คนตกสีที่อยู่อีกฝั่งหนึ่ง : เราจะอยู่ที่ไหนใน METAVERSEM?

คอลัมน์คนตกสีที่อยู่อีกฝั่งหนึ่ง : เราจะอยู่ที่ไหนใน METAVERSEM? โดย กล้า สมุทวณิช

ใครช่างสังเกตเห็นความเปลี่ยนแปลงชั่วแวบหนึ่งตอนที่เปิดแอพพลิเคชั่น Facebook ขึ้นมาว่า ใต้โลโก้สัญลักษณ์ที่คุ้นเคย มีคำว่า “from meta” เล็กๆ ห้อยไว้ โดยหน้าตัว m มีสัญลักษณ์อนันต์ (Infinity) อยู่ด้วย

Meta ที่ว่าคือชื่อบริษัทใหม่ของ Facebook มาจากคำว่า Metaverse ซึ่ง มาร์ก ซัคเคอร์เบิร์ก ผู้ก่อตั้ง Facebook ประกาศว่านี่คืออนาคตต่อไปสำหรับธุรกิจของเขาและองค์กร Social Network อายุเกือบ 20 ปี

Metaverse คือ“โลกเสมือน” ที่จะมาผสานหรือขนานกับโลกแห่งความจริงที่เราอยู่อาศัยอยู่ในทางกายภาพ โดยอาศัยเทคโนโลยีสำคัญ 3 องค์ประกอบเป็นเครื่องมือ คือ เทคโนโลยีความจริงเสมือน (Virtual Reality-VR) เทคโนโลยีความจริงเหนือซ้อน (Augmentation Reality-AR) และเทคโนโลยีการสื่อสารผ่านเครือข่าย 5G

เทคโนโลยี “ความจริงเสมือน” (VR) นั้น คือการจำลองความจริงผ่านการมองเห็นและการเคลื่อนไหวของมนุษย์ โดยถ่ายทอดภาพผ่านแว่นตาพิเศษที่มีลักษณะคล้ายหน้ากากดำน้ำ โดยเราสามารถเคลื่อนไหวโต้ตอบในโลกที่มองเห็นผ่านแว่นตานั้นได้ด้วยระบบจับความเคลื่อนไหว สำหรับระบบมาตรฐาน ผู้ใช้งานจะสามารถใช้การเดินไปมาในขอบเขตแคบๆ ประมาณสามถึงสี่ตารางเมตร และใช้มือในการหยิบจับสิ่งของในโลกเสมือนจริงได้ในระดับหนึ่งผ่านอุปกรณ์ควบคุมที่เป็นเหมือนถุงมือหรือจอยสติ๊กด้วย

Advertisement

ส่วน “ความจริงเหนือซ้อน” (AR) นั้นอาจจะไม่หลุดโลก หรือตัดขาดอะไรขนาดนั้น เพราะผู้ใช้งานจะยังถือว่ามองเห็น หรืออยู่อาศัยในโลก หรือพื้นที่จริงอยู่นั่นเอง เพียงแต่จะได้เห็นภาพบางภาพที่เห็นเพิ่มเติมพิเศษทับซ้อนขึ้นมาซึ่งไม่ได้มีอยู่จริงในโลก หลายปีมานี้ผู้คนส่วนใหญ่เคยมีประสบการณ์แบบ AR มาแล้วกับเกม Pokemon GO ที่เราสามารถใช้กล้องบนโทรศัพท์สมาร์ทโฟนของเราส่องไปในห้อง หรือท้องถนนแล้วเจอกับตัวโปเกมอนหลอกล่อรอให้เราจับอยู่

