สุจิตต์ วงษ์เทศ : อย่าซ้ำเติมให้คนหนีโขน ด้วยการกวาดต้อนนักเรียนเล่นโขนทั่วประเทศ

ทศกัณฐ์ขี่ม้า ในมิวสิควิดีโอเพลง “เที่ยวไทยมีเฮ” (ภาพจาก https://www.youtube.com/watch?v=8VO9PzDDX-M)

“เข็มนาฬิกา จับหมุนย้อนหลังเมื่อไรก็ได้

แต่กาลเวลาจับให้เดินย้อนหลังมิได้”

ผมจำคลับคล้ายคลับคลาจากอ่านบทความของ อ.อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ เรื่องชาตินิยมทางวัฒนธรรมสองแนวทาง (ในกรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันศุกร์ 30 กันยายน 2559 หน้า 8) ดังนั้นอย่าซ้ำเติมให้คนหนีโขน ด้วยการกวาดต้อนนักเรียนเล่นโขนทั่วประเทศ

โขนเด็กของ วธ.

นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รมว.วัฒนธรรม กล่าวหลังประชุมผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ว่า การเผยแพร่องค์ความรู้ด้านศิลปวัฒนธรรมของชาติ และส่งเสริมให้จัดตั้งคณะโขนเยาวชนในสถานศึกษา ในเบื้องต้นได้มอบให้วิทยาลัยนาฏศิลป์  ทั่วประเทศ 12 แห่ง นำร่องส่งเสริมการเรียนการสอนโขน

โดยจัดส่งครูลงพื้นที่ไปถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับโขนให้คนรุ่นใหม่ พร้อมฝึกสอนให้เด็กและการแสดงโขนเด็ก รวมถึงอาจเปิดรับสมัครเยาวชนที่สนใจเรียนโขนเข้ามาเรียนกับครูในวิทยาลัยนาฏศิลป์แต่ละแห่งด้วย

ขณะเดียวกันที่ประชุมยังหารือถึงการจัดทำหัวโขนสำหรับเด็ก ซึ่งมีขนาดเหมาะสมน้ำหนักเบาเพื่อใช้ฝึกซ้อมและแสดงโขนเด็ก ช่วยส่งเสริมให้เด็กมาสนใจเรียนการแสดงโขนมากขึ้น

Advertisement

นอกจากนี้ มอบหมายให้ วธ.ไปหาวิธีส่งเสริมการแสดงโขนในรูปแบบต่างๆ เช่น จัดประกวดการแสดงโขนเด็ก เพื่อเปิดเวทีให้เยาวชนได้แสดงออกถึงความสามารถอย่างต่อเนื่อง

[ไทยรัฐ ฉบับวันพฤหัสบดีที่ 29 กันยายน 2559 หน้า 15]

วิทยาลัยนาฏศิลป์ สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ ชำนาญงานด้านการเรียนการสอนอยู่แล้ว น่าจะเหมาะกับงานแบบนี้ รมว.วธ.จึงไม่ควรโอนย้ายผู้บริหารจากสำนักนี้ไปกรมศิลปากร เพราะความถนัดจัดเจนต่างกัน แล้วเท่ากับปิดกั้นความเจริญเติบโตของคนในกรมศิลปากร

Advertisement

โขนละครวุ่นวายอยู่แล้วเรื่องทศกัณฐ์หยอดขนมครก อย่าให้ต้องวุ่นกว่านี้

ดูโขน เล่นเขน

ขอเตือน รมว.วธ.ว่าเข็มนาฬิกาจับหมุนย้อนหลังได้ แต่กาลเวลาจับเดินย้อนหลังมิได้ โขนละครเป็นการแสดงตามขนบประเพณีที่พ้นสมัยแล้ว ถ้ายิ่งฝืนก็ยิ่งฝืด ยิ่งดันทุรังยิ่งทุเรศ

แทนที่จะกวาดต้อนนักเรียน เล่นโขน ซึ่งมีองค์ประกอบหลายอย่างจนรุ่มร่ามวุ่นวายมาก ขอแนะนำให้ทบทวนหาแนวทางใหม่ เช่น ชวน ดูโขน กับ เล่นเขน เป็นทางเลือก

ดูโขน หมายถึงพานักเรียนไปดูโขน เลือกจับตอนสนุกๆ สั้นๆ (ตอนสั้นๆ ไม่เกิน 90 นาที ไม่ยาว 3 ชั่วโมง อย่างที่กรมศิลปากรชอบทำ) ในโรงละครแห่งชาติ หรือห้องประชุมดีๆ ที่ไหนสักแห่งในภูมิภาคที่แสดงโดยกรมศิลปากร หรือวิทยาลัยนาฏศิลป์

ด้วยคำอธิบายโขน ตีความใหม่ให้ต่างจากการยกเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ มีฐานานุศักดิ์ เพราะนั่นพ้นยุคสมัยไปนานแล้ว

เท่ากับสร้างเสริมประสบการณ์ตรงในการดูโขนแบบใหม่ โดยไม่จำเป็นต้องเล่นโขน

เล่นเขน หมายถึงให้นักเรียนจำนวนไม่อั้นออกกำลังทั้งหญิงชายโดยเล่นเขน เต้นแบบยักษ์ ลิง (เขน หมายถึง พลรบในการแสดงโขน เช่น พลยักษ์, พลลิง)

ขอแนะนำให้อ่านข้อเขียนของ “นิ้วกลม” จะยกเฉพาะที่คิดว่า รมว.วธ.ต้องทำความเข้าใจมาดังนี้

ของเก่าต้องรักษา แล้วพัฒนาของใหม่

“โขนมิใช่นาฏกรรมที่งามอีกต่อไปแล้วในสายตาคนรุ่นใหม่ ตรงกันข้าม ผมยังรู้สึกว่าโขนในแบบดั้งเดิมมีความงามที่เกิดขึ้นจากความประณีตและจิตใจของผู้ที่ทำการแสดง ซึ่งความงามชนิดนี้ย่อมเกิดขึ้นจากความคิด ความเชื่อ และทัศนคติที่มีต่อศิลปะประเภทนี้อย่างลึกซึ้ง คุณค่าเช่นนี้ควรได้รับการอนุรักษ์ให้คงอยู่อย่างบริบูรณ์ เพราะนี่เป็นการแสดงที่มีรากฐานทางวัฒนธรรมของสังคมไทยในช่วงเวลาหนึ่งซึ่งคู่ควรต่อการศึกษา และไม่ควรเสื่อมสลายไปตามกาลเวลา

กระนั้น ก็น่าขบคิดว่า หากเราใช้โขนเป็นฐานหรือเป็นแรงบันดาลใจให้กับการพัฒนานาฏกรรมร่วมสมัย เราสามารถเปิดพื้นที่ให้คนรุ่นใหม่ได้ตีความในรูปแบบที่แตกต่างไปได้มากน้อยเพียงใด คุณค่าเดิม อนุรักษ์ไว้ให้เหมือนเดิม ขณะเดียวกันก็ทดลอง สร้างสรรค์ ผสมผสาน วิวัฒน์ พัฒนา ให้เกิดคุณค่าใหม่ที่สอดคล้องไปกับเทคโนโลยี ความเชื่อ อุดมการณ์ และโลกทรรศน์ที่เปลี่ยนแปลงไปตามวันเวลา”

[บางตอนจากบทความเรื่อง ว่าด้วย โขน กับ Pineapple นาจา โดย นิ้วกลม มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับประจำวันที่ 30 กันยายน-6 ตุลาคม 2559 หน้า 38]

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image