แผนเยาวชนฟื้นฟูโลก

ผู้อ่านหลายท่านอาจไม่เคยทราบว่ามีแผนดังกล่าวในโลก และอาจมีคำถามว่าเป็นแผนอะไร ทำไมเยาวชนต้องมาฟื้นฟูโลก และจะฟื้นฟูได้หรือไม่ เพียงใด

แผนเยาวชนฟื้นฟูโลก มาจากคำว่า Youth Recovery Plan ซึ่งมีที่มาจากสภาหรือเวทีเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum: WEF) ที่เมืองดาวอส ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เมื่อต้นปีนี้

ทั้งนี้ อย่างที่เราทราบ คือตลอดระยะเวลาเกือบ 2 ปี ที่ประชาชนทั่วโลกเผชิญกับการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมในทั่วทุกมุมโลก บวกกับวิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่กำลังกระทบคนทั้งโลก การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี ข้อมูลข่าวสาร ตลาดแรงงาน และการเข้าถึงบริการสาธารณสุข เป็นต้น ทำให้เกิดความเป็นห่วงว่าปัญหาเหล่านี้มิใช่จะกระทบเพียงคนรุ่นปัจจุบันแต่กระทบถึงคนรุ่นต่อไปและหนักกว่า เยาวชนเป็นกลุ่มที่ต้องรับผลกระทบจากวิกฤตการณ์และปัญหาดังกล่าวมากที่สุดเพราะยังต้องอาศัยอยู่บนโลกใบนี้ไปอีกหลายสิบปี จึงเกิดคำถามว่าเยาวชนจะมีแนวทางการฟื้นฟูและเปลี่ยนแปลงโลกใบนี้อย่างไรในยุคหลังโควิด-19 ? หากพวกเขาสามารถกำหนดทิศทางได้

ประเด็นคำถามดังกล่าวจึงเป็นวาระสำคัญของการประชุมประจำปีของ WEF ที่เมืองดาวอส เมื่อต้นปีนี้เพื่อหาคำตอบ โดย WEF ได้ริเริ่มโครงการ Davos Lab เป็นห้องทดลองให้เครือข่ายคนรุ่นใหม่ของ WEF หรือ Global Shapers (อาสาสมัครเยาวชนอายุ 20-30 ปี ในโครงการ) ราว 14, 000 คน ที่อาศัยในกว่า 450 เมือง ใน 150 ประเทศทั่วโลก โดยในระยะเวลาเพียง 3 เดือน กลุ่มอาสาสมัครเยาวชนได้จัดการสนทนาเกือบ 350 ครั้ง และสำรวจความคิดเห็นด้วยแบบสอบถาม ในกว่า 150 ประเทศ เข้าถึงผู้คนกว่า 2.3 ล้านคน และได้พูดคุยกับผู้คนทุกระดับตั้งแต่กรรมกรไปจนถึงประมุขระดับประเทศ

Advertisement

การสำรวจพบว่าเยาวชนมีความคิดเห็นใน 10 ประเด็นหลัก คือ

1.แสดงให้เห็นว่าพวกเขาเป็นผู้บริโภคที่มีสติและเรียกร้องให้คนอื่นทำตาม

2.มีแผนทะเยอทะยานที่จะให้โลกเชื่อมถึงกันหมด (ผ่านเทคโนโลยีสารสนเทศ) ภายในปี 2568

3.เริ่มหมดความอดทนกับข้อมูลออนไลน์ที่ไม่ถูกต้องและจะไม่ทนอีกต่อไป

4.รู้สึกกลัวอนาคตของประชาธิปไตยและเห็นว่าการเมืองเลวร้ายลง

5.เรียกร้องให้เก็บภาษีความมั่งคั่งระดับโลกและเพิ่มตาข่ายความคุ้มครองทางสังคมมากขึ้น

