ปัญหาน้ำมันแพง

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ตอบกระทู้ถามของวุฒิสมาชิกในการประชุมวุฒิสภาถึงราคาน้ำมันเชื้อเพลิงเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน ว่า ปัจจัยที่ทำให้ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงสูงขึ้น มาจาก 2 ปัจจัย คือ ราคาน้ำมันตลาดโลกสูงขึ้น และราคาอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาท โดยปัจจัยทั้ง 2 อย่างเป็นผลมาจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ที่คลี่คลายจากภาวะโควิด-19 และในภูมิภาคตะวันตกที่มีการเติบโตอย่างรวดเร็ว อากาศหนาว ต้องการพลังงาน ทำให้ราคาน้ำมัน อัตราแลกเปลี่ยนสูงขึ้นมาก ยอมรับว่าราคาน้ำมันดีเซลกระทบประชาชนมาก จากปลายปี ราคา 25 บาทต่อลิตร ปัจจุบันทะลุ 30 บาทต่อลิตร ขณะที่ก๊าซหุงต้มราคาจาก 500 เหรียญต่อตัน เป็น 800 เหรียญต่อตัน

นายสุพัฒนพงษ์ บอกถึงการแก้ปัญหาว่า คณะกรรมการนโยบายและแผนพลังงาน (กบง.) มีมติตั้งแต่เดือนตุลาคม เพื่อรักษาระดับให้น้ำมันดีเซลราคาไม่เกินลิตรละ 30 บาท ส่วนที่เกินใช้กลไกของกองทุนน้ำมัน นอกจากนี้ ยังได้ขอความร่วมมือให้ผู้ขายลดค่าการตลาดลง แม้ว่าการกำหนดราคาขายปลีกน้ำมันจะเป็นไปตามกลไกตลาดเสรีก็ตาม สำหรับการใช้กลไกของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงนั้น หากไม่พอจะจัดหาแหล่งทุนจากแหล่งที่มาอื่นๆ ได้ และตามมาตรา 55 ของ พ.ร.บ.กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง กำหนดระยะเวลาให้ผู้ผลิตต้องปรับตัวและลดต้นทุน ซึ่งการชดเชยกองทุนมีระยะเวลาไม่เกินปี 2565 และสามารถต่อได้ 2 ครั้ง ครั้งละ 2 ปี ดังนั้นจะ สิ้นสุดในปี 2569

ส่วนข้อเสนอต่อการลดราคาน้ำมันผสมชีวภาพนั้น นายสุพัฒนพงษ์กล่าวว่า การผสมน้ำมันมีต้นทุนสูง เพราะเหตุผลจากการขาดแคลน ซึ่งผู้ผลิตรายใหญ่ เช่น อินโดนีเซีย มาเลเซีย มีการระบาดโควิด ทำให้ขาดแคลนแรงงานเก็บเกี่ยวปาล์มน้ำมัน ทำให้น้ำมันราคาสูง ทั้งนี้ รัฐบาลดำเนินการพยุงราคาและดูแลประชาชน รวมถึงประคับประคองการฟื้นตัวของเศรษฐกิจให้พ้นวิกฤตให้ได้ สำหรับข้อสงสัยเรื่องแนวโน้มการลดปริมาณสัดส่วนผสม หรือยกเลิกการผสมเชื้อเพลิงชีวภาพในน้ำมันเชื้อเพลิงหรือไม่ การผสมดังกล่าวเป็นนโยบายที่รัฐบาลต้องการส่งเสริมพลังงานสะอาด ลดฝุ่นละออง ช่วยรักษาเสถียรภาพพืชผลเกษตรให้เกษตรกรมีรายได้มั่นคง รวมถึงลดพึ่งพาการนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงจากต่างประเทศ หากลดปริมาณสัดส่วนผสมอาจกระทบเศรษฐกิจต้องสูญเสียเงินตราออกนอกประเทศ แต่หากคงไว้จะสร้างเศรษฐกิจ มีเงินหมุนเวียนในประเทศ ดังนั้นการยกเลิกเวลานี้ไม่เป็นประโยชน์ ไม่สอดคล้องนโยบายรัฐแต่อาจพิจารณาตามความจำเป็นในระยะเวลาที่เหมาะสม ขณะนี้ กบง.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำลังศึกษาผลกระทบ

นอกจากนี้ นายสุพัฒนพงษ์ ยังกล่าวถึงราคาก๊าซหุงต้มโดยระบุว่าหน่วยงานรัฐบาลได้ประสานและตรึงราคา ส่วนกรณีที่พบการบิดเบือนข้อเท็จจริง กระทรวงพลังงานจะดำเนินการตามกฎหมายอย่างจริงจัง พร้อมทั้งปฏิบัติการเชิงรุกเพื่อสร้างความเข้าใจกับประชาชน ซึ่งหากรัฐบาลไม่ว่ากระทรวงใดใช้วิธีเช่นนี้ หนึ่งคือบอกเล่าปัญหาที่เกิดขึ้น สองบอกกล่าวถึงหนทางแก้ไขหรือบรรเทาปัญหา และสามเปิดการรับฟังแนวทางการแก้ไขจากภาคส่วนต่างๆ อย่างเป็นมิตร เชื่อว่าในไม่ช้าจะพบหนทางออก หรืออย่างน้อยเมื่อเกิดความเข้าใจก็จะไม่สร้างปัญหาทับซ้อนปัญหาเดิมขึ้นมาอีก

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image