ทหารผักชี vs ทหารอาชีพ! – สุรชาติ บำรุงสุข

เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม ที่ผ่านมา พลเอก คอลิน พอเวลล์ (General Colin Powell) หนึ่งในนักการทหารคนสำคัญของโลกในยุคหลังสงครามเย็น ได้จากไป อันเป็นผลจากการระบาดของเชื้อโควิด-19 เขามีอายุ 84 ปี

เขาเป็นประวัติศาสตร์ของกองทัพอเมริกัน เพราะเป็นนายทหารจากกองทัพบกสีผิวคนแรกที่ดำรงตำแหน่งประธานคณะเสนาธิการร่วม ในทางการเมือง เขาเป็นคนสีผิวคนแรกที่ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ในสมัยของประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช อีกทั้งเขายังได้รับการยกย่องอย่างมากในฐานะรัฐบุรุษคนหนึ่งในสังคมอเมริกันร่วมสมัย

อย่างไรก็ตาม เขาไม่ได้จบโรงเรียนนายร้อยเวสพอยท์เช่นนายทหารอเมริกันหลายนาย หากจบหลักสูตรการฝึกกำลังพลสำรองของมหาวิทยาลัย (หรือระบบ ROTC) จากเมืองนิวยอร์ก และเมื่อจบการศึกษาแล้ว จึงบรรจุเข้ารับราชการทหารในปี 2501 และต่อมาในปี 2505 เขาถูกส่งไปราชการที่เวียดนามใต้ในฐานะที่ปรึกษาทางทหารของสหรัฐ และกลับเข้าสู่งานสนามอีกครั้งในปี 2511 เกียรติประวัติสำคัญจากสงครามเวียดนามคือ เขาได้รับเหรียญกล้าหาญทั้งหมดถึง 11 เหรียญ

นอกจากนี้ เขาเคยไปราชการทหารที่เกาหลีใต้ในปี 2516 ต่อมา เขาได้รับการเลื่อนยศเป็นพลจัตวาในปี 2519 หลังจากนั้น เขาจึงเริ่มเข้ามามีบทบาทในกระทรวงกลาโหม และมีบทบาทในฐานะนายทหารประสานงานในการบุกการนาดา และการโจมตีทางอากาศต่อลิเบีย ในปี 2530 พอเวลล์รับตำแหน่งเป็นที่ปรึกษาด้านความมั่นคงของประธานาธิบดีเรแกน อีกสองปีต่อมา เขากลับสู่กองทัพในตำแหน่งประธานคณะเสนาธิการร่วม ซึ่งถือเป็นตำแหน่งสูงสุดของกองทัพสหรัฐฯ และเขามีบทบาทอย่างสำคัญในปฎิบัติการครั้งใหญ่ในยุคหลังสงครามเย็น คือ ปฎิบัติการโจมตีกองทัพอิรักในการยึดครองคูเวต จนเขาได้รับการยกย่องให้เป็น “วีรบุรุษของชาติ” ในสงครามอ่าวเปอร์เซีย

Advertisement

ต่อมาในปี 2543 ประธานาธิบดีบุชแต่งตั้งเขาเป็นรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งเป็นตำแหน่งสูงสุดในทางการเมืองที่อดีตนายทหารอเมริกันสีผิวเคยได้รับ แต่ในปี 2546 เขาถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากจากปัญหาการบุกอิรัก และการค้นหาอาวุธที่มีอำนาจการทำลายล้างสูง จึงตัดสินใจลาออกในเวลาต่อมา แต่ในอีกด้านหนึ่งของชีวิต เขากับภรรยาได้จัดตั้งองค์กรเพื่อทำงานทางสังคม ไม่ใช่มูลนิธิเพื่อทำงานการเมือง

แม้ในทางการเมือง เขาจะอยู่กับพรรคริพับลิกัน แต่ก็เป็นผู้สนับสนุนบารัค โอบามา ในการชิงตำแหน่งประธานาธิบดี เขาจึงเป็นบุคคลที่ได้รับการยอมรับและยกย่องจากพรรคการเมืองทั้งสองอย่างมาก ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกใจที่ในพิธีไว้อำลาสุดท้าย จะมีบุคคลระดับสูงในการเมืองอเมริกัน รวมทั้งอดีตประธานาธิบดีหลายท่านได้เข้าร่วมงานด้วย

ชีวประวัติของพลเอก คอลิน พอเวลล์ เป็นตัวอย่างที่ดีของการเป็นผู้นำทหาร ที่มีเกียรติประวัติในสนามรบตั้งแต่เริ่มเข้าสู่กองทัพ โดยเฉพาะ 11 เหรียญกล้าหาญจากสงครามเวียดนามเป็นประจักษ์พยานที่ดีของความเป็น “ทหารอาชีพ” อย่างเด่นชัดในภารกิจทางทหาร

