เรื่องของวัดกันมาตุยาราม กับบิดาแห่งมหาวิทยาลัยสงฆ์ไทย

สุชีพ ปุญญานุภาพ

เชื่อว่าท่านผู้อ่านส่วนใหญ่คงรู้จักชื่อเสียงของวัดคณิกาผลที่มีคุณยายแฟงผู้เป็นเจ้าสำนักโสเภณีชื่อ “โรงยายแฟง” เคยตั้งอยู่ที่ตรอกเต๊า (เยาวราชซอย 8) ถนนเยาวราช ได้ชวนหญิงโสเภณีในสำนักของนางเอารายได้จากการขายบริการทางเพศมาลงขันกันสร้างวัดขึ้นเมื่อ พ.ศ.2376 ในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 เป็นวัดราษฎร์ไทยสังกัดมหานิกาย ตั้งอยู่ที่ถนนพลับพลาไชย แขวงป้อมปราบ เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย ตรงกันข้ามกับสถานีตำรวจนครบาลพลับพลาไชย 2 วัดนี้เดิมเรียกกันว่า “วัดใหม่ยายแฟง” ต่อมาลูกหลานของยายแฟงได้ร่วมกันบูรณะวัดใหม่ยายแฟงนี้ขึ้น และได้ขอพระราชทานนามวัดพระบาทจากสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ได้ชื่อว่า “วัดคณิกาผล” มีความหมายว่าวัดนี้ที่สร้างขึ้นจากเงินทองของนางคณิกา คือ นางโสเภณีนั่นเอง ซึ่งกิจการโรงโสเภณีเพื่อขายบริการทางเพศเฟื่องฟูมากในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นตัวหญิงโสเภณีเองก็ต้องเสียภาษีให้หลวง โดยหญิงนครโสเภณีต้องได้รับอนุญาตจากทางราชการ ค่าธรรมเนียมสำหรับใบอนุญาตสูงมากในสมัยนั้น คือ 12 บาท มีอายุ 3 เดือน ตามพระราชบัญญัติป้องกันสัญจรโรค รัตนโกสินทรศก 127

วัดคณิกาผล

แต่มีอีกวัดหนึ่งที่คนไม่ค่อยรู้จักนัก คือ วัดกันมาตุยาราม ที่ลูกสาวของคุณยายแฟงชื่อแม่กลีบผู้สืบทอดเป็นเจ้าสำนักโสเภณีต่อมา แม่กลีบก็เป็นคนใจบุญเช่นเดียวกับคุณแม่ จึงสร้างวัดขึ้นอีกแห่งที่ตรอกเต๊าใกล้กับที่ตั้งสำนักโสเภณีนั่นเอง โดยอุทิศที่สวนดอกไม้สร้างเป็นวัดขึ้นใน พ.ศ.2407 ตอนปลายสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ซึ่งวัดของแม่กลีบเป็นวัดราษฎร์ขนาดเล็ก สังกัดธรรมยุตินิกาย ตั้งอยู่ริมถนนมังกร เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพมหานคร ตั้งอยู่ใกล้กับวัดกุศลสมาคมของฝ่ายอนัมนิกาย และวัดบำเพ็ญจีนพรตของฝ่ายจีนนิกาย ต่อมาบุตรชายของแม่กลีบ คือ พระดรุณรักษา (กัน สาครวาสี) ได้ถวายตัวเป็นมหาดเล็กในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อสร้างวัดเสร็จแล้ว แม่กลีบได้น้อมเกล้าฯ ถวายต่อ ร.4 ได้รับพระราชทานนามวัดว่า “วัดกันมาตุยาราม” หมายถึงวัดที่มารดาของนายกันเป็นผู้สร้าง

ความสำคัญของวัดนี้คือ วัดกันมาตุยารามเคยเป็นที่จำพรรษาของ สุชีโวภิกขุ หรือ ท่านอาจารย์
สุชีพ ปุญญานุภาพ ปราชญ์ทางศาสนาพุทธคนสำคัญของประเทศไทยผู้เขียนหนังสือ “พระไตรปิฎกฉบับสำหรับประชาชน” โดยเริ่มเขียนตั้งแต่ยังเป็นสามเณรอายุ 18 ปี เพื่อทบทวนในการศึกษาภาษาบาลีของท่าน แม้ว่าท่านจะจบเปรียญ 9 ประโยคแล้วท่านก็ยังแสวงหาเรียนรู้วิชาสมัยใหม่อื่นๆ ด้วยตนเอง
เป็นหลัก จึงชำนาญหลายๆ สาขาวิชา เช่นภาษาอังกฤษ โหราศาสตร์ ดาราศาสตร์ ภาษาสันสกฤต และภาษาปรากฤต ท่านสามารถค้นวรรณคดีและพจนานุกรมภาษาเหล่านี้ได้อย่างละเอียด นอกจากนี้ สุชีโวภิกขุยังเป็นพระภิกษุไทยรูปแรกที่บรรยายธรรมเป็นภาษาอังกฤษ ทำให้เกิดการติดต่อระหว่างชาวพุทธในต่างประเทศกับประเทศไทยมากขึ้น

