สุจิตต์ วงษ์เทศ : ลิเก เริ่มมีครั้งแรกสุดที่กรุงเทพฯ สมัย ร.5 แต่ยุคอยุธยาไม่เคยมีลิเก สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงฯ บอกว่าวิกลิเกพระยาเพชรอยู่หน้าวัดราชนัดดา

ลิเกป้อมมหากาฬ เรื่องนางสิบสอง ตอนอุบายนางมาร บริเวณชุมชนป้อมมหากาฬ ชานกำแพงพระนครหน้าวัดราชนัดดา เมื่อค่ำวันอาทิตย์ที่ 25 กันยายน 2559

ลิเก กำเนิดในกรุงเทพฯ สมัย ร.5 โดยมีพัฒนาการจากสวดแขกของกลุ่มมุสลิมในบางกอก แต่ยุคอยุธยาไม่เคยมีลิเก

วิกลิเกพระยาเพชรปาณี อยู่หน้าวัดราชนัดดา มีหลักฐานบอกไว้ในลายพระหัตถ์สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ที่เสด็จไปดูลิเกด้วยตัวเอง นับเป็นวิกลิเกแห่งแรกของไทยอยู่ในกรุงเทพฯ บริเวณที่ปัจจุบันคือชุมชนป้อมมหากาฬ ชานกำแพงพระนคร

ในชุมชนป้อมมหากาฬ มีส่วนหนึ่งเป็นพื้นที่ประวัติศาสตร์มีชีวิตชื่อ ตรอกพระยาเพชร ที่ตั้งวิกลิเกแห่งแรกตั้งแต่สมัย ร.5 ควรพัฒนาปรับปรุงเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมมหรสพชาวบ้าน อย่างน้อย 2 ลักษณะรวมอยู่ด้วยกัน ได้แก่

  1. เป็นมิวเซียมลิเกและการละเล่นชาวบ้าน จัดแสดงนิทรรศการมีชีวิตเกี่ยวกับความเป็นมาของลิเกและการละเล่นอื่นๆ
  2. เป็นลานการแสดงลิเกและอื่นๆ ที่สนุกสนานบันเทิงเริงรมย์อย่างร่วมสมัย

 

Advertisement

วิกลิเกแห่งแรกของไทย อยู่หน้าวัดราชนัดดา ป้อมมหากาฬ

วิกลิเกแห่งแรกของไทย สมัย ร.5 ชาวบ้านเรียก “วิกพระยาเพชร” อยู่นอกกำแพงเมือง ตรงข้ามวัดราชนัดดา

มีหลักฐานสำคัญคือลายพระหัตถ์สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทูลสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ลงวันที่ 9 เมษายน 2483 (มีพิมพ์รวมในหนังสือสาส์นสมเด็จ) จะคัดเฉพาะข้อความสำคัญมาดังนี้

Advertisement

“เมื่อพระยาเพชรปาณี (ตรี)  ตั้งโรงเล่นยี่เกให้คนดูอยู่ที่บ้าน หน้าวัดราชนัดดา แกเชิญหม่อมฉันไปดูครั้ง 1 และมานั่งอยู่ด้วยตลอดเวลาเล่น หม่อมฉันมีโอกาสจึงถามความสงสัยบางอย่างในกระบวนเล่นยี่เก ว่าเหตุไฉนคิดทำเครื่องเล่นยี่เกหรูหรานอกรีตต่างๆ เช่น ใส่ปันจุเหร็จยอด ใส่สังวาลแพรสายตะพาย และโบว์แพรที่บ่า เป็นต้น”

ความเป็นมาของลิเกอย่างละเอียด พร้อมด้วยลายพระหัตถ์ฉบับเต็มเล่าเรื่องลิเกของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ กับสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ผมเคยรวบรวมทั้งหมดแล้วเรียบเรียงมอบให้กรุงเทพมหานคร (กทม.) พิมพ์แบ่งปันสู่สาธารณะเมื่อ พ.ศ. 2549

ภูเขาทอง (วัดสระเกศ) สมัยก่อนเป็นแลนด์มาร์กสำคัญของกรุงเทพฯ มองเห็นชุมชนป้อมมหากาฬ (หน้าวัดราชนัดดา) (ภาพถ่ายทางเครื่องบิน เมื่อ พ.ศ. 2489 จากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ)
ภูเขาทอง (วัดสระเกศ) สมัยก่อนเป็นแลนด์มาร์กสำคัญของกรุงเทพฯ มองเห็นชุมชนป้อมมหากาฬ (หน้าวัดราชนัดดา) (ภาพถ่ายทางเครื่องบิน เมื่อ พ.ศ. 2489 จากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ)

