ทำสามเรื่องให้ได้ก็พอ : โดย เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์

ทำสามเรื่องให้ได้ก็พอ : โดย เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์

เมื่อหลายสิบปีก่อน กรุงเทพมหานครยังเป็นจังหวัดพระนครกับจังหวัดธนบุรี มีผู้ว่าราชการจังหวัดเช่นเดียวกับจังหวัดอื่นทั่วประเทศ และมีเทศบาลนครกรุงเทพและเทศบาลนครธนบุรี

ต่อมาเมื่อต้องการจัดตั้งจังหวัดพระนครเป็นเขตปกครองพิเศษ รวมจังหวัดพระนครกับธนบุรีเข้าด้วยกัน เป็น “กรุงเทพมหานคร” แทนเทศบาลนคร ให้มีผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเป็นผู้บริหาร

ให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร

ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครจึงมาจากการเลือกตั้ง และผู้สมัครรับเลือกตั้งมีทั้งสังกัดพรรคการเมืองและผู้สมัครอิสระ

Advertisement

เมื่อก่อนประชากรในจังหวัดพระนครและธนบุรีมักจะเลือกผู้แทนราษฎรจากพรรคประชาธิปัตย์เป็นหลัก ส่วนนายกเทศมนตรีและเทศมนตรีจะเป็นนักการเมืองท้องถิ่นเสียมากกว่า

ครั้งเมื่อรวมเป็น “มหานครกรุงเทพฯ” การเลือกตั้งผู้ว่าราชการจึงมีทั้งผู้สมัครสังกัดพรรคการเมืองและผู้สมัครอิสระ

ผู้สมัครสังกัดพรรคการเมืองมักจะเป็นจากพรรคประชาธิปัตย์ส่วนใหญ่ มีจากพรรคอื่น อาทิ พรรคพลังธรรม พลตรี จำลอง ศรีเมือง

Advertisement

ต่อมามี ดร.พิจิตต รัตตกุล อดีตสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ลงสมัครอิสระ ไม่สังกัดพรรค ก็ได้รับเลือกด้วยคะแนนท่วมท้น ซึ่งผู้มีสิทธิเลือกตั้งคือคนหนุ่มสาวเป็นส่วนมาก

เมื่อก่อน คนกรุงเทพฯ ทั้งจังหวัดพระนครและธนบุรีจะเลือกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมาจากพรรคประชาธิปัตย์ และเลือกสมาชิกเทศบาลจากคนท้องถิ่น

ขณะที่คนต่างจังหวัดย้ายเข้ามาทำงานในกรุงเทพฯ มากขึ้น การเลือกตั้งจึงดูจะเปลี่ยนแนวทางไปบ้าง ครั้นลูกหลานรุ่นหลังที่เกิดในกรุงเทพฯ กลายเป็นคนกรุงเทพมหานครรุ่นใหม่ ส่วนใหญ่เป็นคนไทยเชื้อสายจีนที่มาจากครอบครัวนักธุรกิจ พ่อค้า ความคิดและการเลือกผู้แทนราษฎรและผู้ว่าราชการ จึงปรับเปลี่ยนไป

ขณะที่ปัญหาของกรุงเทพมหานครวันนี้ไม่เหมือนก่อน ด้วยเหตุพื้นที่เป็นมหานครทางเศรษฐกิจ เป็นศูนย์กลางทางพาณิชยกรรม รอบในยังมีอุตสาหกรรมขนาดย่อม บางจุดมีโรงงานอุตสาหกรรม อยู่ร่วมกับเขตที่อยู่อาศัย แม้จะมี “ผังเมือง” ไว้แล้วก็ตาม แต่ยังไม่สามารถจัดการให้พื้นที่เป็นไปตามผังเมืองที่กำหนด

กรุงเทพมหานครจึงเกิดปัญหาซ้อนปัญหา ทั้งการจราจรแออัด ทุกครั้งที่เข้าฤดูฝน หรือเมื่อมีฝนตก จะเกิดน้ำท่วมขังในหลายพื้นที่ซึ่งยังเป็นที่ลุ่มจากการถมถนน ถมที่ปลูกสร้างบ้าน สร้างอาคาร

เมื่อกรุงเทพมหานครเป็นเมืองทางเศรษฐกิจ จึงมีทั้งศูนย์การค้าใหญ่น้อย และพื้นที่วางหาบเร่แผงลอยถาวรหน้าห้างสรรพสินค้าและฟุตปาธ

วันนี้ การคมนาคมขนส่งผู้คนจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่ง เริ่มสะดวกสบายขึ้นด้วย “รถไฟฟ้า” ทั้งบนดินทั้งใต้ดิน แต่บนถนนยังมีรถยนต์และสารพัดรถแน่นขนัดทำให้การจราจรติดขัดในหลายพื้นที่

ปัญหาของกรุงเทพมหานครเป็นปัญหาซ้ำซาก เคยเป็นอย่างไรยังเป็นอย่างนั้น อาจดีขึ้นบ้าง เช่นน้ำท่วมขังเริ่มระบายได้เร็วขึ้น การจราจรซึ่งเป็นหน้าที่ของตำรวจจราจรเริ่มคล่องตัวขึ้น แต่การเดินทางยังต้องเผื่อเวลาไว้ประมาณ 1 ชั่วโมง ต่อระยะทางไม่เกิน 10 กิโลเมตร โดยเฉพาะถนนบางสายเช่นลาดพร้าว (เจ้าเก่า)

อันที่จริง ปัญหาในมหานครกรุงเทพฯ เป็นเรื่องเดิมๆ อาจจะเพิ่มขึ้นหรือลดลงบางเรื่อง เช่นเวลาของน้ำท่วมขัง การจราจรบนถนนบางสายบางเวลา การเดินทางด้วยรถไฟฟ้าทำให้ใช้เวลาเร็วขึ้น แต่ค่าโดยสารการเดินทางที่ต้องใช้วันต่อวันต้องใช้มากกว่าที่ควรจะเป็น

ที่ผู้จะสมัครรับเลือกตั้งแต่ละคนบอกจะทำกรุงเทพฯ ให้ดีขึ้น คงไม่ต้องเป็นอย่างนั้นก็ได้ เพียงแต่เข้าไปบริหารราชการในกรุงเทพมหานครให้เร็วขึ้น ให้การงานทุกส่วน ไม่ว่าจะเป็นการจราจร น้ำท่วมขัง และความสะดวกในการใช้ทางเท้าเร็วขึ้นกว่านี้ โดยเฉพาะขจัดการทุจริตให้ลดน้อยลงไปอีก ก็น่าจะพอแล้วครับ

เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image