ลลิตา หาญวงษ์ : การเมืองพม่าในยุคหลังออง ซาน ซูจี

การเมืองพม่าในยุคหลังออง ซาน ซูจี : โดย ลลิตา หาญวงษ์
คริสติน ชราเนอร์ บูร์เกอเนอร์ ทูตพิเศษสหประชาชาติประจำพม่า

ออง ซาน ซูจี ถูกตัดสินให้จำคุก 4 ปี ในข้อหาปลุกปั่นและละเมิดมาตรการป้องกันโควิด-19 แม้ท่านจะไม่ได้ติดตามการเมืองพม่าอย่างใกล้ชิด ก็คงจะทราบดีว่านี่คือข้อหาที่คณะรัฐประหาร ที่นำโดยพลเอกอาวุโส มิน อ่อง ลาย ตั้งขึ้นมาเพื่อกันเธอออกไปจากการเมือง และกันไม่ให้เธอหวนกลับมาเป็นผู้นำในรัฐบาลพลเรือนได้อีก นอกจากออง ซาน ซูจี ศาลทหารยังตัดสินจำคุกประธานาธิบดี วิน มยิ้น 4 ปีเช่นกัน แม้ว่าต่อมาผู้นำรัฐบาลทหารจะลดโทษลงกึ่งหนึ่ง เหลือเป็นจำคุก 2 ปี แต่จุดประสงค์ของการพิจารณาคดีของผู้นำรัฐบาลพลเรือนและนักการเมืองระดับสูงในพรรคเอ็นแอลดีคือการจ้องทำลายพรรคเอ็นแอลดี และดึงออง ซาน ซูจี ออกจากการเมืองพม่าแบบถาวร

ผู้นำคณะรัฐประหารมองว่าหากไม่ตัดไฟแต่ต้นลม และปล่อยให้พรรคเอ็นแอลดีกลับเข้ามาเป็นผู้นำรัฐบาลอีก อิทธิพลของกองทัพก็จะลดลงไปเรื่อยๆ แต่สิ่งที่ผู้นำกองทัพและคณะรัฐประหารลืมคิดไปคือการต่อสู้ของประชาชนที่ลุกฮือขึ้นมาต่อต้านรัฐประหารจะยังคงมีอยู่ต่อไป ไม่ว่าจะมีพรรคเอ็นแอลดีหรือออง ซาน ซูจี อยู่หรือไม่ ผู้เขียนเคยกล่าวมาตั้งแต่เกิดรัฐประหารแรกๆ ว่ารัฐประหารครั้งนี้จะไม่เหมือนรัฐประหารที่เกิดขึ้นในประเทศอื่น (ยกตัวอย่างในไทย) หรือรัฐประหารในพม่าครั้งก่อนๆ เพราะประชาชนในพม่าเดินทางมาไกลเกินกว่าจะกลับไปสยบยอมให้ระบอบเผด็จการ และด้วยความเปลี่ยนแปลงที่ผู้คนสัมผัสได้จริงตลอด 4 ปีเศษที่ยุครัฐบาลเอ็นแอลดี แม้จะไม่ราบรื่นและมีเสียงครหาเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างต่อเนื่อง แต่อย่างน้อยพม่าก็ยังขยับไปข้างหน้า

แต่เมื่อเกิดรัฐประหาร ความใฝ่ฝันของคนพม่าถูกทำลายย่อยยับ เราจึงเห็นคนรุ่นใหม่ที่ออกมาต่อสู้และพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าหากไม่ลุกขึ้นสู้ตอนนี้ ก็จะไม่มีอะไรเหลือให้สู้ได้อีกแล้ว การต่อสู้ของประชาชนมีราคาที่ต้องจ่ายสูงมาก ดังที่ทราบกันดีว่ากองทัพพม่าปราบปรามกลุ่มผู้ชุมนุมประท้วงอย่างรุนแรง จนมีผู้เสียชีวิตไปแล้วกว่า 1,300 คน และถูกจับกุมอีกเป็นจำนวนมาก

