สุจิตต์ วงษ์เทศ : เรือนไทย ใต้ถุนสูง ไม่ได้มีไว้หนีน้ำ แต่มีไว้หนีเสือสิงห์กระทิงแรด และทำกิจกรรมในชีวิตประจำวัน

(บน) เรือนเสาสูงของชุมชนยุคแรกๆ นักโบราณคดีจินตนาการจากหลุมเสา 6 หลุม ราว 3,000 ปีมาแล้ว ขุดพบที่บ้านหนองแช่เสา ต. หินกอง อ. เมือง จ. ราชบุรี (ภาพจากลักษณะไทย เล่ม 1 : ภูมิหลัง ภาค 2 ชุมชนสมัยก่อนประวัติศาสตร์ โดย พิสิฐ เจริญวงศ์ อ้างถึง Sorensen, P. Archaeology in Thailand: Prehistory through the Neolithic Age. July-August, Bangkok, 1972 : 21.)

เรือนที่มีใต้ถุนไม่ใช่เรือนไทยเสมอไป เพราะเรือนมอญ เรือนเขมร เรือนลาว เรือนละว้า (หรือลัวะ) รวมทั้งเรือนข่า เรือนขอม ฯลฯ ก็มีใต้ถุน

เวลาพูดถึง “เรือนไทย” ก็มักมีภาพของเรือนไทยภาคกลางอย่างคุ้มขุนแผน คุ้มขุนช้าง ประเภทเรือนผู้ดี เรือนขุนนาง ของภาคกลางที่มีหน้าจั่วแหลมเท่านั้น อันที่จริงเรือนล้านนา เรือนอีสาน เรือนลื้อ เรือนเงี้ยว (ไทยใหญ่) ตลอดถึงเรือนอาหม (ในอัสสัม) ก็มีใต้ถุนสูง

เรือนใต้ถุนสูงของชาวสยามยุคอยุธยา (ลายเส้นจากเอกสาร ลา ลูแบร์ ราชทูตฝรั่งเศส เข้าเฝ้าสมเด็จพระนารายณ์ฯ)
เรือนใต้ถุนสูงของชาวสยามยุคอยุธยา (ลายเส้นจากเอกสาร ลา ลูแบร์ ราชทูตฝรั่งเศส เข้าเฝ้าสมเด็จพระนารายณ์ฯ)

ฉะนั้นเมื่อพูดว่า “เรือนไทย” จึงสับสน ไม่รู้เรือนไทยที่ไหน แต่มักเอาเรือนไทยของภาคกลางเป็นมาตรฐานหมด ทำให้ไขว้เขว เข้าใจคลาดเคลื่อน

การอธิบายใต้ถุนของเรือนไทย จึงเอาสภาพแวดล้อมของภาคกลางมากำหนด ว่าเหตุที่มีใต้ถุนสูงก็เพราะฤดูน้ำหลากมีน้ำท่วม ฉะนั้นเพื่อให้เรือนหนีน้ำท่วมจึงต้องทำใต้ถุนสูง ซึ่งไม่ผิดทั้งหมด

Advertisement

แต่ที่บอกว่าเรือนไทยทุกแห่งมีใต้ถุนสูงไว้หนีน้ำย่อมไม่ถูก เพราะเรือนของพวกตระกูลไทยทั้งหลาย ไม่ว่าไทยในอัสสัม ในพม่า ในจีน และลาว แม้ปลูกบนที่สูง บนภูเขาก็มีใต้ถุนสูง ทั้งๆ ที่ไม่ต้องหนีน้ำเลย

ยิ่งพวกตระกูลมอญ-เขมร พวกข่า หรือลาวเทิง ล้วนปลูกเรือนบนที่สูง อยู่บนภูเขา ยิ่งกว่าพวกตระกูลไทย ก็มีใต้ถุนสูงทั้งนั้น

