พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ : การจากไปของโรงหนังสกาลา กับภาพมายาของเมืองสร้างสรรค์

พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ : การจากไปของโรงหนังสกาลา กับภาพมายาของเมืองสร้างสรรค์ 

ผมขอแบ่งเรื่องราวในสัปดาห์นี้เป็นสองส่วน ส่วนแรกเป็นเรื่องของความสัมพันธ์ระหว่างผมกับโรงหนังสกาลา กับส่วนที่สองคือมุมมองกับข้อถกเถียงว่าด้วยการรื้อสกาลากับความรู้สึกของผู้คนจำนวนไม่น้อยที่รู้สึกเสียดายและเสียใจกับการหายไปของโรงหนังสกาลา

อย่าลืมว่าการหายไปของสกาลานั้นมีลักษณะที่รุนแรงจากการทุบทำลายที่เห็นกันด้วยตาเปล่า ไม่ใช่ล่องหนไปด้วยมายากล

ผมเองก็อายุรุ่นราวคราวเดียวกับโรงหนังสกาลา คนรุ่นผมหลายคนก็ยังวนเวียนดูหนังหรือมีวัฒนธรรมแห่งการดูหนัง ขณะที่ถ้าเปรียบเทียบกับเด็กรุ่นใหม่ๆ หลายคนสามารถชมภาพยนตร์และซีรีส์ที่ไหนก็ได้ผ่านโปรแกรม และแอพพลิเคชั่นในมือถือ และดูเหมือนจะนิยมมากกว่า และน่าจะถูกกว่าในมุมนี้ถ้าคนหลายกลุ่มรวมทั้งเด็กรุ่นใหม่ๆ นั้นเกิดสนใจและมีความผูกพันกับสกาลาผมก็ว่าน่าจะรับฟังกันสักหน่อย

คนรุ่นผมเนี่ยเกิดมาในยุคที่โรงภาพยนตร์หรือโรงหนังดีๆ มักมีชื่อฝรั่ง ที่จำแม่นคือ เอเธนส์ ที่พ่อแม่ชอบพาไปดู และจำได้ว่าต้องเดินเข้าไปจากถนนใหญ่ พอๆ กับแมคเคนน่าที่ไม่ไกลกันมาก การต้องเดินเข้าไปดูหนังในโรงเช่นนี้ ซึ่งดูหรูหรากว่าโรงที่ติดถนน ส่วนหนึ่งก็เพราะเขาเผื่อที่จอดรถไว้ด้วย

Advertisement

จะว่าไปแล้วโรงหนังยุคก่อนหน้านั้นก็ใช่ว่าจะไม่มี จำได้ว่าโรงภาพยนตร์ที่เคยมีการเฉลิมฉลองว่ารักษาเอาไว้ได้ก็คือ “เฉลิมกรุง” แต่ก็ไม่รู้ว่าปัจจุบันยังเปิดทำอะไรบ้าง เพราะยุคหนึ่งเปลี่ยนเป็นโรงละครและคอนเสิร์ตของผู้สูงวัย ยุคถัดมาที่ยังทันก็คือ เฉลิมไทย เพชรราม่า อะไรพวกนี้ แต่มันไม่เท่เท่า เอเธนส์ แมคเคนน่า สกาลา ลิโด้สมัยโรงใหญ่ และสยาม (แต่เหมือนสยามจะฉายหนักไปทางหนังไทย ก่อนโรงหนังจะเปลี่ยนใหม่ มีจอทันสมัย และหลังจากนั้นก็ไฟไหม้และเลิกไป)

