เมกะเทรนด์‘ESG’

อีกหนึ่ง “เมกะเทรนด์” ของโลกธุรกิจคือ “ESG” (Environment, Social and Governance) นั่นคือการดำเนินธุรกิจที่บูรณาการความยั่งยืนใน 3 ด้านคือ “สิ่งแวดล้อม-สังคม-ธรรมาภิบาล” เป็นกระแสที่องค์กรธุรกิจต่างๆ ให้ความสำคัญมากขึ้น ไม่ได้คิดแต่เรื่องกำไรขาดทุนเหมือนที่ผ่านมา

อีกทั้งนักลงทุนทั่วโลกก็ให้ความสนใจธุรกิจที่ยึดหลัก “ESG” ไม่ได้มองแค่ผลตอบแทนจากการลงทุนในระยะสั้น แต่ยังคำนึงถึงกิจการที่คำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาลด้วย เพราะจะให้ผลตอบแทนที่ยั่งยืนในระยะยาว

การพิจารณาปัจจัย “ด้านสิ่งแวดล้อม” อาทิ การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ การปล่อยมลภาวะอื่นๆ การใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า และความหลากหลายทางชีวภาพ

“ด้านสังคม” คำนึงถึงสิทธิมนุษยชน มาตรฐานด้านความปลอดภัยและสุขภาพของแรงงาน และความสัมพันธ์กับชุมชน

Advertisement

“ด้านธรรมาภิบาล” มุ่งเน้นกำกับดูแลให้มีความโปร่งใส มีกลไกการตรวจสอบ ดำเนินการตามกฎระเบียบต่างๆ อย่างเคร่งครัด

จากกระแส “ESG” ที่มาแรงทำให้การลงทุนในธุรกิจที่ยึดหลัก “ESG” เติบโตอย่างต่อเนื่องในยุโรปและสหรัฐอเมริกา

ส่วนประเทศไทย หลายองค์กรธุรกิจก็ให้ความสำคัญกับ “ESG” มาระยะหนึ่งแล้ว

Advertisement

หนึ่งในนั้นคือ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ “จีซี” ซึ่งเป็นบริษัทปิโตรเคมีแรกของไทยที่ติดอันดับ 1 ของโลก จากดัชนีความยั่งยืนดาวโจนส์ (Dow Jones Sustainability Indices : DJSI) 3 ปีซ้อนในกลุ่มธุรกิจเคมีภัณฑ์ ด้วยการดำเนินธุรกิจที่บูรณาการความยั่งยืน “ESG” ครบ 3 ด้าน

ทั้งนี้ ดัชนีความยั่งยืนดาวโจนส์จัดทำขึ้นโดย S&P Global ที่ประเมินประสิทธิผลการดำเนินธุรกิจตามแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืนของบริษัทชั้นนำระดับโลก เพื่อให้มั่นใจว่ามีการบริหารจัดการครบทุกมิติตามหลัก “ESG”

“ดร.คงกระพัน อินทรแจ้ง” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร “จีซี” แจกแจงรายละเอียดการดำเนินธุรกิจที่ยึดหลัก “ESG” 3 ด้าน

ด้านสิ่งแวดล้อม…ให้ความสำคัญการเพิ่มประสิทธิภาพในทุกกระบวนการผลิต โดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัลควบคู่กับหลัก “5R” คือ การลดการใช้ การใช้น้อยเท่าที่จำเป็น (Reduce) การใช้ซ้ำหลายๆ ครั้งเพื่อยืดอายุการใช้งาน และใช้ประโยชน์มากขึ้น (Recycle) การแปรรูปมาใช้ใหม่ (Reuse) ปฏิเสธการใช้สารที่ไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Refuse) และการใช้ทรัพยากรแบบหมุนเวียน (Renewable) เพื่อลดการใช้ทรัพยากร และลดการใช้พลังงาน

“จีซี” สามารถดำเนินการได้เหนือกว่าเกณฑ์ที่กำหนดไว้ พร้อมนำนวัตกรรมใหม่ๆ มาปรับใช้ พร้อมแสวงหาเทคโนโลยีคาร์บอนต่ำรูปแบบใหม่

นอกจากนี้ ยังเล็งเห็นปัญหาภาวะโลกร้อน โดยตั้งเป้าหมายและแผนลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ 20% ภายในปี 2573 เพื่อเดินหน้าสู่การเป็นองค์กร Net Zero ในปี 2593 ตามข้อตกลงสนธิสัญญาปารีส

ด้านสังคม…ดำเนินการทั้งในเวลาปกติและเวลาวิกฤต เช่น ช่วงโควิดระบาด ได้ช่วยเหลือภาคสังคม ทั้งระดับชุมชน จังหวัด และระดับประเทศ โดยนำหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนและความเชี่ยวชาญมาใช้เพื่อส่งมอบนวัตกรรมเคมีภัณฑ์และผลิตภัณฑ์ที่ปลอดภัย เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ช่วยเหลือผู้ป่วยและบุคลากรทางการแพทย์

รวมถึงร่วมมือกับพันธมิตรผลิตอุปกรณ์ป้องกันทางการแพทย์ภายใต้โครงการล้านความห่วงใย และโครงการ Greater Care by GC บริจาคชุดกาวน์กันน้ำ ชุดคลุมปฏิบัติการ ผลิตจากเม็ดพลาสติกรีไซเคิลประเภท PET (rPET) 100% สามารถนำกลับมาใช้ซ้ำได้สูงสุดถึง 20 ครั้ง เตียงสนามผลิตจากเม็ดพลาสติก HDPE สำหรับผู้ป่วย สามารถนำกลับมาใช้ซ้ำได้และนำกลับมารีไซเคิลได้ในท้ายที่สุด

ด้านบรรษัทภิบาล…มีการกำกับดูแลกิจการที่ดี และบริหารด้วยความโปร่งใส พร้อมดำเนินงานตามจรรยาบรรณทางธุรกิจ นอกจากนี้ยังมีบทบาทสำคัญในการผลักดัน BCG (Bio-Circular-Green Economy)

เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่จะช่วยปลุกให้องค์กรต่างๆ ขยับยึดหลัก “ESG” ซึ่งจะส่งผลดีไม่เพียงแต่องค์กรตัวเอง แต่ยังรวมถึงสิ่งแวดล้อมและสังคมโดยรวมของประเทศและของโลกด้วย

วุฒิ สรา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image