คนตกสีที่อยู่อีกฝั่งหนึ่ง : หนทางยาวไกล ป้ายต่อไปของ ‘สมรสเท่าเทียม’

คําวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเมื่อวันพุธที่ผ่านมาคงจะทำให้ฝ่ายที่รอที่จะได้เห็นการสมรสเท่าเทียมเกิดขึ้นในประเทศไทยผิดหวังกันพอสมควร

เพราะไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม ศาลรัฐธรรมนูญตั้งแต่ปี 2550 เป็นต้นมานี้ มีแนวทางในการวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับกฎหมายขัดรัฐธรรมนูญอย่างคาดหวังได้ว่าเป็นไปในทางที่เป็นคุณต่อการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน ทั้งยังมี “ข้อสังเกต” ที่ทำให้แอบลุ้นเพิ่มเติมด้วยว่า
ถ้าก่อนหน้าหรือหลังจากการตัดสินวินิจฉัยคดีการเมืองที่สำคัญ ศาลรัฐธรรมนูญก็มักจะมีคำวินิจฉัยซึ่งแสดงถึงความก้าวหน้าในการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนออกมาในระยะเวลาใกล้เคียงกัน

ความเป็นมาของคดีนี้เริ่มต้นขึ้นเมื่อคู่รักสตรีคู่หนึ่งยื่นคำร้องต่อศาลครอบครัวเพื่อให้รับรองการสมรส แต่ตามกฎหมายปัจจุบันคือประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1448 ที่บัญญัติว่า “การสมรสจะทำได้ต่อเมื่อชายและหญิงมีอายุสิบเจ็ดปีบริบูรณ์แล้ว …ฯลฯ..” นั้นยังไม่เปิดช่องสำหรับคู่รักเพศเดียวกัน คู่รักผู้ร้อง

จึงโต้แย้งว่าบทบัญญัติประมวลกฎหมายแพ่งที่ว่านี้ขัดหรือแย้งต่อหลักความเสมอภาคตามรัฐธรรมนูญ และขอให้ศาลครอบครัวส่งเรื่องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย

Advertisement

วันพุธที่ 17 พฤศจิกายน 2564 ศาลรัฐธรรมนูญก็มีมติเอกฉันท์ว่าบทบัญญัติดังกล่าวไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ แต่ก็มีข้อสังเกตในคำวินิจฉัยว่ารัฐสภา คณะรัฐมนตรี และหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง สมควรดำเนินการตรากฎหมายเพื่อรับรองสิทธิและหน้าที่ของบุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศต่อไป

เหตุผลว่าทำไมกฎหมายดังกล่าวไม่ขัดรัฐธรรมนูญ และรายละเอียดว่ากฎหมายที่ควรจะตราขึ้นรับรองสิทธิของคู่สมรสผู้มีความหลากหลายทางเพศนี้จะเป็นอย่างไรคงต้องรออ่านในคำวินิจฉัยฉบับเต็มเป็นทางการ จึงยังไม่อาจวิเคราะห์ได้ในขณะนี้ว่าการสมรสของบุคคลเพศเดียวกันเช่นเดียวกับกรณีบุคคลชายหญิงในประเทศไทยจะกระทำได้หรือไม่ หรือจะอยู่ในรูปแบบใด

การเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขการสมรสที่เดิมกำหนดให้เฉพาะชายกับหญิง มาเป็นการสมรสเท่าเทียมสำหรับบุคคลทุกเพศสภาพนั้น ในโลกนี้เกิดขึ้นได้สองวิธี คือ โดยการแก้ไขกฎหมายโดยรัฐสภา กับอีกทางหนึ่งคือโดยผลแห่งคำวินิจฉัยขององค์กรที่ทำหน้าที่เป็นตุลาการทางรัฐธรรมนูญ ไม่ว่าจะเรียกว่าศาลรัฐธรรมนูญหรือศาลสูงสุดของประเทศนั้น

