พล.อ.นิพัทธ์ ทองเล็ก : กรุงเทพฯ…ที่เราต้องการ

ภาพจาก liveablecities.org.au

การเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร มีขึ้นครั้งแรก เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม พ.ศ.2518คะแนนเสียง 99,247 เสียง “ให้กำเนิด” ผู้ว่าฯกทม. คนแรก.. โดยมีผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้ง เพียงร้อยละ 13.86

ผู้ได้รับคะแนนสูงสุด คือ นายธรรมนูญ เทียนเงิน

นายธรรมนูญไม่ได้นั่งในตำแหน่งผู้ว่าฯ จนครบวาระ 4 ปี เนื่องจากเกิดความขัดแย้งอย่างรุนแรงในฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติ…(ไม่ทราบรายละเอียด)

6 ตุลาคม 2519 พื้นที่ถนนราชดำเนิน และภายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กลายเป็นพื้นที่แห่ง การล้อม ปราบ มีคนบาดเจ็บ ตาย

Advertisement

ช่วงเย็นวันนั้น พลเรือเอกสงัด ชลออยู่ ได้ทำรัฐประหารรัฐบาลของ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช

ภาพจาก liveablecities.org.au

นายธานินทร์ กรัยวิเชียร เป็น นายกฯในขณะนั้น ตัดสินใจใช้อำนาจตามมาตรา 21 ของ รธน. แห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2519 ปลดนายธรรมนูญออกจากตำแหน่ง เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2520 และให้กลับไปใช้รูปแบบ “การแต่งตั้ง” ผู้ว่าฯกทม. เช่นเดิม

กทม. มีผู้ว่าฯจากการแต่งตั้งเรียงหน้ากันมาอีก 4 คน

วันที่ 29 เมษายน 2520 “นายชลอ ธรรมศิริ” วันที่ 4 กรกฎาคม 2522 “นายเชาวน์วัศ สุดลาภา” วันที่ 28 เมษายน 2524 “พล.ร.อ.เทียม มกรานนท์” และ วันที่ 6 พฤศจิกายน 2527 “นายอาษา เมฆสวรรค์”

18 กรกฎาคม 2528 สภาผู้แทนราษฎรได้ลงมติให้ความเห็นชอบ พ.ร.บ.บริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ.2528

กำหนดให้ ผู้ว่าฯกทม. ต้อง “มาจากการเลือกตั้ง”

พ.ศ.2528 เลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. เป็นครั้งที่ 2 โดย พลตรีจำลอง ศรีเมือง เป็นผู้ชนะ

พล.ต.จำลอง ศรีเมือง ลาออกจากตำแหน่งก่อนครบวาระ

19 เมษายน พ.ศ.2535 คือ การเลือกตั้งครั้งถัดมา

ร.อ.กฤษฎา อรุณวงษ์ ณ อยุธยา (รองผู้ว่าฯ ในสมัย พล.ต.จำลอง ศรีเมือง เป็นผู้ว่าฯ) ลงสมัครโดยไม่สังกัดพรรคใด แต่อยู่ภายใต้การสนับสนุนของ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง ได้รับเลือกตั้งด้วยคะแนนเสียง 363,668 คะแนน

การเลือกตั้งครั้งนั้น…มีผู้ไปใช้สิทธิเพียงร้อยละ 23.02

ใน 4 ปีต่อมา ดร.พิจิตต รัตตกุล ลงสมัครรับเลือกตั้ง

3 มิถุนายน พ.ศ.2539 ดร.พิจิตต รัตตกุล ได้รับเลือกตั้งด้วยคะแนนเสียง 768,994 คะแนน (49.47%) โดยมีผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้ง คิดเป็นร้อยละ 43.53 ของผู้มีสิทธิทั้งหมด

ตัวเลขผู้มาใช้สิทธิขยับขึ้น คนกรุงเทพฯเริ่มกระฉับกระเฉง

เมื่อ ดร.พิจิตตดำรงตำแหน่งครบ 4 ปี เลือกตั้งผู้ว่าฯคนใหม่

23 กรกฎาคม พ.ศ.2543 นายสมัคร สุนทรเวช ได้รับเลือกตั้งด้วยคะแนนเสียง 1,016,096 คะแนน (45.85%) โดยมีผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งถึงร้อยละ 58.87