องค์ประกอบสุดท้ายอันสำคัญของเทคโนโลยี Metaverse คือ การสื่อสารผ่านเครือข่ายความเร็วสูง 5G ที่ความเร็วสูงสุด 20 Gb ต่อวินาทีจะทำให้ความจริงทั้งเสมือนและเหนือซ้อนนั้นยกระดับขึ้นไปเป็น
เครือข่ายสังคมที่เราจะมีส่วนหนึ่งของชีวิตอยู่ในโลกของ VR หรือมองโลกอย่างเหนือจริงผ่าน AR ที่เชื่อมโยงกันเป็นเครือข่ายเดียวกัน เป็นโลกอีกใบที่แทรกสอดซ้อนทับเข้ามาได้อีกใบ ไม่ใช่เพียงการแชร์ข้อความ ทรรศนะ ภาพถ่าย หรือคลิปวิดีโอกันเท่านั้น

เป็นเวลาเพียงราว 25 ปีเท่านั้นตั้งแต่เริ่มยุคแรกที่ “สังคม” ของเราผนวกเข้าไปกับเครือข่ายอินเตอร์เน็ต จนถึงวันที่เรากำลังจะอวตารลงไปอยู่ในโลกที่โยงใยกันด้วยเครือข่าย

Advertisement

สำหรับประเทศไทยช่วงที่ผู้คนทั่วไปเริ่มเข้าสู่อินเตอร์เน็ตได้อย่างแพร่หลาย เครือข่ายสังคมออนไลน์แรกนั้นทุกคนคงนึกถึงที่เดียวกันคือเว็บบอร์ด pantip.com ที่ก่อตั้งในปี 2539 โดยคุณ วันฉัตร ผดุงรัตน์ อดีตพนักงานไอทีบริษัทการบินไทยผู้มองการณ์ไกล เป็นที่แลกเปลี่ยนความรู้ ความคิด ประสบการณ์ จนกลายเป็นเครือข่ายสังคมแรกของไทย เป็นเว็บไซต์ที่มีผู้เข้าใช้บริการมากที่สุดและทรงอิทธิพลระดับ “ชี้เป็นชี้ตาย” ในสังคมทั้งในเรื่องการเมือง สังคม ธุรกิจ และบันเทิงได้ช่วงเวลาหนึ่งก่อนการมาถึงของผู้เล่นระดับโลก

“สังคมออนไลน์” แบบพันทิปนั้นมีลักษณะกึ่งนิรนามกึ่งอวตาร เพราะแม้ว่าการสมัครสมาชิกของเว็บพันทิปจะต้องแสดงตนด้วยบัตรประชาชน หรือหมายเลขโทรศัพท์ แต่ผู้ใช้ส่วนใหญ่จะตั้งชื่อบัญชีด้วยนามแฝงที่ไม่สะท้อน หรือเชื่อมโยงได้ถึงตัวตนตามความเป็นจริงเท่าไรนัก

ดังนั้นหญิงสาวไร้เดียงสาน่ารักนั้นแท้แล้วอาจจะเป็นชายวัยเกษียณ นักธุรกิจรายได้ปีละพันล้านอาจจะเป็นเด็กมัธยมสามที่เพิ่งเสียงแตกหนุ่ม นักวิจารณ์ภาพยนตร์อาจจะเป็นคุณหมอสักคนที่โรงพยาบาลในชนบท ทุกสิ่งเป็นได้หมดในพันทิป จนผู้รู้เท่าทันไม่มีใครคิดจะเอานิยมนิยายอะไร ไม่ใช่เฉพาะพันทิปเท่านั้น แต่จารีตธรรมเนียมของสังคมออนไลน์รูปแบบเว็บบอร์ดที่เป็นสากลมาตรฐานทั่วไปก็ใช้ระบบสมาชิกในรูปแบบ Avatar คือการสร้างตัวตน “อวตาร” เพื่อเป็นตัวแทนสมาชิกในสังคมเว็บบอร์ดนั้นๆ ซึ่งถึงแม้จะมีส่วนน้อยที่แสดงตัวว่าเป็นบุคคลผู้มีตัวตนจริงจังบ้าง แต่ก็ไม่ใคร่มีใครเปิดเผยตัวตนออกมาชัดเจนระดับเผยชื่อสกุลอย่างที่เราได้เห็นกันในเครือข่ายสังคมออนไลน์ยุคต่อมา

