สะพานแห่งกาลเวลา : วัคซีน ‘วัลเนวา’ โดย ไพรัตน์ พงศ์พานิชย์

(ภาพ-AFP)

สะพานแห่งกาลเวลา : วัคซีน‘วัลเนวา’ โดย ไพรัตน์ พงศ์พานิชย์

การมีวัคซีนป้องกัน ทำให้การรับมือกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมาก

ก่อนที่จะมีวัคซีน วิธีรับมือที่ดีที่สุดก็คือ การอาศัยมาตรการต่างๆ ตั้งแต่การรักษาระยะห่าง การสวมหน้ากากป้องกัน เรื่อยไปจนถึงการล็อกดาวน์ อยู่แต่กับบ้าน จนวิถีทั้งในทางสังคม ทางเศรษฐกิจ พลิกผัน บิดเบี้ยวไปทั้งหมด

ผู้คนเป็นจำนวนมากทั่วโลกล้มตายไปเพราะการแพร่ระบาด

ในแง่นี้ เราจึงสามารถพูดได้ว่า วัคซีน ช่วยรักษาชีวิตผู้คนเอาไว้ได้เป็นจำนวนมากในช่วงขวบปีที่ผ่านมา

Advertisement

น่าเสียดายที่ ทุกอย่างที่เกี่ยวกับวัคซีนไม่ได้ดีพร้อม สมบูรณ์แบบแต่อย่างใด

ความเหลื่อมล้ำในการกระจาย การเข้าถึง วัคซีนป้องกันโควิด-19 เห็นได้ชัดว่า ยังคงก่อให้เกิดปัญหาระหว่างชาติที่มั่งคั่งกับชาติที่ยากจนทั้งหลาย

การมีวัคซีนใหม่ๆ ที่ประสบความสำเร็จในการป้องกันการติดเชื้อหรือการป่วยหนักเมื่อติดเชื้อโควิด-19 จึงเป็นเรื่องน่ายินดีทุกครั้งไป

Advertisement

ปัญหาก็คือ เราไม่ค่อยจะมีวัคซีนที่มีประสิทธิภาพและปลอดภัย ให้ใช้กันมากมายนัก

นอกเหนือจากวัคซีนที่ชื่อคุ้นหูกันเพียงไม่กี่ตัวแล้ว ก็เพิ่งมีวัคซีนตัวใหม่จากประเทศฝรั่งเศส พัฒนาโดยบริษัท วัลเนวา เท่านั้นที่ส่อเค้าว่าจะประสบความสำเร็จในระดับเดียวกัน ทั้งในแง่ประสิทธิภาพและความปลอดภัย

วัลเนวา วัคซีน หรือ “วีแอลเอ2001” ซึ่งเป็นชื่อรหัสในการพัฒนา เป็นผลงานของบริษัทฟาร์มาซูติคอลจากฝรั่งเศสชื่อเดียวกัน ไม่เพียงให้ผลลัพธ์การทดลองในคนในระยะที่ 3 ในเชิงป้องกันการติดเชื้อ การป่วยหนักและเสียชีวิต อยู่ในระดับสูงแล้ว ยังมีคุณลักษณะพิเศษที่เหนือกว่าวัคซีนที่ใช้กันอยู่ก่อนหน้านี้อีกด้วย

ผลการทดลองในคนระยะที่ 3 ซึ่งใช้กลุ่มตัวอย่างมากกว่า 4,000 ราย อายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไปในกว่า 26 พื้นที่ทั่วสหราชอาณาจักร (ยูเค) พบว่า วีแอลเอ2001 กระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นสูงถึง 95 เปอร์เซ็นต์ เมื่อนำผลลัพธ์มาเปรียบเทียบกับผลการทดลองวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า พบว่า วัคซีนใหม่ตัวนี้กระตุ้นให้เกิดภูมิคุ้มกันในร่างกายสูงกว่าด้วยซ้ำไป

ที่สำคัญก็คือ ภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้น มีสารแอนติบอดี หรือภูมิคุ้มกันที่ทำหน้าที่ยับยั้งไม่ให้เชื้อก่อโรคโควิด-19 ขยายตัวในร่างกายสูงกว่าอีกด้วย

วัลเนวา วัคซีน เป็นวัคซีนประเภทเชื้อตาย เหมือนกับวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่และวัคซีนป้องกันโรคโปลิโอที่ใช้กันอยู่แพร่หลาย กล่าวคือผลิตโดยใช้เทคนิคนำเชื้อโคโรนาไวรัสมาทำให้อ่อนฤทธิ์ หรือทำให้ตาย (ด้วยสารเคมี หรือความร้อน หรือด้วยรังสี) แล้วนำเข้าสู่ร่างกาย เพื่อให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายแสดงปฏิกิริยาตอบโต้และจดจำลักษณะของไวรัส

ที่แตกต่างจากวัคซีนอื่นๆ ก็คือแทนที่วัลเนวาจะใช้เพียงแค่ “บางส่วน” ของเชื้อ (ที่นิยมใช้กันคือส่วนที่เป็นโปรตีนหนาม ซึ่งทำให้เชื้อสามารถจับเกาะกับเซลล์ในร่างกายได้โดยง่าย) กลับใช้เชื้อ (ที่ตายแล้ว) ทั้งตัว ไม่ใช่แค่บางส่วน เป็นเครื่องกระตุ้นภูมิคุ้มกัน

ข้อดีที่ได้จากการใช้เชื้อทั้งตัวก็คือ ตัวเชื้อจะกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้กว้างขวางกว่า และจะทำให้เซลล์ความทรงจำ (เมมโมรีเซลล์) สามารถจดจำลักษณะต่างๆ ทั้งหมดของตัวเชื้อไว้ และจะกระตุ้นให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายทำงานทันทีที่ได้รับเชื้อจริงๆ ครั้งใหม่ ไม่ว่าเชื้อที่เข้าสู่ร่างกายดังกล่าวจะเป็นเชื้อกลายพันธุ์หรือไม่ก็ตาม

เหตุผลก็คือ ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายถูกกระตุ้นให้จดจำลักษณะหลายๆ ส่วนของไวรัสไว้ ไม่จำเพาะแต่ส่วนใดส่วนหนึ่ง ซึ่งอาจเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมได้มาก จากธรรมชาติที่กลายพันธุ์ง่ายและกลายพันธุ์ได้ตลอดเวลาของเชื้อโควิด-19

ดังนั้น วัลเนวา ไม่ได้พึ่งพาลักษณะของสไปค์โปรตีนเพียงอย่างเดียว แต่สามารถใช้ส่วนอื่นๆ ของไวรัสเป็นตัวกระตุ้นให้ระบบภูมิคุ้มกันทำงานได้เหมือนกัน ไม่ว่าสไปค์โปรตีนของไวรัสจะกลายพันธุ์ เปลี่ยนแปลงไปมากแค่ไหนก็ตาม

ผู้เชี่ยวชาญคาดหวังว่าด้วยคุณสมบัติเช่นนี้ หากได้รับอนุญาต วัลเนวา จะกลายเป็นวัคซีนที่ใช้ต่อเนื่องได้ยาวนานเลยทีเดียว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image