สุจิตต์ วงษ์เทศ : ไพร่บ้านคนจนเมือง ไม่มีสิทธิ์อยู่เรือนไทย เพราะเป็นเรือนของเจ้าขุนมูลนาย ขี้ข้าอยู่เรือนไทยมีความผิด

เรือนไทย เป็นที่อยู่ของเจ้าขุนมูลนาย ไม่ใช่ของไพร่บ้านพลเมือง (ภาพเรือนไทยตัวอย่างที่คุ้มขุนแผน อยุธยา จาก www.wikalenda.com)

กระท่อม, กระต๊อบ, เรือนไม้ไผ่ใกล้สับปะรังเค เป็นที่อยู่อาศัยของคนยุคดั้งเดิมดึกบรรพ์ ราว 3,000 ปีมาแล้ว และของไพร่บ้านพลเมือง หรือชุมชนคนจนเมือง มีหลักฐานตรงๆ ในยุคอยุธยา ล่าสุดคือชุมชนป้อมมหากาฬ กรุงเทพฯ

 

เรือนไทยเป็นของเจ้าขุนมูลนาย ไม่ใช่ของสามัญชน

เรือนไทย เป็นที่รู้และเข้าใจคลาดเคลื่อนทั่วกันมานานมาก ว่าเป็นเรือนของคนไทยชาวบ้านทั่วไปอยู่อาศัยมาแต่ดั้งเดิมดึกดำบรรพ์

Advertisement

เรือนไทยในที่นี้หมายถึงเรือนมีใต้ถุน มีฝากระดานและมีหลังคาหน้าจั่วแหลมและโค้งเหมือนหลังคาโบสถ์วิหาร

บางกลุ่มอาจบ้าคลั่งหนักข้อว่าเรือนไทยเป็นของคนไทยมาตั้งแต่อยู่เทือกเขาอัลไต จนถึงอาณาจักรน่านเจ้า แล้วเข้าสู่ยุคสุโขทัย ราชธานีแห่งแรกของไทย

แต่แท้จริงแล้วไม่เป็นอย่างนั้น

Advertisement

เรือนไทย เป็นเรือนของเจ้าขุนมูลนายผู้มีศักดิ์ ไม่ใช่เรือนของสามัญชนทั่วไปที่ล้วนเป็นไพร่บ้านพลเมือง

สามัญชนไพร่บ้านพลเมือง ถ้าปลูกเรือนไทยอยู่อาศัยต้องรับโทษ ถูกข้อหาทำเทียมเจ้านาย อาจถูกตัดหัวเจ็ดชั่วโคตร

ประวัติศาสตร์แห่งชาติของไทยไม่มีสังคมและชุมชน จึงไม่มีเรื่องราวความเป็นมาของบ้านเรือนที่อยู่อาศัยของไพร่บ้านพลเมือง หรือชุมชนคนจนเมือง

คนชั้นนำกับคนชั้นกลางทุกวันนี้จึงบิดเบือนใส่ร้ายไล่รื้อชุมชนป้อมมหากาฬ ทั้งๆ เป็นหลักฐานประวัติศาสตร์สังคมชุมชนคนจนเมืองเหลือแห่งเดียวในกรุงเทพฯ และในไทย

 

เครื่องผูก, เครื่องสับ

เรือนของคนไทยชาวสยามเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ใช้ด้านแปหรือด้านข้างเป็นหน้า-หลังเรือน (แตกต่างจากเรือนมอญ) สมัยก่อนแบ่งเรือนเป็น 2 อย่าง คือ เรือนเครื่องผูกกับเรือนเครื่องสับ

เรือนเครื่องผูก คือเรือนที่สร้างด้วยไม้ไผ่ล้วนๆ และโครงร่างใช้หวายหรือตอกผูกมัดกันทั้งสิ้น

หลังคามุงด้วยใบ้ไม้ประเภทกรอง (หญ้า) คา หรือมุงใบจาก ใบกระท่อม และใบไม้อื่นๆ เรียกง่ายๆ เข้าใจกันง่ายๆ ว่า กระท่อม หรือกระต๊อบ

เรือนเครื่องผูกคงมีมาก่อนเรือนเครื่องสับ เรื่องนี้ “เสฐียรโกเศศ” อธิบายไว้ในหนังสือเรื่อง “ปลูกเรือน” ว่า เพราะในภาษาไทยมีคำพูดติดปากอยู่คำหนึ่ง คือคำว่า “ตกฟาก” หมายถึงเวลาเด็กคลอดออกจากครรภ์มารดาลงมาสู่พ้นเรือนซึ่งเป็นฟากไม้ไผ่