นอกจากประชาชนตามเมืองใหญ่ที่ยังประท้วงรัฐประหารอย่างต่อเนื่อง ขบวนการประชาชนยังมีกองกำลังเป็นของตนเอง แม้จะเป็นขบวนการที่ใหม่มากและเริ่มจากศูนย์ แต่คนเหล่านี้ก็พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าขบวนการของเขาต่อสู้กับกองทัพพม่าได้ เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา ทหารพม่าอย่างน้อย 12 นาย เสียชีวิตจากระเบิดที่กองกำลังฝ่ายประชาชนวางไว้ เหตุเกิดที่เมืองหลวงเนปยีดอ

Advertisement

ก่อนหน้านี้เคยเกิดเหตุการณ์ในลักษณะเดียวกัน กองกำลังประชาชนที่เรียกว่า PDF วางระเบิดโจมตีทหารพม่า ทำให้มีคนฝั่งกองทัพพม่าเสียชีวิต 6 นาย และยังมีปฏิบัติการลอบวางระเบิดสาขาของธนาคารเมียะวดี และมีเหตุการณ์ก่อความไม่สงบเกิดขึ้นเรื่อยๆ
การโจมตีของกองกำลังฝ่ายประชาชนจะมีอยู่ต่อไป และเราจะได้เห็นปฏิบัติกวาดล้างกองกำลัง PDF ครั้งใหญ่ในอนาคตอันใกล้ ในเวลานี้ อารมณ์ของผู้นำคณะรัฐประหารพม่าคงเต็มไปด้วยความโกรธและเกลียดฝ่ายต่อต้านทุกกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นประชาชนที่ออกมาเดินขบวนประท้วง ที่ถูกปราบปรามด้วยวิธีที่โหดเหี้ยมขึ้น หรือความไม่พอใจตัวแทนต่างชาติที่ทำงานด้านสิทธิมนุษยชนในพม่า ผู้อ่านอาจจะยังจำกันได้ว่าพม่าไม่ได้มีท่าทีเป็นมิตรกับคณะผู้แทนที่อาเซียนแต่งตั้งเพื่อสืบสวนข้อเท็จจริงและสร้างความปรองดองในพม่า

เหตุผลง่ายๆ ที่พม่าดูจะมึนตึงกับอาเซียนเป็นพิเศษ เพราะผู้แทนอาเซียนกลุ่มนี้ต้องการพูดคุยกับออง ซาน ซูจี และผู้นำพรรค NLD คนอื่นๆ แต่คณะรัฐประหารรู้ดีว่าหากปล่อยให้ตัวแทนองค์การระหว่างประเทศได้เข้าพบออง ซาน ซูจี ก็จะยิ่งเป็นการดิสเครดิตความน่าเชื่อถือของคณะรัฐประหาร วิธีเดียวที่คณะรัฐประหารคิดได้คือต้องกีดกันไม่ให้ตัวแทนจากองค์การระหว่างประเทศเข้าไปหาความจริงใดๆ ได้

ในประวัติศาสตร์การเมืองที่ผ่านมา ผู้นำพม่ามีลักษณะร่วมอยู่อย่างหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นผู้นำฝ่ายทหารหรือพลเรือน คือหวาดระแวงต่างชาติ และคิดเสมอว่าต่างชาติจะเข้าไปแทรกแซงการเมืองภายใน จนทำให้สหภาพพม่าล่มสลาย แต่แม้ต่างชาติจะไม่ได้เข้าไปแทรกแซงอะไรในพม่า สหภาพพม่าก็ไม่เคยเป็นปึกแผ่น และในปัจจุบันก็ใกล้ล่มสลายเข้าไปทุกที ทัศนคติกลัวชาวต่างชาติปรากฏให้เห็นในรัฐบาลทุกยุค แม้แต่ออง ซาน ซูจีเองก็เคยไม่พอใจนักข่าวบีบีซี เมื่อถูกจี้ถามเรื่องโรฮีนจามาแล้ว

