โคทม อารียา : พ.ร.บ.การศึกษาฉบับใหม่ ก้าวหน้าหรือถอยหลัง

ที่มาของร่างกฎหมายการศึกษาฉบับใหม่คือ มาตรา 54 ของรัฐธรรมนูญ ซึ่งกำหนดให้รัฐต้องดำเนินการให้ประชาชนได้รับการศึกษาตามความต้องการในระบบต่างๆ รวมทั้งส่งเสริมให้มีการเรียนรู้ตลอดชีวิต และจัดให้มีการร่วมมือกันระหว่างรัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคเอกชนในการจัดการศึกษาทุกระดับ อีกทั้งจัดให้มีกฎหมายว่าด้วยการศึกษาแห่งชาติ โดยรัฐมีหน้าที่ดำเนินการ กำกับ ส่งเสริม และสนับสนุนให้การจัดการศึกษามีคุณภาพและได้มาตรฐานสากล มุ่งพัฒนาผู้เรียนให้เป็นคนดี มีวินัย ภูมิใจในชาติ สามารถเชี่ยวชาญได้ตามความถนัดของตน และมีความรับผิดชอบต่อครอบครัว ชุมชน สังคม และประเทศชาติ และเพิ่มการมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาของภาคเอกชนและภาคประชาชน เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในการศึกษา ยกระดับคุณภาพการศึกษา สร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

ปัจจุบันเรามี พ.ร.บ. การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ที่ออกตามหลังรัฐธรรมนูญ 2540 และใช้บังคับอยู่จนกว่าจะมีกฎหมายฉบับใหม่ ถ้าจะดูว่าร่างฉบับใหม่ก้าวหน้าหรือถอยหลัง ก็คงต้องเอาร่างใหม่กับฉบับปัจจุบันมาเปรียบเทียบกัน ความรู้สึกแรกคือร่างใหม่ยาวกว่าหรือมีรายละเอียดมากกว่า บทความนี้คงเปรียบเทียบได้แต่โดยสังเขป

ผมเข้าใจว่าเมื่อรัฐธรรมนูญ 2560 ประกาศใช้ คณะรัฐมนตรีได้ทำตามมาตรา 261 คือแต่งตั้ง “คณะกรรมการที่มีความเป็นอิสระ” ขึ้นมาคณะหนึ่ง เพื่อดำเนินการปฏิรูปด้านการศึกษา คณะกรรมการดังกล่าวได้ดำเนินการแล้วเสร็จและเสนอต่อคณะรัฐมนตรีภายในสองปีตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด คณะรัฐมนตรีได้ส่งเรื่องให้คณะกรรมการกฤษฎีกา ร่างที่เสนอเข้ารัฐสภา (เพราะเป็นกฎหมายปฏิรูป) มีข้อความที่มุมขวาด้านบนว่า “ร่างฯ ที่ สคก. ตรวจพิจารณาแล้ว” สคก. ย่อมาจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกานั่นเอง

เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2564 การประชุมร่วมกันของรัฐสภาได้ลงมติเห็นชอบในหลักการร่าง พ.ร.บ. การศึกษาแห่งชาติด้วยคะแนน 435 ต่อ 30 เสียง ผู้สนับสนุนให้ความเห็นว่า ร่าง พ.ร.บ. นี้ก้าวหน้ามาก ไม่ได้กำหนดให้ขยายอำนาจหรือขยายตำแหน่งหน้าที่ แต่เนนมาตรฐานการศึกษาและกำหนดหน้าที่ครูให้ชัดเจนว่าไม่มีหน้าที่อย่างอื่นนอกจากการสอน และเสนอปรับเปลี่ยนสำนักเลขาธิการสภาการศึกษาเป็นสำนักงานนโยบายการศึกษาแห่งชาติ ส่วนผู้ไม่เห็นด้วยได้แก่ ส.ส. พรรคก้าวไกลที่มีความเห็นในเชิงคำถามว่า ร่าง พ.ร.บ. นี้ช่วยให้นักเรียนเป็นส่วนที่สำคัญที่สุดของระบบการศึกษาหรือไม่ ครู บุคลากรการศึกษาและนักเรียนมีส่วนร่วมในกระบวนการร่างหรือไม่ จากนั้นจึงสรุปว่า ร่าง พ.ร.บ. นี้เป็นการรวมศูนย์อำนาจ มิใช่การกระจายอำนาจ จึงล้าหลังกว่า พ.ร.บ. ฉบับปี 2542

