สุจิตต์ วงษ์เทศ : อย่าไว้ใจทาง อย่าวางใจระเบิดหินใกล้โบราณสถาน ของดีมีอยู่ รู้แล้วต้องรักษา อย่าเสือกปล่อยทำลาย

ผวาระเบิดหิน - ภาพสลักนูนต่ำยุคทวารวดี อายุราวพุทธศตวรรษที่ 13-15 หรือราว 1 พันปี เป็นภาพพระพุทธเจ้ากำลังเทศนาโปรดพระศิวะและพระนารายณ์ ภายในถ้ำพระโพธิสัตว์ ต. ทับกวาง อ. แก่งคอย จ. สระบุรี มีบริษัทปูนซีเมนต์ขอรับสัมปทานระเบิดหินในพื้นที่ใกล้เคียง อาจส่งผลกระทบต่อถ้ำดังกล่าว เมื่อวันที่ 23 กันยายน (ภาพและคำอธิบายจาก มติชน ฉบับวันเสาร์ที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2559 หน้า 1)

ของดีมีอยู่ รู้แล้วต้องรักษา อย่าเสือกปล่อยทำลายฉิบหายวายวอดแล้วมา ฟูมฟายเสียดายของดีเมื่อไม่มีเหลือ

ฉะนั้นอย่าไว้ใจทาง อย่างวางใจให้ระเบิดหินใกล้โบราณสถาน

แม้สลักหินหน้าผาเป็นพระพุทธรูปก็วางใจไม่ได้ เพราะจะมีตามมาอีกมากคือสิ่งก่อสร้างสารพัดที่อ้างศาสนาจนป่าพินาศ ธรรมชาติชิบหายเพิ่มอีก

 

Advertisement

ถ้ำโพธิสัตว์ ที่ทับกวาง สระบุรี

พระพุทธเจ้ากำลังแสดงธรรม โดยประทับนั่งห้อยพระบาท (นั่งเก้าอี้) มีฐานบัวรองรับ

บรรดาเทพชุมนุมพร้อมกันฟังธรรมที่พุทธองค์แสดง มีพระศิวะ (หรืออาจเป็นพระพรหม) และพระวิษณุ (พระนารายณ์) รวมทั้งเหล่าเทวดา, นางฟ้า, นางอัปสร, และคนธรรพ์

Advertisement

นักโบราณคดีประวัติศาสตร์ศิลปะอธิบายสืบกันมานานแล้ว ว่าภาพสลักชุดนี้แสดงความสำคัญของพุทธศาสนาสมัยนั้น มีเหนือกว่าหรือมีผู้นับถือมากกว่าศาสนาพราหมณ์

ภาพสลักนูนต่ำนี้ทำขึ้นราวหลัง พ.ศ. 1200 บนผนังถ้ำพระโพธิสัตว์ ต. ทับกวาง อ. แก่งคอย จ. สระบุรี

(ถ้ำพระโพธิสัตว์ มีหลายชื่อ เช่น ถ้ำพระงาม, ถ้ำเขาน้ำพุ, ฯลฯ ล้วนไม่ใช่ชื่อดั้งเดิมในยุคมีภาพสลัก แต่เป็นชื่อมีผู้เรียกสมัยหลังๆ)

 

ต้นแบบ ผี, พราหมณ์, พุทธ

ภาพสลักนูนต่ำถ้ำพระโพธิสัตว์ แสดงการอยู่ปนกันของความเชื่อในศาสนาร่วม             ผี, พราหมณ์, พุทธ โดยยกย่องพุทธกับพราหมณ์คลุมแก่นของผี

ผี เป็นศาสนาพื้นเมืองดั้งเดิมที่มีอยู่บริเวณนั้นหลายพันปีมาแล้ว ก่อนพราหมณ์กับพุทธเข้าไป หรือตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ของลุ่มน้ำลพบุรี-ป่าสัก

พราหมณ์, พุทธ เป็นศาสนาใหม่จากอินเดีย, ลังกา เพิ่งเข้ามาถึงภาคพื้นอุษาคเนย์แล้วผ่านทางเมืองอู่ทอง (จ. สุพรรณบุรี) ราวหลัง พ.ศ. 1000

ผี, พราหมณ์, พุทธเหล่านี้เป็นพื้นฐานสำคัญส่งต่อถึงศาสนาไทย ในประเทศไทยปัจจุบัน

 

กลุ่มเอกเทศ

ถ้ำพระโพธิสัตว์ ควรเป็นหลักแหล่งของกลุ่มผู้ถืออำนาจเอกเทศ อาจเป็นเครือญาติกับผู้ถืออำนาจรัฐที่มีศูนย์รวมอยู่เมืองลพบุรียุคนั้น กับเมืองเอกเทศใกล้เคียง เช่น เมืองอู่ตะเภา ต. ม่วงหวาน อ. หนองแซง จ. สระบุรี, เมืองขีดขิน (เมืองปรันตปะ) บ้านคูเมือง ต. บ้านหมอ อ. บ้านหมอ จ. สระบุรี

ขณะเดียวกันก็เป็นเครือญาติกับกลุ่มมีอำนาจรัฐบริเวณที่ราบสูงโคราช ต้นลำน้ำมูล จนถึงเมืองพระนครที่โตนเลสาบในกัมพูชา

บริเวณนี้เป็นหุบเขาของพื้นที่ต่อเนื่องจากที่ราบลุ่มขึ้นที่ราบสูงโคราช มีพืดเขาโอบล้อมด้านตะวันออกกับด้านเหนือ-ใต้ มีแม่น้ำป่าสักทำแนวปราการอยู่ทางตะวันตก

