คนตกสีที่อยู่อีกฝั่งหนึ่ง : โลกที่ไร้ ‘บรรณาธิการ’

คอลัมน์คนตกสีที่อยู่อีกฝั่งหนึ่ง : โลกที่ไร้ ‘บรรณาธิการ’ โดย กล้า สมุทวณิช

ราว 5-6 ปีก่อน ญาติสนิทของผมท่านหนึ่งซึ่งเป็นบรรณาธิการและอยู่ในแวดวงการหนังสือพิมพ์และนิตยสารมาหลายสิบปี เคยตั้งข้อกังวลถึง “โลกที่ไม่มีบรรณาธิการ” เอาไว้ “บรรณาธิการ” ผู้มิได้มีเพียงหน้าที่ตรวจสอบความถูกผิดของการสะกด การเขียน หรือรูปประโยค (เพราะนั่นเป็นงานของฝ่ายพิสูจน์อักษร) แต่บรรณาธิการเป็นผู้ตรวจพิจารณาภาพรวมของผลงานแต่ละชิ้น ขัดเกลาเรียบเรียง ตรวจสอบข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริง และจัดการทำให้มันสมบูรณ์ยิ่งขึ้นด้วยการแก้ไขเอง หรืออาจเสนอแนะให้ผู้สร้างสรรค์

ในผลงานชิ้นหนึ่งจึงมีเงาของบรรณาธิการเป็นผู้ร่วมสร้างสรรค์แบบปิดทองหลังพระ และบทบาท
ในสื่อแบบดั้งเดิม หนังสือพิมพ์ นิตยสาร วิทยุ โทรทัศน์ บรรณาธิการยังมีหน้าที่เพิ่มเติมในเชิงตรวจสอบความถูกต้องเหมาะสมของข่าวสาร หรือเนื้อหาที่สื่อนั้นๆ จะนำออกเผยแพร่ต่อสาธารณชนด้วย

ในโลกยุคที่ว่านั้น การที่ใครสักคนจะนำเสนอผลงานของตนออกสู่สายตา หรือโสตหูแห่งสาธารณะโดยไม่ผ่านการรู้เห็น หรือผ่านตาใครสักคนนั้นแทบไม่มีทางเป็นไปได้โดยเด็ดขาด ถ้าให้ยกตัวอย่างของ
สื่อสิ่งพิมพ์ กว่าที่ใครคนหนึ่งจะได้รับความไว้วางใจให้มาเป็นคอลัมนิสต์เขียนเรื่องราวเล่าความคิดเห็นของเขาลงในหน้าหนังสือพิมพ์หรือนิตยสารนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายเลย คุณอาจจะทำงานอยู่ในสื่อนั้นอย่างมีประสบการณ์โชกโชน (ซึ่งบางที่บางฉบับเขาว่ากันเป็นสิบปี) หรือไม่ก็จะต้องเป็นผู้ที่มีชื่อเสียงซึ่งความรู้ความสามารถของคุณเป็นที่ยอมรับในวงการแล้ว จึงจะได้รับเทียบเชิญทาบทามมาเป็นคอลัมนิสต์ในหนังสือพิมพ์หรือนิตยสารได้

ยุคเดียวกันกับที่นิตยสารต้องมีคอลัมน์ “ตอบจดหมาย” เพื่อเปิดพื้นที่ให้ผู้อ่านได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเนื้อหา เรื่องราว หรือสังคมการเมืองมาลงในนิตยสารหรือหนังสือพิมพ์ได้ผ่านคอลัมน์ “จดหมายถึงบรรณาธิการ”

