ทำไม ส.ว. ถึงไม่ให้แก้รัฐธรรมนูญ

ในการลงคะแนนเสียงหรือโหวตในรัฐสภา ถ้าเป็น ส.ส. ก็เข้าใจได้ว่าเขาโหวตเป็นเสียงเดียวกันเพราะทำตามมติพรรค แล้วเหตุใด ส.ว. ซึ่งต่างคนต่างเป็นอิสระต่อกัน จึงโหวตเป็นเสียงเดียวกันเกือบทั้งหมด ผมไม่อยากเชื่อว่า ส.ว. โหวตตามโผ ซึ่งโผอาจมาจากผู้มีส่วนในการแต่งตั้งพวกเขาเข้ามา ผมจึงคิดว่า ส.ว.โหวตแบบ groupthink คือ ส.ว. คิดแบบติดกลุ่มและทำตามกลุ่มนั่นเอง เมื่อต้องตัดสินใจ เราอาจเออออไปกับตัวเลือกที่ไม่ค่อยดีเท่าไหร่ เพียงเพราะคนอื่นคิดแบบนั้น และเราต้องการที่จะเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่ม และอยากที่จะอยู่ในฝ่าย ‘ถูก’ เมื่อคนในกลุ่มหลาย ๆ คนเชื่อในสิ่งเดียวกัน เราก็อยากเชื่อแบบนั้นด้วย และการที่มีคนจำนวนมากเชื่อแบบนี้ ก็เหมือนเป็นหลักประกันให้แก่ตัวเราแล้วว่า เราอยู่ในฝ่าย ‘ถูก’

Irving L. Janis เขียนหนังสือชื่อ “Groupthink: Psychological studies of policy decisions and fiascoes” โดยศึกษาตัวอย่างการตัดสินใจผิดพลาดหลายกรรมหลายวาระของผู้นำสหรัฐอเมริกาว่ามีเหตุมาจาก groupthink นี่เอง เขาวิเคราะห์อาการของการตัดสินใจในลักษณะนี้ว่ามาจากความคิด/ความเชื่อดังนี้

1.การเชื่อว่ากลุ่มของตนเป็น ‘ฝ่ายเทพ’ ส่วนคนที่ไม่เห็นด้วยกับเรานั้นเป็นพวกที่ไม่หวังดีต่อกลุ่มเรา หรือต่อประเทศชาติ

2.การคิดหาเหตุผลเข้าข้างพวกตน การตัดสินใจบางครั้งเป็นไปตามค่านิยมภายในของกลุ่ม แล้วจึงค่อยหาเหตุผลชี้แจงแบบเข้าข้างตัวเอง

Advertisement

3.การมองกลุ่มที่เห็นต่างว่าเป็นพวกนอกคอก แล้วระบุความคิดและเจตนาของพวกนอกคอกเอาเอง ตามความคิดและจินตนาการของกลุ่มตน

4.การเซ็นเซอร์ตนเอง แม้คนในกลุ่มบางคนมีความคิดของตนเอง แต่ก็ยอมเฉยไว้ ด้วยเกรงจะเป็นการกวนน้ำให้ขุ่น แม้จะมีความแคลงใจ แต่ก็ปล่อยเลยตามเลย

5.การสร้างภาพลวงของการเห็นพ้องต้องกัน อีกทั้งเห็นว่าถ้ากลุ่มเห็นพ้องต้องกันในความเห็นใด ก็แสดงว่าความเห็นนั้นถูกต้อง ทั้ง ๆ ที่อาจไม่ใช่ความเห็นพ้อง แต่เป็นผลมาจากการชี้นำของคนเพียงบางคน และไม่มีใครกล้าขัด จึงคิดเอาว่าคนส่วนใหญ่เห็นเช่นนั้นแล้ว

Advertisement

6.การกดดันคนที่เห็นต่างภายในกลุ่ม โดยวิธีการต่าง ๆ เช่น การใช้ภาษาท่าทางว่าไม่ยอมรับความเห็นต่าง การตัดบท การทำให้เสียหน้า ซึ่งท้ายสุดความเห็นต่างก็ตกไป ผมเคยคุยกับ ส.ว. ที่เห็นต่างสองคน เพื่อชวนเขามาร่วมประชุมเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญประชาธิปไตย ทั้งสองปฏิเสธอย่างสุภาพ พร้อมให้เหตุผลว่า คุยกับพวกเขาไม่เกิดประโยชน์ เพราะเขาไม่มีพวกในบรรดา ส.ว.

