ดราม่าเอ็มวีทศกัณฐ์เที่ยวไทย : หรือสังคมไทยไม่เคยเรียนรู้อะไรเลย?

ในรอบเดือนที่ผ่านมา เรื่องที่เป็นประเด็นโต้เถียงใหญ่ในสังคมไทย ก็คงหนีไม่พ้นกรณีมิวสิควิดีโอโปรโมทการท่องเที่ยวของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ที่มีการใช้ตัวละครในเรื่องรามเกียรติ์ โดยเฉพาะทศกันฐ์เป็นตัวเอกที่นำเหล่าเสนายักษ์ท่องเที่ยวไปตามสถานที่ต่าง ๆ ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทย เพื่อสื่อให้เห็นถึงความงดงามและกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศไทยในแต่ละภูมิภาค โดยมีเก่ง ธชย ศิลปินรุ่นใหม่ที่มีชื่อเสียงด้านการประยุกต์ศิลปะไทยเข้ากับการแสดงร่วมสมัยจนได้รับรางวัลระดับโลกมากมายมาเป็นนักแสดงนำ

โดยเรื่องดราม่าเริ่มต้นจากการที่มีอดีตศิลปินสังกัดกองการสังคีต กรมศิลปากร มาตั้งข้อสังเกตถึงความเหมาะสมในการเผยแพร่มิวสิกวิดีโอนี้ต่อสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ (วิทยาลัยนาฏศิลป์) ซึ่งทางสถาบันก็ลงความเห็นว่าการเอาตัวละครทศกัณฐ์ให้ตัวละครทรงเครื่องทศกัณฐ์ตามแบบแผนของโขนมาขับรถโกคาร์ท ขี่บานาน่าโบ๊ต หยอดขนมครก หรือถ่ายเซลฟี่ ว่าเป็นสิ่งที่ไม่ว่าไม่เหมาะสมเช่นกันจึงส่งผลให้มีการเสนอให้ปรับแก้และตัดในส่วนที่มีความไม่เหมาะสมออก

แน่นอนว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องของความขัดแย้งทางความคิดที่แต่ละฝ่ายมีความเห็นไม่ตรงกันในเรื่องของการอนุรักษ์มรดกวัฒนธรรม ที่ฝั่งหนึ่งก็มีมุมมองในการอนุรักษ์แบบที่จะต้องคงระเบียบแบบแผนไว้ให้มากที่สุดจึงจะได้ชื่อว่ารักษามรดกนั้นเอาไว้ได้ดีไม่ผิดเพี้ยนไป ในขณะที่อีกฝั่งหนึ่งก็มองว่าการอนุรักษ์สืบทอดที่ดีก็ควรมีมิติที่สร้างสรรค์ต่อยอดดัดแปลงให้เข้ากับยุคสมัยจึงจะทำให้มรดกทางวัฒนธรรมนั้นได้ไปนั่งอยู่ในใจคนรุ่นใหม่ไม่สูญหายลางเลือนไปในที่สุด

เรียกได้ว่าความขัดแย้งที่เกิดขึ้น ก็ถือเป็นความขัดแย้งทางความคิดแบบปกติธรรมดาที่เกิดขึ้นกับในทุกสังคม ในทุกวงการ โดยเฉพาะในเรื่องการสืบทอดรักษามรดกทางศิลปวัฒนธรรมนั้น จะมีวิธีการอย่างไรในการอนุรักษ์สืบทอดให้สามารถรักษามรดกนั้นเอาไว้ได้ที่ถือว่าเป็นข้อถกเถียงกันมาเป็นพันๆ ปี แล้ว กรณีที่คลาสสิคที่สุดที่บ้านเราน่าจะรู้จักกันดีก็คือข้อพิพาทของพุทธศาสนาเถรวาทกับมหายาน ที่ฝากหนึ่งถือว่า การรักษาสืบทอดพระศาสนาไว้ให้ดีที่สุดคือการคงคำสอนเดิมในช่วงพุทธกาลเอาไว้โดยไม่มีการเปลี่ยนแปลง จนพัฒนามาเป็นพุทธศาสนานิกายเถรวาทในปัจจุบัน กับอีกฝากหนึ่งที่ถือว่า การรักษาพระศาสนาจะต้องมีการยืดหยุ่นปรับเปลี่ยนบางหลักการโดยเฉพาะเรื่องเล็ก ๆ น้อย ให้เข้ากับสถานที่และยุคสมัยจนพัฒนามาเป็นพุทธศาสนานิกายมหายานในปัจจุบันที่บางนิกายย่อยนั้นมีการอนุญาตให้พระภิกษุสามารถมีครอบครัวได้