ฟาก เป็นชื่อเรียกไม้ไผ่ผ่าสอง แล้วทุบให้แตกผ่าราบ ใช้ปูเป็นพื้นเรือนเครื่องผูกมาแต่ยุคแรกเริ่มดั้งเดิมดึกดำบรรพ์ ฉะนั้นจึงมีคำว่า “ตกฟาก” เหลืออยู่ในภาษาปาก

นอกจากนั้นทรงหลังคาเรือนฝากระดานสมัยก่อนจะงอนอ่อนช้อย สะบัดขึ้นน้อยๆ แสดงว่าสร้างเลียนแบบเรือนเครื่องผูกที่ใช้ลำไม้ไผ่ ทั้งลำเป็นโครงหลังคา สันหลังคาจึงแอ่นและงอนอ่อนช้อย จึงเป็นร่องรอยว่าเรือนเครื่องผูกมีมาก่อนเรือนเครื่องสับ

ชาวบ้านทั่วไปอยู่ “กระท่อม” เรือนเครื่องผูกพื้นฟากไม้ไผ่ ดัง ลา ลูแบร์ บันทึกว่า “ที่อยู่อาศัยของชาวสยามนั้นเป็นเรือนหลังย่อมๆ…พื้นเรือนนั้นก็ใช้ไม้ไผ่มาสับเป็นฟากและเรียงไว้ไม่ค่อยถี่นัก แล้วยังจักตอกขัดแตะเป็นฝาและใช้เป็นเครื่องบนหลังคาเสร็จไปในตัว”

[ลายเส้นจากหนังสือ สารานุกรมไทย เล่ม 20 โดย อุทัย สินธุสาร พิมพ์ครั้งแรก ตุลาคม พ.ศ. 2521 หน้า 3837]
[ลายเส้นจากหนังสือ สารานุกรมไทย เล่ม 20 โดย อุทัย สินธุสาร พิมพ์ครั้งแรก ตุลาคม พ.ศ. 2521 หน้า 3837]
แต่เรือนทุกหลังไม่จำเป็นต้องเหมือนกัน เช่น พื้นไม่จำเป็นต้องเป็นฟากไม้ไผ่ จะใช้ต้นหมากก็ได้ บันทึกจีนชื่อหม่าฮวน จดว่าเรือนของชาวสยามยุคอยุธยาใช้ต้นหมากผ่าออกเป็นแผ่นยาวๆ อย่างซีกไม้ไผ่เอามาเรียงชิดกัน แล้วผูกอย่างแน่นหนาด้วยหวาย ปูทับด้วยเสื่อหวาย หรือเสื่อลำแพนทำจากตอกไม้ไผ่

เรือนเครื่องสับ คือเรือนที่สร้างด้วยไม้จริง แม้จะมีไม้ไผ่เป็นเครื่องประกอบบ้าง ก็ยังคงเรียกเรือนเครื่องสับ

การประกอบเรือนแบบนี้ต้องใช้มีดขวานสับบากเข้าปาก เข้าเดือย เจาะตรึงหมุดตัวไม้ ไม่มีตะปู

เรือนเครื่องสับยังมีชื่อเรียกอื่นๆ ตามวัตถุที่ใช้เป็นเครื่องกั้นฝา เช่น เรือนกั้นด้วยไม้ไผ่ผ่าเป็นซี่แล้วสานขัดกันเรียกเรือนฝาขัดแตะ หรือเรือนมีฝา

ถ้ากรุด้วยกระแชงอ่อนเรียกเรือนฝากระแชงอ่อน เรือนที่ปลูกสร้างด้วยไม้จริงล้วนๆ ใช้ไม้กระดานเป็นฝาเรียกเรือนฝากระดาน ซึ่งนับเป็นเรือนชั้นดีที่สุด

สรุปว่าเรือนเครื่องสับก็คือสิ่งที่เรียกกันทุกวันนี้ว่า เรือนไทย เป็นที่อยู่ของเจ้าขุนมูลนาย ดังที่ลา ลูแบร์ มีบันทึกว่า

“ขุนนางผู้ใหญ่แห่งราชสำนักอยู่เรือนไม้ทั้งหลัง กล่าวได้ว่ารูปร่างดังตู้ใบใหญ่ๆ แต่ในเรือนหลังนี้เป็นที่อยู่อาศัยเฉพาะเจ้าบ้าน ภรรยาหลวงกับบุตรธิดาของตนเท่านั้น ส่วนภรรยาน้อยคนอื่นๆ กับบุตรธิดาของตน ทาสแต่ละคนในครอบครัว มีเรือนหลังเล็กๆ แยกกันอยู่ต่างหากจากกัน แต่หากอยู่ภายในวงล้อมรั้วไม้ไผ่ร่วมกับเรือนเจ้าของบ้าน มาตรว่าจะแยกกันออกไปเป็นหลายครัวก็ตาม”

ขี้ข้าถ้าริอยู่เรือนไทยอาจหัวขาด

 

 

 

 

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image