รวมทั้งสิ้น 72 ราย

ในจำนวนนี้ 61 ราย เป็นข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐ สังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในจังหวัดมหาสารคาม

Advertisement

ที่มีรายงานข่าวว่า ถูกสอบสวนกรณีมีส่วนพัวพันกับคดีทุจริตการสอบบรรจุเจ้าหน้าที่ของรัฐประจำท้องถิ่น

น่าสนใจว่านี่มิใช่การประกาศครั้งแรก

แต่เป็นครั้งที่ 8

 

การอาศัยมาตรา 44 ตามรัฐธรรมนูญชั่วคราวสั่งโยกย้ายข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐ

ที่อยู่ใน “ประกาศรายชื่อเจ้าหน้าที่ของรัฐที่อยู่ระหว่างการถูกตรวจสอบ” เริ่มขึ้นตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2558

ในจำนวนกว่า 40 คนของ “รอบแรก” นั้นมีข้าราชการระดับสูงอย่างปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา อธิบดีกรมพลศึกษา และ ผวจ.อุดรธานีรวมอยู่ด้วย

ประกาศฉบับที่ 2 ตามในเดือนมิถุนายน 2558 จำนวน 71 คน มีเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพ (สปสช.) รวมอยู่ด้วย

ทิ้งช่วงมาถึงเดือนมกราคม 2559 จึงมีประกาศรายชื่อผู้ถูกตรวจสอบเพิ่มเติมครั้งที่ 3

ส่วนใหญ่เป็นผู้บริหารสถานศึกษาและนักการเมืองท้องถิ่น รวม 59 คน

ที่น่าสนใจคือ มีรายชื่อ นายแพทย์วิชัย โชควิวัฒน และกรรมการ สสส.ทั้งชุด 7 คนอยู่ด้วย

ประกาศรายชื่อเจ้าหน้าที่ของรัฐที่อยู่ระหว่างการถูกตรวจสอบเพิ่มเติมครั้งที่ 4

มาในเดือนกรกฎาคม 2559 ผู้ถูกโยกย้ายจำนวน 60 คน

ส่วนใหญ่คือผู้บริหารสถานศึกษาและนักการเมืองส่วนท้องถิ่น

ประกาศรายชื่อเจ้าหน้าที่ของรัฐที่อยู่ระหว่างการถูกตรวจสอบเพิ่มเติมครั้งที่ 5 ในเดือนกรกฎาคม 2559 คือกรณีของ นายบุญเลิศ บูรณุปกรณ์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ แบบโดดๆ

ประกาศรายชื่อเจ้าหน้าที่ของรัฐที่อยู่ระหว่างการถูกตรวจสอบเพิ่มเติมครั้งที่ 6 คือกรณีพักงาน ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร และนายแพทย์เปรมศักดิ์ เพียยุระ

ซึ่งต่างมีข่าวอื้อฉาวและถูกตั้งกรรมการสอบสวนอยู่ทั้งคู่

ประกาศรายชื่อเจ้าหน้าที่ของรัฐที่อยู่ระหว่างการถูกตรวจสอบเพิ่มเติมครั้งที่ 7 ในเดือนกันยายน 2559 คือการโยกย้ายข้าราชการพลเรือน 15 นาย

และตำรวจ 6 นาย

โดยในระหว่างนั้น ยังมีการใช้ “มาตรา 44” โยกย้ายข้าราชการแทรกอยู่เป็นระยะๆ

อาทิ

เมษายน 2558 โยกย้ายปลัดกระทรวงศึกษาธิการออกจากตำแหน่ง

มีนาคม 2559 ย้าย 4 ผู้ว่าราชการจังหวัดออกจากตำแหน่ง

มิถุนายน 2559 ย้ายข้าราชการ 23 คน เน้นพื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร ตั้งแต่ผู้ว่าราชการจังหวัด อัยการ ตำรวจ ลงมา

สิงหาคม 2559 เปลี่ยนตัวผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย

เพื่อแก้ปัญหาติดธงแดงจากองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ

และที่น่าสนใจก็คือในข้อสุดท้ายของคำสั่งโยกย้ายข้าราชการครั้งล่าสุด

หัวหน้า คสช.แต่งตั้ง พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด ผู้ชำนาญการกองทัพบก โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

รักษาราชการในตำแหน่งอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ด้วย

ข้อน่าสังเกตก็คือ

ในประกาศโยกย้ายข้าราชการเพื่อการตรวจสอบนั้น มีแต่ย้ายออกจากตำแหน่ง

ไม่มีใครได้ย้ายกลับ ไม่ว่าผลการสอบสวนจะยุติลงแล้วหรือไม่

และไม่ว่าผลการสอบสวนจะออกมาว่ามีหรือไม่มีความผิดตามข้อกล่าวหาหรือไม่

ภาวะ “มีแต่ไป ไม่มีกลับ” เมื่อประจวบเข้ากับการ “เลือกใช้แต่คนใกล้ชิด” เข้าดำรงตำแหน่ง ที่ด้านหนึ่งคือการปิดโอกาสของ“ลูกหม้อ” ทั้งหลาย

จะส่งผลอย่างไรต่อการปฏิบัติงานของข้าราชการ?

จะส่งผลอย่างไรต่อการขับเคลื่อนนโยบายทั้งหลายของรัฐบาล?

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image