ลิเก เริ่มแรกในกรุงเทพฯ สมัย ร.5

ผมเขียนเรื่องลิเกไว้หลายหนหลายแห่ง ครั้งหลังสุดในคอลัมน์สยามประเทศไทย          มติชน (เมื่ออังคาร 7 มิถุนายน 2559) แต่ยังไม่ถูกใจ ตั้งใจปรับแก้อีก แต่ยังคิดไม่ออกจะทำยังไง? เลยยกมาบอกไว้ก่อน ดังนี้

ลิเก มีกำเนิดสมัย ร.5 จากสวดแขก (มุสลิม) ประสมเข้ากับสวดไทย (คฤหัสถ์) แล้วเจือละครชาตรี กับ ละครหลวงแบบเพี้ยนๆ อาจจัดลำดับพัฒนาการอย่างกว้างๆ ดังนี้

  1. เล่นเบ็ดเตล็ด เป็นชุดภาษาต่างๆ เน้นตลกคะนอง จึงมีคนชอบดูมากๆ เช่น ชุดแขกรดน้ำมนต์, ชุดมอญราชาธิราช, ชุดลาวขุนช้างขุนแผน ฯลฯ มี 2 ระยะ คือ

ระยะแรก เรียก ลิเกบันตน มีกลองรำมะนาตีประกอบ (เหมือนลำตัด), ระยะหลัง เรียก ลิเกลูกบท เปลี่ยนวงรำมะนา เป็นวงปี่พาทย์ ประโคมรับ

  1. เล่นทรงเครื่อง เป็นชุดออกภาษา (สิบสองภาษา) ประสมกันระหว่างลิเกบันตน กับลิเกลูกบท มีทั้งวงกลองรำมะนา และวงปี่พาทย์ เล่นสลับกัน

ผู้เล่นแต่งเข้าเครื่องปักดิ้นเลื่อมแพรวพราว เลียนแบบละครรำ จึงเรียก ลิเกทรงเครื่อง พระยาเพชรปาณีคิดสร้างสรรค์ลิเกทรงเครื่อง แล้วปิดวิกแสดงประจำอยู่ใกล้ป้อมมหากาฬ ชานกำแพงพระนคร หน้าวัดราชนัดดา

โดยงดเล่นบันตนตีรำมะนา แล้วให้ปี่พาทย์บรรเลงรับอย่างเดียว มีออกแขกเป็นสัญลักษณ์ ชักติดตลกพอควรและบอกเรื่องราวที่จะแสดง แล้วเข้าเรื่องทันที มีทำนองร้องดำเนินเรื่องโดยเฉพาะ เรียกเพลงหงส์ทอง (ชั้นเดียว) ใช้ด้นตามต้องการ

ลิเกรำเอง ร้องเอง โดยไม่เน้นว่าต้องมีฝีมือเป็นเลิศ เอาแต่พอเป็นรำเป็นร้อง

รำเอง อย่างลวกๆ ลัดๆ เลียนแบบละครรำพอเป็นกระสาย เพราะไม่ใช่เล่นละคร และรำไม่เป็น จึงไม่เป็นรำ

ร้องเอง อย่างลวกๆ หลวมๆ ไม่มีคนบอกบท (เหมือนละครชาตรี) ไม่มีคนร้องแทน (เหมือนละครใน) ลิเกต้องจำบทร้องเองจากครูแต่งให้ท่อง

ความเป็นลิเกแท้ๆ พระยาเพชรปาณีทูลสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงฯ (พ.ศ. 2483) ว่า

“คนที่ชอบดูยี่เกไม่เอาใจใส่ในการขับร้องฟ้อนรำ หรือเพลงปี่พาทย์ ชอบแต่ 3 อย่าง คือ ให้แต่งตัวสวย อย่าง 1 ให้เล่นขบขัน อย่าง 1 กับเล่นให้เร็วทันใจ อย่าง 1 ถ้าฝืนความนิยมคนก็ไม่ชอบดู”

คนรักลิเกทุกวันนี้ อยากให้ลิเกรักษาแบบแผนดั้งเดิมแท้ๆ ต้องอ่านทบทวนดีๆ ในคำกราบทูลของพระยาเพชรปาณี อย่ามโนเอาเองว่าลิเกต้องอย่างโน้นอย่างนี้อย่างนั้น ทั้งๆ ไม่จริง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image