Advertisement

อย่างไรก็ตาม ข้อเสียของโลกยุคนั้นที่ชัดเจนยิ่งก็คือ เพราะว่าไม่ใช่ว่าใครๆ ก็จะแสดงความคิดเห็นของตนลงในสื่อสาธารณะได้ การแสดงความเห็นนั้นจะต้องถูก “คัดเลือก” จาก “บรรณาธิการ” ผู้เป็นด่านสุดท้าย ทำให้การแสดงความคิดเห็นสามารถถูกจำกัดปิดกั้นได้อย่างไม่ยากเย็น ไม่ว่าจะโดยอำนาจรัฐและกฎหมาย อำนาจทุนทั้งทางตรงหรือทางอ้อม หรือแม้แต่ “บารมี” ความสัมพันธ์ส่วนตัวของผู้คนในแวดวงที่เกี่ยวข้อง
บางครั้งนานไปก็สั่งสมให้เกิดวัฒนธรรมการปิดปากตัวเอง

และเป็นอันรับรู้ว่าความคิดความเห็นต่างๆ ที่ได้แสดงออกมาปรากฏต่อผู้คนทั่วไปในวงกว้าง หมายถึงว่าความคิดนั้นได้รับคำ “อนุญาต” แล้ว จากใครสักคนหนึ่ง ซึ่งไม่ว่าผู้มีอำนาจตัดสินใจนั้นจะเป็นใคร
แต่ด่านสุดท้ายก็คือบรรณาธิการนั่นเอง

ในยุคสมัยเช่นนั้น นักข่าวนักหนังสือพิมพ์ที่ถือว่าเป็นระดับผู้กล้าท้าทายอำนาจรัฐ จึงได้แก่ “บรรณาธิการ” ผู้ไม่กริ่งเกรงอำนาจใดๆ ข้างต้น และยินยอมเปิดปล่อยพื้นที่ให้แก่ความคิดความเห็นที่ผู้มีอำนาจไม่น่าจะพอใจ

Advertisement

แม้แต่ในยุคของ Internet และเว็บ 2.0 เราก็เริ่มจะเห็นโอกาสแห่งเสรีภาพของความคิดเห็นอิสระของผู้คน เช่น ในระยะแรกที่ใครๆ ก็เป็นคอลัมนิสต์ได้ผ่านการเขียนบล็อก แต่การ “กระจาย” หรือเผยแพร่งานนั้นก็ยังจำกัดอยู่แค่ในหมู่คนที่รู้จัก หรืออยู่ในแวดวงเดียวกันกับบล็อกเกอร์ผู้นั้น ผู้คนที่เสพข่าว หรือเลือกติดตามบล็อกของใครสักคน ก็จะมีข้อพิจารณาที่ตัวตนของผู้เขียนผู้สร้างเนื้อหานั้นในน้ำหนักที่ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าตัวเนื้อหา

แต่ในปัจจุบันนี้เราอยู่ในโลกที่ตรงกันข้าม คือเป็นยุคสมัยที่แทบจะเป็นไปไม่ได้ที่จะมี “บรรณาธิการ”
เพราะเราทุกคนมีช่องโทรทัศน์ สถานีวิทยุ และสำนักข่าวสำนักพิมพ์อยู่ในอุ้งมือ สมาร์ทโฟนที่มาใช้แทนได้ตั้งแต่เครื่องพิมพ์ดีด กล้องถ่ายรูปและกล้องถ่ายวิดีโอ ห้องล้างฟิล์ม ห้องตัดต่อ และเสาอากาศถ่ายทอดสัญญาณ เรื่องเลยกลับกันว่า ในปัจจุบันนี้มีโอกาสน้อยเต็มทีที่งานของเราจะถูกตรวจสอบกลั่นกรองโดยผู้อื่นก่อนการนำเสนอต่อสาธารณชน เพียงคุณเขียน หรือถ่ายทำเสร็จ อาจจะมีการตัดต่อหรือตรวจทานสักเล็กน้อยแล้วก็กด Post ลงไปในเครือข่ายสังคมใดสักแห่งที่คุณเป็นสมาชิก เมื่อนั้นผลงานของคุณจะสามารถเข้าถึงได้จากทั้งโลก และหากมันเตะตาต้องใจจนกลายเป็นไวรัล มันก็จะถูกแชร์ออกไปอย่างไพศาล บางครั้งคลิปวิดีโอของคุณคลิปเดียวในสองชั่วโมง ก็อาจจะมีผู้รับชมมากกว่าสารคดีบนเรื่องในฟรีทีวีเสียอีก
อีกประการที่ตรงกันข้ามกับสมัยก่อนอย่างสิ้นเชิง คือในสมัยนี้ผู้คนพิจารณา “เนื้อหา” ตัวชิ้นงานก่อนจะทันได้ดู (หรืออาจจะไม่สนใจดู) ว่าใครเขียนหรือใครผลิตด้วยซ้ำไป