Advertisement

เมื่อรับหลักการแล้ว รัฐสภาได้แต่งตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญขึ้นมาคณะหนึ่งเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ. นี้ กมธ. ได้เลือกนายตวง อันทะไชยเป็นประธาน นายตวงให้สัมภาษณ์ว่า ในเรื่องการกระจายอำนาจระหว่างศึกษาธิการจังหวัดกับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) นั้น คงจะไม่กำหนดอำนาจหน้าที่ของ สพท. เหมือนใน พ.ร.บ. ปี 2542 แต่จะกล่าวถึงการกระจายอำนาจไปยังสถานศึกษา โดยเริ่มจากสถานศึกษาที่มีความพร้อมก่อน และมีความเห็นว่า ไม่ควรกำหนดทักษะของนักเรียนและทักษะของครูไว้ในกฎหมายที่เป็นแม่บทฉบับนี้ ในส่วนของผู้เรียนนั้น ได้กำหนดเรื่องการบ่มเพาะสมรรถนะเพื่อให้บรรลุเป้าหมายตามระดับช่วงวัยไว้กว้าง ๆ ในมาตรา 8 เพราะโลกและผู้เรียนมีความเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ในส่วนของครู อาจกำหนดทักษะของครูไว้ที่อื่น เช่น ในประกาศสำนักงานเลขาธิการคุรุสภาเรื่องมาตรฐานวิชาชีพครู อนึ่ง ในการจัดระเบียบบริหารราชการในกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ให้สอดคล้องกับกฎหมายแม่บทฉบับนี้ ควรกำหนดในบทเฉพาะกาลให้มีคณะกรรมการเฉพาะกิจขึ้นมาดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 2 ปี เพราะถ้าปล่อยให้ ศธ. ดำเนินการ ความคิดต่าง ๆ อาจเป็นแบบเดิมและไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของกฎหมายใหม่

เพื่อเปรียบเทียบร่างฉบับนี้กับกฎหมายปัจจุบัน ขอยกมากล่าวเพียงสามประเด็นคือ วัตถุประสงค์ หลักการ เป้าหมาย และจะขอวิจารณ์เพิ่มเติมในเรื่องของเสรีภาพและความเสมอภาคทางการศึกษา

ประเด็นที่หนึ่ง:วัตถุประสงค์ กฎหมายปัจจุบันเขียนไว้ดังนี้

Advertisement

“มาตรา 6 การจัดการศึกษาต้องเป็นไปเพื่อพัฒนาคนไทยให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ทั้งร่างกาย จิตใจ สติปัญญา ความรู้และคุณธรรม มีจริยธรรมและวัฒนธรรมในการดำรงชีวิต สามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข”

ขอให้เทียบกับมาตรา 6 ของร่าง พ.ร.บ. ฉบับใหม่ดังนี้

“มาตรา 6 การจัดการศึกษาต้องเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการพัฒนาบุคคลให้มีความสมบูรณ์ทั้งร่างกาย จิตใจ สติปัญญา ความรู้ และคุณธรรม เป็นคนดี มีวินัย ภูมิใจในชาติ มีทักษะการเรียนรู้ ทักษะอาชีพ และทักษะชีวิตที่สอดคล้องและเท่าทันพัฒนาการของโลก มีโอกาสพัฒนาความถนัดของตนให้เกิดความเชี่ยวชาญได้ มีสานึกในความรับผิดชอบต่อครอบครัว ชุมชน สังคม และประเทศชาติ และสามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างผาสุก”