จำได้ว่าสมัยเด็กนี่ถ้าเงินน้อยก็ต้องดูที่นั่งด้านหน้าราคายี่สิบบาท แต่ถ้าหรูหน่อยก็จะได้ดูชั้นบนอันหรูหรากว่า และต่อมาก็ถึงยุคที่โรงหนังแทบจะเจ๊งกันหมด ส่วนหนึ่งเพราะการมาถึงของร้านเช่าวิดีโอ และการที่เราสามารถซื้อเครื่องวิดีโอมาเล่นเองที่บ้านได้ (ต่อมาก็พัฒนามาเป็น วีซีดีและดีวีดี) ในยุคนั้นการไปดูหนังไม่ใช่เรื่องใหญ่อีกต่อไป เพราะโรงภาพยนตร์ถูกทำให้เล็กลงและเข้าไปอยู่ในห้างสรรพสินค้าต่างๆ จำได้ว่ามีโรงภาพยนตร์เล็กๆ หลายโรงอยู่ชั้นล่างของมาบุญครอง และหนึ่งในนั้นมีเสาต้นเบ้อเริ่มอยู่เกือบจะกลางโรง

ที่เล่ามานี้เป็นการเล่าแบบที่เอาตัวอาคารโรงภาพยนตร์จากศูนย์กลางหากมองอีกมุมแล้วโรงภาพยนตร์เป็นหนึ่งในศูนย์กลางชุมชนเมืองที่สำคัญที่ขยายไปตามชานเมือง และหลายโรงก็เริ่มร้างเป็นโต๊ะสนุกเกอร์ หรือถูกทุบทิ้ง อาทิ อ่อนนุช ปากซอยอุดมสุข สะพานควาย นั่นหมายความว่าในยุคสักสามสิบ สี่สิบปีก่อน โรงภาพยนตร์เป็นศูนย์กลางสำคัญของพื้นที่ศูนย์กลางเมืองใหม่ๆ เช่น ตลาดหรือปากซอย ที่จะมีองค์ประกอบของโรงภาพยนตร์ ท่ารถ และตลาด ปัจจุบันส่วนใหญ่ก็ถูกทุบทิ้งไปเสียมาก บางโรงก็ถูกทิ้งร้าง มีเกาะเล็กๆ ตรงข้ามตัวเมืองระนองก็ยังเห็นร่องรอย หรือแถวแม่สายเมื่อหลายสิบปีก่อน

Advertisement

ในยุคสมัยที่ยังมีโรงภาพยนตร์หลายแบบทั้งโรงเล็กในห้าง โรงใหญ่ที่เหลือรอด ก็ยังมีโรงภาพยนตร์ที่ฉายหนังควบ ซึ่งในยุคก่อนนั้นก็น่าจะเป็นโรงภาพยนตร์ใหญ่มาก่อน แต่ทรุดโทรมลงมากแล้ว ที่จำได้ที่แม่นที่สุดก็คือ แถวตลาดพระโขนงมีตั้งสามโรง นั่นหมายความว่าในยุคนั้นไม่ต้องรีบไปดูหนังก็ได้ รอมาฉายควบแล้วดูวนทั้งวันสองเรื่องหนังธรรมดา หรือบางโรงก็ฉายหนังผู้ใหญ่วนไปทั้งวัน

ผมจำได้ว่าสมัยไปใช้ชีวิตในสหรัฐอเมริกา เขาจะรักษาโรงภาพยนตร์เก่าของเมืองและฉายหนังใหม่ ส่วนโรงเล็กๆ ที่เมืองย่อย หรือชุมชนไม่ไกลนักจะมีจะฉายหนังช้ากว่าโรงกลางเมืองสักสองอาทิตย์ไปแล้ว หมายความว่า เราสามารถชมภาพยนตร์โดยไม่ต้องรีบร้อน และยิ่งช้าราคายิ่งถูก ยิ่งตอนกลางวันก็เห็นคนแก่เดินเข้ามาชมภาพยนตร์อยู่หลายคน หลายคู่

ในกรุงเทพมหานครโรงภาพยนตร์ขนาดใหญ่นั้นมักจะถูกแทนที่ด้วยโครงการพัฒนาที่ดินเป็นคอนโด เพราะความใหญ่ของมัน และสิ่งที่มาแทนที่ก็คือโรงภาพยนตร์แบบมัลติเพล็กซ์ ที่ดูใหม่ตื่นตาตื่นใจ เดินเข้าไปแล้วก็ไม่รู้ว่าอยู่โรงไหนในโลก ผมจำได้ว่าตอนไปเข้าโรงหนังแบบเดียวกันที่ต่างประเทศก็แทบจะเหมือนกัน แต่โรงมัลติเพล็กซ์มักจะอยู่นอกเมืองตามสถานที่ช้อปปิ้งใหม่ๆ ต้องขับรถไปหรือนั่งรถไปไกล