สุชีโวภิกขุเริ่มฟื้นฟู “มหามกุฏราชวิทยาลัย” ที่เป็นวิทยาลัยสงฆ์แห่งแรกที่ก่อตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ.2436 ในสมัยรัชกาลที่ 5 แต่ได้ยุบกิจการไปนานแล้ว โดยเปิดทำการสอนที่วัดบวรนิเวศฯ พอมีข่าวว่าสุชีโวภิกขุจะรื้อฟื้นวิทยาลัยสงฆ์แล้วเปิดการสอนในรูปแบบมหาวิทยาลัย ปรากฏว่าบรรดาพระเถรานุเถระระดับเจ้าอาวาสวัดทั่วประเทศจำนวนมากต่อต้าน บอกว่าวิชาสมัยใหม่เป็นเดรัจฉานวิชา ขณะเดียวกัน ก็พากันห้ามมิให้พระภิกษุสามเณรในวัดออกไปร่วมกิจกรรมกับสุชีโวภิกขุ พระเถระผู้ใหญ่หลายท่านอ้างว่าการไปเรียนวิชาสมัยใหม่จะทำให้พระสงฆ์สามเณรสึกหาลาเพศกันมากขึ้น ซึ่งการถูกต่อต้านอย่างหนักนี้ สุชีโวภิกขุก็สู้อดทน เพราะวัตถุประสงค์ของสุชีโวภิกขุก็คือ ต้องการสร้างบุคลากรที่สามารถประยุกต์ศาสนาพุทธให้เข้ากับสังคมสมัยใหม่ได้ จนกระทั่งท่านได้รับการสนับสนุนจาก สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ ผู้ให้การสนับสนุนด้วยพระองค์เอง โดยมีพระบัญชาให้ประกาศเพื่อตั้งสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัยเมื่อปี พ.ศ.2488 ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของ มหาวิทยาลัยสงฆ์ไทยในยุคใหม่ ตามมาด้วยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ซึ่งประกาศรื้อฟื้นกิจการใน พ.ศ.2490 สุชีโวภิกขุได้แถลงว่า สาเหตุที่ต้องมีมหาวิทยาลัยสงฆ์ก็เพราะคณะสงฆ์จำเป็นต้องผลิตบุคลากรที่รู้ทันวิชาการสมัยใหม่ มิฉะนั้น คณะสงฆ์จะไม่สามารถสั่งสอนแนะนำชาวบ้านได้ และการสื่อสารกันก็จะเกิดความไม่เข้าใจ เพราะชาวบ้านศึกษาด้านคดีโลก ส่วนพระสงฆ์ศึกษาด้านคดีธรรม ท่านจึงต่อสู้เพื่อให้ได้มหาวิทยาลัยสงฆ์มาอย่างต่อเนื่อง

Advertisement
เจดีย์ทรงระฆังคว่ำสร้างเลียนแบบ
ธัมเมกขสถูปวัดกันมาตุยาราม

สุชีโวภิกขุสึกจากสมณเพศเมื่อ พ.ศ.2495 อายุได้ 35 ปี ขณะที่เป็นเจ้าอาวาสวัดกันมาตุยาราม และเป็นพระราชาคณะชั้นสามัญ ที่พระศรีวิสุทธิญาณ เมื่อสึกออกมาแล้วท่านใช้ชื่อสกุลใหม่ว่า
“สุชีพ ปุญญานุภาพ” และยังคงทำงานเพื่อพัฒนามหามกุฏราชวิทยาลัยอย่างไม่หยุดยั้งจนในที่สุด
มหามกุฏราชวิทยาลัย และมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยก็ได้รับการยกฐานะให้เป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐในปี พ.ศ.2540 โดยรัฐสภาตราตามความในพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย พ.ศ.2540 อันเป็นผลงานที่ท่านอาจารย์สุชีพทุ่มเทและความมุ่งมั่นอย่างไม่หยุดยั้งตลอดเวลาร่วม 60 ปี ในชีวิต 83 ปีของท่าน ทำให้คนทั่วไปยกย่องท่านอาจารย์สุชีพ ปุญญานุภาพ ว่าเป็น

“บิดาแห่งมหาวิทยาลัยสงฆ์ไทย”

ท่านอาจารย์สุชีพเสียชีวิต ในปี พ.ศ.2543

Advertisement

โกวิท วงศ์สุรวัฒน์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image