ประเด็นที่สอง: หลักการ มีกำหนดไว้ในมาตรา 8 ของ พ.ร.บ. ปัจจุบัน ดังนี้

“การจัดการศึกษาให้ยึดหลักดังนี้

(1) เป็นการศึกษาตลอดชีวิตสำหรับประชาชน

(2) ให้สังคมมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา

(3) การพัฒนาสาระและกระบวนการเรียนรู้ให้เป็นไปอย่างต่อเนื่อง”

ร่าง พ.ร.บ. ฉบับใหม่เขียนหลักการไว้ในมาตรา 7 ดังนี้

“การดำเนินการให้บรรลุวัตถุประสงค์ตามมาตรา 6 ต้องพัฒนา ฝึกฝน และบ่มเพาะให้ผู้เรียนมีความรู้ ทักษะ เจตคติ และคุณลักษณะที่ดี ก่อเกิดเป็นสมรรถนะที่นำไปใช้ประโยชน์ในชีวิตและการทำงานได้อย่างบูรณาการกัน”

ประเด็นที่สาม: เป้าหมาย มีกำหนดใน พ.ร.บ. ปัจจุบันในมาตรา 7 ดังนี้

“ในกระบวนการเรียนรู้ ต้องปลูกฝังจิตสำนึกที่ถูกต้องเกี่ยวกับการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข รู้จักรักษาและส่งเสริมสิทธิ หน้าที่ เสรีภาพ ความเคารพกฎหมาย มีความภาคภูมิใจในความเป็นไทย รู้จักรักษาผลประโยชน์ส่วนรวมของประเทศชาติ รวมทั้งส่งเสริม ศาสนา ศิลปะ วัฒนธรรมของชาติ การกีฬา ภูมิปัญญาท้องถิ่น ภูมิปัญญาไทย และความรู้อันเป็นสากล ตลอดจนอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีความสามารถในการประกอบอาชีพ รู้จักพึ่งตนเอง มีความริเริ่มสร้างสรรค์ ใฝ่รู้และเรียนรู้ด้วยตนเองอย่างต่อเนื่อง”

เป้าหมายการศึกษาในร่าง พ.ร.บ. ฉบับใหม่เป็นที่กล่าวขวัญกันมาก หลายคนคงชอบที่มีการกำหนดเป้าหมายอย่างละเอียดตามช่วงวัยไว้ในมาตรา 8 แต่เนื่องจากเขียนไว้ยาวมาก จึงขอย่อให้อ่านง่ายขึ้น ดังนี้

ช่วงวัยที่ 1 : ตั้งแต่แรกเกิดจนอายุ 1 ปี

เด็กต้องได้รับการเลี้ยงดูให้มีสุขภาพที่สมบูรณ์ มีการพัฒนาทางอารมณ์ และการกระตุ้นการรับรู้ทางประสาทสัมผัสให้สามารถเรียนรู้ในการช่วยเหลือตนเอง และสามารถมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นได้ตามวัย

ช่วงวัยที่ 2 : อายุ 1 ปี – 3 ปี

เด็กก่อนเข้าเรียนอนุบาลต้องช่วยเหลือตัวเองได้มากขึ้น เรียนรู้การพูดและการสื่อสารที่ดี เรียนรู้การสร้างวินัย เข้าใจความรู้สึกของผู้อื่น เริ่มรู้จักเผื่อแผ่ และเริ่มซึมซับวัฒนธรรมไทย

ช่วงวัยที่ 3 : อายุ 3 ปี – 6 ปี

เด็กในชั้นอนุบาลต้องฝึกฝนให้เกิดสมาธิอย่างต่อเนื่อง ควบคุมอารมณ์ได้ รู้จักระมัดระวังภยันตราย ซื่อสัตย์สุจริต มีวินัย เคารพกฎกติกา เห็นคุณค่าและมั่นใจในตนเอง รับรู้ความเห็นต่าง เข้าใจและเห็นใจผู้อื่น ช่วยเหลือผู้ปกครองตามกำลังความสามารถ รู้จักความสำคัญของอาชีพที่สุจริต และต้องรู้จักสังคมไทย วัฒนธรรม วิถีชีวิต และความเป็นไทย และเริ่มเรียนรู้เกี่ยวกับโลกซึ่งรวมถึงธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมด้วย