Advertisement

หากเปรียบเทียบกับผู้นำทหารในประเทศกำลังพัฒนาหรือประเทศด้อยพัฒนาแล้ว เราจะเห็นความแตกต่างอย่างชัดเจน ผู้นำทหารในประเทศเช่นนี้มีคุณสมบัติเด่นจากการเป็น “ผู้นำรัฐประหาร” และมีเกียรติประวัติที่ชัดเจนด้วยบันทึกของชีวิตในเครื่องแบบทหารที่เป็นผู้นำ “การยึดอำนาจ” จากรัฐบาลพลเรือน จนอาจกล่าวได้ว่า การโค่นล้มรัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้งถือเป็นประวัติศาสตร์หน้าสำคัญของกองทัพในประเทศเช่นนี้

ประวัติของผู้นำทหารที่มีภารกิจหลักในการมีบทบาททางการเมือง ทำให้บรรดานายพลของกองทัพใช้ชีวิตอยู่ในทำเนียบรัฐบาล ในกระทรวงพลเรือน และในรัฐสภาที่มาจากการยึดอำนาจ พื้นที่การรบของนายทหารจึงอยู่ใน “ห้องแอร์” ของสนามการเมือง ไม่ใช่อยู่กับ “ฝุ่นและโคลน” ในสนามการทหาร เช่นเดียวกับที่ เหรียญตราบนหน้าอกเป็นเหรียญจากการรัฐประหาร ไม่ใช่เหรียญกล้าหาญจากการรบแต่อย่างใด ดังนั้น จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ เมื่อบรรดานายพลใช้ชีวิต “สุขสำราญบานใจ” อยู่กับการเมือง กองทัพจึงกลายเป็น “ทหารการเมือง” ไม่มีทางที่จะเป็น “ทหารอาชีพ” ได้เลย ฉะนั้น กระบวนการสร้างทหารอาชีพจึงถูกมองว่า เป็นภัยคุกคามต่อความเป็นทหารการเมืองที่ดำรงอยู่เป็นทิศทางหลักในกองทัพ และด้วยความต้องการที่จะใช้กองทัพเป็นเครื่องมือของการมีอำนาจทางการเมือง นายทหารในกองทัพดังกล่าวจะได้รับผลตอบแทนด้วยการมีตำแหน่งทางการเมืองและเศรษฐกิจ และขณะเดียวกันก็จะต้องทำทุกวิถีทางเพื่อไม่ให้กองทัพเป็นทหารอาชีพ

ภาวะเช่นนี้ มักจะทำให้สังคมตั้งคำถามด้วยความสงสัยเสมอว่า กองทัพที่ไม่เป็นทหารอาชีพเช่นนี้มีภารกิจอะไรในทางทหาร? และอาจทำให้บางคนตั้งปุจฉาในมิติด้านความมั่นคงว่า แล้วเราจะมีกองทัพของทหารการเมืองไว้เพื่ออะไร? ตลอดรวมถึง คำถามว่า สังคมจะสามารถตั้งความหวังในการป้องกันประเทศจากทหารการเมืองได้เพียงใด? ที่ถูกถามเช่นนี้เป็นเพราะ กองทัพของบรรดา “นายพลการเมือง” รบกับข้าศึกหลักที่เป็นพรรคการเมืองและบรรดาผู้เห็นต่างทางการเมือง

คุณลักษณะของกองทัพเช่นนี้เห็นได้ในประเทศด้อยพัฒนาเสมอ กองทัพเวียดนามใต้ กัมพูชา และลาวก่อนที่พ่ายแพ้สงครามคอมมิวนิสต์ในปี 2518 เป็นตัวอย่างในอดีตที่ชัดเจน หรือกองทัพเมียนมาปัจจุบันที่อยู่ในการเมืองอย่างยาวนานไม่ได้แตกต่างกัน และไม่อยากเปรียบเทียบว่า กองทัพไทยก็อาจไม่ต่างด้วย เพราะปฏิเสธไม่ได้เลยว่า วันนี้ภาพลักษณ์ของกองทัพไทยในเวทีสากลคือ “ทหารการเมือง” ไม่ใช่ทหารอาชีพอย่างที่ทหารควรจะเป็น และเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ผู้นำทหารไทยไม่เคยได้รับความเคารพจากสังคม

อีกทั้งวันนี้ ภาพที่ปรากฏในสื่อว่า กำลังพลของกองทัพไทยกำลัง “ปลูกผักชี” ตามคำแนะนำของผู้นำประเทศที่มีอดีตเป็นทั้งผู้บัญชาการทหารบกและผู้นำรัฐประหาร ภาพที่แสดงออกในเวทีสาธารณะเช่นนี้ทำให้เกิดคำถามตามมาอย่างมากว่า “อะไรคือภารกิจของกองทัพไทย?”

บทความนี้อาจจะเริ่มต้นด้วยชีวประวัติของทหารหาญอย่างพลเอกคอลิน พอเวลล์ เพื่อชี้ให้เห็นถึงตัวอย่างของทหารอาชีพที่ได้รับเกียรติจากสังคมอเมริกัน แม้จะจบลงด้วยความฉงนถึงทหารไทยกับภารกิจปลูกผักชี แต่กระนั้น ก็ยังมีความหวังเสมอว่า สักวันหนึ่งเราจะสร้างทหารอาชีพของกองทัพไทยได้… ไม่ใช่ “ทหารผักชี” (โรยหน้า) เช่นปัจจุบัน!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image