Advertisement

หากถามว่าฝั่งใดจะอนุรักษ์สืบทอดได้ดีกว่ากันก็เป็นเรื่องที่ตอบได้ยากเพราะขึ้นกับเหตุปัจจัยมากมาย แต่ตอบได้แน่นอนว่าอย่างน้อยทั้งสองฝั่ง ต่างก็มีความประสงค์ที่จะรักษาสืบทอดมรดกดังกล่าวด้วยกันทั้งสิ้น หรือพูดง่าย ๆ คือมี “เจตนาดี” หรือความรักความหวังดีต่อมรดกทางวัฒนธรรมนั้นทั้งคู่ หากแต่แตกต่างกันไปที่วิธีการที่จะสืบทอดรักษาเท่านั้น หรือจะมองอย่างเปิดใจกว้างได้ว่า ว่าการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมให้ได้ครบถ้วนและยืนยาวนั้น ก็คือการทำทั้งสองแนวทางคู่ขนานกันอย่างมีศิลปะในการอยู่ร่วมกัน หาจุดดุลยภาพระหว่างการคงรักษาไว้โดยแบบแผน แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องไม่ปิดโอกาสของความคิดสร้างสรรค์ต่อยอด

แต่ดูเหมือนสังคมไทยจะไม่ได้รู้สึกอะไรแบบนั้น ?

จะด้วยเหตุผลกลใดก็ตาม ดูเหมือนสังคมไทยจะนำความขัดแย้งครั้งนี้เข้าสู่พฤติกรรมแบบกีฬาสีอีกแล้ว เรานำความขัดแย้งในครั้งนี้เป็นเรื่องของการแพ้การชนะ เอาชนะคะคานกัน อีกฝั่งหนึ่งผิด และอีกฝั่งหนึ่งต่างหากที่ถูก จนลืมเจตนาที่ดีของทั้งสองฝ่ายไป

Advertisement

ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับการอนุรักษ์โดยคงแบบแผนเอาไว้ ต่างออกมาตีตรา ตราหน้าอีกฝ่ายว่าเป็น ”ไดโนเสาร์เต่าล้านปี” บ้าง คร่ำครึบ้าง พวกกอดวัฒนธรรมไว้บนหิ้งจนฝุ่นเกาะบ้าง เลยไปถึงว่าถ้ามองว่าศักดิ์สิทธิ์นัก ก็ดึงลงมาจากหิ้งมาทำกริยาเชิงลบหลู่เสียเลย มีการตั้งกลุ่ม “ล่า” ไดโนเสาร์ ในฐานะที่เป็นตัวถ่วงความเจริญของสังคมเสีย หรือไม่ก็ประชดว่าอย่ามาว่าคนรุ่นใหม่ไม่สนใจเพราะแตะอะไรไม่ได้ หรือถ้าหวงนักก็ให้ตายไปพร้อมกับมรดกนั้นเลยจะไปช่วยเผาให้!

แรงมาก็แรงกลับ ฝ่ายไม่เห็นด้วยกับการดัดแปลงมรดกทางวัฒนธรรม ก็ออกมาตีตราอีกฝ่ายเช่นว่าเป็นพวกที่รู้แต่เปลือก รู้ไม่จริง หนักถึงขั้นเป็นผู้ “ทำลายวัฒนธรรมอันดีงามของชาติ” กันเลยทีเดียว ทำนองว่าถ้าจะมาอนุรักษ์วัฒนธรรมโดยรู้ไม่จริงหรือรู้แบบเปลือก ๆ ล่ะก็ อย่ามายุ่งเสียดีกว่า แบบนี้เขาเรียกว่าทำลายวัฒนธรรมมากว่าอนุรักษ์เสียอีก!