ช่วงวัยที่ 4 : อายุ 6 ปี – 12 ปี

เด็กในชั้นประถมศึกษาต้องรู้จักสิทธิและหน้าที่ของตนเอง ภูมิใจและตระหนักในความสำคัญของชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข มีจิตอาสา ภาคภูมิใจในความเป็นไทย ซึมซับในหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง นอกจากนี้ ยังต้องรู้จักการวางแผนล่วงหน้า มีความฉลาดและรอบรู้ทั้งในด้านคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิทยาการคำนวณ ภาษาต่างประเทศ ภาษาไทย ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และวิถีชีวิตของไทยและประเทศเพื่อนบ้าน รวมถึง ต้องเริ่มหาลู่ทางในการประกอบอาชีพด้วย

ช่วงวัยที่ 5 : อายุ 12 ปี – 15 ปี

นักเรียนในชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นต้องยอมรับความคิดเห็นที่แตกต่างหลากหลาย เชื่อมั่นและเข้าใจการธำรงความเป็นไทย รู้และเข้าใจในหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงจนสามารถนาไปใช้ในชีวิตได้

ทั้งยังต้องใฝ่รู้และมีทักษะในการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับพัฒนาการของโลก และสามารถคิดในเชิงสังเคราะห์ คิดสร้างสรรค์ และสื่อสารได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงสามารถเลือกเส้นทางการศึกษาต่อหรือเส้นทางอาชีพและการทำงานได้ด้วย

ช่วงวัยที่ 6 : อายุ 15 ปี – 18 ปี

นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายต้องแสวงหาความรู้และข้อมูลให้ทันการณ์ รู้วิธีตรวจสอบข้อมูลและสถานการณ์ที่ถูกต้อง ยึดมั่นในคุณธรรม ขยัน อดทน และไม่ท้อถอย เข้าใจบทบาทของไทยในสังคมโลก โดยได้แบ่งแยกเป้าหมายออกเป็นสองด้าน คือ ด้านการประกอบอาชีพ และด้านการศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา

ช่วงวัยที่ 7 : ระดับอุดมศึกษาหรือทักษะอาชีพชั้นสูง

นักศึกษาต้องรู้จักแสวงหาความสุขสงบทางจิตใจ เป็นพลเมืองที่เข้มแข็ง เคารพกฎกติกาอย่างเคร่งครัด เป็นปฏิปักษ์ต่อการทุจริตหรือประพฤติมิชอบ มีความกล้าหาญที่จะแสดงออกในสิ่งที่ถูกต้องชอบธรรม มีส่วนร่วมรับผิดชอบต่อปัญหาบ้านเมือง

ผู้อ่านต้องพิจารณาเองครับว่าหลักการและเป้าหมายของร่างฉบับใหม่ เป็นการปฏิรูปการศึกษาที่ก้าวหน้าหรือไม่ หรือเป็นความหวังของครูและรัฐในการอบรมบ่มเพาะ โดยเฉพาะด้านค่านิยม ให้ผลผลิตทางการศึกษาเป็นไปตามแม่พิมพ์ของครูและรัฐเป็นสำคัญ ทั้ง ๆ ที่ “แม่พิมพ์” สมัยนี้เปิดกว้างและมีทางให้เลือกมากมาย

สุดท้ายนี้ ขอวิจารณ์ในเรื่องที่ผมเห็นว่าน่าจะเป็นแก่นสารของการปฏิรูปคือ เสรีภาพและความเสมอภาคทางการศึกษา