ประเทศที่ใช้การเปลี่ยนแปลงทางกฎหมายจากฝ่ายนิติบัญญัติ ก็เช่นกรณีของฝรั่งเศสและแคนาดา ส่วนประเทศที่เปลี่ยนแปลงโดยคำพิพากษาของตุลาการทางรัฐธรรมนูญ ที่เป็นกรณีสำคัญของโลกคือสหรัฐอเมริกา ตามมาด้วยไต้หวัน ญี่ปุ่น และออสเตรีย

สำหรับความเปลี่ยนแปลงทางกฎหมายโดยกระบวนการรัฐสภานั้นคงเข้าใจได้ไม่ยาก เมื่อเดิมกฎหมายไม่เปิดช่องก็แก้ให้กฎหมายเปิดช่องทาง แต่เหตุใด “ศาล” ซึ่งเป็นองค์กรตุลาการ จึงมีอำนาจในการกำหนดความเปลี่ยนแปลงในเรื่องนี้ได้

นั่นเพราะมีแนวคิดในทางที่ว่า สิทธิในการสมรสและอยู่กินกันเป็นครอบครัวนี้ เป็นสิทธิมนุษยชนหรือเสรีภาพขั้นพื้นฐานที่ไม่ว่าผู้ใดมีเพศสภาพอย่างไ ก็จะต้องสมรสกันและได้รับการยอมรับในระบบกฎหมายโดยเสมอหน้ากัน หากมีกฎหมายใดที่จำกัดเสรีภาพดังกล่าวนี้ ก็ต้องถือว่าเป็นกฎหมายที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญที่องค์กรตุลาการทางรัฐธรรมนูญจะมีอำนาจประกาศความเสียเปล่าใช้บังคับไม่ได้

แนวคิดนี้มองว่ามนุษย์มีสิทธิในเสรีภาพแห่งการสมรสโดยเท่าเทียมกันมาตั้งแต่ต้น กฎหมายที่เคยมีอยู่ต่างหากที่ละเมิดลิดรอนเสรีภาพนั้น ดังนั้น การจะทำให้การสมรสเท่าเทียมเกิดขึ้นได้ก็เพียงลบล้างกฎหมายที่จำกัดขัดขวางนั้นออกเสีย

ในขณะที่ความคิดอีกฝ่ายหนึ่งก็มองว่า เรื่องการสมรสอยู่ร่วมกันของบุคคลนั้นเป็นลักษณะของสิทธิที่เรียกร้องการยอมรับจากสังคมและระบบกฎหมาย จึงควรจะเป็น “สังคม” ส่วนรวมนั้นเองที่จะตัดสินใจที่ว่าการสมรสในรูปแบบใดที่สังคมจะถือนับรับรู้ โดยในระบอบประชาธิปไตยนั้น “สังคม” จะลงมติตัดสินใจในเรื่องต่างๆ ผ่านกฎหมายที่ตราขึ้นโดยตัวแทนของประชาชนในระบบรัฐสภา

เช่นเหตุผลที่ผู้พิพากษาเสียงข้างน้อยในศาลฎีกาสหรัฐจากคดีประวัติศาสตร์ Obergefell v. Hodges ซึ่งวางบรรทัดฐานเรื่องสมรสเท่าเทียมกันให้ไว้เป็นความเห็นแย้งว่า มันไม่ใช่แค่เรื่องที่ว่าตัวผู้พิพากษาคนใดคนหนึ่งจะเห็นด้วยในเรื่องการสมรสเท่าเทียมหรือไม่ แต่เรื่องนี้ควรเป็นการตัดสินใจของผู้แทนที่ได้รับการเลือกตั้งมา มากกว่าจะให้เป็นอำนาจการตัดสินใจของนักกฎหมายเพียงห้าคน อันเป็นจำนวนตุลาการเสียงข้างมากที่เป็นมติชี้ขาด ผู้ถูกมอบหมายหน้าที่เพียงเพื่อระงับข้อพิพาททางกฎหมายเท่านั้น