การเข้ามาของมัลติเพล็กซ์ในไทยจะเข้ามาเป็นอาคารที่มีโรงภาพยนตร์หลายโรงอยู่ด้วยกันคือเมเจอร์รัชโยธิน ก่อนจะเริ่มเข้ามายึดตามห้างสรรพสินค้า ซึ่งโรงภาพยนตร์เล็กๆ ในห้างได้เริ่มทยอยปิดตัวไปบ้างแล้ว

เรื่องสำคัญอาจไม่ใช่การแทนที่โรงภาพยนตร์เก่าด้วยโรงมัลติเพล็กซ์เท่านั้น แต่หมายถึงราคาตั๋วและข้าวโพดที่แพงมาก ยิ่งไปกวานั้นคือการควบรวมกิจการของการนำเข้าหนังกับโรงฉายเข้าด้วยกัน ซึ่งเปลี่ยนวัฒนธรรมการดูหนังไปตลอดกาล หนังไม่ค่อยหลากหลายแต่โรงมีมาก แถมหนังเรื่องหนึ่งจะมีอายุไม่เกินหนึ่งอาทิตย์หรือสองอาทิตย์ โรงภาพยนตร์ที่มีหลายโรงในตึกเดียวนั้นจะโหมฉายหนังมากรอบฉายเข้าไว้ จำได้ว่าที่หนักสุดสมัยสิบกว่าปีก่อนก็คือ The Matrix ภาคสุดท้าย

ท่ามกลางการครองตลาดของผู้นำเข้าหนังและเจ้าของโรงภาพยนตร์ ขณะที่คู่แข่งของเขาที่มีเครือน้อยกว่า โรงหนังรุ่นสกาลาก็ยังอยู่รอด และยังฉายหนังหลัก ขณะที่ลิโด้เริ่มผสมฉายหนังอินดี้มากขึ้น และเกิดเฮาส์อาร์ซีเอ เป็นทางเลือก แล้วก็ยังพอมีเครือเล็กๆ ตามชานเมืองอยู่บ้าง อันนี้เฉพาะประสบการณ์ของผมกับกรุงเทพฯ

ตัวผมเองก็ยังใช้บริการสกาลาอยู่บ้าง ด้วยเหตุผลสองข้อ หนึ่งคือ ถูกกว่าโรงหนังมัลติเพล็กซ์ และสองคือ มันใกล้ที่ทำงาน ดังนั้นเมื่อชมภาพยนตร์แล้วก็กลับไปเอารถที่ทำงานได้ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะดูที่สกาลาเป็นหลักเสมอไป เพราะความที่มีหนังฉายได้เรื่องหรือสองเรื่องเท่านั้น ถ้าเทียบกับมัลติเพล็กซ์ที่มีรอบฉายมากกว่าไม่ได้ โดยเฉพาะรอบหลังสองทุ่มมียาวถึงเที่ยงคืนหรือตีหนึ่งในยุคสามสี่ปีที่แล้วที่ยังรุ่งเรืองอยู่ แต่กระนั้นก็ตามเมื่อมีหนังฟอร์มใหญ่ สกาลาก็ยังเต็มอยู่

จุดเปลี่ยนแปลงสำคัญล่าสุดของยุคเปลี่ยนผ่านโรงหนังน่าจะเกิดไม่เกินสองสามปีหลังนี่แหละครับ ย้ำว่าก่อนโควิด เพราะว่าบริการสตรีมหนังในอินเตอร์เน็ตนั้นมีคุณภาพระดับ Full HD แล้ว และถูกลิขสิทธิ์ ย้ำว่าบางแห่งนั้นหารกันจ่ายต่อสมาชิกถูกกว่าดูหนังเรื่องนึงด้วยซ้ำ ดังนั้น โรงหนังก็จะมีคนเข้าใช้บริการน้อยลงและโรงหนังเริ่มยกระดับตัวเองไปให้แพงขึ้นไปอีก ไม่ใช่แค่เพราะต้นทุนสูงขึ้น

