ภาพเก่าเล่าตำนาน ต้องเชื่อ…ผบ. ตำรวจคนแรกในสยามเป็นฝรั่งอังกฤษ โดย พลเอกนิพัทธ์ ทองเล็ก

ภาพเก่าที่ปรากฏต่อสายตาท่านผู้อ่านขณะนี้ เป็นสุภาพบุรุษชาวอังกฤษที่รัฐบาลสยามว่าจ้างให้มาวางโครงสร้าง จัดตั้งหน่วยงานตำรวจแบบยุโรปในสยาม เป็นปฐมบทของกิจการตำรวจมาจนถึงปัจจุบัน ท่านรับราชการในสยามนาน 32 ปี จนได้รับโปรดเกล้าฯ เป็น หลวงรัถยาภิบาลบัญชา หรือที่ชาวสยามเรียกกันในสมัยในหลวงร.4 ว่า กับปิตันเอม ถือได้ว่าท่านเป็นตำรวจคนแรกและเป็นผู้วางรากฐานหน่วยงานตำรวจของสยาม

14555807_1309512349082678_653415436_n
ในปี พ.ศ.2403 สยามประเทศ มีชาวต่างชาติเข้ามาปรากฏตัวพัวพันติดต่อค้าขายอย่างคึกคัก เรือสำเภาบรรทุกสินค้าวิ่งเข้า-ออกตามลำน้ำเจ้าพระยากันขวักไขว่ ชาวจีนจากแผ่นดินใหญ่ทะลักทลายหนีตายลงเรือแห่กันมาตั้งรกรากในสยามนับหมื่น ชาวตะวันตกผิวขาวที่เรียกว่า ฝรั่ง มาจัดตั้งสถานกงสุลในบางกอก ฝรั่ง แขกอาหรับ เข้ามาขอทำสัญญาทางการค้า บ้างก็มาตั้งรกรากในแผ่นดินอันเขียวขจี เมื่อมีค้ามีขาย ก็เกิดกระทบกระทั่ง ลักขโมย ฉ้อโกง ทะเลาะเบาะแว้ง ส่วนใหญ่เกิดในย่านการค้าของคนจีนในบางกอก

บางกอกในยุคนั้นมีคดีความ ลัก วิ่ง ชิง ปล้น สุราเถื่อนมีแหล่งอบายมุขครบครันหวย บ่อน ซ่อง โรงยาฝิ่น

ระบบราชการของสยามยังไม่มีความสามารถที่จะรับมือกับคดีความทั้งปวง ในหลวง ร.4 ทรงทราบปัญหาของบ้านเมืองที่กำลังวิกฤต จึงทรงให้ติดต่อว่าจ้าง กัปตัน เอส. เจ. เบิร์ด เอมส์ (Capt. S. J. Bird Ames) ชาวอังกฤษ เพื่อให้มาจัดตั้งกองตำรวจสำหรับรักษาความสงบเรียบร้อยภายในเขตนครหลวงตามแบบยุโรปขึ้นเป็นครั้งแรก เรียกว่า “กองโปลิศ” ให้อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงพระนครบาล

Advertisement

 

กับปิตันเอม (ตามที่ชาวสยามออกเสียงแบบง่ายๆ) มียศ-ชื่อเดิมว่า Captain Samuel Joseph Bird Ames เกิดที่เมืองเคนท์ ประเทศอังกฤษ เคยทำอาชีพค้าขาย ต่อมาผันตัวเองไปเป็นกัปตันเรือสินค้า
ในช่วง พ.ศ.2396 กัปตันเดินเรือมาแถว อินเดีย ลังกา สิงคโปร์ และบางกอก นานวันผ่านไปกัปตันเกิดเบื่อทะเล จึงขอขึ้นบกปักหลักพร้อมครอบครัว ได้ทำงานเป็นผู้ช่วยหัวหน้าตำรวจบนเกาะสิงคโปร์

กัปตันเอมส์ จัดตั้ง “กองโปลิศ” ในหลวง ร.4 โปรดเกล้าฯให้ท่านเป็นผู้บังคับหน่วยตำรวจคนแรก พร้อมกับพระราชทานยศร้อยเอก ซึ่งแต่เดิมสยามมีหน่วยที่ทำหน้าที่แบบตำรวจ ชื่อว่าข้าหลวงกองจับและกองตระเวนซ้ายขวา

Advertisement

ในยุคนั้น ชาวสยามไม่สนใจที่จะเข้ารับราชการในกองโปลิศที่ตั้งขึ้นใหม่ กับปิตันเอม ไม่มีลูกน้อง จึงต้องไปติดต่อจ้างลูกน้องเก่าที่เป็นตำรวจในสิงคโปร์มารับราชการเป็นโปลิศในสยาม

ความชุลมุน วุ่นวาย ตลกร้าย ในสยามยามยุคนั้น คือ โปลิศที่มาจากสิงคโปร์เหล่านี้ คือแขกอินเดีย แขกมลายู (บางคนมีผ้าโพกศีรษะ) ชาวสยามมองเห็นว่าโปลิศแขกโพกหัว มีหนวดเครารุงรัง เป็นตัวตลกประจำเมือง เมื่อเดินไปตรวจพื้นที่ใด ก็จะถูกล้อเลียน เยาะเย้ยจากชาวสยาม แถมยังพูดจากันไม่รู้เรื่องอีกต่างหาก เมื่อเกิดการจับกุมคุมขัง ต้องขึ้นโรงพัก ต้องขึ้นศาล เลยเกิดความโกลาหลป่นปี้

