ที่เห็นและเป็นไป : คำตอบคือ ‘ส่ายหัว’

ที่เห็นและเป็นไป : คำตอบคือ ‘ส่ายหัว’

ไม่ว่าจะเป็นอารมณ์ไหน อาจจะเป็นเบื่อหน่ายแล้วอยากหาคนแสดงความเห็นในทางเดียวกัน หรือเพราะงุนงงคิดเองไม่ออก เลยหาคนช่วยอธิบายเหตุผล

ทำให้ “ประเทศจะเป็นอย่างไร” เป็นคำถามที่ได้ยินเสมอ

ก่อนหน้านั้นเมื่อมีคำถามนี้ คำตอบจะหลากหลายแล้วแต่คนอธิบายจะมีกรอบความคิดที่สร้างมาด้วยทัศนคติแบบไหน มีตั้งแต่จะดีขึ้น ถึงสิ้นหวัง

แต่ในระยะหลังนี้อีกคำตอบอีกฝั่งหนึ่งหดแคบ หรือเหลือน้อยคนลงเรื่อยๆ

Advertisement

ดูจะพลิกมาเป็นแบบถอนหายใจยาวเสียเป็นส่วนใหญ่

“ไม่มีความหวังอะไรเลย” ดูจะเป็นข้อสรุปที่ได้ยินบ่อยขึ้นในทุกแวดวงสนทนา

Advertisement

มีบางคนฟังแล้วอาจจะไม่เห็นด้วย แต่ลองดูเหตุผลที่ได้รับการอธิบายมาดู

หากภารกิจของรัฐบาลคือ บ้านเมืองสงบ ประเทศเจริญรุ่งเรือง ประชาชนมีความสุข เป็นเป้าหมาย

จะสำเร็จตามเป้าหมายนั้นได้คือ ความขัดแย้งของคนในชาติจะต้องลดลง ประเทศต้องก้าวข้ามกับดักรายได้ปานกลาง ต้องมีงานที่เป็นความหวังในการทำมาหากินให้ประชาชน

สิ่งเหล่านั้นเป็นไปได้หรือไม่ที่จะเกิดขึ้นกับยุคสมัยแบบนี้

การเมืองที่จำเป็นต้องดีไซน์กติกาให้คนกลุ่มหนึ่งกุมอำนาจไว้ ต้องการกดข่มอำนาจจากประชาชนไว้ให้ได้จนกว่าจะควบคุมได้อย่างมั่งคั่ง มั่นคง ยั่งยืน

ระบอบการเมืองแบบนี้ไม่สามารถขับเคลื่อนโดยคนส่วนใหญ่รู้สึกว่ามีความชอบธรรมได้

และเมื่อ “ความชอบธรรมในการอยู่ร่วมกันไม่เกิด ความสงบย่อมไม่มีทางจะเกิดขึ้นได้เช่นกัน”

ความขัดแย้ง แตกแยก เกิดการต่อต้าน ต่อสู้ จะยังคงเป็นสภาวะที่เกิดขึ้นกับการเมืองไทยไม่รู้จบ

ยิ่งใช้อำนาจเข้าจัดการ วิธีต่อสู้จะยิ่งซับซ้อน ซ่อนเงื่อน ยากแก่การจัดการมากขึ้นเรื่อยๆ

การก้าวข้ามความเป็นประเทศกำลังพัฒนา หรือกับดักรายได้ปานกลาง แทบเป็นไปไม่ได้เลย

โครงสร้างประเทศไทย รัฐบาลต้องใช้เงินมหาศาลในการบริหารจัดการ แต่กำลังซื้อภายในประเทศไม่เพียงพอที่จะสร้างรายได้ขนาดนั้นให้รัฐบาลได้ ยิ่งในยุคสมัยที่ฐานะการเงินของประเทศต้องอาศัยเงินกู้ท่วมท้น เป็นภาระไปอีก รัฐบาลจำเป็นต้องหาแหล่งรายได้

นั่นหมายถึง การลงทุนจากต่างประเทศ การส่งออก และการท่องเที่ยวจะต้องกระเตื้องขึ้น หรือจะว่าไปต้องมากกว่าที่ผ่านมา ซึ่งรัฐบาลยังไม่สร้างหนี้สาหัสเช่นนี้

รายได้จากนอกประเทศดังกล่าวจะเกิดขึ้นได้ ประเทศจะต้องมีเครดิตได้รับความเชื่อถือ ยอมรับจากต่างประเทศ โดยเฉพาะความโปร่งใสในการบริหาร ซึ่งก็คือการรับฟัง ไม่เอาแต่ใช้อำนาจเข้าจัดการ

เครดิตในรูปความโปร่งใสไม่บ้าอำนาจนี้ นานาชาติวัดจาก “ความเป็นประชาธิปไตย” ซึ่งหมายถึงการรับฟังและให้คุณค่ากับเสียงประชาชน

ถ้ากระทั่งเสียงประชาชนในประเทศยังถูกปฏิเสธที่จะรับฟังเสียแล้ว มีคนชาติไหนที่มีสติปัญญาอยู่บ้างจะเชื่อว่าเสียงจากคนต่างชาติต่างภาษาจะไม่ถูกเมินเฉย ปฏิเสธ

โอกาสที่จะหารายได้เพื่อก้าวข้ามกับดักรายได้ ในยุคสมัยที่กระทั่งการประชุมประเทศประชาธิปไตยโลก สหรัฐอเมริกายังไม่เชิญประเทศไทยเข้าร่วม จึงชัดเจนถึงเครดิตที่จะได้รับการยอมรับ ทำให้ไม่มีทางที่จะเกิดขึ้นได้

การบริหารจนประเทศต้องอยู่ในสภาวะที่ไว้ใจไม่ได้ในสายตาชาวโลกเช่นนี้ ขณะที่กำลังซื้อภายในมีไม่พอที่จะหารายได้มาชดใช้หนี้สินที่รัฐบาลก่อไว้

อนาคตที่หวังได้ของประชาชนจะเกิดขึ้นได้อย่างไร

และนี่คือคำอธิบายในคำตอบที่มีต่อคำถามที่ว่า “ประเทศเราจะเป็นอย่างไร”

ในคำตอบแบบนี้ บางคนอาจจะหงุดหงิด และเห็นว่าเป็นการให้เหตุผลในด้านลบมากกว่า

และพยายามสั่งสอนคนที่คิดเช่นนี้ว่า แทนที่จะกล่าวหาอย่างโน้นอย่างนี้ บอกมาเลยดีกว่าว่า “จะทำอย่างไร”

แต่คำสั่งสอนแบบนี้เมื่อถูกถามกลับว่า “นั่นสิ จะทำอย่างไร”

ผู้สั่งสอนมักหาคำตอบให้ไม่ได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image