ตัวเลข 1 ล้านกว่า… สร้างความตื่นเต้น บวกความหวัง

ผู้ว่าฯ สมัคร สุนทรเวช ดำรงตำแหน่งครบ 4 ปี แล้วขอวางมือ

มีการออก พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2545 มีข้อกำหนดแตกต่างจากการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาหลายประการ… ถือเป็นครั้งแรกที่มีการแจก “ใบเหลือง-ใบแดง” ที่อาจมีการเลือกตั้งซ่อมได้

ค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งของผู้สมัครแต่ละคน เดิมประเมินให้คนละไม่เกิน 21 ล้านบาท แต่ครั้งนี้…เพิ่มขึ้นเป็น 37 ล้านบาทต่อคน

29 สิงหาคม พ.ศ.2547 นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ได้รับเลือกตั้งเป็นผู้ว่าฯ ด้วยคะแนนเสียง 911,441 คะแนน (38.20%)

วันที่ 5 ตุลาคม 2551 “นายอภิรักษ์” จากพรรคประชาธิปัตย์ “ลาออก” หลังจากถูก ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดในคดีทุจริตจัดซื้อรถ-เรือดับเพลิง

วันที่ 11 มกราคม 2552 “ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร” จากพรรคประชาธิปัตย์ ได้รับการเลือกตั้งเป็นผู้ว่าฯกทม. ด้วยคะแนนเสียง 934,602 คะแนน …

เมื่อใกล้ครบวาระ การทำงาน….ผู้ว่าฯกทม. ประกาศลาออกก่อนครบวาระ 4 ปี เพียง 1 วัน เพื่อให้มีการเลือกตั้งใหม่

วันที่ 3 มีนาคม 2556 “ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์” จากพรรคประชาธิปัตย์ ได้รับเลือกตั้งเป็นสมัยที่ 2 ด้วยคะแนนเสียง 1,256,349 คะแนน มากที่สุดเป็นประวัติการณ์ เช่นเดียวกับคู่แข่ง คือ “พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ” ที่ได้ 1,077,899 คะแนน มาเป็นอันดับที่ 2

สถิติของผู้ใช้สิทธิทั้งหมดยังสูงถึงร้อยละ 63.38 นับว่ามากที่สุดเป็นประวัติศาสตร์การเมือง กทม.

คนกรุงเทพฯ ถูกเยาะเย้ยมาตลอดว่า คนเมืองหลวงอยู่ในที่เจริญ มีการศึกษาสูง..สุขสบาย…แต่มาใช้สิทธิน้อยกว่าคนต่างจังหวัด

22 พฤษภาคม 2557 เกิดรัฐประหาร พลเอกประยุทธ์ยึดอำนาจการปกครอง…

ผู้ว่าฯกทม. ชื่อ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ ในสมัยที่ 2 เจอข้อครหาทุจริตโครงการติดตั้ง “อุโมงค์ไฟ กทม.” เป็นข่าวใหญ่

วันที่ 25 สิงหาคม 2559 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. ได้ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ออกคำสั่งให้พักงาน

18 ตุลาคม 2559 หน.คสช. ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ให้ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์พ้นจากตำแหน่ง และวันเดียวกัน มีคำสั่งแต่งตั้ง พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง เป็นผู้ว่าฯกทม. โดยกำหนดให้ดำรงตำแหน่งไปจนกว่าจะมีการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. หรือ คสช.มีคําสั่งเปลี่ยนแปลงเป็นประการอื่น

พล.ต.อ.อัศวินเป็นผู้ว่าฯกทม.ตั้งแต่นั้นมา…

ขอเพิ่มเติมด้วยข้อมูลจาก มติชน เมื่อ 24 มกราคม 2561

ย้อนไปถึงประวัติศาสตร์การครองเก้าอี้ผู้ว่าฯกทม. หากไม่นับรวมผู้ว่าฯกทม.ที่มาจากการแต่งตั้ง มีเพียงไม่กี่พรรคการเมือง และมีบางจังหวะที่ผู้สมัครอิสระได้ครองเก้าอี้

ไล่เลียงตั้งแต่ปี 2516 ผู้ว่าฯกทม.เป็นข้าราชการการเมืองที่มาจากแต่งตั้งโดยคณะรัฐมนตรี (ครม.) คือ วันที่ 1 มกราคม แต่งตั้ง “นายชำนาญ ยุวบูรณ์” วันที่ 1 พฤศจิกายน แต่งตั้ง “นายอรรถ วิสูตรโยธาภิบาล” วันที่ 5 มิถุนายน 2517 แต่งตั้ง “นายศิริ สันติบุตร” วันที่ 29 พฤษภาคม 2518 แต่งตั้ง “นายสาย หุตะเจริญ”