นอกจากสื่อแบบปัจเจกแล้ว เราก็ยังมี “สำนักสื่อ” ที่ตั้งต้นมาจากการเป็นสื่อออนไลน์ตั้งแต่ต้น หรือเป็นสื่อดั้งเดิมปรับตัวมาก็ตามที ในสื่อใหม่ในลักษณะนี้บางครั้งแม้ว่าจะมี “บรรณาธิการ” อยู่โดยตำแหน่งบทบาท แต่ด้วยสภาพของการแข่งขันอันโหดร้ายของสื่อใหม่ที่ความเร็วคือตัวชี้ขาด เร็วที่สุดคือชนะ ดังนั้นบรรณาธิการจึงแทบจะทำอะไรไม่ได้มากนักนอกจากจะเป็นเหมือนผู้เฝ้าประตูที่คอยกันแค่เนื้อหาที่อาจจะ
ผิดกฎหมาย หรือทำให้ซวยกันทั้งวงออกไปเท่านั้น

โลกเช่นนี้ทำให้การปิดกั้นข่าวสารนั้นแทบจะเป็นไปไม่ได้โดยสิ้นเชิง เสรีภาพเช่นว่านี้ทำให้รัฐหรือทุนใหญ่ก็อยู่ไม่สุข ความคิดความเห็นที่ถ่ายทอดกันผ่านสื่อนั้นทรงพลังจนหลายครั้งทำให้แม้แต่รัฐบาลที่มีอำนาจเบ็ดเสร็จเต็มไม้เต็มมือยังต้องถอย ทุนใหญ่ยังต้องสะดุ้งโต้ตอบ

แล้วสภาวะเช่นนี้ หรือในโลกที่ไร้บรรณาธิการ มันจะมีปัญหาอย่างไร

แรกที่ลูกพี่ลูกน้องของผมท่านนั้นยกประเด็นตั้งข้อสังเกตขึ้นมานั้น ปัญหาของโลกไร้บรรณาธิการมันยังจำกัดอยู่เพียงเรื่องความถูกต้องของข้อมูลและคุณภาพของเนื้อหา เรื่องนี้เราทุกคนคงมีประสบการณ์การได้เห็นข่าวจากสื่อหลักพิมพ์ผิดแบบไม่น่าจะได้เห็น หรือมีการเรียบเรียงที่ไม่ต้องคาดหวังความสละสลวย ขอให้อ่านได้เข้าใจไม่ตกความก็นับว่าดีแล้ว รวมถึงเรื่องของข้อมูลบางอย่างที่ผิดแบบไม่น่าจะผิด แต่มันก็อาจจะไม่ใช่เรื่องใหญ่มากมาย พิมพ์ผิดก็อ่านให้ถูกได้ ข้อมูลผิดเดี๋ยวเขาก็มาแก้ให้ทีหลัง หรือถ้าถึงระดับอ่านไม่รู้เรื่องก็ลองอ่านจากสื่อเจ้าอื่นเอาก็แล้วกัน

