สะพานแห่งกาลเวลา : ‘โอไมครอน’ ข่าวร้ายที่อาจกลายเป็นดี

สะพานแห่งกาลเวลา : ‘โอไมครอน’ ข่าวร้ายที่อาจกลายเป็นดี การพบเชื้อกลายพันธุ์

การพบเชื้อกลายพันธุ์ “โอไมครอน” ที่ระบาดลุกลามขยายตัวออกไปอย่างรวดเร็วในเวลานี้ สร้างความตระหนกไปทั่วโลก

อันที่จริง อย่าว่าแต่คนทั่วไปจะตื่นตกใจเลยครับ แม้แต่นักวิทยาศาสตร์เองยังตกใจเมื่อได้เห็นข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับไวรัสตัวนี้จาก สถาบันโรคติดต่อแห่งชาติ (เอ็นไอซีดี) ของแอฟริกาใต้

เหตุผลก็คือ ไม่เคยพบกันมาก่อนว่า ซาร์ส-โควี-2 หรือไวรัสที่ก่อโรคโควิด-19 จะเกิดการกลายพันธุ์เป็นกลุ่มเป็นก้อนได้มากมายถึง 50 จุดเช่นนี้

นอกจากนั้น ตำแหน่งที่กลายพันธุ์ส่วนใหญ่ คือ 32 ตำแหน่ง ดันไปกระจุกรวมกันอยู่ในบริเวณ สไปค์ โปรตีน หรือโปรตีนหนามที่เจ้าไวรัสใช้สำหรับจับเกาะกับเซลล์ในร่างกายมนุษย์อีกต่างหาก

Advertisement

ทั้งยังมีอยู่ 10 ตำแหน่ง ซึ่งเกิดขึ้นในพื้นที่ส่วนของโปรตีนหนาม ที่เรียกว่า “รีเซปเตอร์ ไบน์ดิง โดเมน” หรือ “อาร์บีดี” ของไวรัส

อาร์บีดีมีความหมายอย่างยิ่งในแง่ของการแพร่ระบาด เพราะอาร์บีดี เป็นส่วนที่ไวรัสจะใช้สัมผัสกับส่วนที่เป็น “รีเซปเตอร์” ของเซลล์ในร่างกายมนุษย์ ซึ่งนักวิทยาศาสตร์เรียกว่า “เอซ2”

มันไม่ได้สัมผัสเฉยๆ ครับ แต่จะ “ผูกพันธะ” (ไบน์ดิง) เข้ากับเอซ2 แล้วใช้เป็นช่องทางทะลวงลึกเข้าไปถึงนิวเคลียสของเซลล์ของมนุษย์เพื่อยึดครอง

Advertisement

เมื่อใดที่ไวรัสเข้าถึงนิวเคลียสของเซลล์ได้ ก็เท่ากับว่ามันยึดเซลล์ที่ว่านี้เป็นของมันเองไปแล้ว จากนั้นก็จะใช้เซลล์ของเรานี่แหละเป็น “โรงงานผลิตไวรัส” เพื่อกระจายออกมาในร่างกาย จับเกาะกับเซลล์ตัวอื่นๆ ต่อไป

นั่นคือกระบวนการทำงานของเชื้อโรคนี้โดยคร่าวๆ เพื่อให้เข้าใจได้ว่าทำไมนักวิทยาศาสตร์ถึงได้ตกอกตกใจนัก เมื่อได้เห็นการกลายพันธุ์ของเชื้อโอไมครอน

ตอนนี้นักวิทยาศาสตร์ทั่วโลก กำลังขะมักเขม้นกับการค้นหาคำตอบสำคัญที่ว่า การกลายพันธุ์แต่ละตำแหน่ง แต่ละจุดของโอไมครอน ส่งผลให้ตัวไวรัสเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง

ทำให้มันแพร่ได้เร็วขึ้น แพร่ได้ดีขึ้นหรือไม่? แพร่แล้วทำให้ผู้ที่ได้รับเชื้อมีอาการหนักมากกว่าเชื้อกลายพันธุ์เดิมๆ ทั้งหลายหรือไม่? มันดื้อ หรือสามารถต้านทาน หลบเลี่ยง ระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายมนุษย์ ทั้งที่เกิดจากการกระตุ้นของวัคซีนและที่เกิดจากที่ร่างกายผลิตขึ้นมาหลังจากติดเชื้อกลายพันธุ์อื่นๆ ก่อนหน้านี้ได้หรือไม่? และมากน้อยแค่ไหน?

