สง่างามตาม’กฎหมาย’ โดย กล้า สมุทวณิช

แฟ้มภาพ

มีประโยคสำคัญในทางกฎหมายเอกชนว่า “ไม่มีกฎหมายห้ามย่อมทำได้”

หลักการของประโยคนี้ คือการรับรองถึง “สิทธิ” คือสิ่งที่เราสามารถเรียกร้องการคุ้มครองจากกฎหมายได้ว่ารัฐหรือใครจะต้องไม่เข้ามายุ่งเกี่ยว แทรกสอด เข้ามาห้ามปราม หรือบังคับเอากับเรื่องที่เอกชนมีสิทธิหรือเสรีภาพ หรือถ้าจะมีการจำกัดก็จะต้องมีกฎหมายบัญญัติไว้ให้ชัดแจ้ง ดังนั้นถ้าเป็นเรื่องของสิทธิแล้ว จึงต้องอยู่บนฐานว่า ถ้าไม่มีกฎหมายห้ามเรื่องอะไรไว้ ประชาชนย่อมมีสิทธิกระทำการในเรื่องนั้น

ในทางอาญาคือ ถ้าไม่มีกฎหมายห้ามการกระทำใดไว้ การกระทำนอกเหนือจากที่กฎหมายห้ามนั้นก็ต้องไม่เป็นความผิด ประชาชนชอบที่จะกระทำได้โดยไม่ต้องกลัวว่ารัฐจะจับไปลงโทษตามกบิลเมือง ส่วนในทางแพ่งนั้น ผู้คนพลเมืองก็ชอบที่จะผูกพันกันโดยสัญญาต่างๆ ได้ตามใจสมัคร เว้นแต่จะมีกฎหมายห้าม หรือกำหนดรูปแบบความชอบด้วยกฎหมายของเรื่องของสัญญานั้นไว้ หรือถือเป็นเรื่องที่ขัดต่อกฎหมายหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนเท่านั้นที่จะทำให้การนั้นไม่ชอบ

แต่ความไม่ชอบในทางแพ่งนั้นส่งผลอย่างมากคือไม่อาจฟ้องร้องเรียกความคุ้มครองจากกฎหมายได้ แต่ถ้าคู่สัญญายังยินยอมปฏิบัติตามข้อตกลงกันนั้นโดยดีไม่บิดพลิ้วก็สามารถทำกันไปได้ เว้นแต่ว่าเรื่องนั้นจะเป็นเรื่องผิดกฎหมายอาญาที่ได้กล่าวไปแล้วตั้งแต่ต้น

Advertisement

และกฎหมายที่กำหนดว่าใครทำอะไรได้หรือไม่ ถ้าให้ชอบให้ถูกตามทฤษฎี ก็ควรจะต้องเป็นกฎหมายที่มาจากสภาที่มีที่มาจากประชาชนด้วย เพราะจะเท่ากับว่าเรายอมรับในการถูกจำกัดสิทธิตามมติของประชาชนคนอื่น ผ่านตัวแทนของเขาในระบบเลือกตั้ง-ที่กล่าวไปนั้นคือหลักการแบบอุดมคติ แต่ใน

ภูมิทัศน์ทางกฎหมายไทยเราแล้วยอมรับอำนาจรัฐอะไรก็ตามที่สามารถเป็นรัฏฐาธิปัตย์ได้ ก็ออกกฎหมายขึ้นมาจำกัดสิทธิหรือให้อำนาจแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐในการทำเรื่องนั้นเรื่องนี้ได้ ก็คงต้องถือตามนั้น จนกว่าจะมีวันใดที่เรามีความศิวิไลซ์ในทางหลักการแห่งกฎหมายขึ้นมากกว่านี้

คนส่วนหนึ่งชอบการ “ตัดสิน” อะไรต่ออะไรจากกฎหมาย มีคำพูดติดปากหลายคนว่า “มีอะไรก็ให้ว่ากันไปตามกฎหมาย” เพราะมันเป็นเรื่องที่แน่นอนชัดเจนและสามารถยกขึ้นอ้างอิงได้ง่ายว่าเราจะทำอะไรได้หรือไม่ได้ มันง่ายกว่าการที่เราจะถือเกณฑ์อื่นเช่น “เราสามารถทำอะไรก็ได้เท่าที่ไม่ทำให้ผู้อื่นเดือดร้อนหรือส่วนรวมเสียหาย” หรือ “เจ้าหน้าที่รัฐพึงใช้อำนาจใดๆ เพื่อประโยชน์สาธารณะหรือประโยชน์ของรัฐก็ได้” ซึ่งเป็นนามธรรมและอัตวิสัยกว่า ไม่เหมือนกฎหมายที่ชัดเจนจับต้องได้

Advertisement

ด้วยการยึดหลักว่า “ไม่มีกฎหมายห้ามย่อมทำได้” นี้เอง ด้วยความสัตย์จริง ด้วยมุมมองทางกฎหมายจึงไม่เห็นว่าการที่ญาติชั้นใกล้ชิดนามสกุลเดียวกับท่านผู้นำ หรือมีพ่อเป็นนายทหารชั้นผู้ใหญ่ จะมีธุรกิจเกี่ยวข้องกับกิจการของ “กองทัพ” ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐหน่วยงานหนึ่งนั้นจะมีปัญหาหรือไม่ชอบธรรมอย่างไรเลย หากจะว่ากันไป “ตามกฎหมาย”