แต่เป็นเพราะว่า โรงภาพยนตร์เริ่มใช้ระบบตั๋วลดราคา และเริ่มเข้าไปเชื่อมโยงกับพวกบัตรเครดิต และบริการโทรศัพท์มือถือที่มีโปรโมชั่นต่างๆ หมายความว่าอย่างน้อยเดือนนึงก็น่าจะหาสิทธิดูได้สักเรื่อง หรือเราไปดูหนังที่โรงภาพยนตร์โดยใช้สิทธิที่มีจากบริการอื่นๆ

นั่นคือที่มาที่ไปก่อนที่โรงภาพยนตร์จะกลายเป็นสถานที่อันตรายขั้นสูงสุดสถานที่หนึ่งที่ถูกสั่งปิดยาว อาจจะน้อยกว่าแค่สถานบริการเท่านั้นเอง แม้ว่าจะไม่มีเหล้าและวงดนตรีเข้าเกี่ยวข้อง

และน่าจะเป็นส่วนหนึ่งที่สุดท้ายสกาลาถึงได้ถูกทุบอย่างรวดเร็วเหนือการคาดฝันของผู้คนจำนวนมากที่พยายามจะรักษาสกาล่าเอาไว้ แต่ก็ไม่สำเร็จ เพราะในช่วงสุดท้ายนั้นโรงภาพยนตร์ปิดตัวไปตั้งแต่ในยุคโควิดเริ่มระบาดแล้ว

มาสู่ประเด็นที่อยากตั้งข้อสังเกตเพิ่มเติมในกรณีของการทุบสกาลา โดยเฉพาะความเห็นที่น่าสนใจมากที่แตกต่างกันของสองสาขาอาชีพ นั่นคือ ในขณะที่สถาปนิกเองนั้นให้ความสำคัญกับเรื่องของการให้คุณค่ากับรูปแบบของสถาปัตยกรรมของสกาลาเป็นอย่างมาก ในนามของสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ แต่กรมศิลปากรนั้นไม่ให้ความสำคัญในเรื่องคุณค่าของอาคารดังกล่าว เพราะไม่เข้าข่ายโบราณสถาน ทั้งในแง่ของเวลา และในแง่ของความเป็นเจ้าของที่เป็นของมหาวิทยาลัย ไม่ใช่พื้นที่สาธารณะ (แถมยังเป็นสถานที่ในส่วนแสวงหารายได้ของมหาวิทยาลัยเข้าไปอีก)

ผมพูดตรงๆ ว่าเรื่องนี้ควรนำมาขยายผลในการชี้ให้เห็นถึงสองสายธารของแนวคิดเรื่องของคุณค่าของสิ่งปลูกสร้างและวัฒนธรรม และแน่นอนว่าสถาปนิกในรอบนี้พ่ายแพ้แก่นักอนุรักษ์ที่ผูกขาดความเป็นทางการในนามของกฎหมายและส่วนหนึ่งของอำนาจรัฐในการตัดสิน

ผมเห็นว่าหัวใจสำคัญของเรื่องอาจไม่ใช่แค่เรื่องของการผูกขาดอดีต ซึ่งรัฐนั้นผูกขาดเอาไว้ ภายใต้กรอบคิดแบบหนึ่งที่ไม่ยอมอนุรักษ์สิ่งนี้

แต่เป็นเรื่องของการต่อสู้ว่าใครเป็นเจ้าของ “ปัจจุบัน” และ “อนาคต” เพราะเรื่องใหญ่มันไม่ได้อยู่ที่กฎหมายอนุรักษ์เท่านั้น แต่มันอยู่ที่การใช้งานและการเป็นเจ้าของ “ปัจจุบัน” ด้วย

