สุจิตต์ วงษ์เทศ : บ้าน-เรือน ไม่มีในประวัติศาสตร์แห่งชาติของไทย

บ้านเรือนในหมู่บ้านโพหัก ต. บางแพ อ. บางแพ จ. ราชบุรี (ภาพของเอนก นาวิกมูล เมื่อ 20 มกราคม 2522)

คำว่า บ้าน ในภาษาไทย มีความหมายทั้งในแง่ที่อยู่อาศัย คือ เรือน (house) เป็นหลังๆ และทั้งในแง่ชุมชน คือ หมู่บ้าน (village) เรือนหลายหลังอยู่รวมกัน

[หมู่บ้านในที่นี้เป็นชุมชนธรรมชาติ ไม่ใช่จัดตั้งเหมือนสมัยนี้ที่เรียกหมู่บ้านจัดสรร เพื่อธุรกิจอสังหาริมทรัพย์]

ถ้าคนอีสานถามว่า “เจ้าสิเป็นไทบ้านใด๋” หมายความว่า “เอ็งเป็นคนหมู่บ้านไหน” ไม่ได้ถามว่าบ้าน (คือ เรือน) มึงหลังไหน?

เมื่อสุนทรภู่เขียนนิราศเมืองแกลง ครั้นถึงบ้านกร่ำก็รำพันว่า

Advertisement

ถึงหย่อมย่านบ้านกร่ำพอค่ำพลบ        ประสบพบเผ่าพงศ์พวกวงศา

ขึ้นกระฎีที่สถิตย์ท่านบิดา                    กลืนน้ำตาก็ไม่ฟังเฝ้าพรั่งพราย

ตรงนี้บ้านหมายถึงชุมชนหมู่บ้านที่ชื่อ บ้านกร่ำ ไม่ใช่บ้านหลังเดียว

Advertisement

ถ้าจะให้หมายถึงบ้านหลังเดียว คนแต่ก่อนใช้คำว่า เรือน ดังสุนทรภู่บรรยายเพลงปี่ไว้ในพระอภัยมณีตอนหนึ่งว่า

พระโหยหวนครวญเพลงวังเวงจิต       ให้คนคิดถึงถิ่นถวิลหวัง

ว่าจากเรือนเหมือนนกมาจากรัง          อยู่ข้างหลังก็จะแลชะแง้คอย

และยังใช้คำว่า “บ้านเรือน” ควบกันด้วยว่า

หนาวอารมณ์ลมเรื่อยเฉื่อยเฉื่อยชื่น    ระรวยรื่นรินรินกลิ่นเกสร

แสนสงสารบ้านเรือนเพื่อนที่นอน        จะอาวรณ์อ้างว้างอยู่วังเวง

ในนิราศเมืองเพชร สุนทรภู่เขียนว่าเรือนบ้าน ความหมายเดียวกับบ้านเรือน

ได้เยี่ยมเยือนเรือนบ้านท่านขุนแพ่ง    มาปลูกแปลงแปลกกว่าเมื่ออาศัย

ด้วยศึกลาวคราวนั้นเธอบรรลัย            ไม่มีใครครอบครองจึงหมองมัว

บ้านเรือนในหมู่บ้านโพหัก ต. บางแพ อ. บางแพ จ. ราชบุรี (ภาพของเอนก นาวิกมูล เมื่อ 20 มกราคม 2522)
บ้านเรือนในหมู่บ้านโพหัก ต. บางแพ อ. บางแพ จ. ราชบุรี (ภาพของเอนก นาวิกมูล เมื่อ 20 มกราคม 2522)

หมู่บ้านเป็นชุมชนที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติของความเป็นมนุษย์ที่ต้องการอยู่รวมกัน เช่น ชุมชนหมู่บ้านสมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่บ้านเชียง (จ. อุดรธานี) และที่บ้านเก่า  (จ. กาญจนบุรี) ชุมชนหมู่บ้านเหล่านี้มีความหมายต่อพัฒนาการทางสังคมและวัฒนธรรมของมนุษย์มาก เพราะสะท้อนการตั้งถิ่นฐานถาวร มีการผลิตอาหารเลี้ยงตัวเองได้ และไม่ร่อนเร่อีกต่อไป

บ้านหรือชุมชนหมู่บ้าน นับเป็นหน่วยทางสังคมที่อยู่เหนือระดับครอบครัว การรวมตัวของหลายๆ ครอบครัวที่อยู่บริเวณเดียวกัน ทำให้เกิดความสัมพันธ์ทางสังคมและวัฒนธรรมนานเข้าก็กลายเป็นพวกเดียวกัน จนกลายเป็นเครือญาติกันก็มี

ศูนย์กลางที่สำคัญของชุมชนหมู่บ้าน สมัยก่อนคือสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ ใช้ทำพิธีกรรมร่วมกัน ช่วยหล่อหลอมให้ชุมชนมีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน พึ่งพาอาศัยกัน และไม่ละเมิดกันเช่น หอผี แต่หลังจากนั้นมักเป็นวัด หรือศาลเจ้า หรือมัสยิด

ประวัติศาสตร์แห่งชาติของไทย ไม่มีชุมชน จึงไม่มีบ้าน และไม่มีเรือน มีแต่วัดกับวัง และป้อมกำแพงเมืองที่ก่อด้วยอิฐ

เหตุนี้เอง อำนาจรัฐจึงไล่รื้อชุมชนป้อมมหากาฬ เพื่อทำลายล้างให้สาบสูญไปจนไม่มีประวัติศาสตร์สังคมของสามัญชนคนธรรมดาๆ

 

 

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image