ชัยชนะที่เปราะบาง! : สุรชาติ บำรุงสุข

คำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญที่เกิดจากการเคลื่อนไหวของคนรุ่นใหม่ก่อให้เกิดข้อถกเถียงในทางกฎหมายอย่างมากมาย แม้จะถือว่าเป็นชัยชนะครั้งสำคัญของฝ่ายอนุรักษนิยม ที่สามารถจัดการกับผู้เห็นต่างทางการเมืองได้อย่างง่ายดาย และเป็นอีกครั้งที่พิสูจน์ให้เห็นถึงพลัง “ตุลาการธิปไตย” ที่ถูกใช้เป็นเครื่องมือของฝ่ายอนุรักษนิยมไทยในการควบคุมทางการเมือง คู่ขนานกับพลัง “เสนาธิปไตย” เพื่อโค่นล้มรัฐบาลที่พวกเขาไม่ต้องการ… “ฆ้อนตุลาการและรถถัง” จึงเป็นพลังฝ่ายขวาที่สำคัญในการต่อต้านกระแสเสรีนิยมในไทย

แต่ชัยชนะเช่นนี้ก็เป็นความท้าทายอย่างยิ่ง เพราะเป็นสัญญาณทางการเมืองที่ชัดเจนว่า ฝ่ายอนุรักษนิยมไม่ต้องการการปรับตัว และไม่จำเป็นต้องคิดคำนึงถึงข้อเรียกร้องจากฝ่ายเสรีนิยมแต่ประการใด คำตัดสินที่เกิดขึ้นจึงไม่ต่างอะไรกับการ “ประกาศสงคราม” กับฝ่ายที่เห็นต่างอย่างชัดเจน และเชื่อว่ากระบวนการตุลาการธิปไตยเช่นนี้ จะทำให้พวกเขาชนะสงครามการเมืองครั้งใหม่ได้ในเบื้องต้น เพราะคำตัดสินเช่นนี้ได้กลายเป็นบรรทัดฐานทางกฎหมาย ที่ให้อำนาจกับฝ่ายรัฐในการจัดการกับผู้เห็นต่างได้อย่างง่ายดาย จนอาจต้องพิจารณาว่า คำตัดสินดังกล่าวอาจจะกลายเป็นต้นทางของกระแสความรุนแรงในอนาคตได้ไม่ยาก

นอกจากนี้ การขับเคลื่อนของฝ่ายอนุรักษนิยม ที่นับวันยิ่งทวีความเป็น “จารีตนิยม” มากขึ้นนั้น ทำให้การแก้ไขปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองในสังคมไทย ดูจะตีบตันมากขึ้น เท่าๆกับที่ การแสวงหาทางออกจากวิกฤตก็ถูกบีบให้แคบลงด้วย

อย่างไรก็ตาม วิชารัฐศาสตร์สอนเสมอว่า ทางเลือกของการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองมีเพียง 2 ประการเท่านั้น คือ “ปฏิรูปหรือปฏิวัติ” คำตอบของวิชารัฐศาสตร์เช่นนี้เป็นบทสรุปจากประวัติศาสตร์ของการต่อสู้ทางการเมืองอันยาวนาน เนื่องจากชนชั้นนำและกลุ่มอนุรักษนิยมที่มีอำนาจทางการเมืองมักเชื่อเสมอว่า พวกเขาจะยังสามารถควบคุมสถานการณ์ทุกอย่างไว้ได้ในมือตลอดไป และไม่จำเป็นต้องคิดหาทางออกจากปัญหาหรืออาจในทางทฤษฎีได้ว่า กลุ่มอนุรักษนิยม โดยเฉพาะเมื่อผสมผสานตัวเข้ากับกลุ่มจารีตนิยม จึงเชื่อมั่นว่า พวกเขาจะดำรง “สถานะเดิม” ของสังคมไว้ โดยไม่จำเป็นต้องปรับตัวไปกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นรอบตัว