หากแนวโน้มที่เริ่มจะเห็น คือการที่สื่อปัจเจกเป็นอิสระไร้การตรวจสอบหรือพิจารณาจากใครใดๆ กับทั้งเมื่อสื่อใหม่หรือสื่อโซเชียลของผู้คนที่เป็นปัจเจกสามารถสร้างรายได้โดยตรงได้จากคอนเทนต์ของตัวเอง อีกทั้งแบรนด์หรือสินค้าก็เลือกหรือยินดีที่จะจ่ายเงินให้ผู้สร้างสรรค์งานระดับ Influencer โดยตรงเพราะนอกจากประหยัดงบกว่าการไปซื้อสื่อดั้งเดิมแล้วยังแน่ใจว่าโฆษณาของตนจะยิงตรงไปยังกลุ่มเป้าหมายได้

จากถ้อยคำแดกดันสมัยแรกมีสื่อสังคมว่ายอดไลค์แลกข้าวกินได้หรือเปล่า กลับกลายเป็นเรื่องจริงยิ่ง
กว่าจริง ในระบบที่ความสำเร็จของงานสร้างสรรค์แต่ละชิ้นวัดกันด้วยยอดไลค์ ยอดแชร์ ยอดผู้ติดตาม ซึ่งมันเปลี่ยนมาเป็นยอดเงินในบัญชีธนาคารหรือคริปโทเคอร์เรนซีในที่สุด ทำให้ปัจจุบันการที่ใครๆ ก็สามารถปล่อยเนื้อหาใดๆ ออกมาได้ทันทีโดยไม่มีใครกลั่นกรองหรือทบทวนจากสายตาอื่นสมองอื่น ทำให้ปัญหาที่เคยเป็นเรื่องความถูกต้องของข้อมูลและคุณภาพของเนื้อหานั้นล้ำเส้นมาเป็นเรื่องของจริยธรรมและจรรยาบรรณเข้าให้ด้วย

แค่สัปดาห์ที่ผ่านมาสัปดาห์เดียวก็มีกรณีที่สตรีข้ามเพศที่เป็นเน็ตไอดอลและยูทูบเบอร์ทำคลิปที่ขึ้นปกอย่างหวือหวาว่าจะแกล้งเด็กเล็กวัยไม่ถึงขวบอย่างน่ากลัว เช่น แสดงเหมือนกับว่าจะแอบใส่พริกในอาหาร จับเด็กโยนลงน้ำ ซึ่งอันนี้ไม่ได้มีการแกล้งจริงตรงตามปก แต่ก็มีที่ผู้คนเห็นว่าไม่เหมาะสมจริงก็เช่นการอุ้มเด็กออกไปนั่งร้องไห้ถ่ายคอนเทนต์ริมถนนว่าแฟนทิ้ง หรือปลุกเด็กเล็กขึ้นมาร่วม Live ในยามดึกซึ่งควรเป็นเวลาพักผ่อนของเด็ก จนทัวร์ลงกันไป

กับล่าสุดกรณีดราม่าที่ยูทูบเบอร์สายศิลปินชื่อดังทำคอนเทนต์จ้างคนให้ทำโลโก้ในราคาตั้งแต่ยี่สิบถึง
สองหมื่นบาท โดยไม่บอกว่าจะเอามาทำอะไร แล้วนำงานที่ยังไม่เสร็จนั้นออกมาวิจารณ์แบบใส่ยับในคลิปแบบมีสปอนเซอร์ หรือที่เรียกแอดเวอทอเรียล ที่สุดท้ายเรื่องก็มาพลิกเมื่อมีผู้รับจ้างรายหนึ่งออกมาเปิดเผยข้อเท็จจริง ซึ่งเรื่องหลังนี้ถูกวิพากษ์วิจารณ์ถึงความเหมาะสมและจรรยาบรรณทั้งในฐานะสื่อและฐานะศิลปินนักออกแบบ