ภูมิประเทศเป็นเอกเทศจากอำนาจรัฐใหญ่กว่าที่มีศูนย์รวมอยู่บริเวณเมืองลพบุรี แต่อำนาจไม่แผ่กระจายถึงหุบเขาที่มีถ้ำพระโพธิสัตว์

 

ทิวเขาศักดิ์สิทธิ์

ถ้ำพระโพธิสัตว์ อยู่บนทิวเขาศักดิ์สิทธิ์ในศาสนาผีมาแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์  แล้วสืบเนื่องจนถึงยุคทวารวดี หลังรับศาสนาพราหมณ์กับพุทธจากอินเดีย

โดยเกี่ยวเนื่องกับเขาพระพุทธบาท (อ. พระพุทธบาท จ. สระบุรี) กับถ้ำนารายณ์ เขาวง (ที่พบจารึกกล่าวถึงชาวสิงหล ลังกา มานมัสการรอยพระพุทธบาท)

สืบถึงยุคอยุธยา ความศักดิ์สิทธิ์ยังต่อเนื่องให้เห็นอย่างน้อย 2 แห่ง (1.) พระพุทธฉาย วัดเขาพระพุทธฉาย อ. เมือง จ. สระบุรี (2.) เขาพนมโยง วัดเขาพนมโยง อ. หนองแค จ. สระบุรี สุนทรภู่เรียก “วัดเจ้าฟ้าอากาศนาถนรินทร์” ในนิราศวัดเจ้าฟ้า (แต่งสมัย        ร.3)

 

ระเบิดหินใกล้ถ้ำโพธิสัตว์ ห่วงภาพพันปี

ล้ำค่า “ทวารวดี” ยื่นค้าน 2 บริษัท สัมปทานสระบุรี

(ที่มา : มติชนรายวัน ฉบับวันเสาร์ที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2559 หน้า 1)

เมื่อวันที่ 23 กันยายน รายงานข่าวแจ้งว่า ได้มีบริษัทเอกชน 2 รายขอทำการระเบิดหินภูเขาใกล้กับถ้ำพระโพธิสัตว์ หรือถ้ำเขาน้ำพุ หมู่ 10 ต. ทับกวาง อ. แก่งคอย จ. สระบุรี โดยรายหนึ่งเป็นบริษัทปูนชื่อดัง จะขอระเบิดหินห่างจากถ้ำพระโพธิสัตว์ประมาณ 2 กิโลเมตร และอีกบริษัทหนึ่งจะขอระเบิดหินห่างจากถ้ำพระโพธิสัตว์ประมาณ 280 เมตร ซึ่งเสี่ยงต่อความเสียหายกับภาพสลักนูนต่ำในถ้ำพระโพธิสัตว์ จากการสั่นสะเทือนเป็นอย่างมาก โดยเจ้าของพื้นที่ที่ดูแลโบราณสถานคือสำนักศิลปากรที่ 3 พระนครศรีอยุธยา อยู่ระหว่างการพิจารณาจะให้ระเบิดหินหรือไม่อย่างไร

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ถ้ำพระโพธิสัตว์มีอีกชื่อหนึ่งว่าถ้ำเขาน้ำพุ ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 82 ตอนที่ 29 วันที่ 6 เมษายน พ.ศ.2506 มีข้อมูลบันทึกถึงการค้นพบและรายละเอียดอื่นๆ ในทะเบียนโบราณวัตถุสถานทั่วราชอาณาจักร พ.ศ. 2516 ของกรมศิลปากร โดยศาสตราจารย์พิเศษ ศรีศักร วัลลิโภดม ซึ่งในขณะนั้นยังรับราชการเป็นอาจารย์ประจำคณะโบราณคดี ม.ศิลปากร ตามประวัติระบุว่า แรกพบถ้ำนี้มีผู้พบเครื่องมือหินที่แสดงให้เห็นว่ามีคนในสมัยก่อนประวัติศาสตร์และยุคต้นประวัติศาสตร์อยู่อาศัย แต่สิ่งที่โดดเด่นที่แสดงให้เห็นว่าเป็นศาสนสถานสำคัญคือ ภาพสลักนูนต่ำบนผนังถ้ำ ที่มีรูปพระพุทธรูปประทับนั่งห้อยพระบาท มีรูปพระอิศวร (ศิวะ) พระนารายณ์ (วิษณุ) เรียงแถวต่อมาในลักษณะแสดงความอ่อนน้อม รวมทั้งมีภาพเทวดาเหาะและนั่งแสดงความเคารพ ลักษณะศิลปกรรมฝีมือช่างเป็นแบบทวารวดี ซึ่งศาสตราจารย์พิเศษ ศรีศักรให้ความเห็นว่าจากรายละเอียดต่างๆ ของภาพสลักที่แสดงการห้อยพระบาทของพระพุทธรูปและทรงผมของพระศิวะ รวมทั้งมงกุฎและท่ายืนของพระวิษณุ แสดงให้เห็นว่าผู้สลักไม่ใช่ช่างในท้องถิ่น แต่เป็นผู้มีความรู้ด้านศิลปะและสุนทรียศาสตร์มากพอสมควร

ผู้สื่อข่าวเดินทางไปพบ พระครูวิสาลปัญญาภรณ์ อายุ 63 ปี เจ้าอาวาสวัดถ้ำพระโพธิสัตว์ เผยว่า อาตมาเป็นผู้ดูแลในเขตวัดถ้ำพระโพธิสัตว์ อยากจะให้ทางกรมศิลปากร หรือหน่วยงานที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมต่างๆ ช่วยดูแลว่าการสัมปทานระเบิดหิน เนื่องจากอยู่ห่างจากวัดประมาณ 1,700 เมตร เกรงว่าแรงระเบิดหินจะกระทบต่อภาพโบราณคดีในถ้ำ

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image