Groupthink เกิดได้จากหลากหลายปัจจัย เช่น กลุ่มมีตัวตนที่แข็งแรง มีคนคล้ายกันอยู่ในกลุ่ม มีสายสัมพันธ์ที่เข้มแข็ง มีความเชื่อว่าตนเหนือกว่าคนอื่น ๆ ที่อยู่นอกกลุ่ม มีหัวหน้ากลุ่มที่ทุกคนพร้อมเห็นด้วย ผมแปลกใจว่าทำไมในประเทศที่พัฒนาแล้วและมีความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ จึงมีคนจำนวนมากที่คิดและเชื่อแบบติดกลุ่ม เช่น เชื่อว่าโลกแบน เชื่อว่าพระเจ้าสร้างโลกเมื่อไม่กี่พันปีมานี้เอง เชื่อว่าสภาพภูมิอากาศโลกไม่เปลี่ยนแปลง ที่ว่าโลกไม่ร้อนขึ้นนั้นไม่จริง เชื่อว่าไม่ควรฉีดวัคซีนต้านโควิด-19 เพราะอันตรายและไม่ได้ผล ฯลฯ แต่พอมาคิดดูอีกที การที่คนจำนวนมากมีความคิดความเชื่อที่สวนทางกับวิทยาศาสตร์เช่นนี้ อาจเป็นเพราะพวกเขาติดอยู่ในกับดักของความคิดแบบติดกลุ่มของตัวเองก็เป็นได้ และการที่ ส.ว. โหวตเป็นบล็อกในเรื่องรัฐธรรมนูญและร่างกฎหมายอื่น ๆ ก็เป็นเพราะพวกเขาคิดแบบติดกลุ่มก็เป็นได้ ด้วยเหตุนี้กระมัง ส.ว. เกือบทั้งหมดจึงคิดว่า กลุ่มตนควรพิทักษ์รัฐธรรมนูญอย่างเหนียวแน่น ยอมไม่ได้ที่จะให้มีการเปลี่ยนแปลงในทางที่ ‘ประชาชนเสียประโยชน์’

กลไกทางจิตวิทยาอีกกลไกหนึ่งคือ Projection หลังจากการเชื่อว่ากลุ่มของตนเป็น ‘ฝ่ายเทพ’ แล้ว กลุ่มมักจะแสดงออกแบบ ‘เอาดีใส่ตัว โยนชั่วใส่คนอื่น’ projection หมายถึงการ ‘โยนใส่คนอื่น’ ที่น่าแปลกคือ สิ่งที่โยนใส่มักเป็นความไม่ดีงามที่ตนเก็บกดไว้ คนเราเมื่อคิดไม่ดี มีเล่ห์กลต่าง ๆ มีเจตนาที่ซ่อนเร้น ชอบตีความไปในทางร้าย ฯลฯ สิ่งเหล่านี้จะถูกปฏิเสธโดยส่วนดี (superego) ของเรา จึงถูกกดลงไปอยู่ในจิตใต้สำนึก พอได้ทีจะเอาสิ่งที่เก็บกดไว้ออกมาโยนใส่คนอื่น และจะสบายใจขึ้นที่สามารถ ‘มองเขาอย่างทะลุปุโปร่ง’ ขอยกตัวอย่างการอภิปรายของ ส.ว. คนหนึ่ง เขาวิจารณ์ผู้เสนอขอแก้ไขรัฐธรรมนูญว่ามีเจตนาไม่บริสุทธิ์ คือ รู้อยู่แล้วว่าร่างขอแก้ไขไม่มีทางผ่านได้ แต่ก็ยังล่ารายชื่อมาเป็นแสน เพื่อจะเป็นข้ออ้างเมื่อร่างตกไป ก็จะใช้เป็นประเด็นปลุกระดมคนออกมาประท้วงตามท้องถนน คิดไปได้ไกลจริง ๆ และสามารถเห็นโยงใยในจินตนาการแบบนักสมคบคิดทั้งหลาย (หมายถึงคนที่เชื่อใน conspiracy theory)

ขอย้อนไปพิจารณาว่า ส.ว. ชุดนี้ได้มีส่วนปฏิเสธร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในประเด็นอะไรบ้าง

โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (ไอลอว์) ได้รวบรวมรายชื่อผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งประมาณหนึ่งแสนรายชื่อ เสนอขอแก้ไขรัฐธรรมนูญเมื่อเดือนกันยายน 2563 โดยมีสาระสำคัญคือ

1.ยกเลิกส่วนที่เป็นการสืบทอดอำนาจ คสช.

