‘คนใน’หรือ’คนนอก’ โดย นฤตย์ เสกธีระ

แฟ้มภาพ

จําได้ไหมว่า ตอนที่มีเสียงต่อต้าน “คนนอก” เป็นนายกรัฐมนตรีนั้น

มีเหตุผลข้อหนึ่งที่บรรดาผู้ร่างนำเสนอ

นั่นคือ คนเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีเป็น ส.ส. ดังนั้น ส.ส.คงจะไม่เสนอชื่อ “คนนอก” หรอก

วันนี้ การเมืองไทยมองทะลุไปถึงรัฐบาลหน้า

Advertisement

มองเกมกันตามร่างรัฐธรรมนูญที่ศาลรัฐธรรมนูญเพิ่งส่งให้ กรธ.แก้ไข

มองแล้วเห็นว่า นายกรัฐมนตรีสมัยหน้าต้องได้รับเสียงสนับสนุนจากรัฐสภา 376 เสียง

ขณะที่ ส.ส.จากหลายพรรค รวมกันมีมากที่สุด 500 เสียง

Advertisement

ขณะที่ ส.ว.ที่ไม่ได้มีที่มาแบบ ส.ส. มีจำนวน 250 เสียง

ดังนั้น หากพรรคใดต้องการสนับสนุนคนของตัวเองเป็นนายกฯ

พรรคนั้นต้อง 1.มี ส.ส.ของพรรค 376 คน

2.ถ้ามี ส.ส.ไม่ถึงก็ต้องมีพรรคอื่นสนับสนุนจนมี ส.ส. 376 คน

3.ไปหา ส.ว.ให้มาสนับสนุน ให้ได้จำนวน 376 คน

มองตามรูปการณ์นี้แล้ว โอกาสที่รัฐสภาทั้งหมดจะให้ตัวแทนพรรคการเมืองพรรคใดพรรคหนึ่งขึ้นเป็นนายกฯ…คงยาก

โอกาสที่การเลือกนายกรัฐมนตรีรอบ 2 และเปิดให้ “คนนอกบัญชี” ได้เป็นนายกรัฐมนตรีก็พอมี

แต่ถ้าพรรคการเมืองไม่ยอมก็เปิดรัฐสภา เพื่อเลือกนายกรัฐมนตรีรอบ 2 ไม่ได้

ถ้าเปิดประชุมรัฐสภารอบ 2 ได้ แต่ ส.ส.ไม่ให้เลือก “คนนอกบัญชี”

“คนนอก” ก็มาเป็นนายกฯไม่ได้

และแม้จะเปิดให้ “คนนอก” บัญชีเป็นนายกฯได้ แต่ถ้า ส.ส.ไม่ยอมเสนอชื่อ

“คนนอก” บัญชีก็ไม่มีโอกาสอยู่ดี

แลดูแล้ว การเผชิญหน้าตอนเลือกนายกรัฐมนตรี ถ้าเข้มข้นรุนแรง อาจถึงขั้นตกลงกันไม่ได้

มิน่า นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ จึงบอกเผื่อไว้ว่า ถ้าเลือกนายกฯไม่ได้ ก็มีสิทธิยุบสภา

เพราะร่างรัฐธรรมนูญที่กำลังเข้าสู่ขั้นตอนการปรับปรุงเพื่อประกาศใช้

ยังให้อำนาจ พล.อ.ประยุทธ์ ใช้ ม.44 ออกคำสั่งอยู่

ดังนั้น หากเลือกนายกฯกันไม่ได้ พล.อ.ประยุทธ์ก็ใช้ ม.44 สั่งยุบสภา

แต่ตอนหลัง นายวิษณุออกมาบอกว่าใช้ ม.44 ยุบสภาไม่ได้อีกแล้ว…อันนี้ยังงง

อย่างไรก็ตาม หากสถานการณ์ไปถึงขั้นไม่มีใครยอมใครเหมือนกับความขัดแย้งทางการเมืองในหลายปีที่ผ่านมา

แม้แต่ พล.อ.ประยุทธ์ยังคงมีอำนาจอยู่ตอนนั้น ก็ยังต้องลุ้นว่าจะเป็นนายกฯตามรัฐธรรมนูญใหม่ได้หรือไม่

เพราะการเสนอชื่อนายกฯเป็นสิทธิของ ส.ส.เท่านั้น

การโหวตในขั้นตอนต่างๆ ต้องใช้ “มือ” ส.ส.ร่วมโหวตด้วย

ที่ผ่านมามองกันว่า ส.ว.จะเป็นคนขวางคนของพรรคการเมืองเป็นนายกฯอย่างเดียว

แต่หากวันนั้นการเลือกตั้งเทคะแนนให้ ส.ส.

ไม่แน่ว่า พรรคการเมืองอาจจับมือกันขวางคนนอกมาเป็นนายกฯก็เป็นได้

ดังนั้น หาก คสช.คิดจะผลักดันให้ใครเป็นนายกฯ คสช.ต้องมี ส.ส.อยู่ในสภาด้วย

ณ เวลานี้ มีผู้เฝ้าจับตาดูความเคลื่อนไหวของพรรคการเมือง

หยั่งดูจุดยืนการเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีของแต่ละพรรค

พรรคที่สนับสนุน “คนในบัญชี” กับพรรคที่สนับสนุน “คนนอกบัญชี”

แต่ละพรรคมีแนวทางการนำเสนอเช่นไร

แต่ละพรรคมีจุดยืนเกี่ยวกับเรื่องนี้อย่างไร

เป็นคำถามที่น่าสนใจ เมื่อเวลานั้นมาถึง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image