Advertisement

ประวัติศาสตร์การเมืองโลกมีคำตอบให้เห็นในหลายกรณีถึงความพยายามของปีกอนุรักษนิยม-จารีตนิยมที่คุมอำนาจรัฐ และใช้ทุกวิธีการต่างๆ ที่จะทำให้สังคมดำรงอยู่แบบ “แช่แข็ง”… แน่นอนว่า ในสภาวะเช่นนี้ วิธีการแช่แข็งจำเป็นต้องใช้กระบวนการอำนาจนิยมเป็นเครื่องมือในการสร้างความกลัว ด้วยการจับกุมคุมขัง การบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด ตลอดรวมถึงการข่มขู่คุกคามในรูปแบบต่างๆ หรืออาจกล่าวได้ว่า พวกเขาพร้อมที่จะใช้อำนาจทุกอย่างที่จะทำให้สังคมเกิด “ความเชื่อง” เพื่อที่จะอยู่โดยไม่เรียกร้องหาความเปลี่ยนแปลงใดๆ ขณะเดียวกันก็อยู่โดยคนในสังคมยอมจำนนต่อการดำรงอยู่ของผู้ปกครองอย่างไม่มีเงื่อนไข

แต่ในความเป็นจริงแล้ว เครื่องมือของการสร้างความกลัวมีข้อจำกัดในตัวเอง เพราะหากฝ่ายเสรีนิยมที่นำขบวนโดยคนรุ่นใหม่ตัดสินใจที่จะก้าวข้ามผ่าน “ความกลัว” ที่ฝ่ายอนุรักษนิยม-จารีตนิยม ซึ่งกุมอำนาจรัฐสร้างขึ้นแล้ว พลังของ “รัฐแห่งความกลัว” จะไม่เหลือพอที่จะใช้ยับยั้งการลุกขึ้นสู้ของผู้เห็นต่างได้แต่อย่างใด

ตัวอย่างของการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองชุดใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นการปฏิวัติสังคมนิยมในรัสเซียที่นำโดยเลนิน การปฏิวัติประชาธิปไตยในจีนที่เปิดการเคลื่อนไหวโดย ดร. ซุนยัตเซ็น หรือ การปฏิวัติอิสลามในอิหร่านที่ขับเคลื่อนโดยท่านโคไมนี ล้วนเป็นข้อเตือนใจให้แก่กลุ่มอนุรักษนิยม-จารีตนิยมอย่างดีว่า อำนาจในการปราบปรามที่พวกเขาควบคุมไว้ในโครงสร้างอำนาจรัฐ แม้จะเข้มแข็งเพียงใด แต่ก็ไม่ใช่ปัจจัยชี้ขาดที่จะสามารถหยุดยั้งกระแสความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นได้จริง เพราะเมื่อใดก็ตามที่การต่อต้านอำนาจรัฐของประชาชนก่อตัว และขยับขึ้นสู่กระแสสูงแล้ว องค์กรการปราบปรามของรัฐอาจจะใช้กำลังเข้าจัดการได้ แต่การกระทำเช่นนี้ก็คือ การสร้างเงื่อนไขของ “ความพ่ายแพ้” ในตัวเอง เพราะเมื่อนักต่อสู้ไม่กลัวการจับกุมคุมขัง ไม่กลัวอำนาจปืนของเจ้าหน้าที่รัฐแล้ว จากนี้ไปปัจจัยอะไรก็ไม่อาจเหนี่ยวรั้งกระแสความเปลี่ยนแปลงได้

Advertisement

การใช้อำนาจรัฐปราบปรามของ “สายเหยี่ยว” ด้วยความเชื่อว่า กำลังที่เหนือกว่าจะเป็นปัจจัยหลักในการชี้ขาดชัยชนะนั้น ถูกพิสูจน์มาหลายครั้งในการต่อสู้ทางการเมืองว่า ชุดความคิดแบบ “นิยมอำนาจ” และพร้อมที่จะใช้อำนาจจัดการกับผู้เห็นต่าง ตลอดรวมถึง การสร้างความกลัวผ่านกระบวนการทางกฎหมายนั้น แม้นว่า ผลที่เกิดขึ้นอาจจะเป็นเหมือนชัยชนะ เพราะสามารถปราบปรามผู้เห็นต่างได้ในทางกฎหมาย แต่สิ่งนี้เป็นเพียงภาวะชั่วคราว และไม่ใช่ปัจจัยที่จะทำให้สถานการณ์ในอนาคตอยู่ในความควบคุมได้ตลอดไป

