สภาเดี่ยว-สภาคู่ ปัญหาอยู่ที่ความอยุติธรรม

ผลการลงมติญัตติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 ฉบับประชาชนในการประชุมรัฐสภาวันที่ 16 พฤศจิกายนที่ผ่านมา เป็นไปตามคาด ตกไป ไม่ผ่านการรับรองของสมาชิกรัฐสภา ประเด็นหลักที่ถกเถียงกันอย่างดุเดือดเผ็ดมันก็คือ ข้อเสนอให้รัฐสภาไทยมีสภาเดี่ยว คือสภาผู้แทนราษฎร ยกเลิกวุฒิสภา หรือหยุดระบบสองสภา

ฟังคำอภิปรายทั้งฝ่ายเสนอและฝ่ายคัดค้านโดยเฉพาะบรรดาวุฒิสมาชิก ต่างฝ่ายต่างมีเหตุผลด้วยกันทั้งคู่

ฝ่ายที่เรียกร้องให้มีสภาเดี่ยวให้เหตุผลว่า เพราะวุฒิสภาไม่ได้ทำหน้าที่ที่ควรจะเป็น แถมมีอำนาจมากเกินไป นอกเหนือจากการกลั่นกรองกฎหมาย ยังมีส่วนโหวตแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี แต่งตั้ง ถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง องค์กรอิสระต่างๆ

ไม่เป็นกลางจริงเพราะมีที่มาจากคณะ คสช.เป็นฐานสนับสนุนฝ่ายบริหาร

Advertisement

ขณะที่ฝ่ายเรียกร้องให้มีสภาคู่ให้เหตุผลว่า เพราะสภาผู้แทนราษฎรมีอำนาจมากเกินไปจนล้นฟ้า ทำให้มีแนวโน้มเป็นเผด็จการโดยเสียงข้างมาก จึงต้องมีการถ่วงดุล ทั้งไม่มั่นใจระบบการเลือกตั้ง จะบริสุทธิ์ยุติธรรม การซื้อสิทธิขายเสียงยังดำรงอยู่

เหตุผลที่ยกมาสนับสนุนคำอภิปรายของทั้งสองฝ่าย นอกจากตัวบทรัฐธรรมนูญที่เปิดช่องให้ฝ่ายหนึ่งได้เปรียบอีกฝ่ายหนึ่งแล้ว ล้วนเป็นเรื่องของการปฏิบัติตัวหรือพฤติกรรมของคน เบี่ยงเบน บิดเบือนเจตนารมณ์ที่ดีงาม

โดยเฉพาะพฤติกรรมประเภทถกเถียงด้วยเหตุด้วยผลไม่เป็น กลับใช้ท่าที กิริยาวาจาผรุสวาท ด่ากราดฝ่ายเห็นต่างอย่างดิบเถื่อน ถ่อยสถุล แม้เป็นส่วนน้อยเพียงบางคน แต่ก็ทำลายภาพลักษณ์ สร้างรอยด่างให้แก่สถาบัน ถูกบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์การประชุมรัฐสภา ซึ่งมีแต่ทำให้ส่วนรวมเสื่อมเสีย ออกแบบระบบอย่างไรก็ควบคุมคนนอกรีตเหล่านี้ได้ยาก

Advertisement

และเหตุเพราะระบบ โครงสร้างรัฐธรรมนูญ 2560 มีปัญหาในทางปฏิบัติหลายประการ แต่ฝ่ายสนับสนุนระบบสภาคู่ก็อ้างว่าเป็นเจตนารมณ์ของประชาชนผู้ลงประชามติถึง 16 ล้านเสียงให้ความเห็นชอบ

ขณะที่ฝ่ายโต้แย้งคัดค้านว่าการรณรงค์ทำประชามติไม่ยุติธรรม ปิดกั้นอีกฝ่าย ซึ่งถูกขัดขวางถึงขั้นจับกุมคุมขัง

ประเด็นเห็นต่างในเรื่องการลงประชามติถกเถียงกันได้ทั้งคู่

แต่ที่พูดไม่ออก หรือไม่เต็มปากก็คือ การปฏิบัติของกลไกและกระบวนการสรรหาสมาชิกวุฒิสภา ที่เบี่ยงเบน ไม่ตรงไปตรงมา เข้าข่ายชงเองกินเอง สรรหาพวกเดียวกันเองเข้ามา โดยอ้างว่ารัฐธรรมนูญไม่ได้ห้าม หรือจำกัดสิทธิกรรมการสรรหาห้ามรับตำแหน่งวุฒิสมาชิก

