ทำความเข้าใจกับพายุทอร์นาโดที่ถล่มอเมริกา เมื่อคืนวันที่ 11 ธันวาคมที่ผ่านมา

คืนวันเสาร์ที่ 11 ธันวาคมที่ผ่านมา ได้เกิดพายุหมุนทอร์นาโดขึ้นทั้งสิ้น 36 ลูกพัดถล่ม 6 มลรัฐของสหรัฐอเมริกา อันได้แก่ อิลลินอยส์ มิสซูรี เคนตั๊กกี้ อาร์คันซอร์ มิสซิสซิปปี้ และเทนเนสซี สร้างความวิบัติอย่างมหาศาล สิ่งปลูกสร้างพังพินาศราบเป็นแถบๆ ผู้คนตายนับร้อยคนทั้งๆ ที่ทุกบ้านในทั้ง 6 มลรัฐนี้ตั้งอยู่จะมีห้องใต้ดินเพื่อหลบภัยจากพายุทอร์นาโดอยู่ก็ตาม นับเป็นมหันตภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นอย่างไม่น่าเป็นไปได้เพราะในฤดูหนาวเดือนธันวาคม ปกติแล้วจะเป็นพายุหิมะ ไม่น่าจะใช่พายุทอร์นาโดและแน่นอนว่าไม่ใช่พายุทอร์นาโดที่เกิด 3 โหลลูกพร้อมๆ กันอย่างนี้

พายุทอร์นาโดคืออะไรกันแน่?

ทอร์นาโด (tornado) เป็นพายุที่เกิดจากการปะทะกันของมวลอากาศร้อนและมวลอากาศเย็น ซึ่งโดยปกติแล้วมักพบในทวีปอเมริกาเหนือ และมหาสมุทรแอตแลนติก เนื่องจากมีความแตกต่างของสภาพอากาศของมวลอากาศร้อนกับมวลอากาศเย็นสูงกว่าภูมิภาคอื่นของโลก โดยพายุทอร์นาโดร้อยละ 90 เกิดขึ้นบนบก มีความเร็วลมสูงจนเกิดลมหมุนบิดเป็นเกลียวจากฐานเมฆลงสู่พื้นดิน สามารถพัดพาเอาสิ่งปลูกสร้างลอยขึ้นไปในอากาศได้ถึงแม้ทอร์นาโดจะเป็นพายุที่มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางค่อนข้างเล็ก โดยมีรัศมีราว 50 ถึง 500 เมตร เท่านั้น แต่มีความเร็วลมตั้งแต่ 300 ไปจนถึง 500 กิโลเมตรต่อชั่วโมง แต่เพราะความเร็วลมของทอร์นาโดสูงที่สุดถึง 500 กิโลเมตรต่อชั่วโมง (300 ไมล์ต่อชั่วโมง) ซึ่งมีอำนาจในการทำลายล้างสิ่งปลูกสร้างได้โดยสิ้นเชิง ถึงแม้ว่าทอร์นาโดส่วนใหญ่เกิดในสหรัฐอเมริกา ทอร์นาโดยังสามารถเกิดขึ้นได้ในทุกทวีปและในหลายประเทศ เช่น ประเทศญี่ปุ่นมีการเกิดประมาณปีละ 20 ครั้ง เป็นพายุที่ก่อตัวรวดเร็วและคาดเดาได้ยาก แม้ว่าพายุทอร์นาโดเป็นพายุที่คงตัวอยู่ได้ไม่นาน (ราว 1 ถึง 2 ชั่วโมงเท่านั้น) แต่ความรุนแรงของพายุ และความไม่แน่นอนของการก่อตัว ทำให้พายุทอร์นาโดเป็นพายุที่อันตรายที่สุด

ในปีนี้ (พ.ศ.2564) มีพายุทอร์นาโดเกิดขึ้นเฉพาะในสหรัฐอเมริกาแล้วถึง 1,079 ลูกแล้ว ประเทศที่มีพายุทอร์นาโดเกิดขึ้นบ่อยครั้ง ได้แก่ สหรัฐอเมริกา อาร์เจนตินา บราซิล บังกลาเทศ ญี่ปุ่น ที่สาธารณรัฐประชาชนจีน ยุโรป รัสเซีย ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ก็มีพายุทอร์นาโดทุกปี แต่ไม่รุนแรงและชุกเท่าสหรัฐอเมริกาเท่านั้น

Advertisement

จากงานวิจัยและการเก็บข้อมูลจากสหรัฐอเมริกายืนยันว่าเกิดพายุทอร์นาโดที่สหรัฐอเมริกามากกว่าภูมิภาคอื่นๆ ในโลกถึง 4 เท่า ประเทศต่างๆ ในโลกนี้ มักจะเกิดพายุเพียง 200-300 ครั้งต่อปีเท่านั้น แต่หากเทียบกับสหรัฐอเมริกาแล้ว เกิดพายุทอร์นาโดขึ้นเฉลี่ยถึงปีละ 1,200 ครั้งเลยทีเดียว