แนวคิดนี้จึงมองว่า การสมรสเป็นเรื่องของการรับรองสิทธิโดยกฎหมาย ดังนั้น จึงต้องให้รัฐสภาซึ่งเป็นตัวแทนของประชาชนเป็นผู้ตัดสินใจว่าสิทธิเช่นนั้นควรมีหรือไม่ ผ่านการแก้ไขหรือตรากฎหมาย

เหตุผลทั้งสองแนวนั้นฟังได้และมีน้ำหนักและมีเหตุผลทั้งคู่ เรื่องนี้จึงยากที่จะชี้ผิดถูกได้อย่างไรข้อถกเถียง

ข้อเท็จจริงขั้นต้นที่ต้องยอมรับคือ “การสมรส” หรือการแต่งงานไม่ว่าจะชาติใดวัฒนธรรมใดล้วนมีภาพของการอยู่กินระหว่างคู่รักชายหญิงเป็นเบื้องแรกทั้งสิ้น เมื่อมีระบบรัฐสมัยใหม่ ธรรมเนียมวัฒนธรรมนั้นก็ปริวัตรไปเป็นกฎหมาย ด้วยเหตุนี้กฎหมายสมรสของทุกชาติแต่เดิมจึงกำหนดไว้ว่าเป็นการสมรสระหว่างหญิงชายเท่านั้น ก่อนที่วัฒนธรรมความคิดในเรื่องของครอบครัวจะเริ่มเปลี่ยนไปนับแต่เริ่มศตวรรษนี้

โดยก่อนหน้านี้ก็เริ่มมีความเปลี่ยนแปลงแบบค่อยเป็นค่อยไปชิมลางมาเรื่อย เช่นประเทศฝรั่งเศสในเบื้องแรกก็ใช้การตรากฎหมายขึ้นมาเพื่อรับรองสถานะทางครอบครัวของคู่รักเพศเดียวกันก่อน ที่เรียกว่าการทำ “สัญญาร่วมชีวิต” (Le Pacte civil de solidarit : PACS) ขึ้นมาชิมลางก่อนในปี 1999 แล้วจึงค่อยมาแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งให้บุคคลเพศเดียวกันสามารถสมรสกันได้เช่นเดียวกับคู่สมรสชายหญิง
ทุกประการในปี 2013

ธรรมชาติแห่งกฎหมายและวัฒนธรรมประเพณีของสังคมนั้นมีความสัมพันธ์ต่อกันในลักษณะเป็นพลวัต

กฎหมายนั้นคือ “อำนาจรัฐ” ที่กำหนดกฎเกณฑ์การอยู่ร่วมกันของผู้คนในสังคม แต่กฎหมายที่จะถือว่ามีความชอบธรรมได้โดยสมบูรณ์นั้นก็ควรมาจากเจตจำนงแห่งประชาสังคมในแต่ละรัฐประเทศ ดังนั้น กฎหมายกับวัฒนธรรมประเพณีตลอดจนศีลธรรมจึงเคลื่อนไหลสลับสับเปลี่ยนกันได้เสมอในหลายรูปแบบ

กฎหมายแต่เริ่มเดิมนั้นตั้งต้นจากการนำธรรมเนียมประเพณีของคนในสังคมมากำหนดหรือบัญญัติให้เป็นตัวบทกฎหมาย ตัวอย่างที่ชัดเชนที่สุดคือเรื่องกฎหมายครอบครัวทั้งเรื่องการสมรสของสามีภรรยา บิดามารดาและบุตร ตลอดจนเรื่องทายาทมรดก หรือบทบัญญัติแห่งกฎหมายอาญาที่พ้องตรงกับศีลธรรมหลักๆ ในสังคมนั้นๆ