ถ้าเราไม่ติดโจทย์เรื่องการอนุรักษ์ แต่เรามองโจทย์ว่ามันเป็นการใช้งานที่ต่อเนื่อง นั่นหมายความว่าเรากำลังสู้กับแย่งชิงความเป็นเจ้าของปัจจุบันและอนาคต

หมายความว่าเราต้องเริ่มมองว่าพื้นที่ของสกาลานั้นจะต้องถูกเปลี่ยนผ่านเมื่อหมดสัญญามาสู่สาธารณะ เพราะมหาวิทยาลัยเป็นสถาบันสาธารณะ การตัดสินใจในเรื่องใหญ่ขนาดนี้กับการเปลี่ยนแปลงอาคารที่ให้ความหมายและยังใช้ประโยชน์ได้ย่อมจะต้องผ่านการตัดสินใจของประชาคม และการตัดสินใจต้องรักษาสมดุลของการหารายได้ด้วยข้ออ้างว่าเพื่อการศึกษา กับเรื่องของการใช้ประโยชน์พื้นที่เพื่อคงความเป็นเสาหลักของแผ่นดินตามความใฝ่ฝันของประชาคมมหาวิทยาลัยแห่งนี้ ซึ่งมีทั้งคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ คณะนิเทศศาสตร์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ และคณะอักษรศาสตร์เป็นอย่างน้อย ที่น่าจะสามารถมีร่วมกันตัดสินว่าจะทำให้พื้นที่สกาลานั้นเป็นโรงภาพยนตร์ และโรงละครของมหาวิทยาลัยได้อย่างไร แถมยังมีคณะบริหารธุรกิจอีกตั้งสองคณะที่สามารถร่วมสร้างตัวแบบธุรกิจใหม่ๆ ให้สมกับที่เป็นมหาวิทยาลัยของแผ่นดิน

ในต่างประเทศนั้นก็มีโรงภาพยนตร์และโรงละครที่รองรับทั้งความต้องการของประชาคมมหาวิทยาลัยและชุมชนโดยรอบ และมีประวัติอันยาวนาน มหาวิทยาลัยไหนมีก็ถูกมองว่าเก่าแก่ และทรงคุณค่าเพราะใช้งานได้ ไม่ใช่แค่เก่าแก่แต่ชื่อ

ที่สำคัญมหาวิทยาลัยต้องคิดหาหนทางใหม่ๆ ในการลงทุนและแสวงหารายได้ที่พ้นไปจากการใช้วิธีโบราณผ่านการแสวงหารายได้ผ่านค่าเช่า เพราะการแสวงหารายได้ผ่านค่าเช่า แม้ว่าจะง่ายและสร้างรายได้มหาศาล แต่หลายกรณีแล้วที่ยิ่งทำให้มหาวิทยาลัยนั้นมีลักษณะสัมพันธ์กับชุมชนโดยรอบแบบผู้เช่า และในระยะยาวก็ไม่ได้ทำให้นิสิตและบุคลากรได้รับบริการที่สมเหตุสมผล

มหาวิทยาลัยอาจมีรายได้เพิ่มขึ้น แต่ค่าครองชีพของผู้คนที่เกี่ยวข้องและทำงานหรือมารับบริการกับมหาวิทยาลัยก็เพิ่มขึ้น คำถามที่สำคัญก็คือ นิสิตของมหาวิทยาลัยเองเมื่อเขาสัมพันธ์กับผู้คนรอบมหาวิทยาลัยก็จะเป็นเรื่องของบริการราคาแพง และร้านต่างๆ ที่ผลัดเปลี่ยนเวียนกันมาเรื่อยๆ เพราะสู้ค่าเช่าไม่ไหว กลายเป็นว่าจะมีชีวิตอยู่ได้ก็ต้องออกไปให้ห่างจากพื้นที่มหาวิทยาลัยมากขึ้นถึงจะเจอห้องแถวขายอาหารราคาที่สมเหตุสมผลหน่อย