ใต้ถุนของพวกตระกูลไทยและตระกูลอื่นๆ เกิดจากประเพณี “เสาสูง” เรียกว่า “เรือนเสาสูง” เมื่อมีเสาสูงก็ย่อมมีใต้ถุน ไม่ว่าจะปลูกที่ราบลุ่ม หรือที่ดอนสูง ฉะนั้นใต้ถุนจึงไม่ได้หนีน้ำ แต่ใต้ถุนเป็นบริเวณที่เป็น “คลัง” เก็บสิ่งของเครื่องใช้ในการทำมาหากิน เช่น กระบุง ตะกร้า จอบ เสียม ไถ คราด สิ่ม ยอ แห รวมทั้งเป็นคอกให้สัตว์อยู่ เช่น คอกวัว คอกควาย และคอกหมู ครกกระเดื่อง ตำข้าวอยู่ใต้ถุน กี่ทอผ้าก็อยู่ใต้ถุน

Advertisement

ใต้ถุนยังเป็นบริเวณ “กิจกรรม” เช่น ตอนกลางวันบนเรือนมันร้อน ต้องลงมานอนรับลมโกรกที่ใต้ถุน ผูกเปลเลี้ยงลูกเลี้ยงหลานที่ใต้ถุน หุงข้าวก็ที่ใต้ถุน

ยิ่งมีงานบุญเลี้ยงพระเลี้ยงผีบ้านก็ยังต้องย้ายครัวลงมาทำกันที่ใต้ถุนเป็นมหกรรมกันทีเดียว เพราะเพื่อนบ้านมาช่วยกันทำครัวมาก

บางบ้านอาจจะมีครัวใหญ่ แต่เมื่อมีงานบวช งานแต่งงาน งานบุญที่บ้าน ลำพังครัวจะไม่พอปรุงอาหารและทำขนมบางชนิด เช่น ต้องหุงข้าวกระทะเพื่อเลี้ยงแขกเหรื่อจำนวนมากๆ ย่อมทำบนบ้านไม่ได้ ต้องบีบเส้นขนมจีนก็ทำบนบ้านไม่ได้ ต้องทำขนมหม้อแกงก็ทำบนบ้านไม่พอและเสี่ยงต่อฟืนไฟไหม้บ้าน ฯลฯ งานพวกนี้ต้องลงไปทำที่ใต้ถุนทั้งนั้น

ฉะนั้นใต้ถุนบ้านไม่ได้มีไว้หนีน้ำ แต่มีไว้เป็นคลังเก็บของและสถานที่ทำกิจกรรม

กลางคืนขึ้นนอนบนเรือน แล้วชักบันไดเก็บเพื่อหนีสัตว์ร้ายประเภทเสือสิงห์กระทิงแรด ตลอดจนงูเงี้ยวเขี้ยวงากับแมลงมีพิษ

แต่เรือนภาคกลางบริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาจำนวนหนึ่ง ปลูกบนที่ราบกลางนา ก็ช่วยให้พ้นน้ำได้ตอนน้ำท่วม แต่เรือนส่วนใหญ่ปลูกบนที่ดอนริมน้ำ ไม่ได้ไปปลูกกลางน้ำ จึงไม่ได้มีเจตนาจะให้ใต้ถุนหนีน้ำ

เรือนเสาสูงที่มีใต้ถุนยังสอดคล้องกับสภาพภูมิอากาศของอุษาคเนย์

ที่มีฝนตกชุก มีอากาศร้อนชื้น ทำให้ลมเคลื่อนไหวไปมาสะดวกอีกด้วย ลักษณะเรือนอย่างนี้มีหลักฐานทางโบราณคดียืนยันว่าเป็นเรือนของกลุ่มชนเมื่อราว 3,000 ปีมาแล้ว ตั้งแต่ทะเลสาบเตียนฉือ เมืองคุนหมิงในยูนนานลงไปจนถึงหมู่เกาะ เช่น อินโดนีเซียและฟิลิปปินส์โน่น ทุกวันนี้ก็มีอยู่ในหมู่เกาะเต็มไปหมด

ผมเรียบเรียงไว้ในหนังสือเล่มล่าสุด ชื่อ วัฒนธรรร่วมอุษาคนย์ในอาเซียน กำลังมีขายออนไลน์ จะคัดมาดังนี้