หากต่อมา ก็ปรากฏว่ากลายเป็นกฎหมายนั้นเองที่กำหนดหรือเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมเดิมเสียใหม่ ตัวอย่างที่มีผู้ยกไว้บ่อยๆ คือเดิมนั้นสังคมไทยเป็นระบบผัวเดียวหลายเมีย จนกระทั่งเมื่อประกาศใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 กำหนดให้บุคคลมีคู่สมรสได้ตามกฎหมายเพียงครั้งละคนได้สถาปนาระบบครอบครัวผัวเดียวเมียเดียวขึ้นในประเทศไทย ทำให้การมีภรรยาเป็นคู่ของตนเพียงหนึ่งนั้น เป็นมาตรฐานทางศีลธรรมพื้นฐานของชายไทย

หรือเอาที่ร่วมสมัยหน่อยก็คงจำได้เลาๆ ว่า สมัยก่อนการแต่งงานจดทะเบียนสมรสแล้วฝ่ายหญิงจะต้องเปลี่ยนไปใช้นามสกุลของฝ่ายชายโดยไม่มีสิทธิเลือก อาจจะเอานามสกุลเดิมมาจดเป็นชื่อกลางบ้างก็ได้ แต่จะไม่เปลี่ยนไปใช้นามสกุลของสามีนั้นทำไม่ได้ จนกระทั่งมีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในปี พ.ศ.2546 ว่ากฎหมายชื่อบุคคลที่บังคับไว้เช่นนั้นขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญจนส่งผลให้ต้องมีการแก้กฎหมาย แรกทีก็มีคนมาโวยวายเหมือนกันว่าคำวินิจฉัยนี้จะมาทำลายสถาบันครอบครัวและวัฒนธรรมประเพณีไทย (ที่เพิ่งจะมีนามสกุลกันก็ไม่ถึงร้อยปีดีในสมัยรัชกาลที่ 6) แต่ในที่สุด ปัจจุบันธรรมเนียมที่ผู้หญิงแต่งงานแล้วต้องใช้นามสกุลชายก็เริ่มเบาบางจางลงไป เรายอมรับว่าการแต่งงานกับการเลือกใช้นามสกุลของคู่สมรสกันเป็นทางเลือกมิใช่ข้อกำหนดบทบังคับ

ทั้งบางกรณีก็มีกรณีที่กฎหมายเดิมนั้นสอดคล้องกับจารีตประเพณีศีลธรรมอยู่ แต่เมื่อเวลาผ่านไปโลกมีการพัฒนาการ ประเพณีศีลธรรมนั้นก็เริ่มได้รับการทบทวน ผ่อนคลายลงไปพร้อมกับความเปลี่ยนแปลงของโลก สังคม และเทคโนโลยี หากกฎหมายที่ตราขึ้นมานมนานแล้วไม่ได้เปลี่ยนตาม จนกลายเป็นอุปสรรคหรือละเมิดสิทธิ โดยที่ฝ่ายนิติบัญญัติเองก็ไม่คิดแก้ไข อาจเพราะเชื่อว่าศีลธรรมจารีตของสังคมยังคงรูปอยู่เช่นเดิม หรือขี้เกียจไปแตะไปยุ่งกับกฎหมายที่มีความคาบเกี่ยวเช่นนั้น จนที่สุดก็เป็นหน้าที่ขององค์กรตุลาการทางรัฐธรรมนูญนั้นเองที่มาประกาศความ “ล้าสมัย” ไม่สอดคล้องต่อความเป็นไปของสังคมโลกของกฎหมายนั้น เช่นกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยไว้เมื่อต้นปีที่แล้วว่าประมวลกฎหมายอาญาที่กำหนดโทษทำแท้งสำหรับหญิงที่ตั้งครรภ์นั้นขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ ส่งผลให้มีการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 301 และมาตรา 305 ที่เปลี่ยนหลักเกณฑ์ทางกฎหมายเกี่ยวกับการทำแท้งในประเทศไทยไปในสาระสำคัญ