2.ยกเลิกหมวด 16 การปฏิรูปประเทศ

3.ตัดยุทธศาสตร์ชาติออกจากรัฐธรรมนูญ

4.กำหนดให้นายกฯต้องเป็น ส.ส.

5.แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 256 ให้รัฐสภาแก้ไขรัฐธรรมนูญได้โดยไม่มีเงื่อนไขพ่วง

6.ให้มี ส.ว.ชุดใหม่ จำนวน 200 คน มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด

7.แก้ไขกระบวนการสรรหากรรมการในองค์กรอิสระ และตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ

8.จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดย สสร. ที่มาจากการเลือกตั้ง

มี ส.ว. บางคนแสดงความเห็นว่า “ไอลอว์” รับเงินจากแหล่งทุนต่างประเทศ จึงกังวลถึงความโปร่งใสว่า มีต่างชาติเข้ามาครอบงำการดำเนินการของไอลอว์หรือไม่ ในที่สุด ส.ว. มีความเห็นพ้องต้องกันอย่างเกือบเป็นเอกฉันท์ที่จะไม่รับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนร่างแรกในเดือนพฤศจิกายน 2563

อันที่จริง รัฐสภาเคยแสดงท่าทีว่าจะแก้ไขรัฐธรรมนูญ จึงได้แต่งตั้งคณะกรรมาธิการเพื่อศึกษาและรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน และแต่งตั้งคณะกรรมาธิการพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งเสนอให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 และเพิ่มหมวดว่าด้วยการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่โดยสภาร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งสมาชิก (สสร.) มาจากการเลือกตั้ง รัฐสภาจึงรับหลักการและเห็นชอบกับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในวาระที่สอง แต่มี ส.ส. และ ส.ว. จำนวนหนึ่งยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความเรื่องการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งศาลวินิจฉัยว่าทำได้ เพียงแต่ให้มีการลงประชามติถามความเห็นชอบของประชาชนเพื่อสถาปนาอำนาจการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ก่อนดำเนินการ รัฐสภาเลยถือโอกาสไม่รับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในวาระที่สาม ทั้ง ๆ ที่ผ่านวาระที่หนึ่งและที่สองมาแล้ว เรื่องนี้เป็นนโยบายที่รัฐบาลควรดำเนินการต่อ แต่คณะรัฐมนตรีที่สามารถจัดให้มีการลงประชามติได้ก็ไม่ทำอะไร เวลาผ่านไปตั้งแต่เดือนมีนาคม 2564 ก็เกือบ 8 เดือนแล้ว

ระหว่างนี้ มีการเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 13 ร่างเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาเมื่อวันที่ 23-24 มิถุนายน 2564 ประกอบด้วยร่างของพรรคพลังประชารัฐ 1 ร่าง ของพรรคประชาธิปัตย์ 6 ร่าง ของพรรคประชาธิปัตย์-พรรคภูมิใจไทย-พรรคชาติไทยพัฒนา 2 ร่าง และพรรคร่วมฝ่ายค้าน (ประกอบด้วยพรรคเพื่อไทย พรรคก้าวไกล พรรคเพื่อชาติ พรรคเสรีรวมไทย พรรคประชาชาติ พรรคพลังปวงชนไทย และพรรคไทยศรีวิไลย์) 4 ร่าง ปรากฏว่า รัฐสภาตีตกไป 12 ร่าง รับแต่เพียงร่างของพรรคประชาธิปัตย์ที่ขอให้แก้ไขระบบเลือกตั้ง

หนึ่งปีผ่านไปนับแต่การเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของไอลอว์ ได้มีกลุ่มใหม่ชื่อกลุ่ม Resolution ซึ่งได้รวบรวมรายชื่อประมาณหนึ่งแสนห้าหมื่นชื่อเสนอขอแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยมีสาระสำคัญดังนี้

1.ยกเลิก ส.ว.