ผมไม่ได้จะบอกว่ามหาวิทยาลัยจะต้องใจดีมีเมตตาอะไรขนาดนั้น แต่ควรคิดที่จะแสวงหารายได้ผ่านการลงทุนในรูปแบบอื่น ผ่านการจดลิขสิทธิ์นวัตกรรม ผ่านรายได้จากงานวิจัย ผ่านบริการวิชาการในอีกหลายรูปแบบ ที่ไม่ก่อให้เกิดความขัดแย้งกับผู้คนและสุ่มเสี่ยงจะเกิดภาพลักษณ์ในแง่ลบ การลงทุนของมหาวิทยาลัยไม่ควรใช้ระบบโบราณในการเป็นเจ้าที่ดินแล้วขึ้นค่าเช่าจนรอบมหาวิทยาลัยจะกลายเป็นสวนสนุกที่เปลี่ยนโครงเรื่องไปทุกวันตามแต่จะเรียกชื่อโครงการ และยิ่งสร้างยิ่งเห็นว่าพื้นทีในส่วนที่ใช้แสวงหารายได้ของมหาวิทยาลัยกลับมีสภาพอาคารที่เหมือนจะเป็นอาคารที่พร้อมจะถูกทุบทำลายได้ทุกเมื่อเมื่อโครงการใหม่ที่มีรายได้มากกว่าเดิมนั้นพร้อมจะมาทดแทน

ลามจนความคิดประเภทที่ใช้ชื่อเศรษฐกิจสร้างสรรค์ฝันหวานอะไรไปกับภาพออฟฟิศสมัยใหม่และคุณภาพชีวิตจากร้านอาหารราคาแพงที่จะมาเปิดสาขาอยู่ในพื้นที่ ที่รายรอบไปด้วยย่านพักอาศัยแนวสูงที่เปลี่ยนสภาพพื้นที่ด้วยการย้ายสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ ไปมาหลายครั้งแล้ว

เพราะความเป็นเจ้าของที่ดินของมหาวิทยาลัยนั้น “ศักดิ์สิทธิ์” และ “ยิ่งใหญ่” ที่สุดกว่าทุกความศักดิ์สิทธิ์ทั้งปวง

จนถึงบรรทัดนี้ผมอยากจะพาท่านผู้อ่านให้ยืนหยัดในปัจจุบันและอนาคต เพราะเรื่องที่พูดทั้งหมดคือเรื่องของปัจจุบันและอนาคต แต่เรื่องของปัจจุบันและอนาคตนั้นไม่จำเป็นต้องหมายถึงการทุบทำลาย เรื่องของการสร้างสรรค์ไม่จำเป็นต้องเป็นการสร้างสรรค์ที่มีมิติการทำลายล้างเป็นหัวใจสำคัญ (creative destruction)

อย่าให้ถึงกับว่า การเปลี่ยนแปลงการใช้พื้นที่อันเป็นนิรันดร์นั้นคือหัวใจสำคัญของชีวิตประจำวันของประชาคมของมหาวิทยาลัยแห่งนี้และผู้คนรอบมหาวิทยาลัยมากขึ้นทุกที

แน่นอนว่าชีวิตในยุคก่อนนี้ที่ตลาดสามย่านอาจไม่ได้สะดวกสบาย และงดงามด้วยทัศนียภาพแบบที่เราเห็นตึกใหญ่ที่มาแทนที่ แต่อย่างน้อยความเข้มข้นของความสัมพันธ์ของผู้คนในพื้นที่ก็เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตของคนหลายๆ รุ่นในอดีตที่เชื่อมร้อยกันผ่านประสบการณ์ชีวิตที่หลากหลาย

ที่สำคัญแนวคิดว่าด้วยเศรษฐกิจสร้างสรรค์ และเมืองสร้างสรรค์ (creative cities) นั้นไม่ใช่เรื่องของแนวคิดทางธุรกิจเท่านั้น