ตรงประเด็นกระบวนการสรรหานี้ต่างหาก ที่ไม่มีคำอธิบายใดๆ จากฝ่ายสนับสนุนให้คงมีวุฒิสภาต่อไปเท่าที่ควร

ขณะเดียวกันกลับเรียกร้องให้อีกฝ่ายรอเวลาอีก 2 ปี บทเฉพาะกาลตามรัฐธรรมนูญจะครบกำหนด วุฒิสภาชุดที่ผ่านการคัดเลือกจาก คสช.จะหมดอำนาจหน้าที่ลงแล้ว

ต่อไปกลไก กระบวนการจะเป็นไปตามระบบปกติ ขอให้อดทนหน่อย

ข้อโต้แย้งไม่ได้อยู่ตรงประเด็นที่อ้างว่าวุฒิสภาอยู่อีกเพียง 2 ปี จะหมดอายุ แต่อยู่ที่ว่าห้วงเวลาที่เหลืออยู่นี่แหละเป็นช่วงรอยต่อ สภาผู้แทนราษฎรหมดวาระ 4 ปี ต้องมีการเลือกตั้งเปลี่ยนแปลงรัฐบาลใหม่ วุฒิสมาชิกยังมีอำนาจพิจารณาให้ความเห็นชอบแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีได้อีกครั้ง

เหตุนี้จึงเป็นที่มาของคำอภิปรายโจมตีว่าเป็น กระบวนการสืบทอดอำนาจระบบ คสช. หรือระบอบประยุทธ์ มีโอกาสได้รับการสนับสนุนให้อยู่ในอำนาจต่อไปอีกวาระหนึ่ง โดยอาศัยฐานเสียงจาก ส.ว. 250 คนเช่นเดิม

กรณีนี้จึงเป็นเรื่องการคงความอยุติธรรม ความได้เปรียบคู่แข่งคนอื่นๆ อย่างชัดเจน

การพูดความจริงเรื่องอายุ ส.ว.เหลืออีกแค่ 2 ปีก็ไปแล้ว จึงเข้าข่ายพูดความจริงครึ่งเดียว ขณะที่ความจริงอีกครึ่งหนึ่ง คืออำนาจเลือกตัวนายกฯที่ยังคงอยู่ กลับไม่พูด

เมื่อความจริงเป็นเช่นนี้ จึงเป็นเหตุให้ฝ่ายสนับสนุนยกเลิก ส.ว.และให้มีสภาเดียว ยกขึ้นมาโต้แย้งตลอด

ขณะที่ความเป็นจริงในฝ่ายสภาผู้แทนราษฎรที่ผ่านมาก็ต้องยอมรับว่า การเข้าสู่อำนาจ การใช้อำนาจ ฉ้อฉล เลยเถิด เลยธง เหิมเกริม เกินขอบเขต ปรากฏให้เห็นเรื่อยมาเช่นกัน

คนเป็นผู้ออกแบบระบบ ระบบควบคุมพฤติกรรมของคนอีกทีหนึ่งก็ตาม

ฉะนั้น ไม่ว่าจะออกแบบโครงสร้างระบบรัฐสภาอย่างไร ไม่ว่าสภาเดี่ยวหรือสภาคู่ ถ้าพฤติกรรมเบี่ยงเบนของคน ทั้ง ส.ส. ส.ว. และฝ่ายบริหาร ไม่เปลี่ยนแปลง ความรุนแรงของปัญหาก็ไม่ลดลง

ตราบใดที่ความอยุติธรรม ความเหลื่อมล้ำ เอารัดเอาเปรียบคนอื่น ทั้งจากพฤติกรรมของคน และระบบ กฎ กติกา ถูกออกแบบบิดเบี้ยว เบี่ยงเบน ยังไม่ถูกขจัดออกไป จึงเป็นต้นเหตุของการเรียกร้องสภาเดี่ยว สภาคู่ วนไป เวียนมา ตลอดมา

ความจริง และความยุติธรรม จึงเป็นหัวใจสำคัญ ทั้งทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม

หากกติกามีความยุติธรรมจริงและปฏิบัติจริง คนไม่เบี่ยงเบน ฉ้อฉล สภาอะไร เดี่ยวหรือคู่ ก็ได้ทั้งสิ้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image