บางตอนจากหนังสือวัฒนธรรมร่วมอุษาคเนย์ในอาเซียน

บรรพชนคนในอาเซียนหลายพันปีมาแล้ว มีวัฒนธรรมร่วมเรื่องที่อยู่อาศัย ล้วนปลูกเรือนเสาสูงเป็นที่อยู่ทั้งบนหุบเขาและทุ่งราบ ตั้งแต่ตอนใต้ลุ่มน้ำแยงซี (ในจีน) จนถึงหมู่เกาะ

วัฒนธรรมร่วมอาเซียน อุษาคเนย์ในอาเซียน ของ สุจิตต์ วงษ์เทศ ไม่มีขายในแผงหนังสือ แต่มีขายออนไลน์ https://www.facebook.com/ ituibooks/
วัฒนธรรมร่วมอาเซียน อุษาคเนย์ในอาเซียน ของ สุจิตต์ วงษ์เทศ ไม่มีขายในแผงหนังสือ แต่มีขายออนไลน์ https://www.facebook.com/ ituibooks/

เสาสูง หมายถึงเรือนมีต้นเสา และมีหลังคาตั้งบนต้นเสา แล้วยกพื้นสูงอยู่ใต้หลังคาคลุม

ใต้พื้นเรือนถึงพื้นดิน เรียกใต้ถุน (ถุน เป็นคำดั้งเดิม แปลว่า ข้างใต้, ข้างล่าง)

ใต้ถุน หมายถึงบริเวณใต้พื้นเรือนถึงพื้นดิน เป็นพื้นที่ทำกิจกรรมในชีวิตประจำวันของคนในชุมชน ตลอดวันตั้งแต่เช้าถึงค่ำก่อนขึ้นไปนอนบนเรือนเพื่อหนีสัตว์ร้าย

กิจกรรมประจำวัน เช่น หุงหาอาหาร 3 มื้อ, ตีหม้อ, ทอผ้า, เลี้ยงเด็กที่เป็นลูกหลานในชุมชน, เป็นคอกวัวคอกควายเลี้ยงสัตว์, ฯลฯ

ใต้ถุนไม่ได้มีไว้หนีน้ำท่วม (ตามที่บอกกันต่อๆ มา) แต่มีไว้ทำกิจกรรมชีวิตประจำวัน แล้วบังเอิญมีน้ำท่วมก็หยุดกิจกรรมชั่วคราว

เพราะเรือนของคนบนที่สูงในหุบเขาซึ่งน้ำไม่เคยท่วม ก็ล้วนใต้ถุนสูง

แต่บริเวณที่ราบลุ่มน้ำท่วมถึง ย่อมมีน้ำท่วมถึงใต้ถุน แล้วคนหนีน้ำท่วมขึ้นไปอยู่บนเรือน โดยไม่ได้มีเจตนาทำใต้ถุนสูงไว้หนีน้ำตั้งแต่แรก

(บน) เรือนเสาสูงของชุมชนยุคแรกๆ นักโบราณคดีจินตนาการจากหลุมเสา 6 หลุม ราว 3,000 ปีมาแล้ว ขุดพบที่บ้านหนองแช่เสา ต. หินกอง อ. เมือง จ. ราชบุรี (ภาพจากลักษณะไทย เล่ม 1 : ภูมิหลัง ภาค 2 ชุมชนสมัยก่อนประวัติศาสตร์ โดย พิสิฐ เจริญวงศ์ อ้างถึง Sorensen, P. Archaeology in Thailand: Prehistory through the Neolithic Age. July-August, Bangkok, 1972 : 21.)
(บน) เรือนเสาสูงของชุมชนยุคแรกๆ นักโบราณคดีจินตนาการจากหลุมเสา 6 หลุม ราว 3,000 ปีมาแล้ว ขุดพบที่บ้านหนองแช่เสา ต. หินกอง อ. เมือง จ. ราชบุรี (ภาพจากลักษณะไทย เล่ม 1 : ภูมิหลัง ภาค 2 ชุมชนสมัยก่อนประวัติศาสตร์ โดย พิสิฐ เจริญวงศ์ อ้างถึง Sorensen, P. Archaeology in Thailand: Prehistory through the Neolithic Age. July-August, Bangkok, 1972 : 21.)