นักวิทยาศาสตร์รู้ว่า มีการกลายพันธุ์ 2-3 ตำแหน่งของโอไมครอน ที่เหมือนกับที่เคยเกิดขึ้นกับการกลายพันธุ์ในเชื้อกลายพันธุ์ก่อนหน้านี้ แต่อีกส่วนใหญ่ที่เหลือ ไม่รู้เลยเพราะเพิ่งเคยเห็นเกิดขึ้นกับโอไมครอนนี่แหละ

ทำให้ต้องเร่งหาคำตอบกันอยู่ในขณะนี้ และคงต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง อย่างน้อย 2 สัปดาห์ (หลังพบเชื้อ) เรื่อยไปจนถึง 4 สัปดาห์

ที่เป็นเช่นนั้นเพราะ นักวิทยาศาสตร์ต้องสร้างสิ่งที่เรียกว่า “สูโดไวรัส” (Pseudoviruses) ที่มีการกลายพันธุ์ครบถ้วนกระบวนความเหมือนโอไมครอนให้ได้เสียก่อน แล้วจะทดลองเพื่อดูผลการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น

คำตอบเหล่านี้ จะเป็นเครื่องชี้ชัดว่า โอไมครอนเป็นข่าวร้ายหรือข่าวดีสำหรับมนุษยชาติ

ข่าวคราวเกี่ยวกับโอไมครอนที่ผ่านมา ค่อนไปในทางเป็นข่าวร้ายมากกว่าข่าวดี

เช่น ผู้ที่พบว่าติดเชื้อกลายพันธุ์นี้ ส่วนหนึ่งเคยฉีดวัคซีนครบ 2 เข็มมาแล้ว และมีหลายรายในแอฟริกาใต้ที่เป็นการ “ติดเชื้อซ้ำ”

นั่นหมายความว่า ขีดความสามารถในการหลีกเลี่ยงระบบภูมิคุ้มกันของโอไมครอน เหนือกว่าเชื้อกลายพันธุ์อื่นๆ ที่ผ่านมา

แต่ส่วนที่เป็นข่าวดีก็คือ ผู้ที่ติดเชื้อโอไมครอน ส่วนหนึ่งไม่แสดงอาการป่วยเลย อีกส่วนหนึ่งออกอาการเล็กน้อย อย่างเช่น ไอ ปวดหัว

ผู้ที่ติดเชื้อโอไมครอนแล้ว อาการหนักที่สุด จัดว่าอยู่ในระดับอาการป่วยปานกลางของอาการที่เกิดขึ้นเมื่อติดเชื้อกลายพันธุ์อื่นๆ เท่านั้นเอง

ทั้งหมดนั่นเป็นแค่การตั้งข้อสังเกต ไม่ได้เกิดจากการมีหลักฐานทั้งเชิงสถิติและเชิงวิทยาศาสตร์ยืนยันนะครับ แต่ก็ทำให้ผู้เชี่ยวชาญบางคนคาดหวังว่า ไม่แน่นัก การพบเชื้อกลายพันธุ์โอไมครอนที่ทำทีทำท่าว่าจะเป็นเรื่องร้ายก็อาจกลับกลายเป็นข่าวดีได้ในที่สุด

นักระบาดวิทยาบางคนระบุว่า วิวัฒนาการของไวรัสเกิดขึ้นเพื่อให้ตัวมันสามารถดำรงอยู่ได้ เพื่อให้เป็นไปตามนั้น ไวรัสจึงมักวิวัฒน์ไปในทางที่ แพร่ได้ง่าย ได้เร็ว แต่มีพิษสงน้อยลงเรื่อยๆ ตามลำดับ จนในที่สุดก็จะกลายเป็นโรคระบาดประจำถิ่น ที่จะคร่าชีวิตคนที่เป็นสถานที่สิงสู่ของมันก็ต่อเมื่อเกิดเงื่อนไขประจวบเหมาะบางอย่าง เช่น การมีโรคประจำตัว หรืออื่นๆ เป็นต้น

เขาบอกว่า ไม่แน่นัก โอไมครอนอาจเป็นขั้นตอนแรกหรือวิวัฒนาการเริ่มต้นที่นำไปสู่สถานการณ์ที่ว่านั้น แต่จะจริงหรือไม่ มีหลักฐานอะไรยืนยัน มีอะไรเป็นเครื่องพิสูจน์

ก็ต้องรอลุ้นเอาจากคำตอบจากงานวิจัยของไวรัสร้ายตัวนี้นั่นเองครับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image