เล็งไปข้างหน้า โดย วรศักดิ์ ประยูรศุข

สําหรับผู้ที่ยังชอบอ่านหนังสือ จะพบว่าตามแผง มีหนังสือแนวประวัติศาสตร์ออกใหม่ หรือพิมพ์ซ้ำอยู่เรื่อย

โดยเฉพาะเรื่องของการเปลี่ยนแปลง พ.ศ.2475 และเหตุการณ์ที่เป็นผลต่อเนื่อง

ไม่ว่าจะเป็นกบฏบวรเดช และเหตุการณ์ต่อๆ มา อย่างรัฐประหาร 2490 ไปจนถึงปัญหาความขัดแย้งในกลุ่มทหารช่วงปี 2500

หลายๆ เล่มมีความโดดเด่นในเรื่องการใช้หลักวิชาการมาค้นคว้า ตีความ และใช้ข้อมูลมาอธิบายข้อสงสัยต่างๆ สร้างความกระจ่างให้กับคนอ่านว่า ต้นสายปลายเหตุของแต่ละเรื่องแต่ละเหตุการณ์คืออะไรกันแน่

Advertisement

ไม่เฉพาะเรื่องราวที่เกิดขึ้นเมื่อครึ่งศตวรรษก่อน แต่ยังมีเหตุการณ์ในบ้านเมืองเราอีกมาก ที่ต้องการคำอธิบายและข้อมูลหลักฐานในลักษณะเดียวกัน

เพื่อให้เข้าใจสิ่งต่างๆ ตามที่เป็นหรือที่เกิดขึ้นจริง ไม่ใช่เข้าใจตามความประสงค์ หรือการชี้แนะของใคร

ตัวอย่างไกลๆ คือ ปัญหาประวัติศาสตร์ว่าคนไทยมาจากเทือกเขาอัลไต ที่ตอนนี้ใครยังเชื่อก็กลายเป็นเรื่องโจ๊กไปแล้ว

Advertisement

แต่กว่าจะมาถึงขั้นนี้ได้ ผ่านการค้นคว้า เปิดประเด็นและถกเถียงกันมาแทบล้มประดาตาย

หรือขยับใกล้มาหน่อย ได้แก่ เหตุการณ์กรุงแตกเมื่อปี พ.ศ.2310

คำอธิบายชุดหนึ่ง บ่งบอกถึงความเสื่อมทรามต่างๆ ของกรุงศรีอยุธยาจนไม่เหลือความเข้มแข็งไว้ต้านทานทัพระดับกองโจรของข้าศึก

เราก็เชื่อและศึกษาตามๆ กันมา

ถ้าหยุดประวัติศาสตร์ไว้แค่นั้น ความเชื่อนั้นคงถูกส่งต่อไปเรื่อยๆ แต่เมื่อค้นคว้าเข้าถึงหลักฐานมากขึ้น นักวิชาการระบุว่า กรุงศรีอยุธยาตั้งรับอย่างเข้มแข็ง ทัพพม่าก็ไม่ใช่กองโจรส่วนพ่ายแพ้เพราะอะไรต้องไปอ่านกัน

ยังมีประวัติศาสตร์และเหตุการณ์ทางการเมืองอีกมาก ที่อธิบายไม่ตรงกับความจริง

โดยเฉพาะการปฏิวัติรัฐประหาร หรือยึดอำนาจ ซึ่งมักจะมีการอ้างสาเหตุต่างๆ

สมัยหนึ่ง อ้างภัยคอมมิวนิสต์ อ้างภัยจาก “มือที่ 3” ที่จะเข้ามาแทรกแซง ก่อนจะเปลี่ยนไปอ้างเงื่อนไขอื่นๆ

หรืออย่างเหตุการณ์สลายม็อบในปี 2552-2553 ที่เกิดการล้มตายจำนวนมาก แล้วอ้างถึง “ชายชุดดำ”

ที่จริงไม่ได้ใหม่อะไรมาก เพราะโดยเนื้อหาแล้ว “ชายชุดดำ” คือเวอร์ชั่นใหม่ของ “มือที่ 3” ที่ชอบอ้างกันในอดีตนั่นเอง

การค้นหาความจริง พิสูจน์ความจริง ในเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ ทางการเมืองหรือทางเศรษฐกิจ จึงไม่ใช่เรื่องง่ายๆ

นอกจากข้อจำกัดของแหล่งข้อมูลแล้ว ยังต้องฝ่าด่าน “ความเชื่อ” ที่ผ่านการจัดสร้างอย่างเป็นเรื่องเป็นราวมาก่อน และมีกลุ่มคนที่ได้ประโยชน์จากความเชื่อนั้น

และยิ่งยุ่งเหยิงมากขึ้นไปอีก เมื่อเกิดความนิยม นำเอา “ทฤษฎีสมคบคิด” เข้ามาร่วมอธิบาย

เชื่อมโยงเหตุการณ์หนึ่งไปสู่อีกเหตุการณ์หนึ่ง ฟังแล้วพิสดารพันลึก แต่มีคนเชื่อ เพราะมีแรงจูงใจและเครือข่ายในการกระจายคำอธิบายเหล่านั้น

ยิ่งยุคนี้มีโซเชียลมีเดีย มีแอพพลิเคชั่นต่างๆ เป็นเครื่องมือที่ทำให้คำอธิบายประเภทนี้ แพร่กระจายไปได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ

นักวิชาการรุ่นต่อๆ ไปที่จะมาเคลียร์ประวัติศาสตร์ช่วงนี้ คงจะทำงานด้วยความสนุกสนานไม่น้อย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image