กรุงเทพฯเติบโตในทุกมิติ โดยเฉพาะการหลั่งไหลของ “จำนวนคน” ทั้งคนไทยและชาวต่างชาติ นักท่องเที่ยวจากทั่วโลก

เราประชดประชันกัน แดกดันกันเสมอว่า…กรุงเทพฯ คือ ประเทศไทย และประเทศไทย คือ กรุงเทพฯ …

กรุงเทพฯคือ ศูนย์รวมทุกสรรพสิ่ง…ประดุจแม่เหล็ก

มติชน สรุปว่า…“ผู้ว่าฯกทม. แต่งตั้ง 9 ครั้ง เลือกตั้ง 10 ครั้ง”

ตำแหน่งผู้ว่าฯกทม. ทรงอำนาจ มีขอบเขตในการทำงานเหมือน “ประเทศไทยย่อส่วน” แถมต้องดูแล “โรงรับจำนำ”

พื้นที่ กทม.ราว 1.6 พันตารางกิโลเมตร ประชากรราว 6 ล้านคน นี่ “ยังไม่รวม” ประชากรแฝง แรงงานต่างด้าว รวมถึงผู้ที่อาจจะไม่มีทะเบียน แต่อยู่อาศัยจริงน่าจะราว 10 ล้านคน

กรุงเทพฯเติบโตมาจาก ตรอก ซอก ซอย ที่มี “ตึกแถว” ขนาบ 2 ฟากถนน ประชากร ยานพาหนะ ขนาดนี้ ถือว่า “น่าอึดอัด”

พื้นที่โดยเฉลี่ย.. อยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเลราว 1.50 เมตร เรื่องน้ำท่วม..ไม่ใช่เรื่องใหม่

กทม.ต้องการ “ผู้ว่าฯกทม.มืออาชีพ” ที่มีความรู้ เชี่ยวชาญในการป้องกัน-แก้ปัญหา อย่างเป็นระบบ ที่เมืองใหญ่ทั่วโลกเค้าทำกัน

ทำให้ กทม.เป็น “เมืองน่าอยู่” คือ ความต้องการสูงสุด

มีประเด็นหลากหลายที่ชาว กทม.ต้องการเรียกร้องให้ผู้ว่าฯกทม. ที่ผู้สมัครเป็นผู้ว่าฯต้องตอบสนอง ตัวอย่าง….

พื้นที่สีเขียว กรุงเทพฯ (ข้อมูลจาก TDRI)

กรุงเทพฯ ถือว่ามีพื้นที่สีเขียวน้อยที่สุด เมื่อเปรียบเทียบกับเมืองใหญ่ๆ ของโลก อาทิ ซิดนีย์ สิงคโปร์ ฮ่องกง กัวลาลัมเปอร์ ลอนดอน นิวยอร์ก ปารีส โตเกียว โซล และกว่างโจว

จากการสำรวจของ MIT’s Senseable City Lab และ the World Economic Forum พบว่าประเทศที่มีความหนาแน่นของพื้นที่สีเขียวมากที่สุด คือ “สิงคโปร์” อยู่ที่ 29.3%

สิงคโปร์ตั้งเป้าหมายว่าภายในปี 2030 ประชากร 85% จะต้องอาศัยอยู่ใกล้กับสวนในระยะไม่เกิน 400 เมตร

ผู้เขียนขอนำข้อมูลจากเอกสารทางวิชาการของสถาบันพระปกเกล้า ที่จะทำให้เรารู้จัก กทม.มากขึ้น…

มุมมองทางวิชาการ… กรุงเทพฯ คือ เมืองโตเดี่ยว หรือเอกนคร (Primate City) เป็นคำศัพท์ที่ใช้เรียกเมืองที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ รัฐ หรือภูมิภาค โดยมักเป็นเมืองที่มีขนาดใหญ่กว่าเมืองอันดับสองหรือเมืองที่เล็กรองลงมาอย่าง “ไม่สมส่วน”

นอกจากขนาดและอิทธิพลทางเศรษฐกิจแล้ว “เอกนคร” ยังมักมีลำดับความสำคัญมากกว่าในด้านอื่นๆ ในสังคมของประเทศ ไม่ว่าจะเป็นด้านการเป็นศูนย์กลางทางการเมือง สื่อ วัฒนธรรม และการศึกษา รวมถึงการย้ายถิ่นเข้ามาจากเมืองอื่นๆ ภายในประเทศ