ในเมื่อขณะที่เขาทำธุรกิจเช่นนั้นจะไม่มี “กฎหมาย” ห้ามไว้ เขาย่อมชอบที่จะประกอบการธุรกิจเช่นนั้นได้ เพราะหาไม่แล้วก็เท่ากับว่าการมีนามสกุลเดียวกับผู้นำประเทศหรือผู้นำกองทัพ จะต้องเสียสิทธิในการประกอบอาชีพบางประการไป

หรือการที่มีผู้ไปพบภายหลังว่า บริษัทที่เข้าประกอบธุรกิจเช่นนั้นจะมีที่ตั้งอยู่ในค่ายทหาร ก็ไม่ใช่ปัญหาอีก เพราะไม่มีกฎหมายห้ามหรือกำหนดว่าสถานที่ตั้งของบริษัทจะต้องอยู่ที่ไหนอย่างไร หรือการที่ไปพบว่าบริษัทนั้นมีเครื่องไม้เครื่องมืออาจจะ “ไม่สมราคา” กับสภาพงานที่ได้รับทำจากทางราชการบ้าง แต่การทำสัญญาไม่ว่าจะทางแพ่งหรือทางปกครอง ก็มุ่งเน้นที่ผลสัมฤทธิ์ของงานหรือสัญญาเป็นสำคัญ คือพูดง่ายๆ ว่า ตราบใดที่ฝ่ายคู่สัญญาเลือกแล้วให้เขาทำงาน หากเขาสามารถ “ส่งงาน” ได้ตามวัตถุประสงค์แห่งสัญญาได้เท่านั้นก็จบ

ดังนั้นถ้าว่ากันตามกฎหมาย เอาตัวบทมากางกันแล้ว เราไม่ควรติฉินอะไรในเรื่องนี้ได้เลย เพราะในฐานะของเอกชนแล้ว ไม่ว่าเขาจะนามสกุลใดหรือเปิดบริษัทที่ไหน ก็สมควรมีสิทธิและเสรีภาพในการประกอบอาชีพหรือกระทำกิจการดำเนินธุรกิจได้เสมอหน้ากันหมด

ในทางกฎหมาย จึงต้องถือว่าเรื่องนี้เป็นเรื่อง “สะอาด” โดยไม่ต้องสงสัย ส่วนข้อติฉินที่ว่า การที่ผู้ประกอบการมี “นามสกุล” เดียวกันกับผู้เป็นใหญ่ในแผ่นดินแล้วจะทำให้ผู้พิจารณาทางฝ่ายรัฐก็ดี หรือคู่แข่งทางการค้าก็ตามจะเกรงอกเกรงใจนั้น ก็เป็นเรื่องที่นอกเหนือจากตัวบทออกไป ทั้งในทางกฎหมายแพ่งนั้นเขาก็ไม่ให้ถือว่าความนับถือยำเกรงส่งผลต่อความสมบูรณ์ของนิติกรรมด้วย

ทั้งหมดทั้งสิ้นที่กล่าวไปข้างต้น คือความถูกต้องชอบธรรมตาม “กฎหมาย” ตั้งแต่เมื่อเกิดกรณีขึ้น มาจนถึงปัจจุบัน

แต่ความสะอาดชอบธรรมนี้อาจจะไม่รวมไปจนถึงอนาคต ที่ผู้มีอำนาจรัฐในปัจจุบันกำลังจะผลักดันกฎหมายขึ้นฉบับหนึ่งเพื่อจำกัดกำราบเจ้าหน้าที่ของรัฐในเรื่องของผลประโยชน์ขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนตัวและตำแหน่งหน้าที่ และไม่ใช่แต่ห้ามเฉพาะต่อตัวเจ้าหน้าที่เท่านั้น ยังบังคับไปถึงชั้นบิดามารดาหรือบุตรและคู่สมรสด้วย

เขาว่าจะเป็นกฎหมายที่จะเข้มงวด ที่แม้แต่การเอาโทรศัพท์ส่วนตัวมาชาร์จกับไฟฟ้าของทางราชการ หรือเอาอุปกรณ์สำนักงานเล็กๆ น้อยๆ อย่างซองจดหมายหรือคลิปหนีบกระดาษไปใช้ในการส่วนตัวก็มิชอบ ด้วยกฎหมายที่เขาตั้งชื่อว่า “ร่างกฎหมายสามชั่วโคตร” หรือที่มีชื่อจริงยาวเหยียดว่า “ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการขัดกันระหว่างผลประโยชน์ส่วนบุคคลและผลประโยชน์ส่วนรวม พ.ศ. ….”

ซึ่งเมื่อใดที่กฎหมายดังกล่าวจะมีผลใช้บังคับแล้ว เราก็หวังอย่างยิ่งที่จะเห็นบรรดาผู้คนตลอดจนผู้หลักผู้ใหญ่ที่มีคำพูดติดปากว่ามีอะไรก็ให้ว่ากันไปตามกฎหมายนั้น จะยึดถือกฎหมายนี้อย่างเคร่งครัดต่อทุกบุคคลโดยเสมอหน้ากันเช่นที่เคยแสดงออกด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image