ในระยะแรกที่ Facebook เข้ามาเป็นที่รู้จักในประเทศไทยช่วงประมาณปี พ.ศ.2550 นั้น ความที่
ผู้เล่นกลุ่มแรกๆ นั้นเป็นผู้ที่ศึกษาหรือใช้ชีวิตอยู่ในต่างประเทศ และใช้ Facebook ในการติดต่อกับมิตรสหายชาวต่างชาติ ทำให้ธรรมเนียมการใช้บัญชี Facebook ที่เชื่อมโยง หรือแสดงชัดต่อตัวตนอันแท้จริงของเจ้าของบัญชีนั้นถูกกำหนดเป็นกระแสหลัก และนั่นคือสิ่งที่ทำให้วิธีการแสดงตัวแสดงตนของผู้คนบนเพลตฟอร์มนี้แตกต่างไปจากพันทิปโดยสิ้นเชิง

ถ้าพันทิป คือ โลกกึ่งนิรนามที่คุณอยากจะแสดงตัวเป็นใครอย่างไรก็ได้ ไม่มีใครรู้จักคุณไปมากกว่าตัวตนที่คุณสร้างขึ้น แต่ใน Facebook นั้น คุณคือ “ตัวตน” ของคุณที่เพื่อนร่วมงาน ญาติพี่น้อง และสาธารณชนรู้จัก คุณสามารถแสดงความเป็นตัวคุณได้อย่างเต็มที่ถึงระดับเปิดเผยชีวิตครอบครัวหรือเรื่องส่วนตัวอื่นๆ

แต่ “ตัวตน” บน Facebook ก็ยังมิใช่ “ตัวจริง” ของเจ้าของบัญชี ที่แม้จะใช้ชื่อใช้หน้าและรายละเอียดส่วนบุคคลของตัวเองถูกต้องแล้วนั่นแหละ แต่สิ่งที่โพสต์แสดงออกมาก็จะผ่านการเลือกสรรปรุงแต่งแล้วในระดับหนึ่ง เจือผสมไปกับความเป็นจริงของตัวผู้นั้น ซึ่งก็แล้วแต่ว่าแต่ละคนจะเลือกหันด้านใดของตัวเองออกมาให้เพื่อนร่วมวงเห็นกันได้แค่ไหน บางคนแสดงภาพแต่ความสุขความสำเร็จ ในขณะที่บางคนจะแสดงแต่ความโศกเศร้าล้มเหลว บางคนเงียบ บางคนบ่น บางคนก้าวร้าว ทั้งหมดนี้ก็ไม่ใช่อะไรที่ “จริงล้วน” หรือ “เท็จล้วน” แต่นั่นคือ “ตัวตน” ที่เจ้าตัวเลือกที่จะแสดงออกมาให้สาธารณชนคนใช้ Facebook ได้เห็น

ในขณะที่สื่อสังคมออนไลน์แพลตฟอร์มอื่นก็จะมีรูปแบบที่แตกต่างไปบ้างในรายละเอียด โดยเฉพาะถ้าเป็นเครือข่ายที่เน้นการโพสต์ภาพและวิดีโออย่าง IG ผู้คนก็ยิ่งเลือกสรรแสดง “ภาพ” แบบที่อยากให้เพื่อนร่วมสังคมเครือข่ายได้เห็น แต่ที่แน่ๆ น้อยนักที่จะเป็นการใช้เครือข่ายสังคมในแบบนิรนาม หรือสร้างอวตารขึ้นแยกขาดจากตัวตนของเจ้าของบัญชีเหมือนยุคของเว็บบอร์ด