6.เริ่มพูดถึงสุขภาพจิตและปัญหาที่ตามมา

7.จะพยายามไม่ให้อุณหภูมิของโลกเพิ่มขึ้นกว่า 1.5 องศาเซลเซียส

8.ถามหาความโปร่งใสและให้ความสนใจระบบทุนนิยมที่คำนึงถึงผู้อื่น

9.ส่งเสริมให้เข้าถึงการรักษาพยาบาลที่เท่าเทียมกัน และ

10.เรียกร้องให้ยุติการใช้กำลังกับนักเคลื่อนไหวและคนผิวสี

จากการสำรวจและวิเคราะห์ ดาวอส แล็บได้จัดทำแผนเยาวชนฟื้นฟูโลก หรือ Youth Recovery Plan เมื่อสิงหาคมที่ผ่านมาเพื่อแสดงจุดยืนของเยาวชนที่เรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลงสังคม ภาครัฐ และภาคธุรกิจ ใน 10 ประเด็นหลัก ดังต่อไปนี้

1.การบริโภคอย่างมีสติ (Conscious consumerism): ในช่วง 40 ปีที่ผ่านมา การบริโภควัตถุดิบขยายตัวกว่า 3 เท่า ในอัตรานี้ประชาชนจะมีความเสี่ยงจากการลดลงของระบบสนับสนุนชีวิตของโลกเช่น น้ำสะอาด อาหารที่มีประโยชน์และอากาศซึ่งมีความจำเป็นต่อสุขภาพและคุณภาพชีวิต โดยที่ภาคธุรกิจมีอัตราการปรับตัวค่อนข้างช้าจึงจำเป็นต้องพึ่งนโยบายจากภาครัฐและเพิ่มพลังการเคลื่อนไหวของการเคลื่อนไหวทางสังคมและประชาชน

2.การเข้าถึงดิจิทัล (Digital access) : เมื่อประเทศเกือบทั่วโลกถูกปิดเนื่องจากการคุกคามของโควิด-19 อัตราการใช้อินเตอร์เน็ตพุ่งขึ้น โดยโรงเรียน สถานประกอบการ ฯลฯ ต้องพึ่งการติดต่อผ่านอินเตอร์เน็ต สิ่งที่เกิดขึ้นอย่างหนึ่งคือการแบ่งแยกทางดิจิทัลอย่างยาวนานเพราะ 2 ใน 3 ของประชากรวัยเรียนทั่วโลกไม่มีอินเตอร์เน็ต ในขณะที่ 1 ใน 3 ของคนงานในอเมริกาที่ถูกสั่งให้ทำงานจากบ้านแต่ทำไม่ได้เพราะไม่มีอินเตอร์เน็ตทำให้สูญเสียรายได้ที่ควรได้ ปัจจุบันคนทั่วโลก 3.5 พันล้านคน ไม่มีอินเตอร์เน็ตทำให้ไม่สามารถทำงานหรือเรียนออนไลน์และขาดโอกาสในการปรับตัวยามวิกฤตและการเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรม 4.0 ทั้งนี้ การสำรวจผู้ตอบแบบสอบถามทั่วโลกพบว่ามีเพียง 1 ใน 3 ของผู้ถูกสำรวจคิดว่าประเทศของตนจะมีอินเตอร์เน็ตอย่างทั่วถึงภายใน 10 ปี

3.ความรู้ดิจิทัล (Digital literacy): ระบบดิจิทัลช่วยเพิ่มการติดต่อถึงกันและเพิ่มพลังของคนทั่วโลกแต่ถ้าปราศจากความรู้ดิจิทัลในขณะที่มีการเผยแพร่ข้อมูลเท็จ ข่าวปลอมและการแตกขั้วการเมืองย่อมทำให้เกิดการเอาเปรียบผู้ด้อยโอกาสและคนชายขอบ โดยเหตุที่พื้นที่ดิจิทัลเป็นของบรรษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ไม่กี่ราย จึงเป็นเรื่องที่ท้าทายวงการระหว่างประเทศอย่างไม่เคยมีมาก่อนที่จะควบคุมพื้นที่ดังกล่าว