หลังคาเรือนมีไม้ไขว้กัน เป็นเทคโนโลยีค้ำยันไม่ให้หลังคายุบลงของไม้ไผ่สองลำในยุคเริ่มแรก ซึ่งคนบางกลุ่มเรียกอย่างนี้ว่า กาแล

ลักษณะอย่างนี้มีในทุกเผ่าพันธุ์ บางพวกใช้ส่วนไขว้กันเป็นที่แขวนหัวสัตว์เลี้ยงผีบรรพชน เช่น หัวควาย

เรือนของคนเมื่อ 2,000 ปีมาแล้ว สลักเป็นลายเส้นบนหน้ากลองทองมโหระทึก พบที่เวียดนาม เทียบกับ
เรือนของคนเมื่อ 2,000 ปีมาแล้ว สลักเป็นลายเส้นบนหน้ากลองทองมโหระทึก พบที่เวียดนาม เทียบกับ
เรือนของกลุ่มชาติพันธุ์ปัจจุบันที่แขวงอัตตะปือ ในภาคใต้ของลาว
เรือนของกลุ่มชาติพันธุ์ปัจจุบันที่แขวงอัตตะปือ ในภาคใต้ของลาว

บ้าน, เรือน

บ้าน แต่ดั้งเดิมคำนี้หมายถึงเรือนหลายหลังอยู่รวมกันเป็นชุมชน ตรงกับปัจจุบันว่า หมู่บ้าน หรือ village

เรือน หมายถึงที่อยู่อาศัยเป็นหลังๆ มีหลังเดียว ตรงกับ house (ปัจจุบันเรียกบ้าน)

สองคำนี้ต่อมาใช้รวมกันเป็นบ้านเรือน ตรงกับ house แล้วผูกคำใหม่คือ หมู่บ้าน ให้ตรงกับ village

5,000 ปีมาแล้ว คนค่อยๆ ทยอยหยุดร่อนเร่ แล้วเริ่มตั้งหลักแหล่ง ปลูกเพิงอยู่อาศัยอย่างง่ายๆ ด้วยไม้ไผ่ และมุงด้วยใบไม้ทั่วไป หลังจากนั้นก็ทำให้แข็งแรงขึ้นเป็นกระท่อมหรือทับบริเวณที่ราบในหุบเขา

นานเข้าก็รวมอยู่ด้วยกันเป็นหมู่ แล้วมีบุคคลสำคัญเป็นหัวหน้า มีที่ฝังศพหัวหน้า เป็นแหล่งศักดิ์สิทธิ์ เช่น ถ้ำ และเพิงผา ฯลฯ แล้วมีพิธีฝังศพหรือพิธีกรรมเกี่ยวกับความตายด้วย

แต่คนไม่ได้หยุดร่อนเร่พเนจรพร้อมกันทั้งหมด ฉะนั้นจึงยังมีบางพวกบางกลุ่มที่ล้าหลังยังคงร่อนเร่แสวงหาอาหารตามธรรมชาติต่อไปอีก

ลายเส้นวาดโดย Bernard Vroklage ศาสตราจารย์ชาวเนเธอแลนด์ เมื่อ ค.ศ. 1936 ผู้อธิบายความว่าหลังคาทรงอานม้าสร้างเลียนแบบเรือ โดยสืบทอดกันมาตั้งแต่บรรพชนในหมู่เกาะอินโดนีเซีย (จากหนังสือ The Living House by Roxana Waterson, Singapore Oxford University Press Oxford New York 1991, p.21.)
ลายเส้นวาดโดย Bernard Vroklage ศาสตราจารย์ชาวเนเธอแลนด์ เมื่อ ค.ศ. 1936 ผู้อธิบายความว่าหลังคาทรงอานม้าสร้างเลียนแบบเรือ โดยสืบทอดกันมาตั้งแต่บรรพชนในหมู่เกาะอินโดนีเซีย (จากหนังสือ The Living House by Roxana Waterson, Singapore Oxford University Press Oxford New York 1991, p.21.)

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image