ไม่ใช่เพียงเท่านี้ เพราะเรื่องนี้ยังมีกรณีในเงามืด มีอีกมากที่มีผู้สร้างคอนเทนต์เพื่อหวังยอดวิวจนหมิ่นเหม่ข้ามเส้นจริยธรรมหรือจรรยาบรรณ เช่น ในแวดวงคนรักสัตว์เลี้ยงขนาดเล็ก ก็ยังเคยมีเรื่องที่ยูทูบเบอร์ชื่อดังพอสมควรในวงการสัตว์เลี้ยงนั้นจับเอาสัตว์เล็กประเภทหนู กระรอก ที่บางชนิดก็แม้ว่ายน้ำได้แต่ก็ไม่ควร เช่น เม่นแคระ เอามาทำชาเลนจ์ว่ายน้ำแข่งกัน ซึ่งก็ถูกคนรักเม่นแคระจัดทัวร์ให้

แม้ว่าในบางกรณีผู้สร้างสรรค์สื่ออิสระ ทั้งยูทูบเบอร์ คาสเตอร์ หรือบล็อกเกอร์ ถ้ามีผู้ติดตามมาจริงก็อาจจะมีทีมงานร่วมทำงานด้วยอย่างจริงจัง ในการช่วยด้านการจัดทำหรือการบริหารจัดการ แต่ทีมงานนั้นโดยแท้จริงแล้วก็เป็นเหมือน “ลูกจ้าง” หรือ “ผู้ช่วย” เสียมากกว่าจะเป็น “กองบรรณาธิการ” ที่ช่วยตรวจสอบกลั่นกรอง

บางคนอาจเห็นแย้งว่าเรื่องความหมิ่นเหม่ทางศีลธรรมนี้อาจจะไม่น่าเป็นห่วง เพราะในที่สุดก็จะมีกลไกการควบคุมทางสังคม สร้างรูปแบบของแนวปฏิบัติ หรือ norm ของสังคมนั้น เช่น ง่ายๆ ที่เห็นคือวัฒนธรรม “ทัวร์ลง” พวกคอนเทนต์ที่ไม่เหมาะสมเช่นที่ยกตัวอย่าง แต่เราจะมั่นใจ “คณะทัวร์” ได้เพียงไร ยังไม่พูดถึงว่าวัฒนธรรมทัวร์ลงนี้ก็มีปัญหาในตัวมันอย่างที่เคยเขียนไว้แล้ว

กระแสสังคมอะไรนั้นจะลงโทษได้จริงหรือไม่ หากคนดังเหล่านั้นห้อมล้อมตัวตนไปด้วยแฟนประจำเดนตายที่คอยเออออห่อหมก และกลไกการทำงานของตัว Platform ก็สามารถที่จะกรองเอา “กระแสสังคม” ที่ก้ำกึ่งหรือไม่อยากฟังไปทิ้งได้ หรือหากการนั้นมันคุ้มค่า ก็ช่างกระแสสังคมปะไร

ในที่สุดเมื่อผู้สร้างสรรค์งานมีกองเชียร์กองอวยของตัวเอง ประกอบรายได้มหาศาลซึ่งได้จากคนกลุ่มนั้นก็เพียงพอที่จะร่ำรวยได้แล้ว ทั้งถ้าการกระทำนั้นไม่ได้ถึงขนาดผิดกฎหมาย หรือต่อให้ผิดก็ไม่ใช่เรื่องที่อำนาจรัฐมุ่งจะเอาโทษ เช่นนี้คำถามคือ จะมีอะไรมาเป็นมาตรการควบคุมหรือช่วยยับยั้งชั่งใจไม่ให้ทำคอนเทนต์ที่หมิ่นเหม่ต่อจริยธรรมและจรรยาบรรณได้

คงจะยังไม่มีคำตอบใดๆ ได้ในตอนนี้ แต่หากเชื่อว่าสิ่งใดที่เกิดขึ้นมาโดยธรรมชาติ ธรรมชาติจะ
คัดสรรจัดที่ทางให้สิ่งนั้น ในที่สุดเราก็จะหาจุดสมดุลในเรื่องนี้ได้ แต่กระนั้นก็คาดหมายไม่ได้ว่าธรรมชาติจะเลือกอะไรอย่างไรไว้ให้อยู่ และปล่อยให้อะไรจากไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image