4.อนาคตของการเมือง (Future of politics): หลายทศวรรษของโลกาภิวัตน์และมาตรการต่างๆ หลังปี 2551 ทำให้ภาครัฐถูกลดความเชื่อถือ คนรุ่นใหม่ต้องหวังพึ่งประชาสังคมที่ขาดการสนับสนุนและงบประมาณ ทั้งนี้มิได้หมายความว่าเยาวชนจะไม่ต้องพึ่งกิจการของภาครัฐ ตรงข้าม โควิด-19 แสดงให้เห็นว่าภารกิจของภาครัฐ เช่น โรงพยาบาล สถาบันการศึกษาและระบบประกันสังคมเป็นสิ่งจำเป็น แต่ส่วนที่เป็นห่วงคือการทุจริตคอร์รัปชั่น นอกจากนั้น การระบาดของโควิด-19 และการออกคำสั่ง ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินการรักษาระยะห่าง การบังคับให้สวมหน้ากากอนามัยทำให้เกิดความเป็นห่วงว่ารัฐจะใช้อำนาจเกินขอบเขต ในขณะเดียวกันอนาคตของการเมืองก็ซับซ้อนขึ้นโดยโลกไซเบอร์ (cyberspace) (เช่น การแฮกข้อมูลเลือกตั้ง หรือข้อมูลของฝ่ายตรงข้าม) ดังนั้นเยาวชนและผู้มีความเห็นต่างควรมีส่วนร่วมในวงการทางการเมือง

5.งานที่เข้าถึงทุกคนเท่าเทียมกัน (Inclusive jobs): การสร้างงานที่เข้าถึงได้อย่างเท่าเทียมกันทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นคนจน เยาวชน ชนกลุ่มน้อย สตรีเพศ แรงงานนอกระบบ หรือเศรษฐกิจกิ๊ก จะมอบโอกาสทางเศรษฐกิจและสังคมขนาดใหญ่ มีประมาณการว่า GDP ทั่วโลกจะเพิ่มขึ้น 12 ล้านล้านดอลลาร์ ภายในปี 2568 หากทุกประเทศส่งเสริมความเท่าเทียมกันทางเพศในการทำงาน หรือตัวอย่างของสหรัฐอเมริกาพบว่าจะเกิดรายได้เพิ่มถึง 5 ล้านล้านเหรียญ ถ้าสามารถแก้ปัญหาการต่อต้านคนผิวดำ นอกจากนี้ รัฐควรสนันสนุนการเก็บภาษีความมั่งคั่งทั่วโลกเพื่อต่อสู้กับความไม่เท่าเทียมที่เพิ่มมากขึ้นและควรมีมาตรการเครดิตภาษีสำหรับบริษัทและนักลงทุนที่ใช้รายได้เพื่อพัฒนาทักษะพนักงาน มหาวิทยาลัยควรยุติค่าเล่าเรียนที่สูงเกินไป และปฏิรูปหลักสูตรให้สอดรับกับตลาดแรงงาน

6.สุขภาพจิต (Mental health): กว่าร้อยละ 98 ของผู้ตอบแบบสำรวจระบุว่าการเข้าถึงบริการสุขภาพจิตควรเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานเพราะผู้คนจำนวนมากยังไม่สามารถเข้าถึงได้เนื่องจากเหตุผลทางการเงินและการขาดความรู้ รัฐจึงควรรับประกันการเข้าถึงการบริการสุขภาพจิตแบบถ้วนหน้า และหน่วยงานสื่อควรสร้างการรับรู้และทัศนคติเชิงบวกเกี่ยวกับประเด็นสุขภาพจิต เช่นเดียวกันมหาวิทยาลัยควรมีหลักสูตรเพื่อรับมือวิกฤตสุขภาพจิตที่เพิ่มขึ้น และเรียกร้องให้นักลงทุนสนับสนุนการรณรงค์สร้างความตระหนักด้านสุขภาพจิต

7.ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net zero): ปัญหาภาวะโลกร้อนเป็นข้อกังวลหลักของเยาวชนซึ่งกว่าร้อยละ 75 เต็มใจที่จะลงคะแนนหรือสนับสนุนนักการเมืองที่มุ่งมั่นในการดำเนินการด้านสภาพอากาศ Net Zero คือ การสร้างสมดุลให้สภาพภูมิอากาศของโลกด้วยการ “จำกัด” การปล่อยก๊าซเรือนกระจกร่วมกับการ “กำจัด” ก๊าซเรือนกระจกที่ถูกปล่อยเข้าสู่ชั้นบรรยากาศไปแล้ว ซึ่งอุตสาหกรรมต่างๆ ต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในการดำเนินงานตลอดห่วงโซ่อุปทานอย่างมีนัยสำคัญ เพื่อช่วยให้อุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้นไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียส

8.การคำนึงถึงคนรุ่นต่อไป (Next generation ESG): ESG ย่อมาจาก Environment, Social, และ Governance (สิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแล) อันเป็นองค์ประกอบสำคัญในการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน ดังนั้น รัฐบาลจึงต้องดำเนินนโยบายและจัดทำข้อบังคับที่เหมาะสมกับบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่ ขณะที่มหาวิทยาลัยต้องนำเนื้อหาความรู้เกี่ยวกับแนวคิด ESG บรรจุในหลักสูตรธุรกิจและเทคโนโลยี บริษัทต่างๆ ต้องบูรณาการจริยธรรมทางเทคโนโลยีเข้ากับการออกแบบผลิตภัณฑ์และบริการของตน และที่สำคัญ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรมีการจัดตั้งศูนย์บ่มเพาะเพื่อยกระดับทักษะ ESG ให้กับผู้ก่อตั้งบริษัทในระยะเริ่มต้น เพื่อสร้างธุรกิจที่ยั่งยืน

9.สาธารณสุข (Public health): การแพร่ระบาดของโควิด-19 มีแนวโน้มก่อให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจทั่วโลกมูลค่าประมาณ 28 ล้านล้านเหรียญสหรัฐภายในปี 2568 ส่งผลให้การเข้าถึงบริการสาธารณสุขมีข้อจำกัดกว่าก่อนโดยเฉพาะในกลุ่มคนเปราะบาง ผู้นำระดับโลกจึงต้องจัดให้มีการเข้าถึงบริการสาธารณสุข เช่น การตรวจ การรักษา และวัคซีนโควิด-19 อย่างเท่าเทียม รัฐต้องให้ความสำคัญกับความต้องการเร่งด่วนของบุคลากรทางการแพทย์และครอบครัว และเพิ่มการสนับสนุนเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในชุมชน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นขอประชาชนในระบบสาธารณสุข นอกจากนี้ บริษัทต่างๆ ควรผลักดันระบบดิจิทัลในบริการด้านสุขภาพเพื่อพัฒนาการดูแลผู้ป่วยอย่างมีประสิทธิภาพและรวดเร็วยิ่งขึ้น

10.ความปลอดภัยสาธารณะ (Public safety): แม้สังคมจะพัฒนาขึ้นมากแต่ความปลอดภัยสาธารณะยังเป็นปัญหาสำคัญสำหรับสตรี กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTI) ชุมชนและคนผิวสี ความรุนแรงทางเพศสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจโลกประมาณ 1.5 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ (CARE International, 2559) ขณะเดียวกันในช่วงปีที่ผ่านมาสังคมก็หวาดกลัวในเรื่องความปลอดภัยในพื้นที่สาธารณะ ไม่ว่าจะเป็นการกระทำเกินกว่าเหตุของเจ้าหน้าที่รัฐที่เพ่งเล็งเฉพาะกลุ่มคนบางเชื้อชาติ รวมถึงความรุนแรงทางเพศและความรุนแรงในครอบครัว ที่เพิ่มมากขึ้นในกลุ่มผู้หญิงและกลุ่ม LGBTQI+

ครับ ก็เอามาแชร์กัน เพื่อให้เห็นว่าตอนนี้คนหนุ่มสาวทั่วโลกมี “ความคิด” และแนวทางแก้ไขเป็นอย่างไรบ้างในปัจจุบัน ในแผนเยาวชนฟื้นฟูโลกมีรายละเอียดทางเทคนิคและข้อเสนอแนะอีกมากสามารถหาอ่านได้จากเว็บไซต์

สราวุธ ไพฑูรย์พงษ์

นวทัศน์ ทัศนบรรจง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image