แต่หมายถึงชีวิตและความสัมพันธ์ทางสังคมอีกมากมาย และหนึ่งในเงื่อนไขของเศรษฐกิจสร้างสรรค์นั้นไม่ใช่แค่การเข้าแหล่งทุนใหม่ๆ และการมีกฎหมายหรือข้อยกเว้นทางกฎหมายที่เอื้อต่อการพัฒนา

แต่หมายถึงการทำให้เมืองนั้นมีความเป็นธรรม มีความยุติธรรม และมีประสิทธิผลสำหรับพลเมือง/ประชาชนในพื้นที่ที่เขาจะมีความคิดเห็นที่หลากหลาย และมีทางออกในการแก้ปัญหาใหม่ๆ ไม่ใช่ใช้การทุบทำลายในนามของสิทธิในการเป็นเจ้าของที่คลุมเครือต่อการตีความต่อความเป็นสาธารณะของสถานศึกษา

ในอีกสาระสำคัญหนึ่งของความสร้างสรรค์ของเศรษฐกิจนั้นไม่ใช่แค่เรื่องของการออกแบบด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ แต่หมายถึงการเกิดการตื่นตัวและเคลื่อนไหวในเมืองหรือพื้นที่เมืองในฐานะเป็นเครื่องมือต่อสู้ต่อรองกับรัฐ ทุน และการควบคุม/ครอบงำ ด้วยว่าการใช้กฎหมายหรืออ้างสิทธิทางกฎหมายนั้นมักจะเป็นเรื่องที่ให้ประโยชน์กับคนที่ได้เปรียบในสังคมมากกว่าคนที่เสียเปรียบในสังคม

ดังนั้น การรื้อทำลายพื้นที่เพื่อสร้างการพัฒนาที่ดินใหม่ๆ ในนามของการสร้างสิ่งใหม่ที่สัญญาด้วยความสวยหรูว่าจะดีกว่าเดิมนั้นจึงอาจเป็นส่วนหนึ่งของ “ความอยุติธรรมในเชิงพื้นที่” (spatial injustice) ซึ่งพื้นที่ที่เคยมีความเป็นสาธารณะในความหมายของการเคยเข้าถึงได้ถูกให้ความหมายใหม่ว่าเป็นไม่ใช่ทรัพย์สินที่คนทั่วไปเข้าถึงได้ (อย่างน้อยในระดับเดิม) หรือจะต้องมีราคาที่เพิ่มขึ้นในการเข้าถึง

ในแง่นี้การพูดถึงเมืองสร้างสรรค์จึงไม่ใช่แค่เรื่องเท่ๆ ทันสมัย ไวต่อความเปลี่ยนแปลงของโลกโดยเฉพาะโลกธุรกิจ หากแต่เมืองที่สร้างสรรค์อาจจะหมายถึงขบวนการทางสังคมที่เปลี่ยนแปลงเมืองโดยการอ้างสิทธิที่จะเข้าถึง เป็นเจ้าของร่วม และเปลี่ยนแปลงเมืองอย่างมีศักดิ์ศรี (Rights to the City) โดยการประกาศ (manifest) ออกมาว่าเป้าหมายและท่วงทำนองการเปลี่ยนแปลงนั้นสามารถเกิดขึ้นได้จากผู้คนที่อยู่ในเมืองนั้นๆ อาทิ การแสดงออกทางศิลปะ ซึ่งรวมทั้งการวาดลวดลายต่างๆ ลงบนพื้นผิวและอาคาร และการกำหนดความหมายของความงดงาม หรือสุนทรียศาสตร์ผ่านการ “นับรวม” สิ่งที่ไม่เคยถูกนับ หรือสิ่งที่เคยถูกกดทับเอาไว้

ขบวนการศิลปะต่างๆ จึงกลายเป็นส่วนสำคัญและแนวหน้าในการให้ความหมายกับความสร้างสรรค์ที่เกิดขึ้น และการพูดถึงขนาดของการประกอบการ และการสร้าง “บรรยากาศ” ของการส่งเสริมการคิดค้นสิ่งใหม่ๆ ซึ่งจะต้องรวมไปถึงเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นก็จะต้องเป็นส่วนหนึ่งของเศรษฐกิจสร้างสรรค์