ปัญหาหลัก คือพูดกับชาวสยามไม่รู้เรื่อง และไม่ได้รับการยอมรับจากชาวสยาม

กับปิตันเอมเครียดหนัก ท่านได้ใช้ความเป็นผู้นำ อบรม กวดขันระเบียบวินัยให้โปลิศแขกที่มาจากสิงคโปร์ อดทนต่ออุปสรรคทั้งปวง รีบเร่งสร้างผลงานให้ชาวสยามมั่นใจ เมื่อมีเหตุทะเลาะตบตี โปลิศแขกรูปร่างสูงใหญ่เข้าระงับเหตุ จับคนร้ายได้เกือบทุกคดี ชาวสยามเริ่มประจักษ์ในผลงาน ต่อมาเพื่อให้เกิดความเป็นระเบียบเรียบร้อย กับปิตันเอมกำหนดให้มีเครื่องแบบของโปลิศ เพื่อให้สง่างามน่ายำเกรง แม้จะต้องมีผ้าโพกศีรษะ เรื่องการล้อเลียนเสียดสีจากชาวสยามจึงค่อยๆ จางหายไป

โรงตำรวจพระนครบาลแห่งแรกตั้งขึ้นในย่านชาวจีนแถวตลาดโรงกระทะ (ปัจจุบันคือที่ทำการเขตสัมพันธวงศ์) เพื่อดูแลย่านสำเพ็ง พาหุรัด ที่ขโมยชุกชุมมากที่สุดในบางกอก

ผลงานของโปลิศภายใต้การบังคับบัญชาของ กับปิตันเอม เริ่มเป็นที่ประทับใจ ได้รับคำชมเชยจากชาวต่างชาติและชาวสยาม มีคดีความมากขึ้น จึงย้ายสถานีไปตั้งโรงตำรวจนครบาลแห่งใหม่ บริเวณสามแยกต้นประดู่ ชาวบ้านเรียกกันติดปากว่า โรงพักสามแยก ถนนหนทางในบางกอกยังไม่มีชาวสยามเดินทางด้วยเรือเป็นหลัก ทรัพย์สินที่โดนขโมยมากที่สุดคือ เรือ

ชาวสยามมีมุมมองโปลิศแขกเหล่านี้แบบดูแคลน เพราะเห็นว่าคนพวกนี้ต้องทำงานหนัก โปลิศเป็นงานของพวกแขกยาม กับปิตันเอม วางระบบงานให้พลตระเวนเดินด้วยเท้าเข้าถึงชุมชนชาวจีน และจัดให้โปลิศตระเวนทางเรือในแม่น้ำลำคลอง ยืนยามเฝ้าตรวจ ตามตรอกซอกซอย ภารกิจของโปลิศในบางกอกเป็นรูปเป็นร่าง เป็นระบบมากขึ้นได้รับการยอมรับ ชาวสยามเริ่มสนใจทยอยไปสมัครเป็นโปลิศ ทำงานกับ กับปิตันเอม

ต่อมาในรัชสมัยในหลวง ร.5 ได้มีการขยายงานตำรวจจากเขตนครหลวงไปสู่ส่วนภูมิภาค โดยจัดตั้งเป็นกรมตำรวจภูธรขึ้น ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงมหาดไทย

ยิ่งนานวัน ในหลวง ร.5 ยิ่งทรงพอพระทัยในความสามารถของผู้บังคับหน่วยตำรวจชาวอังกฤษท่านนี้ยิ่งนัก จึงพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น “หลวงรัถยาภิบาลบัญชา” ถือศักดินา 600

นางแคทเธอรีน ภรรยาชาวอังกฤษที่ติดตามมาบางกอกด้วยในตอนแรก มาป่วยเสียชีวิตในสยามในปี พ.ศ.2405 กับปิตันเอมแต่งงานใหม่กับหญิงไทยมีลูกด้วยกัน 6 คน

เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2458 ในรัชสมัยในหลวง ร.6 โปรดเกล้าฯ ให้ควบรวม “กรมตำรวจภูธรและกรมพลตระเวน” เป็นหน่วยเดียวกันเป็น “กรมตำรวจ” ขึ้นกับกระทรวงมหาดไทย นับแต่นั้นจึงถือกันว่า วันที่ 13 ตุลาคมของทุกปี คือ “วันตำรวจ”

14569194_1309512389082674_2067125441_n

กับปิตันเอม รับราชการด้วยความซื่อสัตย์ จนกระทั่งปลดเกษียณในปี พ.ศ.2435 รวมรับราชการในตำแหน่ง ผู้บังคับกองโปลิศซึ่งถือว่าเป็นตำรวจคนแรกของสยามนาน 32 ปี (พ.ศ.2403-2435) หลังเกษียณท่านใช้ชีวิตสงบเรียบง่ายในสยาม เสียชีวิตเมื่อ พ.ศ.2444 เมื่ออายุ 69 ปี ศพถูกฝังไว้ที่สุสานโปรเตสแตนต์ เขตยานาวา กรุงเทพฯ (ตามภาพ ที่ผู้เขียนเดินทางไปค้นหา)

คุณความดีที่ กับปิตันเอม สร้างไว้ให้กับกรมตำรวจ ในหลวง ร.6 โปรดเกล้าฯ พระราชทานนามสกุลให้ว่า “เอมซ์บุตร” ซึ่งลูกหลานที่สืบตระกูล มาจนถึงปัจจุบันภาคภูมิใจยิ่งนัก

 

สนับสนุนโดย

34

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image