Advertisement

ความไม่พอใจชาวต่างชาติ หรือองค์การระหว่างประเทศ สำหรับคณะรัฐประหารยังสะท้อนออกมาจากการสั่งปิดสำนักงานของทูตพิเศษแห่งสหประชาชาติ คริสติน ชราเนอร์ บูร์เกอเนอร์ (Christine Schraner Burgener) โดยอ้างว่าวาระของบูร์เกอเนอร์เพิ่งหมดลงไป เธอจึงไม่มีความจำเป็นต้องอยู่พม่าต่อ แม้บูร์เกอเนอร์จะหมดวาระลงในเดือนตุลาคม แต่คณะทำงานของทูตพิเศษสหประชาชาติในพม่าก็ยังมีอยู่ต่อไป และโนลีน เฮย์เซอร์ (Noeleen Heyzer) กำลังจะเข้ามารับตำแหน่งต่อ ตำแหน่งทูตพิเศษสหประชาชาติประจำพม่ามีมาตั้งแต่ปี 2018 หลังเกิดวิกฤตการณ์โรฮีนจา

ตั้งแต่เกิดรัฐประหารในเดือนกุมภาพันธ์ ความสัมพันธ์ระหว่างคณะรัฐประหารและผู้แทนสหประชาชาติประจำพม่าไม่ดีนัก สาเหตุที่ทำให้คณะรัฐประหารพม่าไม่พอใจสหประชาชาติอย่างหนักมาจากการที่ฝ่ายหลังยังไม่ยอมปลดจ่อ โม ทุน (Kyaw Moe Tun) เอกอัครทูตพม่าประจำสหประชาชาติ ที่มีท่าทีวิพากษ์วิจารณ์คณะรัฐประหารมาตลอด และในสายตาของคณะรัฐประหาร การที่จ่อ โม ทุน ยังอยู่ในตำแหน่งถือว่าสหประชาชาติมิได้มองว่าคณะรัฐประหารมีความชอบธรรม

ความตึงเครียดระหว่างคณะรัฐประหารกับสหประชาชาติยังสืบเนื่องมาจากท่าทีของสหประชาชาติที่ต้องการรับมติว่าด้วย “สถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนของชาวมุสลิมโรฮีนจาและชนกลุ่มน้อยอื่นๆ ในเมียนมา” (Situation of Human Rights of Rohingya Muslims and other minorities in Myanmar) ในการประชุมสมัชชาใหญ่สหประชาชาติ

คณะรัฐประหารกล่าวหาว่าการหารือและการจัดการพูดคุยเพื่อแก้ปัญหาโรฮีนจาไม่มีความโปร่งใส และข้อเท็จจริงที่สหประชาชาติได้เป็นการฟังความเพียงด้านเดียวจากชาวโรฮีนจาและชาวต่างชาติที่มีอคติกับกองทัพพม่าเป็นทุนเดิม ไม่ได้พิจารณาบริบทแวดล้อมทางประวัติศาสตร์ รวมทั้งความซับซ้อนด้านเชื้อชาติในพม่า

หลายเดือนที่ผ่านมา ผู้เขียนได้ยินใครหลายคนพูดว่ากองทัพพม่าจะไม่มีทางต้านทานเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากประชาคมโลกได้ และพม่าจะกลับไปสู่ระบอบประชาธิปไตยได้ในที่สุด คณะรัฐประหารเองก็คงอยากนำประเทศกลับเข้าสู่ “โหมดประชาธิปไตย” เพื่อสร้างภาพที่ดีให้คณะรัฐประหาร แต่กองทัพพม่าพูดมาโดยตลอดว่าประชาธิปไตยที่ดีและใช้ได้จริงคือประชาธิปไตยแบบชี้นำแบบที่กองทัพเป็นผู้กำหนดชะตากรรมของประเทศได้ และทำทุกทางเพื่อให้สหภาพอยู่รอดในแบบที่กองทัพต้องการจะให้เห็น ดังนั้นการปิดประเทศจึงไม่ใช่ทางเลือกที่แย่นักสำหรับกองทัพพม่า เพื่อนสำหรับพม่าคงเหลือแต่เพื่อนบ้านอย่างไทย และเพื่อนที่แสนดีที่พร้อมจะจัดหาอาวุธให้กองทัพพม่าโดยไม่กลัวข้อครหาจากโลกตะวันตก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image