และแม้จะมีการใช้โซเชียลเน็ตเวิร์กในรูปแบบนิรนามอยู่บ้างในกรณีของ “แอ๊ก (Account) หลุม” ใน Twitter แต่การใช้บัญชีหลุมก็ไม่ใช่เพื่อการสร้าง ตัวตนใหม่ แยกออกมาเหมือนอย่างการสร้างอวตารในเว็บบอร์ด แต่เป็นไปเพื่อการสร้างตัวตนนิรนามขึ้นเพื่อรักษาความเป็นส่วนตัวหรือหลบเลี่ยงข้อยุ่งยากทางสังคม การงาน หรือทางกฎหมาย ชื่อบัญชีตัวตนที่ถูกสร้างมาเพื่อเป็นบัญชีหลุมนี้จึงเป็นเหมือน “ผีไม่มีหน้า” ที่ไม่เชื่อมโยงบ่งชี้ หรือมีรายละเอียดสื่อถึงผู้ใช้งานเบื้องหลังได้เลย

เช่นนี้แล้วในยุคแห่ง Metaverse ผู้คนจะเข้าใช้กันในลักษณะใด มีความสัมพันธ์แบบไหน

แม้ว่าในขณะนี้จะยังไม่มีตัวเครือข่าย Metaverse โดย Meta ของ Facebook ออกมาแบบเป็นรูปธรรมทางการ แต่ในสังคมเครือข่ายที่ถูกยกตัวอย่างว่านี่คือรูปแบบเริ่มต้นของ Metaverse แล้ว คือบรรดาเกมออนไลน์ที่เริ่มมี “โลกความจริง” บางส่วนเข้าไปซ้อนทับต้องแตะด้วย เช่นเกม Fortnite ที่มีศิลปินจริงๆ เข้าไปจัดคอนเสิร์ต เกม Roblox ที่มีเครื่องประดับแบรนด์กุชชี่ (Gucci) เข้าไปขายชุดเครื่องประดับแบบดิจิทัล หรือแม้แต่เกมเด็กๆ อย่าง Animal Crossing บนเครื่องเกม Nintendo Switch ที่เคยมีการพลิกแพลงไปใช้เพื่อจัดประชุมออนไลน์ หรือเป็นแคมเปญหาเสียงของผู้สมัครรับเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ

หากเกมเหล่านี้เป็นตัวต้นที่จะพัฒนาไปเป็น Metaverse เต็มรูปแบบที่ผู้คนจะเข้าร่วมผ่าน VR และ AR เราก็อาจจะได้เห็นการ “อวตาร” ไปในอีกรูปแบบหนึ่ง ที่แตกต่างจากทั้งแบบพันทิป และแบบ Facebook

นั่นเพราะใน Metaverse ที่เป็นโลกกึ่งเกมกึ่งเสมือนนี้ เราสามารถคงความเป็น “ตัวเรา” อยู่ได้ แต่เป็นตัวเราที่จะปั้นแต่งอย่างไรก็ได้ ด้วยพลังของ “ความจริงเสมือน” หรือ “ความจริงเหนือซ้อน”

หากกล่าวให้เห็นภาพ หากกระผม นายกล้า ถ้าเล่นเวบบอร์ดพันทิป ก็อาจจะสร้างอวตารเป็นด.ญ.กุ๊กกุ๋ย สาวน้อยนักเรียนมัธยมบ้าการเมืองเข้าไปต่อปากต่อคำกับแฟนคลับนายก (แต่เรื่องนี้สาบานว่าไม่เคยทำ) ส่วนนายกล้าบน Facebook ก็คือนายกล้าที่เป็นนักวิชาการ นักขียน และคอลัมนิสต์ที่มีชีวิตสุขบ้างทุกข์บ้างแต่มีรสนิยมดีงาม (ที่คัดสรรมาแล้ว)