และก็มีเช่นกันที่กฎหมายเดิมนั้นตราขึ้นเพื่อวางมาตรการอย่างหนึ่ง และใช้มาตรการนั้นมานานแล้วจนกระทั่งกลายเป็นจารีตประเพณีหรือศีลธรรม แต่ในที่สุดเมื่อมีการศึกษาและพัฒนาแล้วกลับพบว่า มาตรการเดิมนั้นอาจจะเริ่มจากแนวคิดที่ผิดมาตั้งแต่ต้น ก็มีการกลับแก้กฎหมายในเรื่องดังกล่าวกัน แต่กรณีนี้เป็นกฎหมายที่พลิกไปไกลกว่าความเชื่อของสังคมที่ถูกปลูกฝังมาตามกฎหมายเดิมมากแล้ว จึงทำให้สังคมรู้สึกแปลกใจหรือไม่คุ้นเคย ตัวอย่างเรื่องนี้คือกรณีของการแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับยาเสพติดจากที่เคยมองว่าทั้งผู้เสพผู้ขายก็ล้วนเป็นอาชญากร ก็หันมามองว่าแท้แล้วเฉพาะฝ่ายผู้ขายต่างหากที่สมควรเป็นอาชญากร แต่ผู้เสพนั้นเป็นเหยื่อหรือความป่วยไข้รูปแบบหนึ่งที่ต้องเข้าสู่กระบวนการบำบัดรักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพหาใช่ลงโทษอย่างผู้กระทำผิดร้ายแรง ทั้งนี้ ตามเงื่อนไขรายละเอียดของกฎหมาย ซึ่งเรื่องนี้ก็จะท้าทายความเชื่อทางศีลธรรมของสังคมที่เชื่อว่าการติดยาเสพติดเป็นเรื่องความชั่วร้ายผิดบาปเฉพาะตนของบุคคลอีกครั้งหนึ่ง

ด้วยธรรมชาติแห่งกฎหมายและสังคมที่เป็นพลวัตเช่นนี้เอง ทำให้หน้าที่ในการ “ขับเคลื่อน” ความเปลี่ยนแปลงทางสังคมระดับเปลี่ยนแปลงมุมมองเชิงศีลธรรมประเพณีหรือโครงสร้างทางสังคม จึงอาจเกิดขึ้นโดยรัฐสภาก็ได้ หรือจากศาลก็ได้ หากความเปลี่ยนแปลงนั้นมาจากฝ่ายการเมืองโดยรัฐสภาก็อาจถือได้ว่าเป็นเจตจำนงอันเปลี่ยนไปของสังคมที่แสดงผ่านตัวแทนของตนในระบบ

แต่ในบางครั้งก็เป็นฝ่ายรัฐสภาที่เงื้อง่าไม่กล้าเปลี่ยนแปลงกฎหมายบางฉบับที่มีผลต่อความคิดความเชื่อของสังคม หรือสมาชิกในสภาไม่ได้สะท้อนถึงกระแสความคิดของสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปแล้ว ก็จะเป็นองค์กรตุลาการนั้นเองที่ประกาศความเสียเปล่าของกฎหมายเดิมและส่งให้ฝ่ายสภาไปตรากฎหมายให้สอดคล้องกับคุณค่าใหม่แห่งรัฐธรรมนูญสิทธิมนุษยชนสากล นี่คือปรากฏการณ์ธรรมดาโลกแห่งกฎหมาย

การต่อสู้ในเส้นทางต่อไปของการสมรสเท่าเทียมจึงเหลือเวทีแห่งผู้แทนราษฎร และการสร้างกระแสสังคมให้เกิดฉันทามติในเรื่องนี้อย่างแท้จริงสิ้นสงสัย เสียจนฝ่ายสภาเห็นความจำเป็นที่จะต้องจัดแจงให้เป็นไปตามเจตจำนงแห่งสังคมที่เปลี่ยนไปแล้วนั้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image