กรุงเทพฯอยู่ในคุณลักษณะนี้ชัดเจน

ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา…มีแต่คนอพยพ ย้ายเข้ามากรุงเทพฯ ซึ่งก็เป็นสิทธิ และเป็นการดิ้นรน แสวงหา ของปุถุชน

ดิน น้ำ ลม ไฟ ขยะ น้ำเสีย การจราจร ความไม่ปลอดภัย สภาพปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อม พอกพูน สะสม

เมื่อหมดจากปัญหา ฝนตก-น้ำท่วม เมื่อเข้าห้วงหน้าหนาว ฝุ่น PM2.5 กำลังมาจ่ออยู่ มีคำแถลงการณ์ คำเตือนชาวเมืองต่อเนื่อง

เพราะเราสร้างกรุงเทพฯให้เป็น “กล่องดวงใจ” จึงถูกรุมเร้าไปด้วยปัญหา “วิกฤตเมือง” (Urban Crisis)

องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาของเมืองใหญ่ๆ สร้างและประสานกระบวนการที่ให้ชื่อว่า “Healthy Cities Project” ทั่วโลก

“เมืองน่าอยู่” คือ ความต้องการของชาว กทม.

เมืองน่าอยู่ (Livable City) หมายถึง เมืองที่มีความเหมาะสมกับการอยู่อาศัย หรืออยู่อาศัยได้อย่างสะดวกสบาย หรือสร้างความสุขในการอยู่อาศัยได้

นักวิชาการท่านหนึ่งกล่าวไว้แบบให้เข้าใจง่ายๆ ประการหนึ่ง…

“เมืองน่าอยู่” จะมีกายภาพเมือง ..แบบที่ทุกคนสามารถเดินไปไหน-มาไหนได้ เพราะการเดินเป็นทางเลือกสะดวกที่สุด ทางเท้ากว้าง สะอาด เรียบ โล่ง ไม่ตกท่อระบายน้ำ

ทุกพื้นที่ต้องไม่ทรุด บิดเบี้ยว ไม่ต่างระดับ ไม่มีขี้หมา

ไม่มีอะไรต้องพะวงเรื่อง ศีรษะไปชนกับแผงพลาสติกกันแดดที่ปลายเป็นท่อเหล็ก…ที่สำคัญ คือ ทางเดินต้องมีร่มเงา

ท่านที่เคยไปต่างประเทศ ไปเดินซื้อของ เดินชมวิวในเมืองใหญ่ คงจำความรู้สึกได้ดี…ว่าทางเท้าขนาดใหญ่ เรียบ มันน่าเดิน

จัดวางโครงข่ายเชื่อมต่อระบบขนส่งสาธารณะ เส้นทางเดินและทางจักรยาน เชื่อมที่อยู่อาศัยเข้าสู่ที่ทำงาน โรงเรียน ร้านค้า สวนสาธารณะ โรงพยาบาล สถานที่พักผ่อน

พื้นที่ในกรุงเทพฯ ควรต้องเดินไปได้ถึงกันหมด..แบบสบายๆ

แนวคิด “เมืองน่าอยู่” นี้มาจากองค์การอนามัยโลก (WHO) ซึ่งแต่เดิมนั้น ทางองค์การอนามัยโลกใช้คำว่า “Healthy Cities” ซึ่งแปลว่า “เมืองสุขภาพ” หรือ “เมืองสุขภาพดี”

เมืองน่าอยู่ อาจจะหมายถึงเมืองที่มีพลเมืองที่มีสุขภาพอนามัยที่ดี หรือหมายถึงเมืองที่มีสิ่งแวดล้อมที่ดี เมืองที่มีการจราจรดี เมืองที่มีมลภาวะน้อยที่สุด

การที่ประชาชนคาดหวังให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีและมีความภาคภูมิใจในเมือง “เมืองน่าอยู่” ….ไม่ใช่เรื่องเพ้อฝัน มีตัวอย่างมากมายทั่วโลก สิ่งที่สำคัญคือการกำหนดเป้าหมายให้ถูกต้องและลงมือทำอย่างเป็นระบบ แบบมืออาชีพ

ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ต้องมีวิสัยทัศน์ ทันสมัย ใช้เทคโนโลยีได้คล่อง มีประสบการณ์แบบมืออาชีพ กล้าคิด กล้าตัดสินใจ เรียบง่าย ไร้พิธีรีตอง

เวลา คือ สิ่งที่มีค่าที่สุด….

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image