ให้รัฐสภาไทยใช้ระบบสภาเดี่ยว มีแต่สภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) มาจากการเลือกตั้ง 500 คน ไม่มีสมาชิกวุฒิสภาอีกต่อไป

2.เปลี่ยนวิธีการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และกรรมการองค์กรอิสระ

การสรรหาเป็นการเสนอชื่อโดยที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา ที่ประชุมใหญ่ตุลาการศาลปกครองสูงสุด พรรคร่วมรัฐบาล พรรคร่วมฝ่ายค้าน และให้ ส.ส. ลงมติด้วยคะแนนเสียงอย่างน้อยสองในสาม เลือกคนที่ได้คะแนนสูงที่สุดจากชื่อที่เสนอมาทั้งหมด

3.ยกเลิกแผนยุทธศาสตร์ คสช. และหมวด 16 การปฏิรูปประเทศ

เพราะเป็นกลไกที่ คสช. ตั้งคนของตัวเองเข้าไปร่างเนื้อหาและเป็นกรรมการในกลไกการบังคับใช้ทั้งหมด

4.นายกฯ ต้องเป็น ส.ส.

5.เสนอกลไกต่อต้านรัฐประหาร

ยกเลิกการนิรโทษกรรมตัวเองของคณะรัฐประหาร 2557

กำหนดให้ปวงชนชาวไทยมีสิทธิและหน้าที่ในการต่อต้านการรัฐประหาร ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐมีหน้าที่ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของคณะทหารที่ก่อการรัฐประหาร ห้ามไม่ให้ศาลพิพากษารับรองความสำเร็จของการรัฐประหาร

6.เพิ่มอำนาจตรวจสอบให้ฝ่ายค้าน

เพิ่มกลไกพิเศษของรัฐสภาขึ้น ได้แก่ คณะผู้ตรวจการกองทัพ คณะผู้ตรวจการศาล และคณะผู้ตรวจการองค์กรอิสระ โดยให้มีสมาชิก 10 คนที่ต้องเป็น ส.ส. ฝ่ายค้านอย่างน้อย 5 คน และบังคับให้คณะกรรมาธิการ ส.ส. ที่เกี่ยวกับกฎหมาย งบประมาณ การทุจริต ฯลฯ ต้องให้ฝ่ายค้านเป็นประธานอย่างน้อย 5 คณะ

7.เพิ่มอำนาจการเข้าชื่อของประชาชน

ประชาชนเข้าชื่อกันไม่น้อยกว่า 20,000 คน “ตรวจสอบตุลาการ” ที่ส่อทุจริตต่อหน้าที่หรือจงใจใช้อำนาจขัดต่อกฎหมายได้ รวมทั้งเสนอตรวจสอบผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระทั้งหลายด้วย การเข้าชื่อเสนอกฎหมายโดยประชาชน 10,000 คนก็สามารถเสนอได้ทุกประเด็น

มี ส.ว. บางคนวิจารณ์ว่า ผู้เสนอไม่รู้จักสังคมไทยและมีเจตนาแอบแฝง ข้อเสนอต่าง ๆ สุดโต่งเกินไป ผู้เสนอก็อธิบายว่าได้ศึกษาเปรียบเทียบรัฐธรรมนูญทั้งของไทยและต่างประเทศและได้รับฟังความคิดเห็นของนักวิชาการและประชาชนจำนวนหนึ่ง พวกตนไม่ต้องการการปฏิรูปในแบบฉบับ คสช. หากต้องการการปฏิรูปที่เปิดกว้างกว่า จึงขอให้รัฐสภารับหลักการในวาระที่ 1 แล้วไปปรับปรุงในวาระที่ 2 หากจะไม่รับก็สามารถทำได้ในวาระที่ 3 อีกทั้งต้องเอาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญไปลงประชามติอยู่ดี อย่างไรก็ตาม ผลการลงคะแนนของ ส.ว. คือไม่รับหลักการ ที่รับมีเพียง ส.ว. 3 คน หลังการลงคะแนนเสียง ผู้เสนอบอกว่าไม่ท้อถอย ยังจะสู้ต่อไป

ผมไม่รู้ว่าอะไรจะทำให้ ส.ว. เปิดใจรับฟังเพิ่มขึ้น โดยรู้เท่าทันกับดักแบบ groupthink ผมคิดว่าผู้เสนอการแก้ไขรัฐธรรมนูญพยายามเล่นตามกติกา แม้จะเป็นกติกาที่ต้องผ่านด่าน ส.ว. 250 คน คำถามคือ ถ้าต้องการปฏิรูประบอบ คสช. จะสื่อสารให้คนที่ คสช. แต่งตั้งให้ช่วยรับฟังได้อย่างไร

โคทม อารียา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image