มิเช่นนั้นเศรษฐกิจที่สร้างสรรค์ และเมืองที่สร้างสรรค์ก็เป็นแค่คำกลวงเปล่าที่เป็นเงื่อนไขของการไล่รื้อผู้เช่าเก่าออก และลงทุนเพื่อแสวงหากำไรสูงสุดในพื้นที่นั้นเท่านั้นเอง

หลายปีก่อนผมจำได้ว่าเคยไปสิงคโปร์ แล้วมีอุโมงค์ตรงถนนออชาด ซึ่งมีการเอาไวนิลมาปูผนังทั้งหมด และมีภาพ กราฟฟิตี้ปลอมๆ ในอุโมงค์นั้น เพื่อให้ดูว่าอุโมงค์นั้นมีความฮิป หรือความทันสมัย มีบรรยากาศของความมีชีวิตชีวา ทั้งที่มันเป็นแค่การสร้างบรรยากาศที่ปลอมเปลือกมากในฐานะส่วนหนึ่งของการโฆษณาขายสินค้าสำหรับวัยรุ่น

ขณะที่ในอีกตัวอย่างหนึ่งคือในช่วงการลุกฮือของประชาชนในอียิปต์เมื่อหลายปีก่อนนั้น นอกเหนือจากการแสดงออกทางศิลปะในการชุมนุมในแบบยึดครองพื้นที่ ยังมีการนำเสนอความคิดของบรรดาผู้สร้างภาพยนตร์ที่มีแนวคิดวิพากษ์วิจารณ์สังคม ว่าแทนที่จะฉายภาพยนตร์ในโรง พวกเขาควรจะฉายภาพยนตร์บนท้องถนนซึ่งเป็นพื้นที่สาธารณะ ในฐานะส่วนหนึ่งของการเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงสังคมไปด้วย เพราะก่อนหน้านั้นกรุงไคโรก็มีการเปลี่ยนแปลงที่เกิดความเหลื่อมล้ำในสังคมมากขึ้นเรื่อยๆ

การฉายภาพยนตร์ในพื้นที่สาธารณะจึงไม่ใช่แค่การอ้างสิทธิในการยึดครองเป็นเจ้าของร่วมในพื้นที่สาธารณะในทางกายภาพเท่านั้น แต่ยังหมายรวมไปถึงการยึดครองและช่วงชิงความหมายในทางสังคมที่กำกับการใช้พื้นที่สาธารณะเหล่านั้น ว่าสิ่งใดทำได้ หรือทำไม่ได้ (ดูเพิ่มเติมจาก Taher Abdel-Ghani. 2017. Cinema as an Urban Catalyst for Creative Cities: The Case of Post-Revolution Cairo. ACTAS ICONO 14)

ความน่ากลัวของการสร้างสรรค์และพัฒนาผ่านการทุบทำลายสิ่งเก่าและสร้างสิ่งใหม่เป็นเรื่องที่มากกว่าเรื่องทางกายภาพ เพราะมันสร้างผลกระทบทางจิตใจให้คนรู้สึกแปลกแยก และบางกรณีก็สูญเสียความรู้สึกในการเป็นเจ้าเข้าเจ้าของร่วม หรือสัมพันธ์เชื่อมโยงกันกับคนอื่นๆ อันเป็นรากฐานของการอยู่ร่วมกัน ความสัมพันธ์แบบตลาดและแบบทุนนิยมนั้นไม่ใช่เรื่องที่มีแต่เรื่องเงินทองและกำไรเท่านั้น แต่ยังหมายถึงเงื่อนไขและปัจจัยอีกจำนวนหนึ่งที่หล่อเลี้ยงให้เกิดความเป็นชุมชน และผูกพันชีวิตผู้คนเข้าด้วยกันไม่ให้รู้สึกว่าโลกแห่งการแสวงหากำไรนั้นมันโหดร้ายกับชีวิตและความรู้สึกของเราได้ถึงเพียงนี้เชียวหรือ …

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image