แต่นายกล้าใน Metaverse ก็คงจะเป็น “นายกล้า” ผู้เป็นคอลัมนิสต์คนดีคนเดิม แต่เพิ่มเติมคือเป็นเอลฟ์นักยิงธนูผู้ชอบผจญภัยไปสำรวจดินแดนใหม่ๆ นั่นด้วย โดยใน Metaverse ตอนนี้ผมอาจจะนั่งเขียนคอลัมน์ส่งมติชนออนไลน์อยู่ในปราสาทที่กำลังจะมีการปาฐกถาของนักวิชาการชื่อดังจากต่างประเทศ เขียนเสร็จแล้วก็ฝากหมีที่มีปีกบินเอาไปส่งให้กอง บก. ที่ตั้งสำนักกันอยู่ ณ เกาะปะการังกลางทะเลใต้

ทั้งหมดเป็นไปได้ด้วยพลังแห่งเทคโนโลยี VR หรือ AR ที่เชื่อมโยงเข้าหากันบนเครือข่าย 5 G

ด้วยเทคโนโลยีนั้นเอง อาจจะทำให้ในที่สุด เราสามารถหาทางออกที่ลงตัว ให้เราชาวไทยที่อยู่ในสังคมอันแตกแยกอย่างยากจะเยียวยา จะสามารถใช้ชีวิตอยู่ในประเทศเดียวกันได้อย่างไม่อึดอัดคับข้องจนเกินไป เพียงเรารอให้วันที่เทคโนโลยีถึงพร้อมเท่านั้น

เราอาจจะสร้าง Metaverse แบบโลกใครโลกมัน โลกที่มีนายกฯกันคนละคน หรือแม้แต่ปกครองกันคนละรูปแบบ ในชีวิตประจำวันเราอาจจะได้เจอกัน ขึ้นรถไฟฟ้าขบวนเดียวกัน ใช้ชีวิตอยู่ในมหานครกรุงเทพเหมือนกัน แต่ด้วยพลังของแว่นตา AR โลกของผมและมิตรสหายจะมีนายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนโดยสง่างาม แต่โลกของคุณป้าอีกคนที่นั่งตรงข้ามบนรถไฟฟ้าขบวนเดียวกัน ก็อาจเป็นโลกที่มีนายกฯลุงตู่คนเดิมที่ปกครองมา 20 ปีแล้ว

เวลาที่มีประกาศจากนายกรัฐมนตรี หรือมีข่าวการเมือง เมื่อเราสองคนมองไปที่จอมอนิเตอร์บนรถไฟฟ้า ระบบ AR บนแว่นตาก็จะ “แปลง” ภาพและเสียงนายกฯที่ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม ให้เป็น
นายกฯ ของ Metaverse แห่งเรา ต่างคนต่างจะเห็นเป็นคนละภาพกัน

ทันทีที่กลับบ้าน เราก็จะหยิบแว่น VR มาเพื่อเปิด Metaverse อีกระบบอวตารไปอยู่ในประเทศอย่าง
ที่เราอยากอยู่ ในเมืองหลวงที่อาจจะไม่ได้ชื่อกรุงเทพฯ หรือแม้แต่ประเทศนี้ในชื่ออื่นก็ได้ ส่วนป้าท่านเดิมอาจจะได้ไปอยู่ในประเทศที่เด็กทุกคนยืนตรงเคารพเพลงชาติกลางแดดด้วยความภาคภูมิใจในเอกราชและ
ความเสียสละของบรรพบุรุษไทย ทั้งนี้ ด้วยพลัง VR ในสภาพแวดล้อม Metaverse ที่ต่างเราต่างเลือกสมาทาน

คำถามอาจจะมีอยู่บ้างว่า แล้วโลกจริงแท้นอกระบบ Metaverse ล่ะจะถูกปกครองโดยใคร ฝ่ายไหน อย่างไร แต่นั่นก็อาจจะไม่ใช่ปัญหาแล้วก็ได้ในวันนั้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image