ขอเริ่มที่เสรีภาพของนักเรียนก่อน ครูมักสอนว่าสิทธิเสรีภาพต้องมาพร้อมหน้าที่ และหน้าที่สำคัญคือการมีระเบียบวินัย แต่นักเรียนบางคนรู้สึกว่าวินัยบางครั้งไร้สติ พวกเขาสงสัยว่าระเบียบสะท้อนค่านิยมของครูที่อยากให้นักเรียนหัวอ่อนและเชื่อฟังใช่ไหม เพราะเมื่อนักเรียนถามว่า เรื่องบางเรื่องที่ครูบังคับนั้นช่วยให้การเรียนรู้ดีขึ้นอย่างไร ครูก็ตอบไม่ค่อยได้ จึงเกิดมี “กลุ่มนักเรียนเลว” ขึ้น เป็นไปได้ว่านักเรียนกลุ่มนี้คงถูกด่าว่าเลวเมื่อไม่เชื่อฟัง นักเรียนบางคนถึงกับใช้วาจาหยาบคายกับครูเลยไปกันใหญ่ ส่วนครูจำนวนหนึ่งก็มีปัญหาไปอีกแบบ เพราะตั้งใจสอน แต่ต้องเสียเวลาไปมากกับงานอื่น ๆ เช่น งานประเมิน งานเขียนรายงาน งานเอกสาร งานธุรการ ฯลฯ ก็ยังดีที่ร่าง พ.ร.บ. เน้นว่าครูไม่มีหน้าที่อื่นนอกจากสอน ที่ผ่านมา มีครูกลุ่มหนึ่งออกมาประท้วงโดยใช้ชื่อว่า “กลุ่มครูขอสอน”

ผมคิดว่าเสียงของนักเรียนและครูรุ่นใหม่ควรได้รับการรับฟัง การปฏิรูปจึงจะมีความหมายว่าถือนักเรียน ครู ตลอดจนการเรียนการสอนเป็นหลัก มากกว่ากฎระเบียบที่มากดทับจนจะดับเสรีภาพและจินตนาการสร้างสรรค์

ความเสมอภาคเป็นปัญหาใหญ่ของเรา ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำสูง แม้การศึกษาจะดีขึ้น แต่ยังดีกระจุก คุณภาพยังไม่กระจายไปอย่างทั่วถึง โรงเรียนคุณภาพมีไว้สำหรับคนรวยในเมืองมากกว่าคนจนในชนบท มีเยาวชนจำนวนนับล้านที่ต้องออกจากระบบการศึกษากลางคัน มาตรการเช่นการมีโรงเรียนระดับอำเภอที่มีมาตรฐานเดียวกันหรือใกล้เคียงกันทุกอำเภอก็ยังเป็นไปไม่ได้ การให้นักเรียนเข้าโรงเรียนที่อยู่ใกล้บ้าน เช่นในรัศมี 5 กิโลเมตรจากบ้านก็มีการพูดถึง แต่ทำไม่ค่อยได้ การยกเลิกการกวดวิชายังทำได้ยากเพราะคนรวยยังอยากให้ลูกหลานเข้าโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยชั้นเลิศอยู่ดี ผมไม่รู้ว่าเรื่องเช่นนี้จะเขียนในกฎหมายได้อย่างไร หรือจะเขียนเป็นนโยบายหรือเป็นแผนพัฒนา แม้ยังทำไม่ได้ก็ขอให้มีเกณฑ์การประเมินความคืบหน้าบ้างก็ยังดี ยอมประจานตัวเองบ้างว่าไม่คืบหน้าเผื่อเป็นแรงกระตุ้น มีการพูดถึงเกณฑ์ของผลสัมฤทธิ์การศึกษาของนักเรียนที่มีชื่อย่อว่า PISA (Programme for International Assessment) แต่เราปฏิรูปกันมา เช่น ตั้งแต่ปี 2542 แต่เยาวชนไทยยังได้คะแนน PISA ต่ำลง ๆ ไม่รู้ว่าข้อเท็จจริงนี้พอเป็นแรงกระตุ้นบ้างได้ไหม

เรากำลังมีกฎหมายปฏิรูปการศึกษาฉบับใหม่ ผู้อ่านลองประเมินเองก็แล้วกัน ว่าจะช่วยให้การศึกษาไทยดีขึ้น เหมือนเดิม หรือแย่ลง ผมเพียงหวังว่าการศึกษาไทยคงดีขึ้น เพราะต่ำลงกว่านี้คงไม่ได้แล้ว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image