อโลฮา ฮาวาย การต้อนรับ ‘น้องใหม่’ ทาง ‘การเมือง’

กรณีเที่ยวบินเช่าเหมาลำจากกรุงเทพฯ-โฮโนลูลู ของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ และคณะ 38 คน เป็นเรื่องปกติอย่างยิ่งของทุกรัฐบาล

เหมือนกับที่นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ สรุป

จะแตกต่างก็เพียงแต่รัฐบาลส่วนใหญ่ใน “อดีต” เป็นรัฐบาลของเหล่านักการเมือง ขณะที่รัฐบาลใน “ปัจจุบัน” มิใช่

“นักการเมือง” มาจาก “การเลือกตั้ง”

Advertisement

ไม่ว่าจะขยับตัวอย่างไรล้วนอยู่ในแสงแห่งสปอตไลต์ ไม่เพียงแต่จะมาจาก “ประชาชน” หากแต่ยังมาจาก “ฝ่ายค้าน”

หากสงสัยใน “ตัวเลข” การเช่าเหมาลำก็ตั้ง “กระทู้”

รัฐบาลซึ่งมาจากการเลือกตั้งของประชาชนก็จำเป็นต้องไปตอบกระทู้ถามใน “สภา” หากตอบได้ก็รอด หากตอบไม่ได้ก็กลายเป็น “ปัญหา” กลายเป็นประเด็น

Advertisement

กรณีของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ อาจเป็นเรื่องแปลก แตกต่าง

เพราะว่าเป็นรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในรัฐบาลที่มิได้มีพื้นฐานมาจาก “การเลือกตั้ง” หากแต่มาจาก “การรัฐประหาร”

สิ่งเหล่านี้จึงเป็น “สัญญาณ” สิ่งเหล่านี้จึงเป็น “คำถาม”

ความหมายโดยตรงประเด็นที่สุดอันมาจากนายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ที่คร่ำหวอดอยู่บนเส้นทางการเมืองก็คือ

เท่ากับเป็นการต้อนรับ “น้องใหม่”

1 บ่งบอกให้รู้ว่า สังคมเริ่มมีบทสรุปอย่างเด่นชัดมากยิ่งขึ้นเป็นลำดับว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ อยู่ในสภาพของ “นักการเมือง”

เพราะว่ามีตำแหน่งทางการเมืองติดต่อกันมากว่า 2 ปีแล้ว

ไม่ว่าจะเคยเป็นทหารมาก่อน ไม่ว่าจะได้ตำแหน่งมาโดยกระบวนการยึดอำนาจ ทำรัฐประหาร แต่ก็ดำรงตำแหน่งในทางการเมือง

ที่สำคัญก็คือ อยู่ด้วย “ภาษี” อันมาจาก “ประชาชน”

ขณะเดียวกัน 1 ปรากฏการณ์จากกรณีของ “แม่ผ่องพรรณพัฒนา” ต่อเนื่องมายังกรณี “อโลฮา ฮาวาย” เท่ากับบ่งชี้ไปยัง “แนวโน้ม” และความเป็นไปได้ในอนาคตอันใกล้ว่า รัฐบาลและ คสช.จะต้องประสบกับอะไรในทางการเมือง

พลันที่เวทีแห่ง “การเลือกตั้ง” เปิดขึ้น นั่นหมายถึงเวทีแห่งการตรวจสอบอย่างเข้มข้นในทางการเมืองจะต้องติดตามมา

ที่จะเงียบแบบเป่าสากอย่างที่เห็นใน “สนช.” ก็จะกลายเป็น “ความหวัง”

ไม่ว่าพรรคเพื่อไทย ไม่ว่าพรรคประชาธิปัตย์ ไม่ว่าพรรคชาติไทยพัฒนา ล้วนตระเตรียมลับมีดกันถ้วนหน้า

จำบรรยากาศที่รัฐบาลก่อนที่มี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรีได้หรือไม่ ทั้งๆ ที่เพิ่งเข้ารับตำแหน่งในเดือนสิงหาคม 2554

การต้อนรับน้องใหม่จาก “น้ำท่วม” ก็เริ่มขึ้น

เพราะว่ายังมีอารมณ์ค้างมาจากการพ่ายแพ้ในการเลือกตั้ง เพราะว่ายังมีอารมณ์ค้างมาจากกรณีสลายการชุมนุมเมื่อเดือนเมษายน พฤษภาคม 2553

บรรยากาศเข้มยิ่งกว่าสถานการณ์ในเดือนตุลาคม 2559 มากนัก

เข้มกว่าเพราะว่ามีพรรคประชาธิปัตย์เป็น “ฝ่ายค้าน” อย่างสำคัญ และพื้นที่ยึดครองอันแข็งแกร่งแน่นหนาและมั่นคงของพรรคประชาธิปัตย์คือ “กทม.”

เมื่อผ่าน “น้ำท่วม” มาต้องการบริหารจัดการ “น้ำ” ก็ไม่สามารถทำได้

ถูกคัดค้านตั้งแต่ในสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา เรื่อยไปจนถึงองค์กรอิสระอย่าง ป.ป.ช.และศาลรัฐธรรมนูญ

เมื่อพยายามจะเสนอโครงการ “รถไฟความเร็วสูง” ก็ไม่สามารถทำได้

พลันที่ทุกอย่างเดินเข้าสู่กระบวนการเลือกตั้งปลายปี 2560 ตาม “โรดแมป” ที่กำหนดเอาไว้ ทุกอย่างก็จะเป็นเหมือนเช่นที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ต้องประสบ

ไม่ว่าจะเป็นนายกรัฐมนตรี “คนนอก” ไม่ว่าจะเป็นนายกรัฐมนตรี “คนใน”

เพราะทั้งหมดดำเนินไปบนวิถีในทาง “การเมือง” ไม่ว่าจะเป็นที่สหราชอาณาจักร ไม่ว่าจะเป็นที่สหรัฐอเมริกา

กรณีราคาเช่าเหมาลำเครื่องของการบินไทยในวงเงินกว่า 20 ล้านบาท จึงเท่ากับเป็นการ “ต้อนรับ” น้องใหม่

เป็นน้องใหม่อย่าง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นน้องใหม่ที่อาจมากับรัฐประหารเดือนกันยายน 2549 และเติบใหญ่แข็งแกร่งจากรัฐประหารเดือนพฤษภาคม 2557

หนทาง “ข้างหน้า” จึงยังมีใหญ่หลวงกว่านี้ ยิ่งนัก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image