สำหรับตัวผู้เขียนเองก็มีประสบการณ์ที่ได้พบเจอพายุทอร์นาโดหลายครั้งต้องวิ่งไปหลบอยู่ที่ห้องใต้ดินหลายครั้ง และมีอยู่ครั้งหนึ่งหลงไปอยู่ในพายุทอร์นาโดแบบไม่รู้เนื้อรู้ตัวแต่โชคดีที่รอดชีวิตมาได้จึงอยากจะแชร์ประสบการณ์นี้กับท่านผู้อ่านที่เคารพเป็นการผสมโรงไปกับข่าวพายุทอร์นาโดถล่ม 6 มลรัฐของอเมริกาพอเป็นเรื่องสนุกปนหวาดเสียวส่งท้ายปีเก่าไปก็แล้วกันนะครับ

เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม พ.ศ.2543 (21 ปีมาแล้ว) ผู้เขียนอยู่ระหว่างการเรียนปริญญาโททางกฎหมายอยู่ที่มหาวิทยาลัยอลาบามา ที่เมืองทัสคาลูซา วันนั้นเพื่อนคนไทยที่อยู่ห้องพักใกล้ๆ กันชวนผู้เขียนไปที่ศูนย์การค้าที่อยู่นอกเมือง (ที่อเมริกาศูนย์การค้าใหญ่ๆ เขาจะอยู่นอกเมืองกันทั้งนั้น เพื่อที่จะได้มีที่จอดรถเยอะๆ และหลีกเลี่ยงการจราจรที่อัดแอในเมือง ตรงข้ามกับเมืองไทยที่ กทม.มักจะเอาศูนย์การค้าอยู่กลางเมือง) เพื่อไปทำธุระเพื่อชำระเงินค่าโทรศัพท์ ค่าไฟฟ้า และซื้อของเข้าบ้าน ซึ่งเราก็คุยกันเพลินไม่ได้สนใจฟังประกาศทางโทรทัศน์เตือนว่ามีพายุทอร์นาโดกำลังจะผ่านมาใกล้กับเมืองทัสคาลูซาขอให้ประชาชนอย่าออกไปข้างนอก

Advertisement

ครั้นเราทั้งสองเสร็จธุระแล้วก็ออกจากศูนย์การค้าแบบไม่รู้อีโหน่อีเหน่โดยเพื่อนคนไทยขับรถไปส่งผู้เขียนที่ห้องสมุดของมหาวิทยาลัย แต่ระหว่างทางเกิดมีฝนตกหนักและลมพัดแรงจนรถสั่นสะเทือนน่ากลัวจนผู้เขียนขอร้องให้คุณแอ๊ดจอดรถข้างทาง เพราะฝนตกขนาดมองทางไม่ค่อยเห็นอยู่แล้ว เราจอดรถคุยกันในรถนั่นเองประมาณ 3-4 นาที พายุฝนก็ผ่านไปท้องฟ้าแจ่มใสเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น ผู้เขียนก็ไปอยู่ในห้องสมุดจนถึงค่ำ ครั้นกลับไปที่ห้องพักจึงทราบว่าเกิดพายุทอร์นาโดทำความเสียหายโดยพัดป่าที่อยู่ใกล้กับมหาวิทยาลัยต้นไม้หักไปราว 50-60 ต้นและพัดบ้านแบบรถพ่วง (Trailer) พังเสียหายไป 30 กว่าหลัง มีคนตายไป 4 คน

ผู้เขียนตระหนักดีว่าในใจกลางพายุทอร์นาโดมีลมหมุนบิดเป็นเกลียวจากฐานเมฆลงสู่พื้นดิน หากลมหมุนบิดเกลียวเป็นงวงนั้นกวาดลงที่พื้นดินก็จะสร้างความเสียหายอย่างใหญ่หลวงแต่การเคลื่อนตัวของพายุทอร์นาโดนั้นลมหมุนบิดเกลียวเป็นงวงนั้น หากไม่ได้กวาดลงมาที่พื้นดินก็จะมีแต่พายุฝนและลมแรงเท่านั้น ดังนั้นการที่คุณแอ๊ดและผู้เขียนหลุดเข้าไปอยู่ในพายุทอร์นาโดนั้นโชคดีที่ลมหมุนบิดเกลียวเป็นงวงไม่ได้กวาดลงมาที่พื้นดิน ไม่เช่นนั้นรถอาจจะพลิกหงายพลิกคว่ำ หรืออาจจะถูกหอบขึ้นไปกับลมหมุนบิดเกลียวเป็นงวงไปก็ได้

ครับ ! บังเอิญโชคดี

โกวิท วงศ์สุรวัฒน์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image