เรานำความขัดแย้งในครั้งนี้เป็นเรื่องของการแพ้การชนะ เอาชนะคะคานกัน อีกฝั่งหนึ่งผิด และอีกฝั่งหนึ่งต่างหากที่ถูก จนลืมเจตนาที่ดีของทั้งสองฝ่ายไป

ถามว่าแบบนี้ใครถูกใครผิด ก็ตอบได้ว่าทั้งคู่ทั้งถูกและก็ผิดเช่นกัน แน่นอนว่าในแง่มุมหนึ่ง การอนุรักษ์มรดกทางศิลปวัฒนธรรมที่ดีก็คือการคงลักษณะเดิมเอาไว้ให้อยู่ในสภาพที่สมบรูณ์หรือเปลี่ยนแปลงให้น้อยที่สุด ในขณะเดียวกัน ความคิดสร้างสรรค์ การดัดแปลง การปรับปรุง การต่อยอดชองเดิมก็คือต้นธารของการกำเนิดวัฒนธรรม เพราะแน่นอนไม่มีศิลปวัฒนธรรมใดที่ไม่ได้เกิดมาจากการผสมผสานปรับปรุงเปลี่ยนแปลงจากของเดิม

หากแต่การมุ่งตราหน้า และลดคุณค่าของอีกฝ่ายต่างหากซึ่งเป็นสิ่งที่ผิดและไม่สมควรอย่างยิ่ง การออกมาตีตราชี้หน้าต่อว่าผู้หลักผู้ใหญ่ในสังคมที่ท่านผ่านพบประสบการณ์ในชีวิตว่าเป็นพวก “ไดโนเสาร์เต่าล้านปี” ก็ถือเป็นการกระทำที่ไม่ให้เกียรติและสร้างความสะเทือนใจให้กับผู้ถูกกล่าวหาไม่น้อย

ในขณะเดียวกัน การตราหน้าคนรุ่นใหม่ไฟแรงที่มีใจใฝ่รักศิลปวัฒนธรรมไทยว่าเป็นพวกเด็กลามปามเมื่อวานซืน หรือเป็นผู้ที่ “ทำลายวัฒนธรรมอันดีงามของชาติ” นั้นก็ดูเป็นข้อกล่าวหาที่แรงเกินไป ชนิดที่ว่าใครโดนเข้าไปก็ยากที่จะแบกรับไหวเช่นกัน โดยเฉพาะความน้อยอกน้อยใจที่อาจจะเกิดกับคนรุ่นใหม่จนหันหลังให้วัฒนธรรมไทยหรือฝังใจกับเรื่องทำนองนี้ไปเลย

ดังนั้น ทางออกที่เหมาะสมในกรณีนี้ก็คงจะหนีไม่พ้นการที่สังคมไทยจะต้องเรียนรู้ที่จะใช้สติปัญญาในการแก้ไขปัญหาร่วมกัน ปรึกษาหารือกันหาใช่ทะเลาะทุ่มเถียงกัน หรือมุ่งเอาชนะคะคานกันอย่างไรวุฒิภาวะและไร้ซึ่งวัฒนธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเหล่าชาวศิลปินทั้งหลาย ซึ่งเป็นผู้ที่จะต้องใช้ “ศิลปะ” ในการสร้างสรรค์ สรรค์สร้าง อนุรักษ์ สืบสาน หรือแม้แต่ให้กำเนิดศิลปะแขนงใหม่แบบ “บัวไม่ช้ำน้ำไม่ขุ่น” สรรค์สร้างสิ่งใหม่จากฐานเดิมโดยไม่ทำร้าย ทำลายของเดิม ซึ่งแน่นอนว่าการอยู่ร่วมกันในสังคมระหว่างผู้ที่มีความเห็นไม่ตรงกัน ต่างความคิด ต่างโลกทัศน์ ต่างวัยวุฒิ ก็ล้วนแล้วแต่เป็น “ศิลปะ” ในการอยู่ร่วมในกันสังคมมิใช่หรือ

ถ้าหากว่าพวกเราทำไม่ได้ นั่นก็หมายความว่าพวกเราไม่เคยเรียนรู้อะไรเลย ไม่เรียนรู้ที่จะแก้ และข้ามผ่านปัญหาอย่างมีวัฒนธรรมแล้วล่ะก็ คงจะอีกนานที่สังคมไทยจะได้เดินหน้าต่อไป ก็คงได้แค่ยกพวกตีกันวนไปอย่างไม่รู้จบ

#การเมืองก็เช่นกัน

แน่นอนว่าการอยู่ร่วมกันในสังคมระหว่างผู้ที่มีความเห็นไม่ตรงกัน ต่างความคิด ต่างโลกทัศน์ ต่างวัยวุฒิ ก็ล้วนแล้วแต่เป็น “ศิลปะ” ในการอยู่ร่วมในกันสังคมมิใช่หรือ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image