ที่เห็นและเป็นไป : เทศกาลเชือด ‘แพะ’

ที่เห็นและเป็นไป : เทศกาลเชือด ‘แพะ’

หากติดตามการเมืองอย่างครุ่นคิดหนัก และใส่ความหวาดระแวงลงไปบ้าง

มุมมองที่มีต่อเรื่องราวที่เกิดขึ้นกับนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน สะกิดให้เกิดความคิดบางอย่างอยู่ไม่น้อย

ถึงวันนี้เป็นที่รับรู้กันในวงกว้าง โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่แล้วว่า เนื้อหาการต่อสู้ทางการเมืองในประเทศไทย ถึงที่สุดแล้วไม่ใช่การช่วงชิงชัยชนะกันระหว่างพรรคการเมือง

แต่การต่อสู้หลักเป็นระหว่าง “นักการเมืองจากการเลือกตั้งของประชาชน” กับ “ผู้มีอำนาจที่ไม่ยึดโยงกับประชาชน”

Advertisement

“นักการเมืองจากการเลือกตั้่งของประชาชน” ไม่มีทางอื่นให้เลือกเลยนอกจากทำทุกอย่างเพื่อให้ประชาชนมอบอำนาจมาให้

แต่ “นักการเมืองที่ไม่ยึดโยงกับประชาชน” มีหนทางที่จะเข้าคุมอำนาจของประเทศมากมาย

มี “กองทัพ” ที่พร้อมจะนำอาวุธ และขับเคลื่อนกำลังออกมายึดอำนาจ มีเครือข่ายองค์กรต่างๆ พร้อมให้การสนับสนุน มีทุนผูกขาดผลประโยชน์คอยช่วยเหลือ

Advertisement

ที่สำคัญคือมี “พรรคการเมือง” ที่อาศัยอำนาจจากการเลือกตั้งของประชาชน เข้าไปช่วยสร้างความชอบธรรม

โครงสร้างอำนาจที่ออกแบบมาเพื่อยึดครองประเทศ ตลอดยาวนานที่ผ่านมา ไม่มีทางเลยที่ “นักการเมืองอาศัยประชาชนมอบอำนาจให้” จะเหนือกว่า “นักการเมืองที่ไม่ต้องอาศัยประชาชน”

“กลุ่มผู้มีอำนาจที่ไม่เกี่ยวกับประชาชน” จะยึดครองเมื่อไรก็ได้

แต่ที่ในบางช่วงบางเวลาต้องยอมให้ “นักการเมืองจากประชาชน” เข้าครองอำนาจ เพราะผลงานที่ผ่านมาทำให้หมดความชอบธรรม

ไม่ใช่เพราะไม่มีฝีมือ ความสามารถก็ปรากฏถึงการทุจริต โกงกิน ใช้งบประมาณแผ่นดินสร้างความสุขให้ตัวเองและพวกพ้อง

แต่ยุคสมัยที่ “นักการเมืองจากประชาชน” จะมีอำนาจได้นั้น เป็นเรื่องชั่วคราวเท่านั้น

นักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนนั้น จะอยู่ในอำนาจได้ไม่ใช่แค่ มีความรู้ความสามารถในการบริหารประเทศ แต่ต้อง “รักษาภาพลักษณ์ผู้มีความชอบธรรม” ไว้ให้ด้วย

ประวัติศาสตร์ทางการเมืองที่ผ่านมาพิสูจน์แล้วว่า เป็นเรื่องง่ายมากที่จะจัดการกับ “นักการเมืองจากการเลือกตั้งของประชาชน” แค่หาทางทำลาย “ภาพลักษณ์ของความชอบธรรม”

เรื่องราวของคนโกง การทุจริต การไม่มีความสามารถในการบริหารจัดการประเทศ ไม่มีความคิดสร้างสรรค์ คำพูดคำจาสะท้อนความวิปริตทางความคิด ไม่อยู่กับร่องกับรอยของผู้มีภาวะผู้นำที่ดี ไม่ให้เกียรติประชาชน แสดงพฤติกรรมที่หยาบถ่อย หรือน่าอับอายต่อสาธารณะ

นักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ไม่ว่าคนใดก็ตามหากมีพฤติกรรมเช่นนี้ปรากฏให้เห็นแม้สักนิด จะถูกเครือข่ายของคู่ต่อสู้ ไล่ล้างเปิดประจาน และจัดการให้อยู่ไม่ได้ อย่างไม่ยุ่งยากอะไรนัก

ผิดกับ “นักการเมืองที่อำนาจที่ได้มาไม่อิงกับประชาชน” กลับทำในสิ่งที่ถูกนิยามว่าเลวร้ายนั้นได้สบายและต่อเนื่อง โดยไม่เกิดผลอะไร

เครือข่ายอำนาจพร้อมจะเข้าใจและปกป้องอยู่ตลอดเวลา

ไม่เว้นแม้แต่เครือข่ายที่เป็น “พรรคการเมือง” ที่ตั้งขึ้นมาเพื่อหนุนเสริมความชอบธรรมให้กับ “อภิสิทธิ์ชน” เหล่านั้น

เพราะการยืนอยู่ข้างอำนาจเช่นนี้ ปลอดภัยและง่ายดาย ทำให้เกิดกลุ่มผู้สนับสนุนอย่างกว้างขวาง

ภารกิจหลักเพื่อครอบครองอำนาจของเครือข่ายนี้ คือ “ทำลายความชอบธรรมของนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง”

การทำลายที่ง่ายที่สุดคือ ทำให้เห็นว่า “นักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน” นั้น “ได้อำนาจมาโดยไม่ชอบธรรม” หรือใช้อำนาจโดยไม่ชอบธรรม

ยิ่งทำให้เกิดความคิดความเชื่อว่า “มีความไม่ชอบธรรมในอำนาจประชาชน” หรือ “ความไม่ชอบธรรมนั้นเกิดขึ้นจากการเลือกตั้ง”

นั่นเท่ากับทำลายความชอบธรรมของคู่ต่อสู้ได้อย่างสมบูรณ์แบบ

หลายกรณีที่เกิดขึ้นกับ “นักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน” ในช่วงนี้ ที่สะท้อนถึง “ความไม่ชอบธรรมของผู้ที่มาจากอำนาจประชาชน”

จึงเป็นเรื่องน่าครุ่นคิด

เพราะเป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นในช่วงที่ “นักการเมืองที่ไม่ต้องอาศัยประชาชน” เริ่มถูกตั้งคำถามถึงความเหมาะสม ความชอบธรรม

การรักษาชัยชนะไว้ได้ คือการทำให้เห็นว่า “นักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งประชาชน” มีพฤติกรรมเลวร้าย ขาดความชอบธรรม

ทั้งที่ “นักการเมือง” คนที่ถูกจัดการทำลายนั้น อาจจะเป็น “ผู้ที่สนับสนุนให้พวกเขามีความชอบธรรมมาตลอด”

แต่ถึงวันที่จะจัดการกับ “นักการเมืองฝ่ายตรงกันข้าม” แบบไม่หยุดหย่อน จะดูน่าเกลียด และก่อความรู้สึกไม่เป็นธรรมขึ้น

พวกเดียวกันจึงต้องสังเวย เพราะอย่างไรเสียก็ถือว่าเป็น “ฝ่ายนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน”

ไม่ใช่หน่อเนื้อของ “ผู้ครองอำนาจโดยไม่ต้องแยแสประชาชน”

สุชาติ ศรีสุวรรณ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image