หากพิจารณาด้วยความใคร่ครวญแล้ว จะเห็นเสมอว่า สิ่งที่เกิดเช่นนี้เป็นเพียง “ชัยชนะทางยุทธวิธี” และมักจบลงด้วย “ความพ่ายแพ้ทางยุทธศาสตร์” เสมอ ดังนั้น ยิ่งฝ่ายอนุรักษนิยม-จารีตนิยมใช้อำนาจจัดการกับการเรียกร้องของฝ่ายเสรีนิยมที่เป็นผู้เห็นต่างมากเท่าใด แรงต่อต้านก็จะยิ่งมีมากขึ้นไปตามลำดับ และผู้เห็นต่างก็จะยิ่งถูกผลักให้เอียงไปหาความรุนแรงมากขึ้นเท่านั้น แน่นอนว่า ปลายทางของสถานการณ์เช่นนี้คือ การใช้ความรุนแรงเป็นเครื่องมือของการต่อสู้ และอาจขยับขึ้นถึงจุดสูงสุดของการเป็น “สงครามกลางเมือง” ได้ด้วย

บทเรียนจากประวัติศาสตร์ชี้ให้เห็นว่า อำนาจรัฐที่ดูเข้มแข็งของจักรวรรดิรัสเซียไม่มีความหมายเลยเมื่อต้องเผชิญหน้ากับกระแสคลื่นความไม่พอใจของประชาชน ไม่ต่างจากพลังของจักรวรรดิจีนในยุคพระนางซูสีไทเฮา และเช่นเดียวกัน ไม่ต่างกับอำนาจของราชอาณาจักรอิหร่าน ที่ล้วนแต่พังลงอย่างไม่เป็นท่า และพังลงด้วยความเชื่อพื้นฐานว่า รัฐอนุรักษนิยม-จารีตนิยมไม่มีความจำเป็นต้องปฏิรูปเพื่อรองรับกับความเปลี่ยนแปลงของโลกและสังคมที่ล้อมรอบ ฉะนั้น การปฏิเสธที่จะปฏิรูปจึงกลายเป็นคำตอบที่เป็นจุดจบของระบอบทั้งสาม

ดังนั้น ประเด็นในทางรัฐศาสตร์จึงไม่ใช่สาระสำคัญของข้อถกเถียงในทางกฎหมาย ที่วันนี้คำตัดสินของศาลอาจถือเป็นชัยชนะครั้งสำคัญของฝ่ายอนุรักษนิยม-จารีตนิยมในสังคมไทย แต่ในอีกด้าน นักรัฐศาสตร์กลับถูกสอนให้ต้องกังวลกับภาวะสังคมอนุรักษนิยมสุดขั้วที่ไม่ยอมรับกับการปรับตัว และปฏิเสธแนวคิดเรื่องการปฏิรูป ซึ่งภาวะเช่นนี้เป็นบทเรียนที่สอนนักรัฐศาสตร์เสมอว่า การปฏิเสธการปฏิรูปของชนชั้นนำรัสเซีย ชนชั้นนำจีน และชนชั้นนำอิหร่าน ล้วนนี้จบลงด้วยการปฏิวัติทั้งสิ้น… ปัญหาสองแนวทางจึงท้าทายชนชั้นนำและกลุ่มอนุรักษนิยม-จารีตนิยมเสมอ

วันนี้รัฐอนุรักษนิยม-จารีตนิยมไทยกำลังเผชิญกับความท้าทายจากกระแสความเปลี่ยนแปลง ซึ่งรัฐอาจจะชนะด้วยการจับและขังคนหนุ่มสาวที่เดินทางในกระแสนี้ได้ แต่คงต้องยอมรับสัจธรรมประการหนึ่งที่สำคัญว่า คุกไม่สามารถคุมขังตัวกระแสความเปลี่ยนแปลงได้เลย!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image